กลุ่มชนที่ถูกเรียกว่า “ข่า” ไม่ได้เรียกตัวเองว่า “ข่า” คำเรียกอันมีความหมายในเชิงลบ

ชาวข่า เมื่อ 100 ปีก่อน บันทึกภาพโดยชาวฝรั่งเศส (ภาพจากหอแก้ว จังหวัดมุกดาหาร)

“…ชาวข่าไม่ได้เรียกตัวเองว่า ‘ข่า’ แต่เรียกตัวเองว่า ‘บรู’ แปลว่า ภูเขา หรือคนที่อยู่ในป่าใกล้เขา ตามลักษณะของชนชาติตนที่เกี่ยวกับระบบนิเวศ คือ รักสงบ มีวิถีชีวิตที่พึ่งพาธรรมชาติ เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามป่าเขา ซึ่งคำว่า ข่า ที่คนไทยเรียกนั้น หมายถึง ข้า, ขี้ข้า หรือ ทาส จิตร ภูมิศักดิ์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ว่า ‘ต้นกำเนิดเดิมของชื่อ ข่า เป็นภาษาลาว ไทยเรายืมชื่อนี้มาจากลาวใต้อีกทอดหนึ่ง มิใช่ชื่อที่ไทยคิดขึ้นเอง เพราะชนชาติข่าเป็นชนชาติของลาว ชื่อที่พวกลาวกลาง ลาวใต้ เรียกว่า ข่า นั้น พวกลาวเหนือ เรียกว่า ค้า ถ้าเทียบตามสำเนียงการเพี้ยนเสียงวรรณยุกต์แล้วก็ตรงกับคำภาษาไทยสำเนียงภาคกลางว่า ข้า แต่เนื่องจากชนเผ่าข่าอยู่ในลาว ไทยรู้จักชนพวกนี้โดยผ่านลาวกลางและลาวใต้ ไทยจึงเรียกเลียนเสียงลาวว่า ข่า เพราะเมื่อรับคำนี้มานั้นมิได้คิดเทียบเสียงกลับและมิได้ตรวจสอบหาความหมายที่แท้จริงก่อน ดังนั้น คำว่า ข่า ในภาษาไทย ลาวกลาง ลาวใต้ จึงออกเสียงตรงกันหมดว่า ข่า แต่ความหมายและคำที่ถูกคือ ข้า’

สุวิทย์ ธีรศาศวัต ได้กล่าวถึงเรื่อง ข่า ข้า ไว้ว่า ‘ข่า ข้า-ข้าทาส หรือ ส่า มิใช่ชื่อชนชาติแต่มาจากคำในตระกูลไท-กะได ที่สรรค์สร้างขึ้นเมื่อพวกชนกลุ่มตระกูลไทเคลื่อนย้ายลงมาดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงและลุ่มแม่น้ำแดงทางเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้โจมตีและยึดดินแดนของชนพื้นเมืองกลุ่มออสโตรเอเชียติก (มอญ-เขมร) และจับชนพื้นเมืองผู้แพ้สงครามระหว่างชนเผ่ามาเป็นทาส หรือเป็นข่า’…”


คัดจาก บทความ ข่า ชนเผ่า (ลาว) อีสาน : กับการปรับตัวทางวัฒนธรรมในยุคปัจจุบัน โดย รมิดา โภคสวัสดิ์ และศิริวรรณ อาษาศรี นิสิตภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2559