สรรพสิริ วิรยศิริ ผู้รายงาน “6 ตุลา 19” ให้โลกรู้ความจริงก่อนถูกปลด-ล้มละลาย

สรรพสิริ วิรยศิริ

สรรพสิริ วิรยศิริ นักข่าวคนจริง ยืนยันหน้าที่สื่อ ต้องเสนอข่าว 6 ตุลา 19” ให้ประชาชนรู้ความจริง แต่หลังออกข่าวเขาถูกปลดกลางอากาศและล้มละลาย

สรรพสิริ วิรยศิริ (10 ก.พ. 2463 – 15 ต.ค. 2555) เป็นบุตรชายของพระยามหาอำมาตยาธิบดี (เสง วิรยศิริ) จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ อนุปริญญาทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และวิชาการถ่ายภาพจากสถาบันการถ่ายภาพแห่งนิวยอร์ก

สรรพสิริ วิรยศิริ

โดยเริ่มทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ข่าวต่างประเทศ ของกรมโฆษณาการ (ปัจจุบันคือ กรมประชาสัมพันธ์) มีงานอดิเรกคือสร้างสรรค์ภาพยนตร์โฆษณา และสรรพสิริเป็นคนแรกที่สร้างแอนิเมชั่นในประเทศไทย

เมื่อมีการจัดตั้งบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด สรรพสิริก็มาเป็นช่างภาพ และผู้ประกาศข่าวคนแรกของไทย จนขึ้นสู่ระดับผู้บริหารได้เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (ปัจจุบันคือ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ) ผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 (ปัจจุบันคือ สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เอ็มคอตเอชดี) และผู้อำนวยการ สถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. (ปัจจุบันคือ สถานีวิทยุ อสมท โมเดิร์นเรดิโอ) เป็นบุคคลผู้บุกเบิกวงการโทรทัศน์ ข่าวโทรทัศน์ และโฆษณาโทรทัศน์ของไทย

ก่อนที่จะถูกปลดกลางอากาศ เพราะเสนอข่าว “6 ตุลา 19”

บรรยากาศเหตุการณ์ “6 ตุลา 19” (ภาพจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ 7 ตุลาคม 2519)

ซึ่ง ฤาจะเลือนลบกลบสิ้น-หนังสือในวาระพิเศษรำลึก 40 ปี 6 ตุลา 2519 นำส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ดังกล่าว ที่สรรพสิริ บันทึกไว้ในหนังสือผมเป็นคนข่าวคนหนึ่งก็แค่นั้น ของเขา ว่า

วันที่ 5 ตุลาคม 2519 ผมไปสังเกตการณ์ที่อำเภออุ้งผางแล้วกลับมากินข้าวเย็นกับเพื่อนที่เป็นผู้บังคับบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ชื่อ พลตำรวจโท อังกูร ทัตตานนท์อยู่ที่อำเภอแม่สอด ได้รับรายงานทางวิทยุว่า เหตุการณ์ที่บานปลายจากการที่จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร กลับมาเมืองไทยทำให้เกิดเรื่องใหญ่ระหว่างการชุมนุมประท้วงในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมจึงตีรถห้อแน่บจากแม่สอดคืนนั้นมาที่ศูนย์วิทยุราชดำริอาเขต ซึ่งเป็นที่ประสานงานระหว่าง ข่าวล่ามาเร็วของทีวีช่อง 9 กับ ข่าวล่ามาทันทีที่เพิ่งออกมาจากธรรมศาสตร์ แล้วผมก็ตัดสินใจทันทีว่าจะทำอะไรต่อไปทั้งๆ ที่รู้แน่อยู่แก่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นแก่ตนเอง

ตั้งแต่ก่อนฟ้าสว่างวันที่ 6 ตุลาคม รถบัญชาการของ ข่าวล่ามาเร็วกับ ข่าวล่ามาทันที จอดอยู่ที่อนุสาวรีย์ทหารอาสาหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมสั่งให้ทีวีช่อง 9 เปิดเครื่องส่งตามหน้าที่ที่ผมคนเดียวสั่งการได้ ด้วยความเชื่อมั่นว่าเป็นการทำตามหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ถูกต้อง ถ้าผลจากการนี้จะช่วยชีวิตใครสักคนให้อยู่รอดได้ ผมก็พอใจแล้ว แม้ว่าจะต้องแลกด้วยชีวิตตนเอง จากการตัดสินใจนี้ผมไม่ตายแต่ก็เลี้ยงไม่โต!

ตอนที่เกิดการยิงกันขึ้นและมีการใช้สื่อของฝ่ายหนึ่งถล่มทำลายอีกฝ่ายหนึ่งชุลมุนวุ่นวายไม่รู้อะไรเป็นอะไรอยู่นั้น ผมแน่ใจว่ามีสื่อมวลชนที่เป็นกลางวางตัวเป็น หูทิพย์ และ ตาทิพย์ ของประชาชนส่วนใหญ่ไปเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเสนอให้สาธารณชนได้รับรู้เพื่อประกอบการใช้วิจารณญาณที่ถูกต้องน่าจะผ่อนเพลาบรรเทาความรุนแรงของเหตุการณ์และเป็นผลดีแก่ชาติบ้านเมือง

หลังสั่งเปิดส่งทีวีเป็นพิเศษ ผมคว้า โกดัก สเปเชี่ยลไปช่วยเก็บภาพต่างๆ ด้วย เพื่อเสริมกำลังช่างภาพและคนข่าวที่มีไม่เพียงพอ

ดังหนึ่งจะรู้สึกโดยจิตใต้สำนึกว่านี้อาจจะเป็นการถ่ายข่าวครั้งสุดท้ายในชีวิตของช่างภาพข่าวคนแรกของทีวีเมืองไทย ผมไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ตากล้องเท่านั้น ยังเป็นคนตัดต่อฟิลม์ และลำดับภาพด้วยตนเอง แถมอ่านข่าวเองอีกด้วยเพราะไม่มีเวลาประดิดประดอยเขียนข่าวให้คนอื่นอ่าน นอกจากนั้นยังมีโอกาสวินิจฉัยตัดที่รุนแรงเกินเหตุออกไปเสียบ้าง

เวลา 18.00 น. วันที่ 6 ตุลาคม คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดยพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง จาก ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ มีการออกประกาศแถลงการณ์ทางทีวีและวิทยุแก่สาธารณะ

หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินปลดสรรพสิริ วิรยศิริ ออกจากทุกหน้าที่ในทีวีช่อง 9 และวิทยุ ท.ท.ท. ความก้าวหน้าในวิชาชีพถูกปิดลง ถูกสอบสวนว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกดำเนินคดี และถูกอายัดทรัพย์ทั้งครอบครัว ฯลฯ

6 ตุลาคม 2519 ถ้าหากไม่มีความกล้าหาญของ สรรพสิริ วิรยศิริในวันนั้น เราคงจะยังเถียงกันอยู่ว่า ตกลงมีคนตายหรือไม่?” และเราอาจจะไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นที่สนามหลวงกันแน่ในวันนั้น และโลกก็ไม่รู้ความจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ตุลาคม 2562