ทำไมเรียก “โลงมอญ(แท้)” ว่า “โลงญี่ปุ่น”? ฤๅเกี่ยวพันมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2

โลงญี่ปุ่นสกุลช่างพระประแดงในปัจจุบัน (2562) มีการตกแต่งด้วยลายฉลุดอกดุนกระดาษ นิยมใช้สีพื้นตามสีประจำวันเกิดของผู้วายชนม์ หรือใช้สีตามลักษณะเพศ เช่น ผู้วายชนม์เพศหญิงจะใช้สีชมพูตกแต่งเป็นหลัก (ภาพ: พระครูพัชรวีราภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดทรงธรรมวรวิหาร)

โลงมอญแท้แต่ชื่อโลงญี่ปุ่นชวนสงสัย สอบถามที่มาที่ไปจากชาวบ้านและผู้เชี่ยวชาญช่างฝีมือโลงมอญปากลัด (พระประแดง) ได้ความรู้ใหม่ล้วนน่าตื่นใจ 2 นัย 2 เหตุ พิเศษทั้งคู่

พระสิทธิพัฒนาทร (พระอาจารย์หมู) เจ้าอาวาสวัดทรงธรรมวรวิหาร และรองเจ้าคณะอำเภอพระประแดง มือทำโลงมอญระดับพระกาฬเล่าว่า “โลงญี่ปุ่น” เป็นโลงศพที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมอญปากลัด ไม่มีที่อื่น เป็นโลงทึบ 6 ด้าน เรียบง่าย ไม่มีลาย ไม่มีหน้าต่าง ไม่มีฝายอดปราสาท ใส่ศพสตรี ผู้เป็นภรรยาหรือบุตรธิดา ต่างจากโลงมอญที่มีฝายอดปราสาท เจาะหน้าต่าง ติดลวดลายหลากสีสวยงาม ประดับดอกไม้ไหว สำหรับใส่ศพบุรุษ หรือสามี ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว เพียงแต่ปัจจุบันมีการเพิ่มลวดลายบนตัวโลง ฝาโลง โดยเฉพาะผู้ตายในภาพแรกท่านนี้คือ ‘กิตติ บุลสถาพร’ ผู้อุทิศตนทำงานเพื่อชนชาติมอญมาโดยตลอด อีกทั้งเป็นที่รักของชาวมอญทั่วไป ทำให้พระอาจารย์หมูเพิ่มยอดปราสาทบนสุดให้เป็นกรณีพิเศษ

ส่วนการเรียกขาน “โลงญี่ปุ่น” เป็นเหตุผลแสนธรรมดา คือ โลงมอญชนิดนี้มีลักษณะคล้ายโลงญี่ปุ่น ปากบานก้นสอบ ต่างกันแต่โลงของญี่ปุ่นเตี้ยกว่าโลงมอญเกือบครึ่ง ซึ่งคนมอญปากลัดมีโอกาสเห็นมากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คราวญี่ปุ่นยกทัพขึ้นฝั่งเมืองไทยโดยเฉพาะที่ปากน้ำสมุทรปราการ

งานพระราชทานเพลิงศพนายกิตติ บุลสถาพร เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2558 ณ วัดกลาง ตำบลบางพึ่ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ แสดงให้เห็นลักษณะของโลงญี่ปุ่นทรงมอญ

สอดคล้องกับเรื่องเล่าของ มาลี เกิดภู่ ที่ว่า นอกจากโลงญี่ปุ่นกับโลงมอญนี้จะเป็นการแยกใช้กันระหว่างเพศชายและหญิงแล้ว ยังใช้ในกรณีของผู้ตายที่คนมอญเรียกว่า “ตายไม่ดี” แม้จะเป็นเพศชายก็ตาม นั่นคือ ตายในวัยอันยังไม่สมควร ตายด้วยอุบัติเหตุ หรือตายปัจจุบันทันด่วน ไม่ได้ล้มหมอนนอนเสื่อให้ลูกหลานได้ดูแลปรนนิบัติและมีเวลาเตรียมใจ ดังเช่นกรณีของ ‘กิตติ บุลสถาพร’ ก็เช่นเดียวกัน

โลงญี่ปุ่นสกุลช่างพระประแดงในปัจจุบัน มีการตกแต่งด้วยลายฉลุดอกดุนกระดาษ นิยมใช้สีพื้นตามสีประจำวันเกิดของผู้วายชนม์ หรือใช้สีตามลักษณะเพศ เช่น ผู้วายชนม์เพศหญิงจะใช้สีชมพูตกแต่งเป็นหลัก (ภาพ: พระครูพัชรวีราภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดทรงธรรมวรวิหาร)

อีกหนึ่งที่มาของชื่อเรียก “โลงญี่ปุ่น” ชาวบ้านหลายราย รวมทั้ง ‘อุทิศ น้อยคุ้ม’ และ ‘ผู้ใหญ่กุ้ง’ (มงคล สมประสงค์) ช่างฝีมืองานศิลปกรรมมอญคนสำคัญคนหนึ่งของปากลัด อ้างว่าได้รับการบอกเล่าจาก ศ.เกียรติคุณนายแพทย์สุเอ็ด คชเสนี อดีตนายกสมาคมไทยรามัญว่า คำเรียกชื่อโลงญี่ปุ่น สืบเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และทหารญี่ปุ่นเป็นสำคัญ ว่ากันว่า ขณะเมื่อเกิดสงครามโลก เมืองไทยเต็มไปด้วยทหารญี่ปุ่นนั้น ฝ่ายไทยมีขบวนการใต้ดินที่ชื่อ “เสรีไทย” ได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตก มีการลำเลียงอาวุธจากเรือเดินสมุทรกลางอ่าวไทยลงเรือเล็กโดยซุกซ่อนมาในโลงศพ (ทรงญี่ปุ่น ทึบ ไม่มีหน้าต่าง) อำพรางทหารญี่ปุ่น ชาวมอญปากลัดที่อยู่ในเหตุการณ์จึงนิยมเรียกโลงลักษณะดังกล่าวว่าโลงญี่ปุ่นจวบจนปัจจุบัน

โลงญี่ปุ่นสกุลช่างพระประแดงในอดีต (ภาพ: พระครูพัชรวีราภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดทรงธรรมวรวิหาร)

อุบายนี้ฟังดูคล้ายวรรณคดีเรื่องราชาธิราช ฉากหัวเมืองซึ่งปกครองโดยพญาเกียรติ โอรสพระเจ้าราชาธิราช ออกอุบายฝ่าด่านทัพพม่าที่ล้อมเมืองทุกทิศทุกทางเพื่อแจ้งข่าวให้พระบิดายกทัพมาช่วย สมิงอายมนทะยาอาสาส่งข่าวโดยแสร้งตาย ทำทีเป็นศพนอนบนแพล่องไปตามน้ำ หม้อปลาร้าข้างตัวส่งกลิ่น น้ำผึ้งทาร่างให้แมลงวันตอม มีนางกำนัลทำทีเป็นเมียร้องไห้คร่ำครวญ ทหารพม่าตายใจจึงปล่อยสมิงอายมนทะยาผ่านไปส่งข่าวสำเร็จ

โลงญี่ปุ่นสกุลช่างพระประแดงในอดีต (ภาพ: พระครูพัชรวีราภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดทรงธรรมวรวิหาร)

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันโลงศพญี่ปุ่นได้รับความนิยมลดน้อยลง เนื่องจากไม่งดงามเท่าโลงมอญ รวมทั้งความเคร่งครัดในเรื่องแบ่งแยกโลงตามเพศและเหตุแห่งการตายลดน้อยลง โดยมากจึงแยกโลงตามเพศด้วยเฉดสีของกระดาษอังกฤษที่ใช้ในการตอกลายตกแต่งโลงเท่านั้น

[ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ข้อมูลและภาพจากเพจ: รามัญคดี – MON Studies]

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2561