เจาะลึกโขนละคร วังพระเจ้านครศรีธรรมราช จากกรุงธนบุรีถึงรัตนโกสินทร์

เศียรทศกัณฑ์หน้าทอง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
เศียรทศกัณฑ์หน้าทอง สมบัติสกุล ณ นคร ปัจจุบันเก็บรักษาในคลังโบราณวัตถุ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

ละครชาตรีโบราณเริ่มมีแพร่หลายในเมืองนครศรีธรรมราชมาช้านานเท่าใดนั้นยังหาข้อสรุปไม่ได้ ทว่าในยุคหนึ่ง นาฏกรรมอีกประเภท คือ โขนละคร ได้เข้ามามีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราชอย่างชัดเจน โดยถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในสมัยกรุงธนบุรี และสืบทอดกันต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

ปลายปีพุทธศักราช 2309 ถึงต้นปี พ.ศ. 2310 เมื่อกรุงศรีอยุธยาอยู่ในสภาพที่ไม่อาจจะรักษาความมั่นคงในเอกราชเอาไว้ได้ บรรดาผู้คนต่างทยอยกันอพยพออกจากเมืองหลวง โดยมีจุดหมายปลายทางเป็นบ้านเกิดบ้าง เมืองที่มีญาติพี่น้องอาศัยหรือรับราชการอยู่บ้าง หรือไม่ก็หัวเมืองใหญ่ที่ยังสามารถรักษาบ้านเมืองเอาไว้ได้บ้าง ซึ่งเมืองนครศรีธรรมราชในขณะนั้น สถานภาพทางการเมืองมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นเอกขึ้นตรงกับกรุงศรีอยุธยา โดยได้แต่งตั้งให้ พระยาราชสุภาวดี เป็นเจ้าเมือง และหลวงสิทธินายเวร (หนู) เป็นพระปลัดเมือง แต่ด้วยว่าพระยาราชสุภาวดีต้องอาญาทัพ จึงมีพระบรมราชโองการให้คืนกลับเข้ากรุงศรีอยุธยา

ดังนั้นในช่วงนี้ เมืองนครศรีธรรมราชจึงอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของพระปลัด (หนู) โดยตำแหน่ง ซึ่งในช่วงที่บ้านเมืองกำลังระส่ำระส่ายนี้ พระปลัด (หนู) ทำหน้าที่รักษาเมืองไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ทำให้เมืองนครศรีธรรมราชกลายเป็นจุดหมายปลายทางของผู้อพยพตามเหตุผลที่ได้กล่าวถึงแล้วข้างต้น ในทำนองว่า “หนีร้อนมาพึ่งเย็น” จำนวนมาก อาทิ พระอาจารย์สี และบรรดาสานุศิษย์วัดพะแนงเชิง (ภายหลังเป็นสมเด็จพระอริยวงศญาณ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 2 แห่งกรุงธนบุรี และสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์) นางจัน อุษา นางละครในแห่งราชสำนักกรุงศรีอยุธยาพร้อมคณะละครผู้หญิงอีกจำนวนหนึ่งด้วย เป็นต้น

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว ในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 พระปลัด (หนู) โดยความยินยอมของกรมการเมืองและชาวเมืองนครศรีธรรมราช ได้สถาปนาตนขึ้นเป็นเจ้านครศรีธรรมราช ถือสิทธิ์ขาดบริหารราชการแผ่นดินเมืองนครศรีธรรมราชและปกครองหัวเมืองน้อยใหญ่ในปักษ์ใต้ ได้ร่วมกับเสนาบดีและชาวเมืองนครศรีธรรมราชบำรุงค่ายคูประตูหอรบไว้ได้มั่นคง ทำนุบำรุงพระศาสนา และศิลปวิทยาการ โดยได้รับอนุเคราะห์เลี้ยงดูบรรดาละครผู้หญิงที่อพยพมาจากราชสำนักอยุธยา ให้พำนักในเมืองนครศรีธรรมราช ด้วยเหตุเพราะเป็นบรรดาเครือญาติและมีความคุ้นเคยกันตั้งแต่ครั้งเจ้านครศรีธรรมราชทำราชการในตำแหน่งมหาดเล็กในกรุงศรีอยุธยาก่อนที่จะถูกแต่งตั้งมาเป็นพระปลัดเมือง จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของ “ยุคประวัติศาสตร์ โขนละคร วังพระเจ้านครศรีธรรมราช”

เจ้านครศรีธรรมราช ครองเมืองอยู่ราว 2 ปีเศษ ในระหว่างนั้น ได้อุปถัมภ์การละครขึ้นอย่างจริงจัง โดยให้เกณฑ์บรรดาเด็กผู้หญิงอายุ 9 ขวบในเขตกำแพงเมือง เข้าฝึกหัดโขนละคร มีครูเป็นนางละครที่อพยพมากรุงศรีอยุธยาส่วนหนึ่งผสมโรงกับครูข้างนครศรีธรรมราชอีกส่วนหนึ่ง เริ่มแรกฝึกหัดขึ้นเป็นคณะละครผู้หญิงจนมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือ

ครั้นถึง พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดฯ ให้เจ้าพระยาจักรี (หมุด) พระยาอภัยรณฤทธิ์ (สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) พระยายมราช (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) และพระยาเพชรบุรี ยกทัพทางบกเป็นทัพหน้ามาปราบ แต่เมื่อทรงทราบว่าทัพหน้าทำการไม่สำเร็จ จึงเสด็จยกทัพเรือเป็นทัพหลวงเข้าตีได้ค่ายท่าหมาก ค่ายปากนคร และค่ายศาลาสี่หน้าแตกพ่าย เจ้านครศรีธรรมราชจึงให้หลวงสงขลาพาตนและครอบครัวพร้อมบริวารบ่าวไพร่หลบหนีไปพักพิงอยู่ที่เมืองปัตตานี แต่เมื่อเจ้าเมืองปัตตานีได้รับหนังสือตามตัวจากเจ้าพระยาจักรี จึงยอมส่งตัวเจ้านครศรีธรรมราชพร้อม “พวกพ้องพงศ์พันธุ์ทั้งละครผู้หญิง” มาถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแต่โดยดี

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชดำริว่า “เจ้านครไม่มีความผิดต่อพระองค์ ซึ่งได้รบพุ่งกันก็เพราะต่างคนถือว่าตัวเป็นใหญ่ จะลงความเป็นว่าเจ้านครเป็นขบถนั้นไม่ได้” จึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทำนุบำรุงพระอารามหลายแห่ง อาทิ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารและวัดสระเรียง โปรดฯ ให้มีละครผู้หญิงของเจ้านครศรีธรรมราชสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์ แห่สระสนานเป็นการมโหฬารอยู่ถึง 3 วัน แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านครศรีธรรมราชรับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เข้าไปรับราชการอยู่ในกรุงธนบุรีพร้อมด้วยบริวารบ่าวไพร่และละครผู้หญิง ส่วนข้างเมืองนครศรีธรรมราช ทรงยกให้เป็นเมืองประเทศราชแล้วโปรดฯ ให้ พระเจ้าหลานเธอ เจ้านราสุริยวงศ์ อยู่ครองเมือง

บรรดาละครผู้หญิงและครูโขนละครในเมืองนครศรีธรรมราชที่ติดตามเจ้านครศรีธรรมราชเข้ารับราชการ ณ กรุงธนบุรีในขณะนั้น เมื่อผสมโรงขึ้นใหม่อีกครั้ง ก็ยังคงใช้ขนบธรรมเนียมและจารีตแห่งราชสำนักอยุธยาในการฝึกหัดรวมไปถึงแบบแผนของการแสดง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะละครผู้หญิงของเจ้านครศรีธรรมราชเป็นครูฝึกหัดร่วมกับพวกละครที่ทรงรวบรวมได้จากที่อื่น แล้วจัดตั้งเป็นละครหลวงของกรุงธนบุรี

ครั้นถึงพุทธศักราช 2319 เจ้านราสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงมีพระบรมราชโองการ “…รับสั่งให้เจ้าตาไปเป็นเจ้าแผ่นดินเมืองนครศรีธรรมราช ให้รับพระโองการ เมียรับพระเสาวนีย์ให้ฝึกหัดละครผู้หญิงเป็นเครื่องประดับ มารดาเจ้าเทียบที่กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ โปรดให้ลูกเขยไปเป็นผู้ช่วยราชการเมืองนคร…” ความในบันทึกความทรงจำ กรมหลวงนรินทรเทวีนี้

เจ้าตา หมายถึง เจ้านครศรีธรรมราช เหตุที่ทรงขานเช่นนี้ ด้วยว่าเจ้านครศรีธรรมราชได้ถวายพระราชธิดา 2 พระองค์ คือทูลกระหม่อมฟ้าหญิงกลาง (เจ้าหญิงฉิม) และทูลกระหม่อมฟ้าหญิงเล็ก (เจ้าหญิงปราง) ทำราชการเป็นเจ้าจอมในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ดังนั้นเจ้านครศรีธรรมราชจึงมีสถานะเป็นพระสสุระหรือพ่อตาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

เมีย หมายถึง หม่อมทองเหนี่ยว พระชายาในเจ้านครศรีธรรมราช

มารดาเจ้า หมายถึง ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงกลาง (เจ้าหญิงฉิม) ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกขึ้นเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้าย ที่กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ มีพระราชโอรสและพระราชธิดาด้วยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี 4 พระองค์ ได้แก่สมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศพงศ์ (พระพงศ์อมรินทร์หรือพระพงศ์นรินทร์ ในรัชกาลที่ 1) สมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศไภย (พระอินทร์อำไพ ในรัชกาลที่ 1) สมเด็จเจ้าฟ้าชายนเรนทรราชกุมาร และสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงปัญจปาปี

ลูกเขย หมายถึง เจ้าอุปราชพัด ซึ่งเป็นพระสวามีในทูลกระหม่อมฟ้าหญิงใหญ่ (เจ้าหญิงชุ่ม) พระราชธิดาในเจ้านครศรีธรรมราช จึงมีฐานะเป็นพระชามาดาหรือลูกเขยในเจ้านครศรีธรรมราช

พระบรมราชโองการของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จากความในบันทึกความทรงจำ กรมหลวงนรินทรเทวีข้างต้น มีรายละเอียดว่าได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้านครศรีธรรมราชซึ่งรับราชการอยู่ในกรุงธนบุรีอยู่เดิมนั้น ให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเมืองนครศรีธรรมราช มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระเจ้าขัติยราชนิคม สมมติมไหศวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช” แล้วโปรดฯ ให้พระชามาดา (พัด) เป็นพระอุปราช ความสำคัญในบันทึกความทรงจำนี้เห็นทีจะเป็นวรรค “เมียรับพระเสาวนีย์ ให้ฝึกหัดละครผู้หญิงเป็นเครื่องประดับ

ซึ่งสอดคล้องกับพระบรมราชโองการที่ปรากฏใน กฎ ตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราช พ.ศ. 2319 ความว่า “ให้พระเจ้าขัณฑสีมา บำรุงฝ่ายหน้าฝ่ายใน ให้สรรพไปด้วยสุรางคนาง ปรางค์ปราสาท” ซึ่งหมายถึงเมืองนครศรีธรรมราชสามารถมีละครผู้หญิงเป็นเครื่องราชูปโภคได้อย่างธรรมเนียมพระมหากษัตริย์เมืองหลวง โดยโปรดฯ ให้พระชายาคือหม่อมทองเหนี่ยว มีหน้าที่ควบคุมดูแลการฝึกหัดละครผู้หญิงในราชสำนักเมืองนครศรีธรรมราชได้อย่างเป็นทางการ

รัดเกล้าเปลว เครื่องประดับ เครื่องทอง นครศรีธรรมราช
รัดเกล้าเปลว สมบัติสกุล ณ นคร ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช

พระเจ้านครศรีธรรมราชมีสถานะเป็นผู้ปกครองเมืองนครศรีธรรมราชถึง 3 ครั้ง

ครั้งแรกก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาไม่นาน (พ.ศ. 2309-2310) เมื่อยังเป็นพระปลัดเมือง เพราะต้องรักษาราชการเมืองแทนพระยาราชสุภาวดี ในครั้งนี้ไม่ปรากฏเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการโขนละคร

ครั้งที่ 2 เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2310-2312) พระปลัดเมืองมีอำนาจเต็มในฐานะเจ้านครศรีธรรมราช ได้รับอุปถัมภ์บรรดานางละครใน ซึ่งอพยพมาจากราชสำนักกรุงศรีอยุธยา

ครั้งที่ 3 หลังสถาปนากรุงธนบุรี (พ.ศ. 2319) สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เจ้านครศรีธรรมราชขึ้นเป็นพระเจ้านครศรีธรรมราช และทรงโปรดฯ ให้มีละครผู้หญิงเป็นเครื่องราชูปโภค

ภายหลังจากที่โปรดฯ ให้มีละครผู้หญิงสำหรับราชสำนักเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว หม่อมทองเหนี่ยวก็รับหน้าที่จัดการดูแลเรื่องการฝึกหัดอย่างจริงจัง เพราะต้องใช้สอยในการพระราชพิธีสำหรับเมืองนครศรีธรรมราชบ้าง กรุงธนบุรีบ้างอยู่บ่อยครั้ง อาทิ การสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์เมื่อพุทธศักราช 2312 การต้อนรับและสมโภชพระแก้วมรกต เมื่อ พ.ศ. 2323 โดยในครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้พระเจ้านครศรีธรรมราชแต่งเรือประพาสละครรำ 2 ลำ ร่วมแห่มาในกระบวน กับทั้งให้มีละครผู้หญิงของหลวงประชันกับละครของพระเจ้านครศรีธรรมราช

ดังพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวความว่า “ละคอนเจ้านครฯ นี้ ดูออกจะตื่นๆ กันอยู่ ตั้งแต่เริ่มจับตัวได้ก็กล่าวถึงละคอน เมื่อกลับออกไปเป็นเจ้านครฯ ก็กล่าวถึงละคร จะฉลองพระแก้วก็ต้องให้หาตัวเจ้านครฯ เข้ามาเพื่อจะให้นางละคอนลงเรือประพาสและเล่นสมโภชพระแก้ว ถึงให้มาเล่นประชันกับละครของหลวง” ส่วนผลจากการประชันกันในครั้งนี้ ได้ทรงพระราชวิจารณ์เอาไว้ว่า “ละคอนของเจ้านครฯ กับละคอนหลวงเล่นประชันกันก็เห็นจะพอตีรั้งกันไปคนละไม้”

ละครผู้หญิงของเมืองนครศรีธรรมราชนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์เล่าไว้ว่า “ละคอนผู้หญิงของเจ้านครฯ เป็นพวกละครที่หนีไปจากกรุงเก่าไปเป็นครูฝึกหัดขึ้น มาสมทบกับพวกละคอนที่รวบรวมได้จากที่อื่น จึงหัดละครหลวงขึ้นใหม่ครั้งกรุงธนบุรี และครั้งนั้นก็ถือแบบอย่างครั้งกรุงเก่า” หนึ่งในพวกละครที่หนีมาจากกรุงเก่าตามพระนิพนธ์นี้เท่าที่สืบค้นได้ ชื่อ “จัน” ปรากฏชื่อในหนังสือเพลงยาวความเก่าว่า “จันอุษา” เคยเป็นนางละครหลวงสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อเสียงด้านการรับบทเป็นนางอุษา นางเอกในบทละครเรื่องอุณรุท

ส่วน “แบบอย่างครั้งกรุงเก่า” ที่ทรงพระนิพนธ์ถึงนี้ สอดคล้องกับพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะเรื่องบทละครที่ใช้แสดงว่า “บทละคอนของเจ้านครฯ คงเป็นบทที่ได้ไปจากกรุงเก่า แต่เมื่ออ่านเวลานี้คล้ายละครชาตรี และเห็นว่าเป็นชาวนอกคัดเขียนออกไป” ดังตัวอย่างบทละครของพระเจ้านครศรีธรรมราชที่ได้ทรง “คัดตัวอย่างตามฉบับเดิมไว้พอให้แลเห็น” ต่อไปนี้

“มาจะกล่าวบทไป เถิงสุริวํงเทพใทเรืองษี สีอํงลวนทรงธรณี ทุกบุรีตรีชวาใมเหยิมทัน ทาวรวมบิตุเรดมานดา วิดทยายิ่งยวดกวดขัน อันพระเชตถาภูทรํงทำ งามลำเทวาเนรมิด ผิวภองออ่รสุนทร่าโฉม ประโลมโลกเลิดลำล่ลานจิด ดงงพระนะราวํงทรํงฤทธ ทุกทิดเกรงเดดกระจายจอน”*

และอีกบทละครหนึ่งซึ่งไม่มีปรากฏในบทละครหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชวิจารย์ว่า “หนังสือนี้ที่หอสมุดเขาว่า เป็นพระราชนิพนธ์พระพุทธยอดฟ้า ข้าพเจ้าเห็นมิใช่ เป็นหนังสือบทละครกรุงเก่า ชาวเมืองนครศรีธรรมราชคัดไป สำเนียงจึงได้กวัดแกว่ง ถ้าหากว่าจะได้เป็นพระราชนิพนธ์แก้ไข ก็มีแปลกอยู่แต่ที่ไม่ใช่หน้าพาทย์คาบลงที่คำหนึ่งหรือคำสาม นึกสงสัยว่ากรุงเก่าก็คงจะไม่ใช้กันมาบ้างแล้ว” ดังตัวอย่างบทละครที่ได้ทรงคัดมานี้

“โรงเคริงโรงแสงใภยจิด เพงพิดเรยิงรันทรงสายขวา ที่นังโถงโรงสุวันอ่ลังกา สาลาใญด่าดดู่งาม อันที่นังทรงปืนทังซายขวา เปนสง่าเอกเอยิมเหยิมหาน เก้ยสํงสุมํนทาพิเสกธาน โรงอาลักเรยิงตามเป็นลันมา”

(*,** ใช้อักขรวิธีตามต้นฉบับจากหนังสือจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี พิมพ์พร้อมกับฉบับเพิ่มเติม (พ.ศ. 2310-2381) และพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุมจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เฉพาะตอน พ.ศ. 2310-2363) พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี พุทธศักราช 2501)

ละครของพระเจ้านครฯ นี้ ยืนยันได้ว่าเป็นละครผู้หญิง ไม่ใช่ละครชาตรี ดังพระราชวิจารณ์ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในตอนที่ว่า “ทีละคอนของเจ้านครฯ จะดี และน่าจะไม่ใช่ละคอนชาตรี ที่จะดีเพราะไม่ได้บ้านแตกเมืองเสียด้วยพม่า ยังคุมโรงกันติดอยู่ ส่วนละคอนหลวงนั้นคงจะผสมขึ้นมาใหม่” ข้อสำทับอีกประการคือคำยืนยันจากครูบุญสร้าง เรืองนนท์ (ทายาทคณะละครชาตรีครูพูน เรืองนนท์ ซึ่งมีพระศรีชุมพล (ฉิม) ข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราชเป็นต้นตระกูล) ที่ว่าละครชาตรีของคณะครูพูน เรืองนนท์นั้น ไม่เคยมีเครื่องแต่งกายแขนยาว สอดคล้องกับคำอธิบายของพ่อครูธงชัย ไพรพฤกษ์ (ผู้ได้รับกรรมสิทธิ์ทำครอบและพิธีไหว้ครูโขนละคร ทางนครศรีธรรมราช) ว่า ละครของทางนครศรีธรรมราชก็ไม่เคยปรากฏมีเครื่องแต่งกายแขนสั้น

ส่วนคำว่า “ชาวนอก” ในพระราชวิจารณ์ข้างต้นนี้ เป็นคำสรรพนามโบราณที่ทั้งชาวกรุงเก่าและกรุงเทพฯ ใช้เรียกคนเมืองนครศรีธรรมราช สอดคล้องกับความเห็นของอาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ที่ว่า “ละครนอก” เป็นคำย่อมาจากการเรียกละครแบบละครชาตรีที่เล่นกันในปักษ์ใต้สมัยโบราณ ซึ่งเรียกกันว่า “ละครของชาวนอก” หรือ “ละคร(ที่เล่นกันอย่าง)ชาวนอก” นั้น หมายถึงละครแบบฉบับของชาวนครศรีธรรมราช

ละครวังพระเจ้านครศรีธรรมราชและละครวังหลวง มีความเกี่ยวเนื่องกันทั้งในสมัยกรุงธนบุรีเรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทั้งในมิติของจุดเริ่มต้นและการประชันกันดังที่ได้กล่าวแล้ว อีกทั้งในลักษณะความเกี่ยวดองสัมพันธ์กันทางเครือญาติ อาทิ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ และ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี สองพระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์กับเจ้าขรัวเงิน ซึ่งพระองค์หนึ่งเป็นปรมาจารย์พระองค์สำคัญที่ได้ทรงตั้งคณะละครผู้ชายขึ้นโรงหนึ่ง แสดงเป็นละครในเรื่องอิเหนา มีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยรัชกาลที่ 2

ส่วนอีกพระองค์ก็ทรงรอบรู้ในศิลปะวิทยาการนานาชนิด ทั้งยังทรงชำนาญการละครเป็นอย่างดี โดยได้ประดิษฐ์แบบแผนกระบวนรำตามบทละครในรัชกาลที่ 2 ด้วยวิธีการรำหน้าพระฉายบานใหญ่ ทั้งนี้โดยที่ทั้ง 2 พระองค์ทรงมีความสัมพันธ์กับเมืองนครศรีธรรมราชทางฝ่ายพระบิดา กล่าวคือ เจ้าขรัวเงิน มีฐานะเป็น ลูกพี่ลูกน้องของหลานเขย (เจ้าอุปราชจันทร์วังหน้าเมืองนครศรีธรรมราช ภายหลังเป็นเจ้าพระยาสุรินทราชา) ซึ่งเคยเดินทางไปราชการยังเมืองนครศรีธรรมราชพร้อมสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ขนบธรรมเนียม จารีต แบบแผนการฝึกหัดและการแสดงโขนละครส่วนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของทางนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานมาในพระบรมราชโองการจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อพุทธศักราช 2319 นั้น ยังคงตกทอดสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่นผ่านการอุปถัมภ์ของผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชทุกสมัยเป็นมรดกมาจนถึงยุคปัจจุบัน

อนึ่ง ยังคงเรียกพื้นที่ซึ่งแม้จะถูกปรับเปลี่ยนเป็นแค่จวนเจ้าเมืองแล้วว่า “วัง” อยู่ต่อไปเป็นภาษาปาก ทว่าหลังจากการปรับเปลี่ยนการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้เป็นมณฑลนครศรีธรรมราชในปี พ.ศ. 2439 แล้วนั้น เจ้าพระยาสุธรรมมนตรีศรีธรรมราช (หนูพร้อม) ได้ถวายคืนทรัพย์สมบัติและที่ดินหลายส่วนแด่แผ่นดิน กิจการการละครที่เคยเจริญรุ่งเรืองก็มีอันกระสานซ่านเซ็นออกนอกเขตวังทั้งฝ่ายดนตรีปี่พาทย์และนักแสดง แต่ด้วยความรักในวัฒนธรรมของผู้สืบทอดเดิม ทำให้มีการสมโรงฝึกหัดและถ่ายทอดขึ้นต่อเนื่องในหมู่เครือญาติและผู้สนใจ

บนและซ้าย : แม่ครูเขียวหวาน วัชรกาญจน์ ล่าง : แม่ครูพร้อม พันธ์วาที ซ้าย : ย่าพลับ ทองทรัพย์ จันทราทิพย์

การสืบสาน โขนละคร วังพระเจ้านครศรีธรรมราช

ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการฝึกหัดละครขึ้นใหม่นอกวังขณะนั้นประกอบด้วย

1.) ย่าพลับ ทองทรัพย์ จันทราทิพย์ นางละครรุ่นสุดท้ายของวังพระเจ้านครศรีธรรมราช เป็นครูทางรำ (เชี่ยวชาญบททศกัณฑ์/อุศเรนทร์/เจ้าเงาะ)

2.) พ่อครูชอบ บุญกาญจน์ อัจฉริยะศิลปินรุ่นสุดท้ายของวังพระเจ้านครศรีธรรมราช ผู้ได้รับกรรมสิทธิ์ทำครอบและเป็นครูทางรำ, ทางดนตรี,ทางช่างทำหัวโขน-ดนตรีไทย, ทางร้อง

3.) แม่ครูเจต ไชยาคำ เป็นครูผู้รักษาและประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย

4.) พ่อครูชม เสาวพรรณ นักร้อง คนพากษ์ ของวังพระเจ้านครศรีธรรมราช เป็นครูทางดนตรี ร้อง พากษ์

5.) แม่ครูเขียวหวาน วัชรกาญจน์ นางละครรุ่นสุดท้ายของวังพระเจ้านครศรีธรรมราช เป็นครูทางรำ (เชี่ยวชาญบทนางทุกประเภท)

ศิษย์รุ่นแรกเริ่มฝึกขึ้นเมื่อประมาณปีพุทธศักราช 2500 เป็นบรรดาลูกหลาน ในละแวกบ้านใกล้เรือนเคียง อาทิ คุณจริต เสาวพรรณ, คุณปัณฑรี ทรงพร, คุณเจตนา ชยันเกียรติ, คุณมลินีนัน ณัฐศรีวัฒน และคุณนิภา สมเชื้อ เป็นต้น สถานที่ฝึกซ้อมเป็นบ้านของแม่ครูเจต ไชยาคำ โดยฝึกซ้อมโขนเรื่องรามเกียรติ์ ละครเรื่องสังข์ทอง ไกรทอง พระสมุทร อิเหนา อุณรุท ฯลฯ

ลักษณะการฝึกซ้อมจะใช้ขนบจารีตการฝึกหัดโขนละคร ในฉบับของวังพระเจ้านครศรีธรรมราช ตามที่บรรดาพ่อครูและแม่ครูคลุกคลีคุ้นเคย คือเริ่มที่การดัดมือ ดัดตัว ฝึกให้รู้จักจังหวะด้วยการฝึกหัดรำเพลงช้า เพลงเร็ว และฝึกให้รู้จักท่ารำด้วยการฝึกหัดรำแม่บท ส่วนการฝึกซ้อมเป็นเรื่องนั้น หากมีการฝึกหัดให้กับลูกศิษย์คนใดเป็นตัวละครตัวใดตัวหนึ่งแล้ว ลูกศิษย์ทั้งหมดก็จะต้องฝึกหัดรำตามอยู่ข้างหลัง ฉะนี้ จึงไม่มีการกำหนดกะเกณฑ์ว่าใครเรียนเป็นตัวอะไร เล่นเป็นตัวอะไร

โขน โขนละคร วัยเด็ก ของ นครศรีธรรมราช
ศิษย์รุ่นปีพุทธศักราช 2500

โขนละคร วังพระเจ้านครศรีธรรมราชมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดดเด่นแตกต่างจากของวังหลวง อาทิด้านการแต่งกายที่เห็นได้ชัดเจน คือ ทศกัณฑ์ของวังหลวง นุ่งผ้ายกเป็นโจงกระเบนก้นแป้น ส่วนของวังพระเจ้านครศรีธรรมราชนั้น ท่านเจ้าคุณขนทวนได้สั่งกำชับห้าม และให้นุ่งหางหงส์เท่านั้น อีกประการคือยักษ์ฝั่งลงกาทุกตนต้องสวมเกราะ ดังปรากฏเป็นเรื่องเล่าในหมู่ศิษย์ เมื่อครั้ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นำโขนเดินทางมาแสดงในงานเดือนสิบสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช ความว่า

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ : สวยไหมครับแม่ครู
ย่าพลับ : สวยค่ะ
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ : ดีไหมครับแม่ครู
ย่าพลับ : ดีค่ะ
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ : ถูกไหมครับแม่ครู
ย่าพลับ : ไม่ถูกค่ะ
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ : ไม่ถูกตรงไหน อย่างไรครับแม่ครู

เศียรทศกัณฑ์หน้าทอง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
เศียรทศกัณฑ์หน้าทอง สมบัติสกุล ณ นคร ปัจจุบันเก็บรักษาในคลังโบราณวัตถุ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

ย่าพลับ : ทศกัณฑ์ของฉานต้องใส่เกราะค่ะ
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ : ไม่ได้เป็นตอนรบ ไม่ต้องใส่นี่ครับ
ย่าพลับ : ครูเติ้นกับครูฉานคนละครูกัน ครูฉานสอนว่าต้องใส่ แม้แต่ตอนนอนก็ยังต้องใส่เพราะบัดสีเมีย ไปเกี้ยวเมียชาวบ้านเขาแล้วถูกพระอิศวรซัดเอากับงาช้างเข้ากลางอก ต้องให้พระเพชรฉลูกัณฑ์เลื่อยให้ บัดสีเขาที่เป็นรอยโหว่งต้องเอาโล่มาปิดค่ะ

นอกจากนี้ในส่วนของทางร้องและทางรำ ที่แตกต่างชัดเจนคือท่ารำแม่บทเล็ก ซึ่งจะเรียกกันติดปากทั่วไปว่า “แม่บททางนคร” เพราะไม่มีแม่บทเล็กหรือแม่บทใหญ่เพราะมีแม่บทเดียว ส่วนท่ารำก็มีความโดดเด่นสิ้นเชิง เนื้อร้องและทำนองเหมือนต่างกันเฉพาะคำว่า “อัมพร” ที่ทางนครใช้เป็น “นภาพร” ส่วนท่อนรับก็ผิดแปลกพิศดารคือรำทวนเนื้อร้องไปทั้งหมด แม่บททางนครนี้ ตามจารีตแล้วศิษย์ทุกคนที่เข้ามาเริ่มเรียนต้องฝึกฝนจนชำนาญก่อน จึงสามารถฝึกฝนท่ารำกระบวนอื่นได้

พลับ จันทราทิพย์ ร่ายรำ โขนละคร
ย่าพลับ จันทราทิพย์

จุดสิ้นสุดของการฝึกหัดคือวาระสุดท้ายของชีวิตย่าพลับ หรือแม่ครูทองทรัพย์ จันทราทิพย์ ในปีพุทธศักราช 2536 ตลอดระยะเวลากว่า 36 ปีจากการเริ่มต้น ย่าพลับและครูผู้ใหญ่ข้างต้นได้ฝึกหัดศิษย์ขึ้นหลายรุ่น ทั้งทางรำ ทางร้อง ทางดนตรี ด้วยแบบฉบับทางวังพระเจ้านครศรีธรรมราช

ซึ่งในปัจจุบัน “พ่อครูธงชัย ไพรพฤกษ์” ศิษย์เอกรุ่นสุดท้ายของย่าพลับ จันทราทิพย์ และเป็นผู้ได้รับมอบกรรมสิทธิ์ทำครอบและพิธีไหว้ครูโขนละครและดนตรีไทย จากพ่อครูชอบ บุญกาญจน์ (อัจฉริยะศิลปินรุ่นสุดท้ายของวังพระเจ้านครศรีธรรมราช) ยังคงฝึกหัดศิษย์อย่างต่อเนื่องเพื่ออนุรักษ์มรดกอันเป็นเอกลักษณ์นี้ไว้ให้อยู่คู่แผ่นดินไทยสืบไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


บรรณานุกรม :

ภณ ณ นคร. สกุล ณ นคร เชื้อวงศ์ธนบุรี ผู้ภักดีแห่งกรุงสยาม ตำนานเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชสมัยรัตนโกสินทร์, 2560.

ธนิต อยู่โพธิ์. ศิลปละครรำ หรือ คู่มือนาฏศิลปะไทย, 2531.

นรินทรเทวี, กรมหลวง. จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี, 2501.


ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ เมษายน 2562แพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ย. 2017