สื่อนอกเผยแพร่งานศิลป์คนไทย ไอเดียจากเจ้าผู้ครองแคว้นแซกโซนี ใช้กองทหารม้าแลกแจกัน

ภาพวาด August II กษัตริย์แห่งโปแลนด์ โดย Louis de Silvestre วาดก่อน 1720 (ภาพจาก http://www.clelgr.tmfweb.nl/studiereizen/sachsenreise2001/steffenvisser.html [ไฟล์ public domain] กับงาน Porcelain ทรงรถถัง จาก วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ (ไฟล์ภาพจาก วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์)

หมายเหตุ : วันที่ 2 ธันวาคม 2563 (เวลาในไทย) เว็บไซต์ New York Times เผยแพร่บทความเกี่ยวกับผลงานศิลปะชุดนี้ ชื่อบทความ “In Bangkok, Translating Military Might Into Porcelain”

ข้อเขียนต่อไปนี้เขียนโดย วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ เจ้าของผลงานศิลปะเอง เผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัว บอกเล่าที่มาที่ไป และเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจอันนำมาสู่การสร้างผลงาน ศิลปวัฒนธรรม (ฝ่ายออนไลน์) ได้รับอนุญาตให้นำมาเผยแพร่ต่อเมื่อ 30 ต.ค. 2563


ครั้งแรกที่ได้อ่านเรื่องราวที่เกิดขึ้นใน คริสต์ศตวรรษที่ 18 จากหนังสือ กระเบื้องถ้วย กะลาแตก ของคุณพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร ที่ Friedrich August I ( 1670 – 1733 หรือ August The Strong ภายหลังขึ้นครองราชย์ เป็นกษัตริย์โปแลนด์ มีพระนามว่า August II ) เจ้าผู้ครองแคว้นแซกโซนี ( Elector of Saxony )  นำกองทหารม้าที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์ จำนวนถึง 600 นาย ไปแลกกับแจกัน Porcelain จำนวนเพียงแค่ 151 ใบ ทำให้เกิดความรู้สึกประหลาดใจ ที่ศิลปะมีคุณค่า ความหมาย และมีความสำคัญมาก ถึงขนาดที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่ดูไม่สมเหตุผลนี้ขึ้นมา ซึ่งถ้าเทียบกันสัดส่วนกันแล้ว หมายถึงทหารม้าอันลือชื่อ ถึง 4 นาย แลกกับแจกัน แค่ 1 ใบ !!

มันน่าตื่นเต้น และ ดีใจ ที่เคยมีช่วงเวลาที่ ศิลปะ มีความหมายจริงๆ ไม่ใช่แบบที่พวกเราศิลปินมองและประกาศกันเองเสมอว่า มันคือสิ่งจำเป็นที่สุดของมนุษย์ มีคุณค่าหรืออะไร ผมชื่นชม Friedrich August I ในฐานะผู้ที่สนับสนุนและเห็นคุณค่าของงานศิลปะ แม้มีหลายคนมองว่านั่นคือความบ้า ที่เกินพอดี

แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนั้น ลึกๆ ทำให้ผมแอบภูมิใจ ว่างานดินเผา วัสดุที่เราทำ เคยทรงอิทธิพล และ มีความสำคัญ กว่าอำนาจอีกด้วย? อย่างน้อย ครั้งหนึ่งงานดินเผาเคยมีช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์ แม้ตอนนี้เหลือเป็นแค่อดีตก็ตาม

แต่ระหว่างที่เริ่มทำงานชุดนี้ มายาคติที่บังตา คงเริ่มจางลง ในตอนนั้นเราคงมองเข้าข้างตัวเองมากไป เลยเลือกที่จะเห็นแค่ฝั่งเดียว

เพราะที่จริงแล้ว ในครั้งนั้น เรามีทั้งคนที่คลั่งไคล้และเหมือนมีความต้องการงานศิลปะ  แต่อีกฝ่าย การที่เขาเลือกจะเอากองทหารก็คงแสดงว่า ศิลปะไม่ได้มีคุณค่าสำหรับเขาเลย?

หรือที่จริงแล้ว มันมีเหตุผลหรืออะไรที่แฝงอยู่มากกว่านั้นซ่อนอยู่ในความคิดของเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้น ในช่วงเวลานั้น??

จนวันหนึ่งผมโชคดีที่ได้มารู้จักกับ ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มาวิเคราะห์ ถึงสิ่งที่น่าจะเป็นเหตุและผล ที่สุดท้าย “อาจจะ” ไม่มีคำว่าบ้า? แต่ทุกฝ่ายแค่พยายามทำทุกอย่าง เพื่อหา ทางออก ด้วยวิธีการที่ต่างกัน แต่เพื่อเป้าหมายเดียวกัน

……………………………………………………………………………………………………………………………………….

“ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญ Tim Blanning ขนานนามคริสต์ศควรรษที่ 18 ว่าเป็นยุคสมัยของ “The Age of Glory” นั่น คือ เป็นยุคสมัยที่เจ้าผู้ครองดินแดนต่างๆ ล้วนแสวงหาความยิ่งใหญ่ ชื่อเสียง เกียรติยศ และความลือนามของตน โมเดลสำคัญที่เป็นต้นแบบของการกระทำดังกล่าวคือ ราชสำนักแวร์ซายส์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งได้สถาปนาการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ (Absolutism) ขึ้นในยุโรป ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 และเป็นอุดมคติหลักในการปกครองของเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ในยุโรปตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ล้มล้างระบอบดังกล่าวลงใน ค.ศ. 1789 กลไกสำคัญของการสถาปนาเกียรติยศ (จากเกียรติยศ จะนำไปสู่ “อำนาจ” ซึ่งเป็นความคิดที่ต่างจากยุคปัจจุบันที่ “อำนาจ” นำไปสู่ “เกียรติยศ”) ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 คือ “วัฒนธรรมทางวัตถุ” (material culture) ในที่นี้หมายถึง การสื่อสารความหมายเชิงสัญลักษณ์ของมโนทัศน์เรื่องเกียรติยศและอำนาจ ผ่านวัตถุสิ่งของ อาทิ โรงละครราชสำนัก ศิลปิน นักร้อง จิตรกร และผลงานศิลปะต่างๆ  : ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ”

ผมไม่เคยรู้เรื่องประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคอย่างเพียงพอ หลายครั้ง เราเลือกที่จะจำแค่ประโยคสั้นๆ หรือคำบรรยายสักย่อหน้าหนึ่ง และบางครั้งเราก็เลือกจำเพียงสิ่งที่ต้องใจเรา โดยไม่พยายามที่จะไปตามหาข้อมูลเพิ่มเติมจากทุกฝ่ายที่จะทำให้เรามองทุกอย่าง อย่างเข้าใจมากขึ้น  และบ่อยครั้งประวัติศาสตร์ถูกเลือก ออกมาเล่าจากความเชื่อ ความชอบ หรือถูกวิเคราะห์จากใครสักคนเพียงด้านเดียว

Friedrich August I ( r.1694 – 1733 ) เป็นเจ้าผู้ครองแคว้นแซกโซนี แม้เป็นแคว้นที่มั่งคั่ง แต่มีปัญหาด้านขนาดของพื้นที่ เพราะมีขนาดเล็กและไม่มีทางออกทะเล ซึ่งช่วงเวลาที่พระองค์ครองราชย์นั้น อยู่ในยุคที่มีกระแสการแข่งขันสูงในเรื่องของการสร้างภาพลักษณ์  บารมี ความโดดเด่น และ เกียรติยศ จากการที่แคว้นของพระองค์ต้องอยู่ระหว่างแคว้นสำคัญอีกสองแคว้นคือ ออสเตรียและบรันเด็นบวร์ก (ในเวลาต่อมาคือ ปรัสเซีย) อาจทำให้ Friedrich August I ต้องพยายามสร้างสถานะของพระองค์ให้สูงส่งขึ้น เพื่อที่จะแข่งขันพระเกียรติยศให้เทียบเท่ากับ Louis XIV แห่งฝรั่งเศส หรือจักรพรรดิของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์แห่งชนชาติเยอรมัน (The Holy Roman Empire of German Nation) แล้วยังต้องพยายามทำตัวให้โดดเด่นกว่าเจ้าผู้ครองบรันเด็นบวร์ก ที่อยู่ติดกัน แต่ตามระบบฐานันดรศักดิ์ที่ถูกกำหนดไว้ เจ้าผู้ครองแคว้น (Elector) ไม่ได้มีศักดิ์ศรีที่สูงส่งเทียบชั้นได้กับตำแหน่งของบุคคลที่พระองค์พยายามแข่งขันอยู่เลย

“หากนับว่าราชสำนักของหลุยส์ 14 เป็นโมเดลสำคัญของการพยายามสร้างเกียรติยศของเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ในยุโรปนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ หลุยส์ 14 มีสถานภาพเป็น “กษัตริย์” (King) หากผู้ครองดินแดนใดก็ตาม ไม่ว่าจะร่ำรวย มีถาวรวัตถุในครอบครองมากเพียงใดก็ตาม แต่หากไม่มีสถานภาพเป็น “กษัตริย์” ก็จะไม่สามารถบรรลุ “เกียรติยศ” ตามอุดมคติของศตวรรษที่ 18 หรือ The Age of Glory …….เจ้าเหล่านี้ มีสถานภาพเป็นเพียง “เจ้าชาย” หรือ “prince” เจ้าเหล่านี้ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับพระจักรพรรดิ เป็นคนละสายตระกูล สิ่งที่สำคัญคือ “เจ้า” เหล่านี้มีสถานภาพทางสังคมและการเมืองที่ต่ำกว่า “กษัตริย์” และ “จักรพรรดิ” : ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา “

แต่จากการทำสงครามเอาชนะสวีเดนได้นั้น ทำให้ Friedrich August I ได้สิทธิปกครองโปแลนด์ ซึ่งนอกจากทำให้มีดินแดนเพิ่มขึ้นมากขึ้นแล้ว ยังได้ “เกียรติยศ” เสริมมาอีกด้วย เพราะในคริสต์ศตวรรษที่ 18 สงครามคืออุปกรณ์หนึ่ง ที่นำเจ้าให้ผู้ครองดินแดนขึ้นสู่บันไดแห่งเกียรติยศตามอุดมคติแห่งยุคสมัย แล้วยังทำให้พระองค์ ได้ “ฐานันดรศักดิ์” ที่ต้องการเสริมเข้ามาอีกด้วย คือการได้เป็น กษัตริย์ของโปแลนด์ ดังนั้นใน ค.ศ.1697 The Elector Friedrich August I of Saxony จึงได้เถลิงราชย์เป็น King August II of Poland  

ภาพวาด August II กษัตริย์แห่งโปแลนด์ โดย Louis de Silvestre วาดก่อน 1720 (ภาพจาก http://www.clelgr.tmfweb.nl/studiereizen/sachsenreise2001/steffenvisser.html) [ไฟล์ public domain]
แต่การเข้าไปถึงซึ่ง “ อำนาจ ” ตามวิถีในอุดมคติของยุคนั้น ยังต้องมีอีกกลไกที่สำคัญ ก็คือการได้ครอบครอง “วัฒนธรรมทางวัตถุ” (material culture) ไม่ว่าจะเป็น สิ่งของ โรงละครราชสำนัก ศิลปิน นักร้อง หรือ ผลงานศิลปะต่างๆ

ที่ผ่านมา แม้ Friedrich August I อาจจะเป็นคนที่คลั่งไคล้ ชอบ คุ้นเคยในความหรูหราและสะสมวัตถุล้ำค่าอยู่แล้ว แต่ก็มีข้อจำกัดด้านการปฏิบัติ จากการที่แคว้นแซกโซนีเป็นแคว้นที่นับถือโปรแตสแตนท์ นิกายลูเธอร์รัน (Lutheran) ทำให้ไม่สามารถทำสิ่งที่เกินพอดีได้ ซึ่งความเชื่อนี้แตกต่างจากศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก

“ คาทอลิกมีความเชื่อว่าเกียรติยศและศรัทธาสามารถแสดงออกผ่านถาวรวัตถุและสถาปัตยกรรม ความยิ่งใหญ่ของวัตถุหมายถึงความยิ่งใหญ่ของสถานภาพและอำนาจของผู้ปกครอง ในขณะที่ลูเธอร์รัน (Lutheran) ซึ่งเป็นโปรแตสแตนท์ปฏิเสธความคิดดังกล่าวอย่างแข็งขัน และมองว่าถาวรวัตถุต่างๆ และการครอบครองวัตถุที่เกินจำเป็นนั้นเป็นบาป : ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ”

แต่หลังจากที่ Friedrich August I ได้ครองราชย์เป็นกษัตริย์ของโปแลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติยศและศักดิ์ศรีมากกว่า การเป็นแค่ เจ้าผู้ครองรัฐ หรือ The Elector (Kurfuerst) ของ Saxony  ทำให้พระองค์ต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิกแทน การเปลี่ยนแปลงที่เข้ามานี้ทำให้พระองค์สามารถลดข้อจำกัดของวิถีการดำเนินชีวิตที่เคยเป็นได้ ซึ่งทำให้พระองค์สามารถสะสม สร้างและทำอีกหลายๆ สิ่งได้มากขึ้น เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งก็คือเกียรติยศต่างๆ ที่สามารถใช้แสดงออกเชิงอำนาจและสถานภาพทางการปกครองของพระองค์ได้  ตามเส้นทางที่ถูกกำหนดรูปแบบไว้ของยุคสมัยนั้น ก็คือ The Age of Glory โดยไม่ผิดจากหลักของความเชื่อทางศาสนาอีกต่อไป

ในยุคนั้นการได้ครอบครองสิ่งของ หรือ ชิ้นงานศิลปะ ที่แปลก แตกต่าง และไม่มีใครมีเหมือนได้ ย่อมเป็นการเสริมภาพลักษณ์ของผู้ที่เป็นเจ้าของได้ ซึ่งในสมัยนั้น ที่ต่างจากปัจจุบันที่เป็นของธรรมดาทั่วๆไป Porcelain คือหนึ่งในวัสดุที่ล้ำค่า หายาก แม้จะถูกนำเข้ามาในยุโรป ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 จากประเทศจีน แต่ก็มียังมีมูลค่าที่สูง กษัตริย์และขุนนางต้องใช้เงินมหาศาลเพื่อซื้อและสะสมชิ้นงานเหล่านี้ เพราะยังไม่สามารถผลิตขึ้นมาใช้เองได้ แม้จะมีความพยายามสืบและไขความลับของการผลิต แต่ก็ไม่เคยมีใครหาคำตอบของปริศนานี้ได้ สิ่งที่พยายามทำเลียนแบบ แต่ทำได้แค่ดูคล้ายที่สุดเรียกว่า Faience คือการนำดินที่มีสีแดงหรือน้ำตาลที่เรียกว่า Earthenware ไปเคลือบด้วยเคลือบทึบที่มีส่วนประกอบของดีบุก ที่จะทำให้ภาชนะมีความขาวเหมือน Porcelain แต่ไม่สวย และมีคุณภาพที่ดีเท่า

dann fragte August:

Ist das Porzellan schoen?

Ist es etwas, das ich noch nicht habe?

Dann kaufe ich es!

(Friedrich August I ถามว่า Porcelain สวยมั้ย ? มันเป็นอะไรที่ข้าพเจ้ายังไม่มีหรือไม่? ถ้างั้นข้าพเจ้าจะซื้อมัน! )

ประโยคนี้อาจเป็นความจริงที่เคยเกิดขึ้น หรือเป็นแค่คำที่ปรุงแต่งขึ้น แต่อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่หลายๆ คนมอง ภาพของพระองค์ว่าเป็นแบบนี้

ด้วยความบังเอิญ จากการเล่นแร่แปรธาตุ หาวิธีการเปลี่ยนสารอื่นๆ ให้กลายเป็นทองคำของ Johann Friedrich Boettger ชาวเบอร์ลิน นักเล่นแร่แปรธาตุที่ถูก Friedrich August I กักขังไว้ เพื่อให้หาวิธีเปลี่ยนโลหะไม่มีค่า ให้กลายเป็นทองคำ เพราะพระองค์หวังว่าการค้นพบนี้จะสร้างความมั่งคั่งให้กับท้องพระคลังของพระองค์ได้อีกครั้ง แต่สุดท้ายเขาไม่สามารถเปลี่ยนสารอื่นให้เป็นทองคำได้ แต่กลับเจอความลับของการทำ Porcelain โดยบังเอิญขึ้นมาแทน และเพราะเหตุนี้ทำให้ Porcelain มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า White Gold

Es machte Gott, der grosse Schoepfer, Aus einem Goldmacher einen Toepfer. ( พระผู้รังสรรค์ช่างปั้นหม้อจากช่างทอง ) คือประโยคประชด? ที่ Boettger เขียนไว้ที่ประตูของห้องทดลองเขา แต่ไม่ว่าจะเป็นเช่นไร เหตุการณ์นี้เป็นจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ยุโรปและโลก ในเรื่องของงานดินเผาอย่างแน่นอน

แม้ที่จริงแล้วทองคำเป็นความหวังที่สำคัญที่ Friedrich August I ปรารถนามากกว่า เพื่อพยุงสถานะทางการคลังของพระองค์ แต่ฉายาหนึ่งที่พระองค์ได้รับก็คือ “Maladie de porcelain” ผู้คลั่งไคล้ใน Porcelain ดังนั้นหลังจากการค้นพบ White Gold เป็นที่มาสู่การตั้งโรงงาน Meissen ผลิต Porcelain ขึ้นเป็นแห่งแรกในยุโรป เมื่อปี ค.ศ. 1710 แม้วัสดุนี้จะไม่ได้ประสบผลทางรายได้แบบที่ตั้งใจไว้ แต่นับว่า พระองค์ได้สิ่งที่ตอบแทนมา ก็คือชื่อเสียง เกียรติยศ ต่างๆ

ภาพวาด พระเจ้า Frederick William I กษัตริย์แห่ง Prussia, c.1733 โดย Pesne, Antoine (1683-1747) ไฟล์ภาพ out of copyright

ใน ค.ศ. 1717 Friedrich August I เสด็จไปเยือน Friedrich Wilhelm I (1688 – 1740 ) กษัตริย์แห่งปรัสเซีย ที่ปราสาท Oranienburg แล้วได้ทรงเห็นแจกันจีน ลายคราม ขนาดใหญ่ สมัยราชวงศ์ชิง สูงประมาณ 1 เมตร (101.1 cm กว้าง 48.9 cm ) จากความชื่นชอบในวัสดุตัวนี้ ทำให้พระองค์ต้องการที่จะได้ครอบครองแจกันแบบนี้เช่นกัน แต่แจกันขนาดใหญ่เหล่านี้ ไม่ได้เป็นของที่มีอยู่ทั่วไป เพราะเป็นผลงานของช่างจากเตาหลวงของประเทศจีน ที่ต้องมีทักษะและประสบการณ์ที่ต้องสะสมยาวนานจึงจะสามารถผลิตขึ้นมาได้ และไม่ได้เป็นของที่ผลิตทำซ้ำเป็นจำนวนมากหรือทำขายเป็นการทั่วไป

ดังนั้น แม้การมีโรงงานผลิต Porcelain ส่วนพระองค์ ก็ยังไม่สามารถทำทุกอย่าง แบบที่ในเมืองจีนทำได้ โดยเฉพาะงานที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้ และวัตถุดิบที่ใช้ทำ Porcelain ของพระองค์ในช่วงเวลานั้น แม้มีสีขาวเหมือนกัน แต่มีความเหนียวที่ต่างกัน ทำให้ไม่สามารถขึ้นรูปให้เป็นลักษณะแบบนี้ได้

ความปรารถนาที่ต้องการที่จะมี แจกัน แบบนี้ เช่นกัน ทำให้พระองค์ พยายามติดต่อผ่านนายหน้าจากฮอลแลนด์ที่ขายสินค้าจากประเทศจีน แต่ก็ไม่ใครสามารถหาแจกันใหญ่ขนาดนี้มาให้ได้ และการที่จะส่งกองเรือเพื่อไปหาซื้อเองที่ประเทศจีน ก็อาจเสี่ยงทำให้เกิดเป็นปัญหากับฮอลแลนด์ขึ้นมาได้ ถึงแม้พระองค์จะยอมลดคุณภาพของแจกันลง ยอมไปใช้งานที่เลียนแบบ Porcelain จากจีนที่เรียกว่า Faience แทน แต่ท้ายสุดแล้ว ถึงโรงงานที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปในเวลานั้น ที่เมือง Delft และเมือง Rouen ก็ไม่สามารถผลิตแจกันใหญ่ตามขนาดที่ต้องการได้ แม้ Friedrich August I ผู้ยิ่งใหญ่ พร้อมที่จะลงทุนทำเตาเผาใหม่ให้กับโรงงานก็ตาม !!!

ในที่สุดเพื่อให้ได้ครอบครองสิ่งที่หายากและล้ำค่าไม่เหมือนใครเช่นนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งเกียรติยศที่ปราถนา Friedrich August I จึงได้พยายามที่จะเอาแจกันชุดนี้ มาจากปรัสเซียแทน

ในช่วงเวลานั้น กษัตริย์องค์ใหม่ ของปรัสเซีย Friedrich Wilhelm I เพิ่งขึ้นครองราชย์ เมื่อ ค.ศ. 1713 และมีความต้องการที่จะขยายกองกำลังทหารของพระองค์ เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของบรันเด็นบวร์กไม่ได้ติดต่อเป็นผืนเดียวแต่แยกกันเป็นส่วนๆ จึงเสมือนบรันเด็นบวร์กอยู่ในวงล้อมของรัฐอื่นๆ ดังนั้น กองทัพจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต่อการรักษาอำนาจของบรันเด็นบวร์ก

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเหตุปัจจัย คือการที่ เจ้าผู้ครองแคว้นในตระกูล Hohenzollern ผู้ครองบรันเด็นบวร์ก นับถือโปรแตสแตนท์ นิกายคัลแวง (Calvinism) ที่เน้นเรื่องการทำงานหนัก และ มัธยัสถ์  ดังนั้น เมื่อ Friedrich August I แสดงความประสงค์ ที่จะขอแลก กองทหารม้า 600 คน กับ แจกัน 151 ใบ จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ของ Friedrich Wilhelm I ที่ได้รับสมญาว่า Soldatenkoenig ( Soldier King ) ที่จะแสดงจุดยืนให้เห็นว่า พระองค์ให้ความสำคัญกับกองกำลังทหารมากกว่า และ ยังสามารถแสดงให้คนเห็นถึงความศรัทธาอย่างยึดมั่นในคำสอนของ นิกายโปรแตสแตนท์ ที่มองว่าถาวรวัตถุต่างๆ และการครอบครองวัตถุที่เกินจำเป็นนั้นเป็นบาป และที่สำคัญในช่วงเวลานั้น การลงทุนกับการฝึกกองทหารม้าที่เกรียงไกรในระดับนี้ ต้องใช้เวลาที่ยาวนานและต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ซึ่งผลจากการที่ในรัชสมัยก่อนหน้าพระองค์ Friedrich III พระบิดาของพระองค์ ที่แม้ ปฏิเสธความหรูหราต่างๆ ตามความเชื่อทางศาสนา แต่ ก็ได้ใช้จ่ายเงินมหาศาลไปกับการการสร้างเกียรติยศ ผ่านกิจกรรมด้านการศึกษา ปรัชญา ซึ่งมีการตั้งโรงเรียน ราชวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยที่เมือง Halle และ Göttingen ซึ่งเป็นเขตปกครองของบรันเด็นบวร์กจนเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่มีชื่อเสียงด้านเทววิทยาและกฎหมาย ฯลฯ อันทำให้เกิดปัญหากับเงินในท้องพระคลัง

การแลกแจกัน กับ กองทหารม้า จึงคุ้มค่าเพราะเป็นทั้ง ทางออก ของปัญหา และ ยังส่งเสริมภาพลักษณ์และแสดงจุดยืน อย่างที่ Soldatenkoenig ต้องการได้

สำหรับ Friedrich August I ก็เช่นกัน การแลกทหาร กับแจกัน ถ้ามองจากมุมมองของคนในปัจจุบัน โดยที่ไม่เข้าใจถึงแนวความคิดและค่านิยมของสังคมในสมัยนั้น คงมองว่าสิ่งที่พระองค์ทำ ไร้เหตุผล แต่การตัดสินใจในครั้งนั้น คงไม่ได้เป็นเพียงแค่สนองความคลั่งไคล้ส่วนพระองค์เพียงแค่นั้น แต่เป็นการตัดสินใจที่ทำให้พระองค์ได้มาในทุกสิ่งเพื่อบรรลุความปรารถนาเช่นกัน เพราะหลังจากสงครามที่เอาชนะสวีเดนได้แล้ว แคว้นแซกโซนีของพระองค์ก็ไม่ได้จำเป็นต้องมีกองกำลังขนาดใหญ่อีกต่อไป การตัดกองทหารนี้ออกไป นอกจากทำให้ประหยัดงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ต้องใช้ดูแลกองกำลังเหล่านี้ อันจะเป็นการช่วยลดภาระทางการคลังของพระองค์ได้แล้ว ยังได้แจกันที่ล้ำค่าและหาไม่ได้อีกแล้วในสมัยนั้นมาครอบครอง ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้ Friedrich August I ได้เสริมเกียรติยศของพระองค์ให้เพิ่มมากขึ้น

เหตุการณ์นี้อาจคือ ทางออก ที่ดูเหมือนไร้เหตุผล แต่ก็ทำให้ Friedrich August I สามารถเดินตามเป้า เพื่อให้ได้มาซึ่งทุกสิ่งที่ต้องการ เพื่อจะบรรลุจุดที่สูงที่สุดเท่าที่สามารถไปถึงได้ ตามอุดมคติของคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่เรียกว่า “The Age of Glory” (ซึ่งก็คือ “วัฒนธรรม” อันหมายถึง วัตถุสิ่งของ และผลงานศิลปะต่างๆ ) ได้อย่างสมบูรณ์

ดังนั้น ที่จริงแล้ว การกระทำ ของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ได้มาจากความไร้เหตุผล และไม่มีใครบ้า หรือ โง่กว่าใคร สุดท้ายก็ไม่น่าจะมีใครได้เปรียบ หรือเสียเปรียบใคร เพราะทั้ง 2 ฝ่ายได้พยายามหา ทางออก ของตนเองในวิธีที่แตกต่างกัน แต่ก็เพื่อให้ได้มาซึ่งผลที่ดีที่สุด สำหรับจุดประสงค์ที่ตนเองต้องการ เท่านั้นเอง

จากเหตุและผลเหล่านี้ ทำให้เรารู้ว่าสุดท้าย ศิลปะ ไม่ได้มีพลังมากและสำคัญกว่ากองกำลังทหารแต่อย่างใด แต่ ศิลปะ คือสิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องมือที่ถูกใช้ เหมือนกับอีกหลายๆ สิ่ง เพียงเพื่อให้ บรรลุเป้า ที่ปรารถนาและไม่ได้ต่างกันของทั้งคู่ ซึ่งก็คือ เกียรติยศ และ อำนาจ นั่นเอง

เป็นเรื่องที่แปลกแต่ยังคงจริงเสมอ ที่แนวความคิด ความเชื่อ และความปรารถนาเหล่านี้ ไม่เคยเปลี่ยนแปลงและแตกต่างไปจากเดิม

ผมจึงใช้ Porcelain ที่เคยเป็นตัวแทนของสิ่งที่ล้ำค่าในอดีต มาทำเป็นรูปทรงของ รถถัง แทนกองทหารม้าในอดีต เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของปัจจุบัน และนำลวดลายที่อยู่บนแจกันชุดนั้น ที่ต่อมาถูกเรียกว่า Dragonervasen ( Dragoon Vases ) ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ Porzellansammlung (Porcelain Collection) ที่เป็นส่วนหนึ่งของ Staatlichen Kunstsammlungen Dresdens (State Art Collections of Dresden)  มาจัดวางใหม่บนรถถัง รุ่น Leopard II ที่ผลิตขึ้นจากประเทศเยอรมนี

ส่วนหนึ่งของ Dragonervasen ที่ Staatlichen Kunstsammlungen Dresdens (State Art Collections of Dresden) ภาพจาก วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์
Porcelain ทรงรถถัง โดย วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ (ภาพจาก วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์)
การจัดแสดง Porcelain ทรงรถถัง โดย วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ (ภาพจาก วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์)

แม้คุณค่าและมุมมองของวัสดุที่เลือกใช้อย่าง Porcelain จะเปลี่ยนไป แต่ผมต้องการคงไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางความคิดของสิ่งที่เคยมีมา และ ไม่เคยจางหายไป

ในวันนี้เราอาจมีค่านิยมและวิธีการที่แตกต่างไปจากเดิม มีวัตถุอื่นๆ มากมายที่ล้ำค่า แต่เราก็ยังคงมีคน ที่เหมือนบ้าคลั่ง เเละ มีคนที่สร้างภาพ เสมือนว่าเดินตามอุดมคติที่ยิ่งใหญ่ และทุกฝ่ายมีคนที่เข้าใจ และ ด่าทอ ซึ่งล้วนคือความจริง ที่แตกต่างกัน เพราะขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้มอง และ ตัดสิน

เพราะสุดท้ายสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยน จากอดีต ปัจจุบัน และ ต่อไปในอนาคต คือเป้าที่ทุกฝ่ายต้องการที่เหมือนเดิม นั่นก็คือ เกียรติยศ และ อำนาจ ของตนเองนั่นเอง

ไม่ว่าจะสะสมเกียรติยศเพื่อให้บรรลุอำนาจ หรือ สร้างอำนาจ เพื่อให้ได้เกียรติยศตามมา

ทุกสิ่งคือวิธีการ ที่ทุกคน ต้องเลือกและเจอ ทางออก ด้วยตัวเอง

งานชุดนี้แสดงอยู่ในงาน Bangkok Art Biennale ,BAB 2020  Escape Routes ตั้งแต่ 29 ตุลาคม 2563 ถึง 31 มกราคม 2564 ที่ ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร BACC

 


เนื้อหาต้นทางจาก Facebook : https://www.facebook.com/wasinburee.supanichvoraparch/posts/10158580928100801

หมายเหตุ : วันที่ 2 ธันวาคม 2563 (เวลาในไทย) เว็บไซต์ New York Times เผยแพร่บทความเกี่ยวกับผลงานชุดนี้ ชื่อบทความ “In Bangkok, Translating Military Might Into Porcelain”

ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่เนื้อหาในเว็บ silpa-mag.com เมื่อ 30 ตุลาคม 2563