เปรียบพ่อแม่คือ “ปีศาจ” ของลูก เมื่อบ้านไม่ใช่ Comfort Zone

“ปีศาจ” นิยายชื่อดังของ “ศักดิชัย บำรุงพงศ์” เจ้าของนามปากกา “เสนีย์ เสาวพงศ์” นิยายสะท้อนสภาพสังคมไทยในทศวรรษ 2490 บอกเล่าเรื่องราวของ “โลกเก่า” ปะทะ “โลกใหม่” สู่การก่อกำเนิด “ปีศาจ” แห่งกาลเวลา ที่คอยตอกย้ำถึงความล้าหลังของสังคมไทย ผ่านตัวละครหลักอย่าง “สาย สีมา” และ “รัชนี”

ตัวละคร สาย สีมา และรัชนี อาจเรียกได้ว่าเป็นพระ-นางของนิยายเล่มนี้ก็ว่าได้ เสนีย์ เสาวพงศ์ได้สร้างตัวละครสองตัวนี้ขึ้นมาให้มีพื้นฐานแตกต่างกันลิบลับ ทั้งฐานะและชาติตระกูล สายอยู่ใน “โลกใหม่” ใหม่ทางความคิดและชีวิต ซึ่งต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า ขณะที่รัชนีอยู่ใน “โลกเก่า” คือโลกครอบครัวของเธอที่เต็มไปด้วยความเก่า คร่ำครึ หัวโบราณ และเจ้ายศเจ้าอย่าง

บ้านไม่ใช่ Comfort Zone

รัชนี “เกิดมาในสกุลขุนนางศักดินา มีสายเลือดสูงของบรรพบุรุษที่สืบสาวขึ้นไปได้ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา” ครอบครัวของเธอจึงยังคงยึดความคิดของ “โลกเก่า” ไว้อย่างเปี่ยมล้น ส่งผ่านจากรุ่นปู่ย่าสู่รุ่นพ่อแม่อย่างเข้มข้น

ความคิดหัวโบราณนั้นสะท้อนให้เห็นจากการที่ครอบครัวของรัชนีต่อต้าน “การศึกษา” โดยเฉพาะการมองว่า การศึกษาสำหรับผู้หญิงนั้นไม่สำคัญเท่ากับการมีเหย้าเรือนหรือการแต่งงาน ซึ่งต้องเป็นการแต่งงานกับผู้มีชาติตระกูลสูงศักดิ์เพื่อธำรงไว้ซึ่งเกียรติยศของวงศ์ตระกูล ดังที่ ย่าของรัชนีคัดค้านหัวชนฝา ไม่ให้พี่สาวของรัชนีเรียนสูงไปกว่าระดับชั้นมัธยมตอนต้น มุ่งหวังแต่จะให้แต่งงาน เพื่อวันหนึ่งจะได้เป็น “กุลสตรี” คอยเลี้ยงลูกและปรนนิบัติสามี อยู่แต่เหย้าเฝ้าแต่เรือน

รัชนีโชคดีที่เติบโตขึ้นในช่วงที่ย่าโรยรา ไร้เรี่ยวแรงลุกขึ้นมาคัดค้านหรือเคี่ยวเข็ญให้เธอต้องดำรงชีวิตอย่างพี่สาว รัชนีจึงมีโอกาสเรียนในระดับมัธยมปลายและมหาวิทยาลัย แม้ครอบครัวจะอนุญาตให้รัชนีเรียนสูงขึ้น แต่คนในครอบครัวกลับไม่ใคร่เต็มใจกับการเรียนในมหาวิทยาลัยของเธอ ความคิดต่อต้านเหล่านั้นแสดงออกมาเป็นความเย็นชา ไม่เคยมีใครเอาใจใส่สนใจถามเกี่ยวกับการเรียนของเธอเลย จนทำให้รัชนีรู้สึก “ท้อถอยหมดกำลังใจที่จะเรียนจนจบเสียหลายครั้งหลายหน” แต่เธอสามารถผ่านจุดนั้นมาได้ ไม่ใช่เพราะเหตุอื่นไกลอันใด หนึ่งคือ “เพื่อน” ที่เป็นแรงกำลังคอยสนับสนุน สองคือ “ความกลัว” กลัวที่ “จะต้องมาจับเจ่าอยู่ในความว่างเปล่าเงียบเหงาของบ้าน”

พื้นที่ “Comfort Zone” ของรัชนี จึงไม่ใช่บ้านหรือครอบครัวของเธอ แต่กลับเป็นเพื่อนและสังคมภายนอก ที่ทำให้เธอรู้สึกมีอิสระไม่ว่าจะคิดหรือทำ เธอสามารถเป็นตัวของตัวเอง และมีความสุขมากกว่าโลกแคบ ๆ ที่คนในครอบครัวยิ่งทำให้มันแคบลงอยู่เรื่อย

นกน้อยในกรงทอง

ครอบครัวของรัชนีเลี้ยงดูเธอด้วยความประคบประหงม เปรียบดั่ง “นกน้อยในกรงทอง” ผู้เป็นพ่อคือ “ท่านเจ้าคุณ” และผู้เป็นแม่คือ “คุณหญิง” รักลูกในแบบที่ตนเห็นสมควร กำหนดทางเดินชีวิตของลูกแทบทุกฝีก้าว

ดังที่แสดงให้เห็นข้างต้นแล้วว่า การศึกษา (โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง) คือสิ่งที่ครอบครัวของรัชนีต่อต้าน และยิ่งต่อต้านหนักขึ้นเมื่อเห็นว่า รัชนีมีความคิดความอ่านไม่ถูกใจพ่อแม่และไปรู้จักสนิทสนมกับสาย โดยกล่าวโทษว่า ต้นเหตุมาจากการศึกษา ท่านเจ้าคุณมีความคิดว่า การศึกษาในมหาวิทยาลัยทำให้รัชนี “มีความคิดไขว้เขวไปจากแนวทางของกรอบประเพณีนิยม และละทิ้งความถือตัว” การละทิ้งความถือตัวที่ว่านั้นคือ การไปรู้จักสนิทสนมเพื่อน ๆ ในมหาวิทยาลัย ที่ท่านเจ้าคุณเรียกว่า “เด็กต่ำ ๆ” หมายถึง ผู้คนที่ไม่ได้รับการอมรบสั่งสอนจากชาติตระกูลสูงศักดิ์

ถึงแม้ท่านเจ้าคุณจะพยายามคัดกรองให้รัชนีเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายสูง ท่านเจ้าคุณกลับรู้สึกผิดหวัง ที่เรื่องนี้ไม่ได้ช่วยให้คัดคนที่มี “วงศ์สกุลชั้นสูงเท่าเทียมกัน หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกัน” เข้ามารู้จักสนิทสนมกับรัชนี

นอกจากการศึกษาแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่ท่านเจ้าคุณเห็นว่า ส่งผลกระทบต่อลูกสาวคือ “ระบอบชีวิตปัจจุบันที่ให้สิทธิอิสระแก่ผู้หญิงมากเกินไป” ท่านเจ้าคุณเห็นว่า สองสิ่งนี้ทำให้รัชนี “มีความคิดอ่านผิดแผกแตกต่างไปจากที่ควรจะเป็น” ซึ่งสิ่งที่ “ควรจะเป็น” นี้ ก็เป็นความคิดส่วนตัวของท่านเอง เป็นสิ่งที่ท่านเจ้าคุณเห็นว่าสมควร ทั้ง ๆ ที่ “ความคิดอ่าน” ของตัวรัชนี ต้องมาจากตัวเธอเอง มิใช่ให้ผู้เป็นพ่อเป็นคนกำหนด

ท่านเจ้าคุณอาจมีความคิดมาโดยตลอดว่า ลูกฉันเป็นเด็กดี เชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ ฉันเลี้ยงของฉันมาแบบนี้ เด็กไม่มีทางที่จะคิดแบบนั้น ทำตัวแบบนั้น ที่จะยอมลดตัวไปคบหาเพื่อนที่ไร้ชาติตระกูล เหล่านี้ท่านเจ้าคุณเห็นว่า เป็นเพราะการศึกษา เพราะวิถีชีวิตในยุคใหม่ที่ให้อิสระกับคนมากเกินไป กล่าวโทษ “โลกใหม่” ที่มาทำลาย “บทละคร” ชีวิตของลูกสาวที่ตนเขียนและกำกับเอง แต่ท่านเจ้าคุณคงจะลืมไปอย่างหนึ่งว่า “กรงทอง” ที่ใส่ “นกน้อย” ตัวนั้น มันพุพังลงทุกเมื่อเชื่อวัน กรงนั้นก็เหมือนความคิดของ “โลกเก่า” ที่ท่านเจ้าคุณยึดถือมาตลอด ซึ่งมันต้องสลายไปวันยังค่ำ

คลุมถุงชน

แน่นอนว่า การจำกัดการศึกษาของครอบครัวนี้ โดยเฉพาะต่อ “ดรุณี” พี่สาวของรัชนี ทำให้ประตูแห่งโลกกว้างแทบจะถูกปิดตาย ดรุณีกลายเป็นผู้หญิงที่อยู่แต่บ้าน “ต้องมานั่งเท้าแขนอ่อนอยู่ใกล้ ๆ คุณย่าตลอดเวลาอันว่างเปล่าอยู่หลายปี” และที่สุดก็ถูกจับแต่งงานตามระเบียบ

“การแต่งงานระหว่างดรุณีกับนายสมบูรณ์ ซึ่งได้พิจารณากันโดยรอบคอบในด้านวงศ์สกุลและฐานะ คุณย่าว่านายสมบูรณ์เป็นคนไม่มีสกุลรุนชาติอะไร แต่คุณพ่อคุณแม่เห็นว่า เป็นคนมีฐานะมั่งคั่งมั่นคง และเป็นคนมีชื่อเสียงในวงการสมาคมชั้นสูง ถึงแม้จะไม่ได้เป็นลูกขุนนาง แต่ก็เป็นที่รู้จักกว้างขวางในบรรดาขุนนางและข้าราชการชั้นใหญ่ ๆ มากมายพอลบล้างกันไปได้ และเถ้าแก่ที่มาสู่ขอก็เป็นขุนนางผู้ใหญ่รุ่นเก่าซึ่งเป็นที่รู้จักของคุณพ่อเป็นอย่างดีมาก่อน ผลที่สุดของการพิจารณาความมั่งคั่งก็มีน้ำหนักเหนือกว่าวงศ์สกุล และนายสมบูรณ์พ่อค้าใหญ่ก็ได้รับเกียรติเป็นเขยของบ้านนี้” รัชนีเล่า

กระนั้น แม้จะเป็นที่ยอมรับเรื่องฐานะ แต่เรื่องชาติตระกูลก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับครอบครัวนี้ เมื่อพี่สาวของรัชนีแต่งงานกันไป ย่าของรัชนีวิจารณ์ลับหลังว่า “รวยดีหรอก เสียแต่กริิยาไพร่ไปหน่อย” ซึ่งครอบครัวของรัชนี มุ่งหวังให้ดรุณีแต่งงานกับคนร่ำรวย เพื่อให้มีสภาพชีวิตที่ดี และความร่ำรวยนั้นยังสามารถยกระดับฐานะและหน้าตาทางสังคมให้สูงขึ้นไปได้ไม่แพ้ชาติกำเนิดอันสูงส่ง

แต่การคลุมถุงชนนั้นเลี่ยงไม่ได้ที่อาจจะทำให้เจอคู่ชีวิตที่มีนิสัยใจคอโหดร้าย และนั่นก็เกิดขึ้นกับชีวิตแต่งงานของดรุณี สามีนอกใจเธอ ทำให้ชีวิตของเธอไม่มีความสุข ดรุณีเคยปรับทุกข์กับน้องสาวว่า “ถ้าพี่กลับเป็นสาวได้อีกครั้งหนึ่ง พี่จะไม่แต่งงานเลย” และตัดพ้อว่า

“เกิดมาเป็นลูกผู้หญิง เราเป็นคนอาภัพ อยู่กับพ่อแม่ก็ต้องเชื่อฟังพ่อแม่ญาติพี่น้องผู้ใหญ่ เมื่อแต่งงานก็อยู่ในอำนาจของผัว น้องเล็กก็รู้ว่าพี่แต่งงานไม่ใช่เพราะความรักอะไร ผู้ใหญ่จัดการอย่างไรเราก็ยอมรับตามแบบอย่างเด็กที่อยู่ในโอวาท ตอนนั้นพี่คิดเพียงว่า แต่งงานเสียทีก็ดีเหมือนกัน เพราะเบื่อชีวิตในบ้านเต็มทีอย่างไรก็คงจะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นอิสระได้บ้าง แต่มันก็เหมือนปลดห่วงหนึ่งออกไป แล้วเอาห่วงใหม่ที่หนักกว่าเข้ามาคล้องไว้แทน”

ดรุณีคิดว่า ตนเคราะห์ร้ายที่ไม่ได้เรียนหนังสือสูง ๆ เหมือนรัชนี หากเธอมีความรู้และทำงานหาเงินเองได้จะไม่ง้อใคร จึงได้เตือนรัชนีว่า “น้องเล็กมีความรู้อย่าคิดง้อใคร หางานทำแล้วอยู่ตัวคนเดียวอย่าได้คิด แต่งงานเลยดีกว่า”

การพบกับดรุณีในวันนั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัชนีตัดสินใจหางานทำ รัชนีเชื่อว่า “การทำงานทำให้มีอิสระและได้รู้จักคนและโลกมากขึ้น ซึ่งเป็นของจำเป็นสำหรับผู้ที่อยู่ในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลงทุกวันนี้” เมื่อได้งานทำแล้ว รัชนีก็ “มีความพอใจและมีความสุขเมื่อได้รับเงินเดือนที่ได้จากการทำงานของตนเอง ยิ่งกว่าเงินที่หล่อนเคยรับจากทางบ้าน มันทำให้หล่อนรู้สึกถึงค่าของการทำงาน และมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น”

พ่อแม่รังแกฉัน

ในตอนที่สายสนิทสนมกับรัชนีมากขึ้น จนทำให้ท่านเจ้าคุณและคุณหญิงรู้สึกไม่พอใจ คุณหญิงได้พูดกับท่านเจ้าคุณว่า “บางทีแก (รัชนี) อาจจะยังเป็นเด็กไปหน่อย ที่รู้ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมของคน” ซึ่งในมุมมองของคนเป็นแม่ ยังคงเห็นลูกเป็นเด็กเสมอ และเชื่อว่า ลูกถูกหลอกล่อหรือพะเน้าพะนอจนเป็นฝ่ายเสียที คุณหญิงกลัวว่า การที่รัชนียังไม่มีเหย้าเรือน และอาจแต่งงานกับคนไร้ชาติตระกูลอย่างสาย อาจทำให้เกิดความอัปยศแก่ชื่อเสียงและวงศ์ตระกูล นี่เป็นการรังแกลูกอย่างหนึ่ง เหมือนกับการรังแกดรุณีที่จับเธอแต่งงานกับคนที่ไม่ได้รัก

คุณหญิงมีความคิดไม่ต่างกับท่านเจ้าคุณ ที่เห็นเรื่องชาติตระกูลเป็นสิ่งสำคัญ ดังที่เคยกล่าวกับท่านเจ้าคุณว่า “คนเราไม่มีสกุลรุนชาติจะเป็นคนดีได้อย่างไร มีใครอบรมสั่งสอน ความเป็นผู้ดีน่ะมันอยู่ในสายเลือด ถ้าเลือดไพร่แล้วถึงอย่างไรก็เป็นไพร่”

เรื่องชาติตระกูลนี้ทำให้รัชนีรู้สึกอึดอัดใจโดยตลอดมาตั้งแต่ยังเด็ก ๆ เธอชื่นชอบการเล่นสนุกกับลูกหลานของคนรับใช้ในบ้าน แต่เมื่อคนในครอบครัวทราบ จึงสั่งห้ามไม่ให้ไปเล่นสนุกกับเด็กกลุ่มนั้น เพียงเพราะเห็นว่า เป็นลูกหลานของคนรับใช้ เป็นพวกไร้ชาติตระกูล ไม่ควรไปเกลือกกลั้วด้วย และแม้แต่ในตอนที่รัชนีโตเป็นผู้ใหญ่ เพื่อนของรัชนีมาหาที่บ้าน คำแรกที่ท่านเจ้าคุณถามเพื่อนของรัชนีคือ เธอเป็นลูกใคร? เป็นคำถามที่สร้างความลำบากใจให้ผู้ตอบ และสร้างความอึดอัดใจให้รัชนี ความเจ้ายศเจ้าอย่างนี้รังแกรัชนีมาตั้งแต่เล็กจนโต

เสนีย์ เสาวพงศ์ ได้เขียนแสดงภาพให้เห็นชัดเจนว่า ครอบครัวที่พยายามหล่อหลอมและเลี้ยงดูรัชนีมานั้นเป็นวิถีของ “โลกเก่า” ที่เต็มไปด้วยความเก่า คร่ำครึ หัวโบราณ และเจ้ายศเจ้าอย่าง แล้วเหตุใดรัชนีจึงไม่ได้มีคราบเหล่านี้ติดอยู่เลย? ด้านหนึ่งคงเป็นเพราะตัวตนของรัชนีที่แตกต่างจากคนในครอบครัว ซึ่งเธอมีความคิดหัวขบถอยู่นานแล้ว อีกด้านหนึ่งคงเป็นเพราะการศึกษา ที่ช่วยเปิดประตูแห่งโลกกว้าง มอบสิ่งใหม่ ๆ ความรู้ใหม่ ๆ ให้เธอได้คิดและตระหนักว่า ครอบครัวของเธอล้าหลังจากสังคมไทยภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

“ถ้าหล่อนไม่ได้มีโอกาสศึกษาเหมือนอย่างพี่ ๆ ของหล่อน ป่านนี้ชีวิตและความรู้สึกนึกคิดของหล่อนจะเป็นเช่นไร หล่อนคงจะไม่มีวันได้เป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง แต่คงจะเป็นเหมือนอะไรบางอย่างที่ประดับประดาบ้าน เช่น รูปสวย ๆ ในกรอบ หรือตะโกดัด และโกสนในกระถาง”

นิยาย “ปีศาจ” ไม่ได้สะท้อนภาพแค่ “ปีศาจ” แห่งกาลเวลา จากการปะทะระหว่าง “โลกเก่า” กับ “โลกใหม่” อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังได้สะท้อนภาพ “ปีศาจ” อีกตนหนึ่ง ปีศาจที่มีชื่อว่า “พ่อแม่”

คลิกสั่งซื้อ “ปีศาจ” ได้ที่นี่


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ตุลาคม 2563