ใครๆ ก็รัก “วลาดิเมียร์” ทำไมทั้งยูเครนและรัสเซียต่างอ้างเป็นเจ้าของวีรบุรุษพระองค์นี้

พิธีเปิดอนุสาวรีย์นักบุญวลาดิเมียร์ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2016 (AFP PHOTO / Natalia KOLESNIKOVA), (ในช่องวงกลม) วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย (AFP PHOTO / POOL )

ประวัติศาสตร์รัสเซียมีเรื่องสนุกๆ เยอะ ทีเดียว แม้ว่าหลายคนมักจะให้ความสนใจที่ประวัติศาสตร์ระยะใกล้อย่างการเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ หรือช่วงท้ายของราชวงศ์โรมานอฟมากกว่า แต่จุดเริ่มต้นของการสร้างจักรวรรดิรัสเซียก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย

และนั่นก็เป็นที่มาของเรื่องที่ผู้เขียนตั้งชื่อบทความนี้ว่า ใครๆ ก็รัก “วลาดิเมียร์” แต่วลาดิเมียร์ท่านนี้ ไม่ใช่ “วลาดิเมียร์ ปูติน” แต่อย่างใด (แม้ว่า ประธานาธิบดีรัสเซียปัจจุบันก็มีแฟนคลับเยอะทั้งนอกและในประเทศ และมีคะแนนนิยมอยู่ในระดับเกิน 80% มาโดยตลอด) หากเป็น “เซนต์วลาดิเมียร์” องค์ชายที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สร้างรากฐานของจักรวรรดิรัสเซียขึ้นมา

เรื่องของ เซนต์วลาดิเมียร์ กลายเป็นประเด็นขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2016 (พ.ศ. 2559) เพราะ วลาดิเมียร์ ปูติน ได้ไปเปิดตัวอนุสาวรีย์ของนักบุญที่ชื่อเดียวกับตัวเองซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากพระราชวังเครมลิน ในกรุงมอสโคว จนสร้างความไม่พอใจให้กับชาวยูเครนที่รู้สึกเหมือนถูกขโมย “ฮีโร่” ไปเป็นของรัสเซีย

สาเหตุที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่า นักบุญวลาดิเมียร์ หรือ วลาดิเมียร์มหาราช (Vladimir the Great) คือเจ้าผู้ครองแคว้น “เคียฟ” เมืองหลวงของยูเครนในปัจจุบัน ซึ่งพระองค์คือผู้ที่สามารถรวบรวมแคว้นเคียฟกับนอฟโกรอด (Novgorod) เข้าเป็นหนึ่ง และเป็นผู้ที่เปลี่ยนให้ดินแดนแถบนี้กลายเป็นอาณาจักรแห่งคริสเตียนออร์ธอดอกซ์

พูดง่ายๆ ว่า สำหรับชาวยูเครนแล้ว นักบุญวลาดิเมียร์ คือวีรบุรุษของชาวเคียฟ ซึ่งเชื่อมโยงกับชาวยูเครนในยุคปัจจุบันโดยตรง การที่ วลาดิเมียร์ ปูติน จงใจยกย่องนักบุญชื่อเดียวกับตัวเองพระองค์นี้ จึงทำให้ชาวยูเครนรู้สึกว่าพวกเขากำลังถูกขโมยสัญลักษณ์อันเป็นอัตลักษณ์ประจำชนชาติของตัวเอง

ด้วยเหตุนี้ เราจึงน่าจะทำความรู้จักเจ้าชายซึ่งกลายมาเป็นปมความขัดแย้งของทั้งสองชาติพระองค์นี้กันสักหน่อย

อันดับแรก เจ้าชายวลาดิเมียร์ ประสูติเมื่อราวปี ค.ศ. 956 (พ.ศ. 1499) เป็นโอรสของ เจ้าชายสเวียโตสลาฟ (Sviatoslav) ตระกูลเจ้าที่มีเชื้อสายนอร์แมน (หรือพวกไวกิ้ง) และรุส (Norman-Rus) ซึ่งพระองค์ก็ยังมีเชษฐาและอนุชาร่วมบิดาอีกหลายพระองค์

เจ้าชายวลาดิเมียร์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าชายแห่งนอฟโกรอฟ เมื่อปี ค.ศ. 970 (พ.ศ. 1513) หลังจากนั้น 2 ปี เจ้าชายสเวียโตสลาฟ ก็สิ้นพระชนม์ นำไปสู่การแย่งชิงอำนาจระหว่างบรรดาพระโอรสของพระองค์

สถานการณ์บีบให้ เจ้าชายวลาดิเมียร์ต้องหนีไปยังสแกนดิเวียร์ เนื่องจากถูกเจ้าชายยาโรโพล์ก (Yaropolk) เจ้าผู้ครองแคว้นเคียฟ ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมสายเลือดใช้กำลังยึดอำนาจ เจ้าชายวลาดิเมียร์จึงต้องไปซ่องสุมกำลังอยู่ที่แดนไวกิง ก่อนยกทัพมายึดนอฟโกรอฟคืนจากเจ้าชายยาโรโพล์กได้สำเร็จ

จากนั้น เจ้าชายวลาดิเมียร์จึงจัดทัพไปยึดเคียฟได้ภายในปี ค.ศ. 980 (พ.ศ. 1523) ก่อนสังหารเจ้าชายยาโรโพล์ก ซึ่งเป็นพี่น้องของพระองค์เองฐานทรยศ แล้วสถาปนาตัวเป็นเจ้าเหนือชาวรุสทั้งปวง และเริ่มขยายดินแดนไปยังอาณาจักรข้างเคียง

เจ้าชายวลาดิเมียร์ มีพระชายาอยู่หลายพระองค์ และแม้ดินแดนในแถบยูเครนสมัยนั้นจะมีคริสต์ศาสนาแพร่หลายอยู่แล้ว แต่พระองค์ยังคงนับถือผีสางเทวดา และยังทำการ “บูชายัญ” มนุษย์ด้วย

จนกระทั่ง จักรพรรดิบาซิลที่ 2 (Basil II) แห่งไบแซนไทน์ ทรงขอความช่วยเหลือไปยังเจ้าชายวลาดิเมียร์ให้ช่วยปราบเหล่าคนเถื่อนที่ออกอาละวาดในดินแดนโรมันตะวันออกแลกกับการที่องค์จักรพรรดิจะทรงมอบ เจ้าหญิงแอนน์ ผู้เป็นพระขนิษฐาให้อภิเษกกับเจ้าชายวลาดิเมียร์ และเจ้าชายวลาดิเมียร์ก็ต้องหันมานับถือคริสต์ศาสนาด้วย (บางสำนวนอ้างว่า เจ้าชายวลาดิเมียร์คือผู้นำกองกำลังคนเถื่อนที่ยกกำลังมาบีบให้จักรพรรดิไบแซนไทน์ยกพระขนิษฐาให้เป็นชายาตัวเอง)

ทั้งสองฝ่ายยอมรับข้อตกลงดังกล่าวในปี 987 (พ.ศ. 1530) เจ้าชายวลาดิเมียร์ได้ทำพิธีรับศีลล้างบาปที่ไครเมีย ก่อนเริ่มทำลายรูปเคารพต่างๆ ของชาวบ้าน และเปลี่ยนให้พสกนิกรของพระองค์หันมานับถือศาสนาคริสต์แทน ภายหลังจึงได้รับการยกย่องให้เป็นนักบุญวลาดิเมียร์

และด้วยความที่ทั้งยูเครนและรัสเซียล้วนเชื่อว่า เจ้าชายวลาดิเมียร์คือต้นสายความเป็นมาของชนชาติตน ต่างฝ่ายจึงต่างอ้างว่าตน “เป็นเจ้าของ” วีรบุรุษพระองค์นี้แต่ฝ่ายเดียว (ซึ่งเรื่องนี้ก็คล้ายวิวาทะเรื่อง “ขอม” เป็นใครอยู่เหมือนกัน เพราะคนที่ตั้งคำถามว่า “Rus” เป็นบรรพบุรุษของชาวรัสเซียหรือยูเครนจริงหรือเปล่าก็มีอยู่)

แต่ก็มีคนบอกว่า เรื่องราวของเจ้าชายวลาดิเมียร์มันอยู่ในรูปของตำนานปรัมปรา และคำบอกเล่าเสียเยอะ เพิ่งจะมีการตีพิมพ์เป็นภาษารัสเซีย (Synopsis) และเผยแพร่ในวงกว้าง โดยบาทหลวงชาวเคียฟเมื่อปี 1674 (พ.ศ. 2217) นี่เอง โดยผู้แต่งท่านนี้พยายามจะบอกว่า พระเจ้าซาร์แห่งมอสโคว คือทายาทโดยธรรมที่สืบสายมาจากเจ้าชายแห่งเคียฟ ในยุคที่มอสโควยังไม่ได้ตั้งไข่ ด้วยหวังว่าจะช่วยโน้มน้าวให้พระเจ้าซาร์แห่งมอสโควในสมัยนั้นให้การปกป้องเคียฟในฐานะรัฐในอารักขา

เมื่อตำนานของเจ้าชายวลาดิเมียร์ถูกแต่งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์แอบแฝงทางการเมืองหลังรัชสมัยของพระองค์หลายร้อยปี จึงมีคนตั้งข้อสงสัยว่า เรื่องราวดังกล่าวจะมีความจริงเท็จน่าเชื่อถือประการใด (ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นลักษณะร่วมกันของพงศาวดารของหลายๆ ชาติ)

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ความหวังดีของบาทหลวงท่านนั้นได้กลายเป็นดาบสองคมทำให้รัสเซียยึดถือเป็นคัมภีร์ในการอ้างสิทธิเหนือดินแดนของชนชาติสลาฟตะวันออกทั้งหลาย และมองเห็นยูเครนเป็นรัฐที่ตกอยู่ในอาณัติมาโดยตลอด   

อย่างไรก็ดี ลำพังการอ้างว่า เจ้าชายวลาดิเมียร์แห่งเคียฟคือบรรพบุรุษของชาวรัสเซีย ก็คงยังไม่สร้างความเจ็บปวดให้กับชาวยูเครนได้เท่ากับการที่รัสเซียผนวกภูมิภาคไครเมีย สถานที่ที่ตามตำนานระบุว่าเป็นดินแดนที่เจ้าชายวาลาดิเมียร์รับศีลล้างบาป ไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ท่ามกลางเสียงประณามจากนานาชาติ แต่ “วลาดิเมียร์ ปูติน” หาได้แคร์ไม่


อ้างอิง :

  1. “Vladimir I”. Encyclopedia Britannica.<https://global.britannica.com/biography/Vladimir-I>

  2. “Are Russians and Ukrainians the Same People”. The Daily Beast. <http://www.thedailybeast.com/articles/2016/01/10/are-russians-and-ukrainians-the-same-people.html>

  3. From One Vladimir to Another: Putin Unveils Huge Statue in Moscow”. The Guardian. <https://www.theguardian.com/world/2016/nov/04/vladimir-great-statue-unveiled-putin-moscow>


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559