ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2549 |
---|---|
ผู้เขียน | ส.ศิวรักษ์ |
เผยแพร่ |
สมัยเมื่อขอมเรืองอำนาจ ได้สร้างปราสาทและศิลปสถานอย่างยิ่งใหญ่อลังการในทางสถาปัตยกรรม แทบหาที่เปรียบมิได้ แม้ประติมากรรมก็งดงามมิใช่น้อย หากจิตรกรรมนั้นแทบไม่มีเหลือมาถึงคนสมัยเราเอาเลย
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการเมืองอย่างชัด ๆ และการเมืองดังกล่าวก็มาจากความเชื่อในทางลัทธิศาสนา เช่นพระราชาถือว่าเป็นองค์อวตารของพระนารายณ์ หาไม่ก็เป็นพระโพธิสัตว์ ซึ่งจะไปตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามคติของฝ่ายมหายาน
รูปศิลาที่จำหลักออกมา จึงเป็นองค์พระประมุขที่มีความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์แทบทั้งนั้น เทวสถานและพุทธสถานที่สร้างขึ้นก็ยืนยันความเชื่อของพระมหากษัตริย์ หรืออย่างน้อยก็จากปุโรหิตของพระองค์ซึ่งเป็นพราหมณ์ ดังภาพสลักอาคารสถานก็มักเป็นเรื่องรามเกียรติ์เอย มหาภารตยุทธ์เอย ซึ่งเป็นมหากาพย์ที่ขอมรับมาจากชมพูทวีป ดังเราเองก็รับอิทธิพลมาปาน ๆ กัน แต่มหาภารตะแทบไม่มีอิทธิพลในเมืองไทย หากไปมีอยู่มากที่ชวาและบาหลี
ทางเวียดนาม สมัยมีพระจักรพรรดิที่กรุงเว้นั้น พอเสวยราชย์ก็โปรดให้สร้างสุสานสำหรับฝังพระศพพระองค์เอง หากสร้างอย่างวิจิตรพิสดารและงดงามยิ่ง โดยมักเสด็จไปยังสุสานนั้น ๆ แต่เมื่อยังดำรงพระชนม์อยู่ คือไปเสวยสุขในชาตินี้ โดยหวังว่าจะได้ไปเสวยสุขในชาติหน้าอีกด้วย
ทางไทยเราเอง พอพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์ ก็โปรดให้สร้างวัดประจำรัชกาล เพิ่งมาเลิกราชประเพณีนี้ไปเมื่อรัชกาลที่ 6 นี่เอง ทรงเห็นว่าสร้างโรงเรียนอย่างใหม่ดีกว่า จะว่าเราเดินตามฝรั่งอย่างเต็มที่แต่บัดนั้นเป็นต้นมาก็ได้
แม้วัดในทางพุทธศาสนาจะไม่ได้แสดงพระบรมราชกฤษฎาภินิหารทางการเมือง อย่างลัทธิเทวราชของพราหมณ์ แต่อิทธิพลทางไสยศาสตร์ก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมของพุทธ ดังพระวิหารของพระอารามหลวง มักมีหน้าบันสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ คือแสดงว่าพระราชาก็คือพระรามาธิบดี หรือพระนารายณ์อวตารมานั้นแล ยังจิตรกรรมฝาผนังของวัดหลวงก็ล้วนเขียนรูปจากคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วงแทบทั้งนั้น คือเป็นการยืนยันทฤษฎีที่ว่าพระราชาทรงมีบุญบารมีมาแต่ชาติปางก่อน จึงได้มีพระสถานะเหนือสามัญมนุษย์ทั้งหมดในแผ่นดิน
อิทธิพลทางการเมืองที่แสดงออกทางศิลปกรรม นอกไปจากนี้ แทบไม่มีในพุทธศาสนา ยิ่งวัดราษฎร์ที่ชาวบ้านสร้างขึ้นด้วยแล้ว แต่ละท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ของตนเองอย่างงดงามและเข้ากันได้ดีกับธรรมชาติที่แวดล้อม ถ้าตำบลนั้น ๆ มีช่างฝีมือขนาดไหน ก็แสดงความงามได้ขนาดนั้น ศิลปะแสดงออกทางความเลื่อมใส ยิ่งกว่าจะไปรับใช้กษัตริย์หรือการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องของอำนาจ
สมัยเมื่อพระเป็นผู้นำทางสังคม ไม่แต่ทางด้านศาสนธรรม หากเข้ามามีส่วนช่วยเหลือเกื้อกูลการเมืองอีกด้วยนั้น พระคุณท่านได้ใช้ศิลปะสอนคนให้รู้เท่าทันการเมืองอย่างชาญฉลาด เช่นปัญญาสชาดกที่พระ เถระทางเชียงใหม่รจนาขึ้น ล้วนชี้ให้เห็นโทษของชนชั้นปกครอง ซึ่งมักขาดสติ ขาดปัญญา หลงใหลไปกับ กามราคะและอำนาจอันปราศจากความชอบธรรม แต่ท่านรจนาอย่างแยบคาย โดยใช้ภาษาบาลี ซึ่งถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ จนชนชั้นปกครองรับความงามความไพเราะจากชาดกนั้น ๆ มาแปลงเป็นบทพระราชนิพนธ์ไปเอาเลย เช่นสังข์ทอง พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 นั้น มาจากสุวรรณสังข์ชาดก ซึ่งชี้ให้เห็นโทษของท้าวยศวิมล ที่หลงเมียน้อยจนไล่เมียหลวงออกจากวังและเอาลูก (ที่ผิดปกติไปจากสามัญมนุษย์) ไปถ่วงน้ำ เป็นต้น
ชาดกเหล่านี้ไม่ได้แสดงออกทางวรรณศิลป์เท่านั้น หากกลายเป็นคีตศิลป์และนาฏดุริยางค์ จนกลายเป็นจิตรกรรมฝาผนังตามวัดวาอารามต่าง ๆ อีกด้วย
เมื่อพระราชามีอำนาจมาก และเชื่อในฐานอำนาจของพระองค์ โดยไม่จำต้องพึ่งศิลปะมาอุดหนุนพระบรมเดชานุภาพ ย่อมโปรดให้ศิลปะเป็นไปในทางความงาม อย่างที่เรียกว่าศิลปะเพื่อศิลปะเอาเลยก็ว่าได้ เช่นวัดมเหยงคณ์ และวัดกุฎีดาว ในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศนั้น นับว่าแข่งฝีมือกันอย่างประกวดประขันทางความงาม อย่างไปพ้นการเมือง แม้จะไม่ทั้งหมด กล่าวคือวังหน้าอาจแข่งกับวังหลวงทางการเมืองก็ได้ หากแสดงออกทางความงามเป็นประการสำคัญ
แผ่นดินพระเจ้าบรมโกศนั้น กรุงศรีอยุธยาถึงซึ่งความเสื่อมเป็นอย่างมากแล้ว แต่ประตูประดับมุก ที่หน้าพระวิหารพระพุทธชินราชทางพิษณุโลกนั้น ก็แสดงความงามได้อย่างเป็นเลิศแท้ทีเดียว
สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ภาพจิตรกรรมรอบพระระเบียง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ใช้เรื่องรามเกียรติ์มาประกอบเป็นพระบรมเดชานุภาพ ว่าราชวงศ์นี้สืบทอดการเป็นพระรามาธิบดีมาเช่นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา (ซึ่งก็คือชื่อราชธานีของพระราม) แม้ราชธานีใหม่ที่บางกอก ก็ยังใช้ชื่ออย่างทางราชการว่ากรุงศรีอยุธยาตราบจนรัชกาลที่ 4
ภาพรามเกียรติ์นั้น สลักแผ่นศิลาประกอบรอบ ๆ กำแพงแก้ว พระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ ด้วย ซึ่งก็เป็นอิทธิพลทางการเมืองปาน ๆ กัน พร้อม ๆ กันนั้น ถ้าจะโปรดให้ศิลปินเป็นอิสระก็ไม่ทรงเข้าไปก้าวก่ายทางการเมืองเอาเลย ดังจิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณารามนั้น จิตรกรได้รับพระราชทานพรพิเศษให้มุ่งศิลปะเพื่อศิลปะแท้ทีเดียว แม้ศิลปินจะฆ่าคน ก็โปรดพระราชทานอภัยโทษ
จากรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ไตรภูมิหมดความสำคัญทางศิลปะ เท่า ๆ กับหมดความสำคัญทางด้านเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง จึงโปรดให้เขียนรูปแสดงปริศนาธรรมอย่างใหม่ แม้จะมีรูปฝรั่งและอาคารบ้านเรือนอย่างฝรั่ง ตามฝาผนังโบสถ์วิหารเอาเลยด้วยซ้ำ จะว่านี่เป็นอิทธิพลทางการเมืองอย่างใหม่ก็ได้
ก่อนแต่สมัยที่เราหันไปเคารพนับถือฝรั่งนั้น การเมืองเป็นเรื่องของอาณาจักร ส่วนศาสนจักรหรือธรรมจักร ซึ่งมีคณะสงฆ์เป็นตัวแทนนั้น ย่อมช่วยประคับประคองผู้ที่มีอำนาจ อยู่ในอาณาจักรให้ใช้อำนาจนั้น ๆ ไปในทางธรรม หรืออย่างน้อยก็ช่วยเตือนสติชนชั้นปกครองให้ลดความรุนแรงลง หากให้มีสติสัมปชัญญะและเมตตากรุณา ควบคู่ไปกับทานบารมี โดยที่ศาสนธรรมแสดงออกทางวัฒนธรรม และประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งต้องมีความงามความไพเราะเป็นสื่อที่สำคัญ นั่นก็คือศิลปะซึ่งจะเป็นไปเพื่อความดีก็ได้ เพื่อชีวิตก็ได้ และเพื่อให้การเมืองเชื่องลงก็ได้
ราชอาณาจักรภูฏานนั้น พระราชวังจะต้องตั้งอยู่เตี้ยกว่าวัดวาอารามเสมอไป ของเราเองก็เคยเป็นเช่นนั้น แม้รัชกาลที่ 4 จะโปรดให้สร้างพระนครคีรีขึ้นบนภูเขาที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งนับได้ว่าเป็นมิติใหม่อย่างฝรั่ง แต่ก็โปรดให้สร้างพระธาตุจอมเพชรไว้บนยอดเขา แสดงว่าทรงเคารพพระรัตนตรัยเหนืออื่นใด
ทางหลวงพระบาง เมื่อสมัยยังมีพระเจ้ามหาชีวิตอยู่นั้น เสด็จอยู่ในพระราชวัง ก็ถวายราชสักการะไปยังพระบรมธาตุบนภูศรีใกล้ ๆ กับพระราชวังนั้นเอง
สถาปัตยกรรมของวังและวัดไม่ขัดกัน เป็นไปอย่างงดงามและเรียบง่าย แม้ชาวบ้านชาวเมืองก็ปลูกเรือนอยู่อย่างบรรสานสอดคล้องกันไปทั้งเมืองหลวง สมควรแล้วที่ยูเนสโกจะประกาศรับรองให้อดีตราชธานีแห่งนั้นเป็นมรดกโลก โดยที่เชียงใหม่ของเราเองก็เคยงดงามไม่แพ้หลวงพระบาง ดังที่แพร่และน่านก็ปาน ๆ กัน
แต่เมื่อเราถูกถอนรากถอนโคนออกจากภูมิธรรมดั้งเดิม ความน่าเกลียดก็เลยเข้ามาแทนที่ แม้จนราชธานีที่บางกอกก็วิปริตไปได้ยิ่งกว่าเมืองใด ๆ ในราชอาณาจักรเอาเลยด้วยซ้ำ
เมื่อชนชั้นนำเริ่มใส่รองเท้าเข้าวัด โดยอ้างว่านั่นคือการเจริญรอยตามอารยธรรมฝรั่ง ซึ่งก็ใส่เกือกเข้าวัดของเขาเช่นกัน เห็นกันไหมว่านั่นคือจุดเสื่อม หรือจุดแปรเปลี่ยนอย่างน่าเป็นห่วง แล้วเกยที่ยังมีอยู่หน้าวัดหลวงบางวัดเล่า มิกลายเป็นสัญลักษณ์อันล้าสมัยไปดอกหรือ
สมาชิกของราชตระกูลเคยนอบนบเคารพเจ้ากูเป็นอย่างยิ่ง ดังเมื่อรัชกาลที่ 2 จะเสด็จไปพระราชทานผ้าพระกฐินที่วัดสมอรายนั้น เจ้าพนักงานจะริกิ่งไม้ในวัด เพื่อเชิญเสด็จโดยพระราชยาน เจ้าอาวาสมาห้ามว่า นี่วัดป่า ริกิ่งไม้หรือตัดต้นไม้มิได้ พระคุณท่านสำทับต่อไปว่า “จะเสด็จก็เสด็จ มิเสด็จก็มิเสด็จ” แต่ก้าวก่ายกับต้นไม้ในอารามไม่ได้ ผลก็คือองค์พระประมุข โปรดให้อนุวัตรตามมติของเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นอาจารย์ของพระองค์ท่าน รับสั่งว่า “ข้าเดินไปได้”
ต่อเมื่อราชตระกูลเห็นว่าจำต้องใช้ศิลปะเพื่อเชิดชูพระบรมเดชานุภาพตามวัดวาอารามนั่นแหละ การเมืองจึงเข้ามาก้าวก่ายกับศิลปะอย่างจัง ๆ ดังภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และที่วัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นตัวอย่าง ภาพจิตรกรรมทั้ง 2 แห่ง นี้เป็นไปเพื่อบรมราชกฤษฎาภินิหารยิ่งกว่าอะไรอื่น
ถึงขัตติยราชจะไม่เข้ามาก้าวก่ายกับศิลปะ แต่ถ้านักการเมืองเข้ามาบงการทางด้านศิลปวัฒนธรรม นั่นจะทำให้เกิดความหายนะยิ่งนัก ยิ่งนักการเมืองปราศจากกุสุมรสและเป็นเผด็จการ หรือรับใช้ไปในทางอำนาจนิยมมากเท่าไร ก็ทำลายศิลปะพื้นบ้านมากเท่านั้น ยิ่งถือว่าศิลปะเป็นของรัฐ อย่างเช่นการตั้งกรม ศิลปากรขึ้น นั่นคือการบั่นทอนความงาม ให้ห่างออกไปจากความดีและความจริง ยิ่งสมัยที่หลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลปากรด้วยแล้ว ได้นำเอาศิลปวัฒนธรรมมารับใช้เผด็จการอย่างเต็มที่เอาเลย
แม้กัมพูชาจะเคยสิ้นชาติมาแล้ว แต่เมื่อเขาฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมขึ้นได้อีก ศิลปะร่วมสมัยของเขายังคงสืบทอดไปถึงบรรพชนได้อย่างน่านิยมยกย่องยิ่งกว่าไทย เพียงหนังใหญ่อย่างเดียว เราก็สิ้นพูดเสียแล้ว ดังหุ่นของเรา ที่เป็นไปในระดับชาตินั้นเล่า ศิลปินแห่งชาติผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ก็ดูจะแสดงอาการอันดัดจริต และฟูฟ่าฟุ้งเฟ้อยิ่งกว่าความเป็นปกติไปเอาเลย
ยิ่งกรมการศาสนาเข้ามาบงการว่าโบสถ์จะต้องเป็นแบบ ก ข ค ด้วยแล้ว นั่นก็คือทำให้เกิดอาการอันตายด้าน อย่างเหมือน ๆ กันไปหมด ทั้งนี้รวมถึงอาคารต่าง ๆ ของทางราชการด้วย
แม้ภายหลังวัดต่าง ๆ จะสร้างอะไร ๆ อย่างโอฬาริกยิ่ง ๆ ขึ้น ตามความรวยอย่างทันสมัยของเจ้ากู แต่เจ้ากูนั้น ๆ มักเป็นสมีหรืออลัชชีที่ปราศจากความดี และความจริงตามทางของสัจจะ แล้วจะแสดงความงามออกมาได้อย่างไร สิ่งก่อสร้างนั้น ๆ จึงแสดงความน่าเกลียด ความทุเรศและความรวยอย่างปราศจากกุสุมรสด้วยกันแทบทั้งนั้น
นั่นอาจไม่เกี่ยวกับการเมืองโดยตรง แต่ลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยมที่มาครอบงำสถาบันทางศาสนานั้น มีอันตรายยิ่งกว่าการเมืองแบบเผด็จการหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียอีก
ถ้าเราจะปรับโครงสร้างทางการเมืองของเราให้เป็นประชาธิปไตยที่เนื้อหาสาระ ต้องมุ่งให้มนุษย์แต่ละคนมีศักดิ์ศรีอย่างเสมอภาคกัน (ไม่ได้หมายความว่าเหมือนกัน) และเป็นภราดรภาพซึ่งกันและกัน (ความข้อนี้ก็ปลาสนาการไปแล้วจากสถาบันสงฆ์กระแสหลัก) แล้วมุ่งที่เสรีภาพจากทุนนิยมบริโภคนิยม (โลภ) จากอำนาจนิยม (โทสะ) และจากความหลงตามกับลัทธิโลกาภิวัตน์ ที่เน้นทางด้านวัตถุเป็นหลัก (หลง) นั่นแหละ เราจึงจะสร้างสรรค์และนฤมิตศิลปกรรมได้อย่างไปพ้นการครอบงำต่าง ๆ ที่เป็นไปอยู่ในบัดนี้
อ่านเพิ่มเติม :
- พระสงฆ์กับการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านของไทย บทบาทต้านอำนาจรัฐและความอยุติธรรม
- ความนัยของการสร้างกรุงเทพฯ ตามคติพระอินทร์ สมัยรัชกาลที่ 1
หมายเหตุ : บทความในนิตยสารชื่อ ศิลปะกับการเมือง
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กันยายน 2563