พระพุทธสิหิงค์ คือพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในศิลปะล้านนา

พระพุทธสิหิงค์

พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปสำคัญของบ้านเมืองปรากฏอยู่ด้วยกัน ๓ องค์ คือองค์แรกประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (รูปที่ ๑) องค์ที่ ๒ ประดิษฐานในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ (รูปที่ ๒) และองค์ที่ ๓ ประดิษฐานในหอพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดพระนครศรีธรรมราช (รูปที่ ๓)

๑ พระพุทธสิหิงค์ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพจากหนังสือพระพุทธรูปสำคัญ)
๑ พระพุทธสิหิงค์ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพจากหนังสือพระพุทธรูปสำคัญ)
๒ พระพุทธสิหิงค์ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ เมืองเชียงใหม่
๒ พระพุทธสิหิงค์ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ เมืองเชียงใหม่

พระพุทธสิหิงค์องค์แรกที่ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิราบเข้าใจว่ามีลักษณะทางศิลปกรรมแบบสุโขทัยที่มีอิทธิพลศิลปะลังกา องค์ที่ ๒ ประดิษฐานในวิหารลายคำ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ศิลปะล้านนาที่เรียกว่า “แบบสิงห์หนึ่ง” หรือ “แบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง” อายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ องค์ที่ ๓ ประดิษฐานในหอพระพุทธสิหิงค์ แสดงปางและประทับนั่งเช่นเดียวกับองค์ที่ ๒ แต่พระองค์อ้วนเตี้ยมากกว่านิยมเรียกว่า “แบบขนมต้ม” จัดเป็นสกุลช่างนครศรีธรรมราช ในสมัยอยุธยากำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑

๓ พระพุทธสิหิงค์ หอพระพุทธสิหิงค์ เมืองนครศรีธรรมราช
๓ พระพุทธสิหิงค์ หอพระพุทธสิหิงค์ เมืองนครศรีธรรมราช

เรื่องราวของพระพุทธสิหิงค์ปรากฏขึ้นในตำนานของชาวล้านนา ดังนั้นในการศึกษาถึงที่มาจึงควรกล่าวถึงพระพุทธสิหิงค์ของเมืองเชียงใหม่ก่อนเป็นสำคัญ ถ้าตรวจสอบกับตำนานการสร้างจะพบว่าพระพุทธสิหิงค์นี้ปรากฏอยู่ในตำนานของชาวล้านนาหลายฉบับที่สำคัญคือ “ชินกาลมาลีปกรณ์” ซึ่งแต่งโดยพระรัตนปัญญาเถระ หรือใน “ตำนานพระพุทธสิหิงค์” แต่งโดยพระโพธิรังสี และอีกทั้งได้มีการรวบรวมตำนานหลายๆ ฉบับเข้าด้วยกันในชั้นหลัง เช่น “พงศาวดารโยนก” เป็นต้น จะแตกต่างกันอยู่บ้างในส่วนของรายละเอียดของเหตุการณ์และปาฏิหาริย์

เมื่อประมวลจากตำนานสามารถกล่าวโดยสรุปคือ พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปสำคัญที่ปรากฏขึ้นในลังกา กษัตริย์ของกรุงสุโขทัยพระนามว่าโรจราชหรือไสยรังคราชทรงได้ยินกิตติศัพท์ของพระพุทธสิหิงค์ จึงเสด็จไปยังนครศรีธรรมราชเพื่อทรงสอบถามเรื่องนี้ พระเจ้านครศรีธรรมราชได้ทรงแนะนำให้พระเจ้ากรุงสุโขทัยส่งราชทูตไปทูลขอต่อพระเจ้ากรุงสิงหล (ศรีลังกา) พระเจ้ากรุงสิงหลจึงได้ทรงส่งพระพุทธสิหิงค์มาให้ที่นครศรีธรรมราช ระหว่างทางได้เกิดแพแตก แต่อย่างไรก็ตามพระพุทธสิหิงค์ก็มาถึงที่นครศรีธรรมราช พระเจ้ากรุงสุโขทัยจึงทรงอัญเชิญมายังสุโขทัยและต่อมาได้มีการอัญเชิญไปยังเมืองต่างๆ ที่สำคัญคือเมืองชัยนาท พระนครศรีอยุธยา และเมืองกำแพงเพชร ก่อนที่จะขึ้นมาสู่ล้านนาตามลำดับ

การอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ในตำนานของชาวล้านนานั้นเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้ากือนาหรือพระเจ้าแสนเมืองมา ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ อันมีบุคคลสำคัญคือท้าวมหาพรหม พระอนุชาของพระเจ้ากือนา เจ้าเมืองเชียงรายเป็นผู้ไปอันเชิญมาจากเมืองกำแพงเพชร โดยตำนานกล่าวไว้แตกต่างกันคือ กระแสหนึ่งกล่าวว่า ท้าวมหาพรหมทรงยกทัพไปตีเมืองกำแพงเพขร และได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์และพระแก้วมรกตมายังล้านนา โดยได้ถวายพระพุทธสิหิงค์ให้กับพระเจ้ากือนาเพื่อประดิษฐานในเมืองเชียงใหใ่ และทรงนำพระแก้วมรกตไปยังเมืองเชียงราย ภายหลังท้าวมหาพรหมได้ทูลขอพระพุทธสิหิงค์จากเมืองเชียงใหม่ ไปจำลองแบบที่เกาะดอนแท่น เมืองเชียงแสน และมีงานสมโภชที่ยิ่งใหญ่เมื่อท้าวมหาพรหมสิ้นชีพลงแล้ว พระเจ้าแสนเมืองมาจึงทรงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเมืองเชียงรายมายังเมืองเชียงใหม่ และประดิษฐานยังวัดเชียงพระ ภายหลังเรียกว่าวัดพระสิงห์ตามนามพระพุทธรูปที่นิยมเรียกกันในล้านนา

ถ้าพิจารณาจากตำนานจะพบว่ามีข้อความที่กล่าวไว้ไม่ตรงกันนัก เช่นช่วงเหตุการณ์ที่พระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานยังเมืองเชียงใหม่ ระหว่างรัชกาลพระเจ้ากือนาหรือพระเจ้าแสนเมืองมา ทั้งนี้อาจเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงรัชกาล แต่ใจความสำคัญที่สามารถสรุปได้จากตำนานคือผู้มีบทบาทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการได้มาของพระพุทธสิหิงค์ในล้านนาคือท้าวมหาพรหม และพระพุทธสิหิงค์ได้มาประดิษฐานที่วัดพระสิงห์ เมืองเชียงใหม่ในสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐

จากการตรวจสอบรูปแบบศิลปะของพระพุทธรูปทั้งสององค์คือพระพุทธสิหิงค์ (วัดพระสิงห์ เมืองเชียงใหม่) และพระแก้วมรกต สามารถจัดเป็นศิลปะล้านนาในช่วงเหตุการณ์ที่กล่าวในชั้นต้นนี้ได้ว่าทั้งตำนานและการสร้างพระพุทธรูปสำคัญทั้งสององค์เกิดขึ้นในสมัยของท้าวมหาพรหมนี้เอง ผู้เขียนได้เคยวิเคราะห์ไว้ในข้อสันนิษฐานเรื่องพระแก้วมรกต รวมทั้งได้ตั้งเป็นข้อสมมติฐานไว้ว่าท้าวมหาพรหมน่าจะทรงเป็นผู้สร้างพระพุทธรูปสำคัญทั้งสององค์ดังกล่าว โดยได้ถวายพระพุทธสิหิงค์แก่พระเจ้าแสนเมืองมาเพื่อเป็นการไถ่โทษจนได้กลับไปเป็นเจ้าเมืองเชียงรายตามเดิม และการนำหรือสร้างพระแก้วมรกตซึ่งน่าจะสำคัญมากกว่าพระพุทธสิหิงค์มายังเมืองเชียงราย เพื่อเป็นการเรียกศรัทธาประชาชน และการสร้างบุญบารมีขึ้นใหม่โดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ

หลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าพระพุทธสิหิงค์ เมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นในล้านนาและสร้างขึ้นตามตำนาน คือเรื่องของรูปแบบศิลปกรรมที่จัดว่าเป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง โดยพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระวรกายอวบอ้วน พระอุระนูน ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถัน ส่วนพระเศียรเดิมถูกตัดไปแล้ว เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ซึ่งโดยลักษณะจะต้องมีพระพักตร์กลม อมยิ้ม ขนาดพระเกศาใหญ่ ส่วนเหนือพระอุษณีษ์เป็นตุ่มคล้ายลูกแก้วหรือดอกบัวตูม ซึ่งลักษณะที่เป็นพระพุทธรูปแบบสิงห์หนึ่งนี้ ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะปาละของอินเดียผ่านมาทางพุกามของพม่า มีปรากฏแล้วตั้งแต่สมัยหริภุญชัยและยุคต้นของล้านนา

การทำพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรนี้สัมพันธ์กับคติการสร้างพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งคงเกิดขึ้นในล้านนาตั้งแต่ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ในสมัยของท้าวมหาพรหม เจ้าเมืองเชียงราย ซึ่งตามตำนานกล่าวว่าพระองค์ทรงเป็นผู้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์และพระแก้วมรกตจากกำแพงเพชรขึ้นมายังล้านนา ดังได้วิเคราะห์แล้วในตอนต้น หลังจากนั้นได้มีการสร้างพระพุทธรูปแบบพระพุทธสิหิงค์ขึ้น ชาวล้านนาในช่วงนั้นคงนิยมสร้างพระพุทธรูปแบบขัดสมาธิเพชรอยู่ จึงสร้างพระพุทธรูปและให้ชื่อว่าพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งหมายความว่า การรับพระพุทธสิหิงค์และพระแก้วมรกตนั้นเป็นเพียงตำนานต่อมามีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นในล้านนาและอนุโลมว่าเป็นพระพุทธสิหิงค์ มีหลักฐานที่สามารถยืนยันคำกล่าวนี้ได้ดีที่สุดคือได้พบพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรองค์หนึ่งที่วัดพระเจ้าเม็งราย มีจารึกกล่าวนามว่า “พระพุทธสิหิงค์” จารึกระบุปี พ.ศ. ๒๐๑๓๑๐ (รูปที่ ๔) ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า พระพุทธสิหิงค์ หรือที่นิยมเรียกว่า “พระสิงห์” นั้นคงได้รับความนิยมในการสร้างช่วงเวลานี้เองและในการเรียกชื่อ “พระสิงห์” อันเป็นที่มาของพระพุทธรูปในกลุ่มนี้ น่าจะสัมพันธ์กับพระพุทธสิหิงค์ซึ่งตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นในช่วงเวลานี้ด้วยเช่นกัน

๔ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร (พระพุทธสิหิงค์) วัดพระเจ้าเม็งราย เมืองเชียงใหม่
๔ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร (พระพุทธสิหิงค์) วัดพระเจ้าเม็งราย เมืองเชียงใหม่

พระพุทธสิหิงค์ ตำนาน รูปแบบ และการสะท้อนกลับ

จากการที่ได้พบพระพุทธรูปในกลุ่มขัดสมาธิเพชรในล้านนา ซึ่งเป็นสายวิวิฒนาการมาจากศิลปะปาละและพุกามรวมทั้งความสัมพันธ์กับตำนานพระพุทธสิหิงค์ จนเกิดการสร้างพระพุทธสิหิงค์ที่เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรอย่างแพร่หลายในล้านนา และความเชื่อเรื่องพระพุทธสิหิงค์คือพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรแบบล้านนานี้เองที่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญทำให้เกิดการสร้างพระพุทธรูปแบบนี้อย่างแพร่หลายไปยังแหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะเมืองที่ได้รับการกล่าวถึงในตำนานของล้านนาที่ว่าพระพุทธสิหิงค์ได้ผ่านมาตามเมืองต่างๆ เช่น นครศรีธรรมราช อยุธยา ชัยนาท สุโขทัย และกำแพงเพชร

ก่อนอื่นต้องยอมรับข้อสมมติฐานที่ว่าพระพุทธรูปในกลุ่มขัดสมาธิเพชรและตำนานการสร้างนั้นเกิดขึ้นในล้านนาและน่าจะแพร่หลายลงมายังสุโขทัยและกำแพงเพชรในกลุ่มที่เรียกว่าหมวดวัดตระกวน ซึ่งน่าจะเป็นงานที่เกิดขึ้นภายหลังจากได้รับอิทธิพลของศิลปะล้านนาแล้ว ต่อจากนั้นได้มาปรากฏในอยุธยา โดยได้พบกลุ่มพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ และอีกกลุ่มหนึ่งพบในพระอุระของพระมงคลบพิตร (รูปที่ ๕) จากการค้นพบพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรดังกล่าวในศิลปะสมัยอยุธยาจึงแสดงลักษณะผสมผสานทางด้านรูปแบบระหว่างการทำพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรแบบล้านนา ไม่ใช่สายวิวัฒนาการของอยุธยาที่มีพื้นฐานมาจากขอมประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่ง คือการแสดงลักษณะทางศิลปกรรมที่เป็นพระพุทธรูปแบบอยุธยาแล้ว จากตัวอย่างพระพุทธรูปที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ แสดงให้เห็นว่าอยุธยาได้รู้จักพระพุทธรูปขัดสมธิเพชร “พระพุทธสิหิงค์” แล้วอย่างน้อยช่วงต้นหรือกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ (วัดราชบูรณะสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๑๙๖๗) ซึ่งร่วมสมัยกับการเกิดตำนานพระพุทธสิหิงค์ในล้านนา

พระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร พบในพระอุระพระมงคลบพิตร พระนครศรีอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
๕ พระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร พบในพระอุระพระมงคลบพิตร พระนครศรีอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

เกี่ยวกับหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงชาวอยุธยารู้จักพระพุทธสิหิงค์ว่าเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร ปรากฏชัดเจนในเอกสารสมัยอยุธยาตอนปลายที่กล่าวไว้ เช่น “คำให้การขุนหลวงหาวัด” มีข้อความระบุอย่างชัดเจนว่าพระพุทธสิหิงค์อันเป็นพระสมาธิเพชร๑๑ นอกจากนี้ยังมีเอกสารที่กล่าวถึงพระพุทธสิหิงค์ไว้อีกหลายฉบับ เช่น “คำให้การชาวกรุงเก่า” ได้กล่าวถึงสมเด็จพระนารายณ์ทรงตีเมืองเชียงใหม่และอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมายังพระนครศรีอยุธยา๑๒ และมีข้อสงสัยเกิดขึ้นตั้งแต่ในสมัยอยุธยาตอนปลายในสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแล้วว่า พระพุทธสิหิงค์นั้นมาจากลังกาตามตำนานหรือไม่ เช่นปรากฏข้อสงสัยในเอกสารเรื่องการประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีปฯ เพราะไม่ปรากฏเรื่องนี้ในลังกาและพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร แต่ในลังกาจะสร้างเฉพาะพระพุทธรูปขัดสมาธิราบเท่านั้น และรวมทั้งข้อสงสัยเร่องสมเด็จพระนารายณ์ทรงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากเมืองเชียงใหม่หรือไม่ เพราะไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา๑๓

หลักฐานงานศิลปกรรมในสมัยอยุธยาตอนปลายที่แสดงให้เห็นว่าชาวอยุธยารู้จักพระพุทธสิหิงค์และพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรคือได้พบพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่วัดโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร เป็นพระพุทธรูปในศิลปะอยุธยา มีจารึกที่ฐานระบุชื่อพระพุทธรูปองค์นี้คือ “พระพุทธสิหิงค์” ความในจารึกกล่าวว่า “พุทธศักราช ๒๒๓๒…พระญานโชดได้ถาปนาพระสิหิคะองค์นี้เป็นทอง ๓๗ ชั่ง ขอเป็นปัจจัยแก่นิพาน”๑๔ (รูปที่ ๖) เช่นเดียวกับพระพุทธรูปที่มีจารึกกล่าวนาม พบที่วัดพระเจ้าเม็งราย เมืองเชียงใหม่

๖ พระพุทธสิหิงค์ วัดโคกขาม เมืองสมุทรสาคร (ภาพจากหนังสือนิทานพระพุทธสิหิงค์)
๖ พระพุทธสิหิงค์ วัดโคกขาม เมืองสมุทรสาคร (ภาพจากหนังสือนิทานพระพุทธสิหิงค์)

จากหลักฐานที่ปรากฏในเอกสาร รูปแบบศิลปกรรมและศิลาจารึกจึงสามารถกล่าวได้ว่าพระพุทธสิหิงค์คือพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร และอาจกล่าวได้อีกว่าพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรเป็นพระพุทธสิหิงค์ได้ทุกองค์ โดยสร้างขึ้นตามตำนานและแตกต่างกันออกไปตามฝีมือช่างในแต่ละท้องถิ่น๑๕

ตำนานพระพุทธสิหิงค์และรูปแบบพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในศิลปะอยุธยาได้ให้อิทธิพลไปยังนครศรีธรรมราช จึงมีพระพุทธสิหิงค์และพระพุทธรูปแบบขัดสมาธิเพชรเกิดขึ้นทางภาคใต้ที่มีลักษณะรูปแบบนั้นสอดคล้องกันอย่างมากกับศิลปะอยุธยา การกำหนดอายุของสกุลช่างนครศรีธรรมราชน่าจะอยู่ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ และนิยมสร้างอย่างแพร่หลายมาถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๓

จากการศึกษาสายวิวัฒนาการของพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรหรือพระพุทธสิหิงค์ จะเห็นได้ว่าเกิดขึ้นในล้านนาและลงมาทางใต้ ซึ่งตรงกันข้ามกับตำนานที่กล่าวว่ามาจากทางใต้และขึ้นไปทางเหนือ จึงแสดงให้เห็นว่า เรื่องของพระพุทธสิหิงค์และรูปแบบพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรเป็นตำนานของล้านนา ทั้งสุโขทัย อยุธยา นครศรีธรรมราช และเมืองต่างๆ ที่กล่าวถึงในตำนานน่าจะรู้จักจากตำนานของล้านนาจึงสร้างพระพุทธรูปขึ้นตามตำนานอันมีลักษณะแบบเดียวกับพระพุทธสิหิงค์ของชาวล้านนาที่เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรซึ่งไม่ตรงกับตำนานที่มาจากลังกา เพราะถ้ามาจากลังกาแล้วน่าจะต้องเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ จึงทำให้นึกถึงข้อสันนิษฐานของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ข้อหนึ่งที่ว่า พระพุทธสิหิงค์องค์เดิมที่กล่าวว่ามาจากลังกาตามตำนานนั้นสูญหายไปเสียและมีการหล่อแทนใหม่หรืออาจจะแต่งตำนานขึ้นเพื่อประกอบพระพุทธรูปให้ศักดิ์สิทธิ์โดยกล่าวว่ามาจากลังกาก็ได้

ดังนั้นจึงมีข้อสงสัยว่าพระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครจะมีที่มาอย่างไร ด้วยเหตุว่าพระพุทธสิหิงค์องค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ อันมีลักษณะและการแสดงปางที่สอดคล้องกับพระพุทธรูปลังกา อีกทั้งยังเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธสิหิงค์ สกุลช่างสุโขทัย โดยตามประวัติกล่าวว่าพระพุทธสิหิงค์องค์นี้ สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๘๑๖ ถ้าพิจารณาจากลักษณะพระพุทธรูปมีลักษณะโดยรวมแล้วใกล้เคียงอย่างมากกับพระพุทธรูปล้านนาในกลุ่มที่มีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยที่เรียกว่า “พระพุทธสิหิงค์แบบสิงห์สอง” โดยเฉพาะสังฆาฏิที่เป็นแผ่นใหญ่และลงมาจรดขอบสบงแล้วนี้ แสดงให้เห็นถึงกลุ่มที่มีอิทธิพลศิลปะอยุธยาที่ปรากฎในล้านนาซึ่งไม่เคยปรากฏในศิลปะสุโขทัยเลย เปรียบเทียบได้รับพระเจ้าเก้าตื้อทีวัดสวนดอก เมืองเชียงใหม่ โปรดให้หล่อข้นโดยพระเมืองแก้วในปี พ.ศ. ๒๐๕๓ เพราะฉะนั้นพระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์อาจเป็นพระพุทธรูปล้านนาในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ แล้วก็ได้

ส่วนข้อสันนิษฐานว่าทำไมพระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์จึงเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบอันต่างจากรูปแบบทางศิลปกรรมและหลักฐานทางเอกสารที่กล่าวถึงว่าเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรนั้น ผู้เขียนยังหาหลักฐานใดมายืนยันไม่ได้ จะกล่าวว่าการที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ทรงไม่รู้จักพระพุทธสิหิงค์ ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะจากหลักฐานความเข้าใจของคนในสมัยอยุธยาตอนปลายก็รู้แล้วว่าพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร

ในส่วนที่นำเรื่องศิลปกรรมไปเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์การเมืองตามแนวคิดของพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เสนอว่าการที่สมเด็จพระราชวังบวรฯ ทรงเลือกพระพุทธสิหิงค์ที่เป็นพระพุทธรูปแบบขัดสมาธิราบมานั้นเพื่อต้องการให้เห็นความแตกต่างจากงานศิลปกรรมของพม่าที่นิยมสร้างพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร อันแสดงให้เห็นถึงอำนาจทางการเมืองของพม่าด้วย๑๗ ซึ่งนับเป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างมาก ในส่วนของผู้เขียนเองยังไม่มีความเห็นใดในเรื่องนี้ จึงเห็นควรให้มีการศึกษาค้นคว้าและตรวจสอบหลักฐานกันต่อไป

%e0%b8%9e%e0%b8%b8%e0%b8%97%e0%b8%98%e0%b8%aa%e0%b8%b4%e0%b8%ab%e0%b8%b4%e0%b8%871

%e0%b8%9e%e0%b8%b8%e0%b8%97%e0%b8%98%e0%b8%aa%e0%b8%b4%e0%b8%ab%e0%b8%b4%e0%b8%872

 


ที่มา: “พระพุทธสิหิงค์ คือพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในศิลปะล้านนา” โดย ผศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ธันวาคม ๒๕๔๗