ชวนชมความงาม “ศิลปะสุโขทัย” ตีความใหม่ ไม่เหมือนใคร ใน “เดอะ สุโขทัย สปา”

เดอะ สุโขทัย สปา
งานสถาปัตยกรรมประยุกต์สมัยสุโขทัย เดอะ สุโขทัย สปา ณ โรงแรมสุโขทัย สาทร กรุงเทพ

ชวนชมความงาม “ศิลปะสุโขทัย” ตีความใหม่ ไม่เหมือนใคร ใน “เดอะ สุโขทัย สปา”

ถ้าพูดถึง “สุโขทัย” หรือ “ศิลปะสุโขทัย” ภาพจำที่ทุกคนนึกถึงคงจะมีอะไรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม ศาสนสถาน ที่สร้างด้วยหิน อิฐ หรือศิลาแลง ธรรมชาติที่รายล้อมด้วยต้นไม้ ใบหญ้า และดอกบัวที่กำลังบาน ไหนจะ “ศิลาดล” เครื่องปั้นดินเผาอันวิจิตรงดงามของสุโขทัย หรืองานศิลปกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย

งานสถาปัตยกรรมประยุกต์สมัยสุโขทัย เดอะ สุโขทัย สปา ณ โรงแรมสุโขทัย สาทร กรุงเทพ

ทั้งหมดนี้มีการนำมาประยุกต์ให้เข้ากับงานสถาปัตยกรรมปัจจุบัน หนึ่งในตัวอย่างล่าสุดคือ บ้านไม้หลังใหญ่อายุกว่า 30 ปี ที่ดัดแปลงเป็น “เดอะ สุโขทัย สปา” โรงแรมสุโขทัย ย่านสาทร ซึ่งผสานกลิ่นอายยุคเก่าเข้ากับยุคใหม่ได้อย่างลงตัว เช่น บ่อน้ำที่เชื่อมโยงไปถึงระบบชลประทานสมัยสุโขทัย ซุ้มทางเข้า แต่งด้วยการย่อมุมหรือย่อเก็จ รวมถึงการใช้สีเขียวหม่นของศิลาดล เครื่องปั้นดินเผาชื่อดังในยุคนั้น ฯลฯ

เบื้องหลังแนวคิดนี้คืออะไร คำตอบอยู่ที่ รศ. ประชา แสงสายัณห์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึง กรกนก เมฆศิลป์, ปสงค์จิต แก้วแดง, นิภาพร วิบูลจักร์ และ ธนนาถ กรมณีโรจน์ กลุ่มผู้ร่วมออกแบบ 

เรือนไทยสิบเอ็ดหมู่

งานสถาปัตยกรรมประยุกต์สมัยสุโขทัย เดอะ สุโขทัย สปา ณ โรงแรมสุโขทัย สาทร กรุงเทพ

รศ. ประชา แสงสายัณห์ เล่าว่า อาคารปลูกสร้างนี้เดิมทีเป็นของ “ยง อารีเจริญเลิศ” ซึ่งได้รวบรวมไม้จากภาคเหนือและพม่า สร้างขึ้นเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ความพิเศษของเรือนไทยไม้หลังนี้คือมีถึง 11 หมู่ ซึ่งถือว่าใหญ่มาก เพราะเพิ่มเรือนนอนและเรือนนั่งแยกต่างหากขึ้นมาอีก 

จนเมื่อมีความคิดจะสร้างสปา จึงยกเรือนไม้นี้ให้ โดยแยกชิ้นส่วนแต่ละชิ้นมาประกอบขึ้นที่นี่ และจากเรือนสิบเอ็ดหมู่ก็หลงเหลือเพียงเจ็ดหมู่เท่านั้น เนื่องจากพื้นที่จำกัดและต้องปรับโครงสร้างการวางเรือนใหม่ทั้งหมด เนื่องจากเรือนเดิมแต่ละหมู่อยู่ติดกันมาก เรียกได้ว่าชายคาชนชายคา ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ต้องใช้ความรู้ทางสถาปัตยกรรมและความชำนาญสูงเข้ามาส่งเสริม

“รุ่งอรุณแห่งความสุข”

งานสถาปัตยกรรมประยุกต์สมัยสุโขทัย ณ โรงแรมสุโขทัย สาทร กรุงเทพ

รศ. ประชา เล่าต่ออีกว่า ทั้งตัวอาคาร การออกแบบ และชิ้นส่วนต่าง ๆ ในนี้ ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับศิลปะไทย ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากช่วงสุโขทัยทั้งสิ้น โดยทีมสถาปัตยกรรมได้เดินทางไปในแหล่งประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสมัยสุโขทัย นั่นคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ห้องสุโขทัย, อุทยานประวัติศาสตร์แห่งสุโขทัย, อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เป็นต้น

แม้ทีมสถาปัตยกรรมจะรังสรรค์พื้นที่ให้เหมือนย้อนกลับไปในสมัยสุโขทัย แต่ก็ยังคงไว้ด้วยความทันสมัย หรือที่เรียกว่า “reborn and redefine” ให้สถาปัตยกรรมไทยรับใช้สังคมปัจจุบันและยังสร้างสรรค์อนาคต

พื้นที่แห่งนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากคำว่า ‘สุโขทัย’ อันแปลได้ 2 ความหมาย คือสุขและอุทัย คือรุ่งอรุณแห่งความสุข ขณะเดียวกันก็แปลได้ว่าอิสรชนผู้มีความสุข ซึ่งคนที่เข้ามาที่นี่จะต้องได้รับความสุข หวนคืนความรู้สึกในสมัยสุโขทัย ทั้งยังรู้สึกอิสระ เบาสบาย สดชื่น ปลอดโปร่ง ตัดขาดจากโลกภายนอก

ที่นี่จึงเน้นการออกแบบโดยวางอยู่บนความเก่าแก่ของสุโขทัย แต่ก็ยังคงไว้ด้วยความสุขของคนที่เข้ามาใช้บริการ หรือที่อาจารย์กล่าวว่า “ย่อยมรดกทางวัฒนธรรม แล้วเอามาปรุงใหม่” เช่น อาคารหลักของสปา ก็จะประกอบไปด้วย เรือนเดี่ยว เรือนแฝด เรือนเครื่องลำยอง มีการตกแต่งด้วยเครื่องประดับหลังคาแบบไทย ซึ่งได้แรงบันดาลใจากวัดศรีชุม โบราณสถานสำคัญแห่งสุโขทัย

ขณะเดียวกัน บนหลังคาก็ใช้เหล็กเข้ามาช่วย จากเดิมที่มีแต่ไม้ เพื่อรองรับการใช้งานจริงในปัจจุบัน รวมไปถึงการมีบ่อน้ำ ที่เชื่อมโยงไปถึงระบบชลประทาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในยุคสมัยนั้นอีกด้วย

ผสาน “เก่า-ใหม่”

งานสถาปัตยกรรมประยุกต์สมัยสุโขทัย ณ โรงแรมสุโขทัย สาทร กรุงเทพ

ไม่เพียงแค่นั้น การตกแต่งภายในหรือจัดแต่งภูมิทัศน์ภายนอก ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับสุโขทัยทั้งสิ้น เรื่องนี้ กรกนก เมฆศิลป์, ปสงค์จิต แก้วแดง นิภาพร วิบูลจักร์ และ ธนนาถ กรมณีโรจน์ กลุ่มผู้ออกแบบโครงการนี้ เล่าว่า ตั้งแต่ซุ้มทางเข้า ใช้การย่อมุม ย่อเก็จ เพื่อพาทุกคนหวนคืนศิลปกรรมสมัยก่อน ทั้งยังทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ไม่ทำให้การออกแบบแข็งทื่อจนเกินไป 

การใช้ดอกบัว หนึ่งดอกไม้ที่เห็นได้บ่อยในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและสะท้อนถึงรุ่งอรุณแห่งความสุขได้ดีไม่แพ้สิ่งอื่น ก็หยิบยกมาตกแต่งและเป็นซิกเนเจอร์ที่ไม่เหมือนใคร ทางทีมได้สร้างดอกบัว 7 กลีบ ที่ปรากฏอยู่ในโบราณสถาน มาตกแต่งในหลากหลายพื้นที่ ชิ้นสำคัญจะอยู่บริเวณริมสองฝั่งของทางเข้า ที่อยู่เหนือน้ำและใต้น้ำ ซึ่งน้ำในบ่อสีดำนี้สามารถสะท้อนเห็นท้องฟ้าได้อีกด้วย ถือเป็นจุดเด่นของที่นี่เลยทีเดียว

นอกจากนี้ การใช้สีของทั้งอาคารก็ยังเชื่อมโยงกับความเป็นเมืองเก่าเมืองแก่ เพราะทีมออกแบบเลือกใช้สีเขียวหม่นและสีงาช้างของ “ศิลาดล” เครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงของยุคนั้น ทั้งนำลักษณะของเจดีย์ทรงดอกบัวตูม (ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์) มาปรับใช้ และหยิบโอ่งหรือเครื่องเผามาตกแต่ง รวมถึงใช้ต้นไม้หลากหลายชนิด ทำให้รู้สึกถึงวิถีชีวิตและบรรยากาศของคนยุคนั้นอีกด้วย

เรียกได้ว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมอันสวยงาม ที่ประสานอดีตและปัจจุบันได้อย่างลงตัว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มีนาคม 2568