เจาะลึกช็อตต่อช็อต “จิตรกรรมไทย” ในซีรีส์ “The White Lotus” ซีซั่น 3

จิตรกรรมไทยในซีรีส์ The White Lotus
(ภาพจาก Facebook : Max)

เจาะลึกช็อตต่อช็อต จิตรกรรมไทยในซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3

“The White Lotus” ซีรีส์ชื่อดังที่กำลังสตรีมมิ่งในแพลตฟอร์ม Max อยู่ตอนนี้ เรียกได้ว่าสร้างความฮือฮาตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างซีรีส์เลยก็ว่าได้ เพราะได้เลือกประเทศไทยเป็นฉากหลังของเรื่อง ยกกองมาถ่ายทำที่ไทย และยังมีนักแสดงชาวไทยเข้าร่วมคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็น ดอม เหตระกูล, สุทธิชัย หยุ่น, ภัทราวดี มีชูธน ที่สร้างเซอร์ไพรซ์ก็คือ ลิซ่า ลลิษา มโนบาล ก็ร่วมแสดงในซีซั่นที่ 3 นี้ด้วย

จนเมื่อซีรีส์สตรีมมิ่งวันแรกก็สร้างเซอร์ไพรซ์ให้กับผู้ชมคนไทยอีกครั้ง ด้วย “Opening Credits” ที่ใช้ภาพจิตรกรรมไทยมาบอกเล่า (บอกใบ้?) เรื่องราว เรียกได้ว่าเป็นงานอาร์ตที่สวยตาแตกมาก เพราะเมื่อไปเทียบกับจิตรกรรมต้นฉบับแล้ว จะเห็นว่าผ่านการปรับปรุงตกแต่งให้มีรายละเอียดเยอะกว่าเดิม สีสันฉูดฉาดขึ้น ความคมชัดก็มากขึ้น 

จิตรกรรมต้นฉบับที่นำมาใช้ใน Opening Credits นี้ วิเคราะห์แล้วมาจาก 2 แห่งใหญ่ๆ คือ 1. จิตรกรรมภายในพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และ 2. จิตรกรรมภายในพระอุโบสถ วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร 

ภาพในซีรีส์จะมีการตกแต่งและดัดแปลงมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ช็อต มีทั้งจิตรกรรมที่มาจากฉากเดียว วัดเดียว หรือจิตรกรรมมาจากวัดเดียวกัน แต่ใช้หลายส่วนในหลายฉากผสมกัน หรือมาจากทั้งสองวัดผสมกันก็มี 

ตัวอย่างเช่น ภาพผู้ชายถือร่ม มีเหี้ยวิ่งเข้าประตู จิตรกรรมต้นฉบับเป็นจิตรกรรมเรื่องเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร กัณฑ์มัทรี และกัณฑ์สักกบรรพ ที่วัดสุวรรณาราม แต่ในซีรีส์ได้ตัดชูชกออก แล้วเอาผู้ชายถือร่มซึ่งเป็นจิตรกรรมที่วัดสุทัศน์เข้ามาแทน เติมขาให้สมบูรณ์ และเปลี่ยนสีร่ม รวมทั้งเติมเหี้ยวิ่งเข้าประตู ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าเหี้ยตัวนี้เป็นจิตรกรรมจากฉากไหน หรือวาดขึ้นใหม่

ส่วนฉากใหญ่ๆ ที่ถือว่าสวยงามก็มีทั้ง จิตรกรรมพุทธประวัติเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ จิตรกรรมเรื่องทธิวาหนชาดก จิตรกรรมเรื่องมหาชนกชาดก และจิตรกรรมเรื่องเนมิราชชาดก

จิตรกรรมพุทธประวัติเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์

“จิตรกรรมพุทธประวัติเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์” เป็นจิตรกรรมที่วัดสุวรรณาราม แต่ในซีรีส์มีการเพิ่มฉากอื่นเข้าไป คือด้านล่างสุดเป็นจิตรกรรมจากวัดสุวรรณารามช่นกัน แต่บริเวณตรงกลางที่เป็นศาลามีชายหญิงยืนถือร่ม และด้านขวาที่มีกลุ่มคนนั่งชุมนุมกันอยู่ จะเป็นจิตรกรรมจากวัดสุทัศน์

จิตรกรรมเรื่องทธิวาหนชาดก

“จิตรกรรมเรื่องทธิวาหนชาดก” เป็นฉากการสู้รบ ในซีรีส์ก็มีการดัดแปลงให้ภาพเล่าเรื่องราวให้เข้ากับธีม เช่น แก้ลายสักยันต์ของทหารให้เป็นลายดอกบัว เปลี่ยนชื่อป้ายเมืองเป็น “บัวขาว” หรือการเติมลิงเพิ่มเข้ามาในภาพ

จิตรกรรมเรื่องมหาชนกชาดก

“จิตรกรรมเรื่องมหาชนกชาดก” เป็นจิตรกรรมที่วัดสุวรรณาราม เป็นภาพตอนเรือสินค้าอับปางในมหาสมุทร แต่มีการตัดนางมณีเมขลาที่กำลังอุ้มพระมหาชนกซึ่งอยู่ด้านบนออกไป บางช็อตก็นำพญานาคพ่นพิษ ซึ่งเป็นจิตรกรรมจากวัดสุทัศน์เข้ามาเพิ่มด้วย

จิตรกรรมเรื่องเนมิราชชาดก

“จิตรกรรมเรื่องเนมิราชชาดก” เป็นพระชาติที่ 4 ในทศชาติชาดก ตอนพระเนมิราช (พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าเนมิราช) ทรงสนทนาธรรมกับเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ฝีมือการเขียนภาพโดยครูทองอยู่ (หลวงวิจิตรเจษฎา) จิตรกรเอกสมัยรัชกาลที่ 3 จิตรกรรมภาพนี้เป็นที่เลื่องชื่อของวัดสุวรรณาราม แม้จะไม่ได้มีความสมบูรณ์มาก สีสันไม่สดเท่าภาพในซีรีส์ แต่ก็เป็นจิตรกรรมที่อ่อนช้อยงดงามมาก

นอกจากนี้ “ภาพกาก” ก็เป็นอีกชิ้นงานที่โดดเด่นไม่แพ้จิตรกรรมฉากใหญ่ๆ เช่น ภาพลิงสองตัวนั่งสูบบ้องกัญชา จิตรกรรมที่วัดสุทัศน์ รวมถึงสัตว์นานาชนิด เช่น หมา นก จระเข้ ช้าง ลิง เสือ กวาง ปลา เป็นต้น

ภาพในซีรีส์นอกจากจะมีการตกแต่งให้สวย คมชัด สีสันฉูดฉาด และดัดแปลงองค์ประกอบต่างๆ แล้ว ยังมีการเล่นแสง เงา ตื้น ลึก ความเคลื่อนไหว เสมือนให้จิตรกรรมกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ใครที่ได้ชมซีรีส์ “The White Lotus” แล้วอยากตามรอย Opening Credits ของเรื่อง สามารถเข้าชมได้ที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพฯ และวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 

ปล. โปรดระวังต้นคอของท่าน เพราะจิตรกรรมบางฉากอยู่สูงในระดับ 2-4 เมตร!!!

ขอขอบคุณ พี่โหน่ง ธัชชัย ยอดพิชัย ผู้ช่วยบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม เอื้อเฟื้อข้อมูล

ชมภาพเพิ่มเติม คลิกที่นี่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2568