ผู้เขียน | บัณฑิตา คงสิน |
---|---|
เผยแพร่ |
พระร่วงโรจนฤทธิ์ พระพุทธรูปสำคัญที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานให้ชาวนครปฐม
พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ เมื่อพระองค์เสด็จฯ ผ่านเมืองโบราณศรีสัชนาลัย (ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย) พระองค์ได้ทอดพระเนตรพระพุทธรูปองค์หนึ่งมีลักษณะสวยงาม เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก
แต่พระพุทธรูปองค์นั้นชำรุดเสียหายหนัก คงเหลืออยู่แต่ พระเศียร (หัว) พระหัตถ์ (มือ) 1 ข้าง และพระบาท (เท้า) จึงทรงสันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระพุทธรูปองค์นี้ลงมายังกรุงเทพมหานคร และให้หาช่างปั้นฝีมือดีบูรณะให้เต็มองค์ โดยให้เททองหล่อองค์พระพุทธรูป พร้อมทั้งจัดพระราชพิธีสถาปนาพระพุทธรูปองค์นั้นขึ้น เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ณ วัดพระเชตุพนฯ (หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ วัดโพธิ์)
เมื่อหล่อเสร็จ พระพุทธรูปองค์นี้มีความสูงตั้งแต่พระบาทถึงพระเกศา (ผม) อยู่ที่ 12 ศอก 4 นิ้ว คิดเป็นเมตร จะมีความสูงอยู่ที่ 7.42 เมตร มีลักษณะสมบูรณ์ทุกประการ ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วิหารฝั่งทิศอุดร (ทิศเหนือ) ขององค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ตกแต่งประกอบองค์พระพุทธรูปและประดิษฐานเรียบร้อยในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458
ต่อมาเมื่อเสด็จประพาสอยุธยา ทรงนึกถึงพระพุทธรูปองค์ที่นครปฐมว่ายังมิได้สถาปนาพระนามให้ พระองค์จึงพระราชทานพระนามว่า “พระร่วงโรจน์ฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิรวุธราชบูชนิยบพิตร์” เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2466
อีกทั้งยังทรงระบุไว้ในพระราชพินัยกรรม ว่าให้นำพระบรมสรีรังคารของพระองค์ส่วนหนึ่งมาบรรจุไว้ที่หลังองค์พระอีกด้วย
สรุปแล้ว สาเหตุที่พระร่วงโรจนฤทธิ์เป็นพระพุทธรูปคู่เมืองนครปฐม เพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงอัญเชิญมาให้ประดิษฐานไว้ อีกทั้งยังมีพระสรีรังคารของพระองค์ในพระพุทธรูปอีกด้วย
ทำให้พระพุทธรูปองค์นี้มีความสำคัญกับชาวนครปฐมเป็นอย่างมาก
อ่านเพิ่มเติม :
- พระศิลาขาว อายุกว่า 1,000 ปี ที่นครปฐม มาจากไหนกันแน่?
- “ทวารวดี” อยู่ ลพบุรี-ศรีเทพ ไม่ใช่ “นครปฐม-อู่ทอง”?!
- จังหวัดนครปฐมมาจากไหน พระปฐมเจดีย์มีที่มาอย่างไร
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (2466). ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 40 หน้าที่ 2179. สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา : กรุงเทพมหานคร. https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2466/D/2177_2.PDF
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ (2544). สารานุกรม วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนครปฐม, กรมศิลปากร (พิมพ์ครั้งที่ 1) : กรุงเทพมหานคร
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2567