5 สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมก่อนไป Trekking เดินป่าในป่าฝน

‘ป่าฝน’ หรือ ป่าฝนเขตร้อน (Tropical Rain forest) บางครั้งก็เรียกว่า ‘ป่าดิบชื้น’ คือป่าที่มีคุณลักษณะที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ ป่ามีความเขียวชอุ่มตลอดปีเพราะมีปริมาณน้ำฝนต่อมีมากเพราะอยู่ในเขตมรสุม และนับเป็นป่าที่เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ ภายในวันเดียวอาจเจอสามฤดู ซึ่งป่าฝนในประเทศไทยพบได้ทั้งทางภาคตะวันออกและภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป ซึ่งปัจจุบันยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก

สำหรับนักเดินป่ามือใหม่ คงไม่ชอบใจนักหากการเดินทางเที่ยวชมธรรมชาติถูกขัดจังหวะด้วยฝนที่กระหน่ำเทลงมาในระหว่างการเดินทาง แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงสิ่งจำเป็นสำหรับป่าฝน หรือทริคการเที่ยวป่าฝนขออธิบายถึงลักษณะของนักเดินป่าในแต่ละระดับกันก่อน เพื่อทำความเข้าใจพื้นฐานเบื้องต้นที่ถูกต้อง ซึ่งโดยปกติกิจกรรมการเดินป่าศึกษาเส้นทางธรรมชาติ (เฉพาะป่าไทย) หรือที่เรียกว่า Trekking จะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook : Bangkok Bank SME 

นักเดินป่ามือใหม่ คือคนที่ไม่เคยหรือไม่มีประสบการณ์ในการเดินป่ามาก่อนหรืออาจมีเพียงไม่กี่ครั้ง สามารถเดินป่าเฉพาะที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานครบ (สถานที่ขับถ่าย ชำระล้าง บริการอาหาร และการบริการแบกหามอุปกรณ์) ไม่ต้องใช้ทักษะการเดินและการใช้ชีวิตในป่ามากนัก ส่วนใหญ่นักเดินป่าระดับนี้จะมีระยะการเดินทางด้วยเท้าไม่ควรเกิน 4 กิโลเมตร/วัน หรือไม่ควรเกิน 6 ชั่วโมง/วัน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย และควรเลือกป่าที่เหมาะสมกับสมรรถภาพ ไม่แนะนำให้ข้ามระดับเร็วไปนัก แต่ถ้าใจสู้ก็ไม่ว่ากัน

นักเดินป่ามือสมัครเล่น จำกัดความได้ประมาณว่าเป็นผู้ที่รักในการเที่ยวป่าเป็นครั้งคราว นิยมเที่ยวป่าที่ไม่ต้องทรมานสังขารร่างกายมากนัก แต่มีทักษะในการเดินป่าและการใช้ชีวิตในป่าพอสมควร ซึ่งป่าสวยเดินง่ายในประเทศไทยมีสถานที่ยอดนิยมมากมาย บางแห่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานบ้างพอสมควร มีระยะเวลาเดินทางประมาณ 6 กิโลเมตร/วัน หรือระยะเวลาไม่เกิน 7 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย กล่าวกันว่านี่คือกลุ่มนักเดินป่าส่วนใหญ่ของประเทศ

นักเดินป่ามือโปร นิยามของมือโปรที่ยกระดับมาถึงขั้นที่เรียกว่า ‘หลงใหล’ ในการเดินท่ามกลางป่าเขา สายน้ำและเสียงนกร้อง ป่าที่เลือกเดินมักจะเป็นป่าที่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ป่าปิด ป่าสำรวจ ป่าลึกแค่ไหนก็อยากพาสองตาและสองขาไปเหยียบให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าการก้าวขาไปยังป่าลึกได้จะต้องประกอบด้วยความชอบ และสภาพร่างกายที่แข็งแรง มีทักษะในการเดินป่า สังเกตป่า รู้จักการเลือกทำเลตั้งที่พัก รู้จักแมลงมีพิษและพรรณไม้พอสมควร รู้จักการป้องกันตัวในป่าไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ สามารถเดินทางลื่น ชัน จุดเสี่ยงอันตรายต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยทุกรูปแบบ

ที่สำคัญคือสามารถค้างแรมและใช้ชีวิตในป่าได้แม้ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานได้หลายวัน นักเดินป่ากลุ่มนี้คือคนที่สามารถเรียกว่าเป็นนักเดินป่าขั้นมาตรฐานก็ได้ ส่วนระยะทางการเดิน อาจจะต้องเดิน 5 -20 กิโลเมตร/วัน ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศและข้อจำกัดในการเดิน ซึ่งจริงๆ แล้วระยะทางไม่มีข้อจำกัดสำหรับนักเดินป่าระดับนี้ แต่ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศและข้อจำกัดของจุดพัก เช่นแหล่งน้ำที่จำเป็นสำหรับการกินดื่มและหุงอาหาร

มาต่อกันเรื่องป่าฝน สำหรับคนชอบเดินป่าจะทราบดีว่านี่จะเป็นช่วงที่ป่าเขียวชอุ่ม ชุ่มชื้น อากาศที่เย็นสบาย ประกอบเป็นทิวทัศน์ที่ตระการตาแต่เนื่องจากยังมีฝน หลายๆ คนอาจมีความกังวลว่าจะเตรียมตัวสำหรับการท่องเที่ยวป่าอย่างไรให้ไร้กังวลหากเกิดฝนตกลงมา ซึ่งแน่นอนว่าจะทุกลักทุเลมาก
ดังนั้นเรามีคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับเรื่องนี้มาแนะนำว่าจะต้องมีการเตรียมการอย่างไรบ้าง ให้การเที่ยวป่าฝนเต็มไปด้วยความสุข

1. สุขภาพและความแข็งแรงของร่างกาย สำหรับนักเดินป่า สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงคือพื้นฐานที่ดี เพราะร่างกายที่แข็งแรงจะสามารถพาคุณไปได้ทุกที่ ดังนั้นนักเดินป่าที่ดีควรมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการออกกำลังกายส่วนล่าง ฝึกฝนให้กล้ามเนื้อแข็งแรงรับการเดินทางแสนโหดได้ทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะป่าฝนซึ่งการเดินจะต้องใช้กำลังขามากกว่าในช่วงปกติ เพราะทั้งลื่น ชื้นแฉะ เสื้อผ้ากระเป๋าที่เปียกและหนัก จะยิ่งลดเรี่ยวแรงลงไปเรื่อยๆ

2. เสื้อผ้าอุปกรณ์และของใช้จำเป็น การเดินป่าปกติสิ่งของที่ต้องใช้พื้นฐาน เช่น กระเป๋าเป้ รองเท้า ถุงเท้า ไฟฉาย เต็นท์ อุปกรณ์ป้องกันความหนาว ของใช้จำเป็นส่วนตัว อุปกรณ์ประกอบอาหาร และอาหารที่ต้องเตรียมไปให้พอดีในการเดินทาง ขณะที่สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการเดินป่าหน้าฝนที่แตกต่างจากปกติที่ต้องมีนั้นมี อาทิ ยาพ่นกันแมลง สัตว์มีพิษ สัตว์ดูดเลือด (กรณีป้องกันสัตว์เลื้อยคลานมีพิษแนะนำให้ฉีดลงพื้นดินรอบที่พักเป็นจุดๆ) เสื้อกันฝน ถุงกันน้ำสำหรับใส่เสื้อผ้าป้องกันน้ำเข้าเป้ และใส่เสื้อผ้าที่เปียก ยาประเภทแก้ไข้

ส่วนเสื้อผ้าที่ต้องเป็นแบบแห้งไว โดยปกติชุดเดินป่ามักใช้แค่ชุดเดียวตลอดการเดินทาง (แม้จะเปียกก็ใส่ตัวเดิม) และเตรียมชุดลำลองสำหรับผลัดเปลี่ยนขณะพักนอน ส่วนอุปกรณ์การนอนในป่าฝน ผูกเปลดีกว่านอนเต็นท์ เพราะไม่ต้องนอนบนพื้นดินที่ชื้นแฉะ และอาจถูกรบกวนจากมดแมลงและสัตว์เลื้อยคลาน แต่ก็ขึ้นอยู่กับทำเลที่พัก ป่าฝนอุปกรณ์ทุกอย่างต้องคิดถึงการเปียกน้ำเป็นปัจจัยพื้นฐาน แล้วคุณจะทราบว่าต้องเตรียมอะไรไป

3. ทำความรู้จักสถานที่ การศึกษาเรื่องภูมิประเทศ เส้นทางการเดินป่าในเบื้องต้น ระยะทางเป็นเรื่องพื้นฐานทั่วไปสำหรับนักเดินป่า แต่สำหรับป่าฝนอาจจะต้องศึกษาเรื่องสภาพอากาศ สภาพป่าในช่วงฝนตกหนักติดต่อกัน ความเสี่ยงของการเกิดน้ำป่า ต้นไม้ล้มทับ และเส้นทางเดินมีความลื่นและลาดชันแค่ไหน ข้อมูลเหล่านี้อาจมีประโยชน์ในการเลือกใช้รองเท้าที่เหมาะสมสำหรับสภาพป่า เช่น กรณีทางเดินเป็นเส้นน้ำตก มีตะไคร้น้ำ หินมีความลื่น ลุยลำธาร รองเท้ากันน้ำก็หมดประโยชน์ และควรหลีกเลี่ยงรองเท้าแบบพื้นแข็ง เพราะลื่นง่ายกว่าแบบพื้นอ่อน ทางเดินที่เป็นดินเหนียวหรือดินร่วม อาจจะต้องเจอกับเส้นทางที่เป็นเลนโคลน แต่ทั้งหมดนี้จะใช้เป็นบรรทัดฐานไม่ได้ เพราะแต่ละพื้นที่ป่ามีความหลากหลายมาก

4. เพื่อนร่วมทาง อาจสงสัยว่าเพื่อนร่วมทางสำคัญอย่างไร ในป่าที่ทุกอย่างทุกลักทุเลอย่างป่าฝน เพื่อนร่วมทางคือสรณะหนึ่งที่เยียวยาเราได้ ทั้งในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การแบ่งปันความรู้การเดินป่า หรือแม้แต่การเยียวยาจิตใจในช่วงที่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ เพราะคนเที่ยวป่าฝนบ่อยๆ จะทราบดีว่า ‘เอาแน่อะไรไม่ได้กับฟ้าและฝน’ บางครั้งเช้าอากาศร้อน เย็นฝนตกหนัก ตกดึกหนาวจนจับสั่น และด้วยภูมิอากาศที่เลวร้าย การเยียวยาจิตใจระหว่างเพื่อนร่วมเดินทางด้วยกัน คือของขวัญที่มอบให้กันได้ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นการพูดเรื่องตลกให้ลืมๆ ความเหนื่อยยากไป

5. ความเข้มแข็งของจิตใจ ‘ใจถึงก็ไปถึง’ คำคมของนักเดินป่าที่มักใช้หลอกนักเดินป่ามือใหม่ ซึ่งก็มีส่วนจริงอยู่บ้าง เพราะการเดินป่า พื้นฐานจิตใจที่ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะต่อให้คุณเป็นนักวิ่งอัลตร้ามาราธอน ที่มีผลงานและสถิติการวิ่งที่ยอดเยี่ยมมากมาย แต่เดินป่าไม่ใช่วิ่งบนท้องถนน ดังนั้นย่อมแตกต่างกันมาก ต้องเตรียมใจ และปรับสภาพจิตใจให้หนักแน่น ปล่อยวางเรื่องเฉพาะหน้าให้ได้ในทุกสถานการณ์ เช่นการเดินทางที่ทุกลักทุเลอาจทำให้ยืดเวลาเดินทาง ต้องเดินกลางคืนต่อเพื่อให้ถึงแคมป์ หรือหากเกิดขาเจ็บ ขาแพลง เป็นวิ่งบนถนนก็แค่ออกจากการแข่งขัน แต่ในป่าหากยังสามารถขยับตัวได้คงไม่มีใครจะแบกหามไป ดังนั้นต้องทำใจไว้ด้วย

ที่สำคัญอย่าใจสู้จนถึงขั้นประมาท เคยมีนักวิ่งหรือแม้แต่นักวิ่งเทรลที่มีประสบการณ์วิ่งทางวิบากมาไม่น้อย เสียท่าเพราะมาเดินป่ามาเยอะแล้ว เพราะประมาท คือใจคิดว่าเคยวิ่ง 150 กิโลเมตรมาก็แล้ว เทียบกับเดินป่าแค่ 20 กิโลเมตรคงไม่เท่าไหร่ และมักบาดเจ็บจากอุบัติเหตุขณะเดินทาง เช่น การหกล้มกระแทกก้อนหิน ขาแพลง และอีกหลายอาการที่ส่งผลกระทบต่อการเดินป่า อันเนื่องจากความประมาทเลินเล่อ ดังนั้นใจสู้นั้นดี แต่จะสู้จนถึงขั้นประมาทก็ไม่ดี ลำบากเพื่อนร่วมทางอีกด้วย และบ่อยครั้งการบาดเจ็บจะเป็นบทเรียนสอนแทนซึ่งไม่คุ้มเอาเสียเลย

สำหรับทริคการเดินป่า การจัดหาอุปกรณ์เดินป่า จัดสัมภาระ เทคนิคการใช้ชีวิตในป่าสำหรับนักเดินป่าสายอนุรักษ์ทุกระดับยังมีอีกมากนัก ไว้มีโอกาสจะนำประสบการณ์เหล่านี้มาบอกเล่าสู่กันเป็นระยะ

 

คลิกอ่านเพิ่มเติม

ฝ่าสายฝนยลความงาม 5 ทุ่งดอกไม้

4 สถานที่ล่องแก่งที่รอคุณไปพิชิต


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิก หรือสายด่วน1333