สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน เยือนอุดรธานี เมืองแห่ง ‘ผ้าไทย’

        มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย โดยมอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน(พช.) กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพหลักในการรณรงค์เชิญชวนให้คนไทยสวมใส่ผ้าทอไทย เพิ่มขึ้นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน ตามแนวทางโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ซึ่งดำเนินการโดยกรมพัฒนาชุมชน ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย รวมถึงสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับกลุ่มสตรีในท้องถิ่น อีกทั้งเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าพื้นถิ่นไทยให้ดำรงอยู่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่งคง ชุมชนมั่งคั่ง

        เมื่อไม่นานนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นจังหวัดแรกที่ตอบรับมติครม. สนับสนุนมาตรการของภาครัฐ โดยรณรงค์ให้ข้าราชการทุกสังกัดในจ.อุดรธานี รวมถึงประชาชนสวมใส่ชุดผ้าไทยสัปดาห์ละ 5 วัน โดยอธิบดี พช. กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้ตอบรับแนวนโยบายอย่างทันที ซึ่งอุดรธานีได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งผ้าทอมืออยู่แล้ว ซึ่งมีแหล่งผลิตผ้าไหมระดับโลก และยังมีตลาดนาข่า แหล่งรวมผ้าไทยขนาดใหญ่ที่รวบรวมกลุ่มผ้าทอจากทั้ง 20 อำเภอในอุดรธานีมาไว้ เช่น ผ้ามัดหมี่ย้อมคราม ผ้าหมักโคลน ซึ่งการสนับสนุนครั้งนี้ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของอุดรธานีให้เข้มแข็ง ก่อให้เกิดรายได้กระจายไปยังชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสตรีกว่า 90% รายได้ที่เกิดจากการทอผ้าออกจำหน่ายจะสามารถช่วยสตรียกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น 

พ่อเมืองอุดรฯ ขานรับนโยบาย ชูใส่ผ้าไทยสัปดาห์ละ 5 วัน
        นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า อุดรธานีนับเป็นเมืองแห่งการใช้ผ้าไทยในชีวิตประจำวัน แต่การจะรณรงค์ให้ทุกคนทุกหน่วยงานสวมใส่อย่างพร้อมเพรียงนั้นพ่อเมืองต้องเริ่มต้นทำเป็นแบบอย่าง ด้วยการสวมใส่ผ้าไทยทุกวัน ทุกโอกาส เมื่อผู้นำทำก่อน แนวทางการส่งเสริมให้ข้าราชการใส่ผ้าไทย 5 วันต่อสัปดาห์ และสนับสนุนให้ประชาชนร่วมกันใส่ผ้าไทยตักบาตรในทุกวันพระ จึงได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกฝ่าย ทุกหน่วยราชการขานรับ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดในการส่งเสริมการนำลายหมี่ขิดซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของอุดรธานีมาปรับใช้กับผ้าทอประเภทต่างๆ ตลอดจนร่วมฟื้นฟูลายผ้าทอประจำถิ่นของ 20 อำเภอในอุดรธานีให้คนเห็นความสำคัญของผ้าพื้นเมือง และเพื่อจูงใจให้คนอุดรใส่ผ้าไทยได้ทุกวัน 

        “การฟื้นฟูกลุ่มทอผ้าและมาตราการส่งเสริมให้คนสวมใส่ผ้าไทยของรัฐบาล เท่ากับเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนโดยอัตโนมัติ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของจังหวัดอุดรธานีคือ ในวันฉลองก่อตั้งเมืองอุดรธานี ซึ่งจะมีการบวงสรวงถวายแด่กรมหลวงประจักษ์ผู้ก่อตั้งเมือง วันนั้นทุกคนที่มาร่วมงานสวมผ้าไทยไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ซึ่งทำให้เกิดเงินสะพัดราว 30-40 ล้านบาท ดังนั้น ผมมองว่าหากมีการส่งเสริมให้งานประจำถิ่นแต่ละจังหวัด ส่งเสริมให้ใส่ผ้าไทยอย่างพร้อมเพรียง เชื่อว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นได้ดีมากอีกทางหนึ่ง

        “เสื้อผ้าเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เพียงเราเปลี่ยนจากซื้อเสื้อผ้าแบรนด์ราคาแพง มาอุดหนุนผ้าทอฝีมือคนไทย ซึ่งผ้าไทยไม่ได้มีเฉพาะผ้าไหม แต่มีผ้าอีกหลายชนิด ซึ่งล้วนมีเอกลักษณ์และสวมใส่สบาย ใส่ได้ทุกฤดูกาล และปัจจุบันก็มีการปรับผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่ามากขึ้น รวมทั้งจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันมาใส่ผ้าไทยด้วยดีไซน์ที่ทันสมัย เข้าถึงกลุ่มตลาดใหม่ๆ ด้วยช่องทางจำหน่ายออนไลน์ ซึ่งจังหวัดอุดรธานีเองก็ขับเคลื่อนเรื่องนี้มากขึ้น” พ่อเมืองอุดร กล่าว

บ้านโนนกอก ‘พลิกฟื้น สืบสาน’ อัตลักษณ์ผ้าทอท้องถิ่น
        นายอภิชาติ พูลบัวไข หรือ ครูต้น ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 18 บ้านโนนกอก ปราชญ์ชาวบ้านประจำปี 2558 และศิลปินโอทอปประจำปี 2560 ใช้พื้นที่กว่า 32 ไร่ เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวโอทอปนวัตวิถี และแหล่งเรียนรู้การทอผ้าโบราณบ้านโนนกอกเพื่อขยายงานทอผ้า สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน ความโดดเด่นของที่นี่ คือผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ ด้วย “ดอกบัวแดง” โดยก้านบัว จะให้สีเทาเงินกับเส้นไหม และกลีบดอกบัวจะให้เส้นไหมสีทอง อันเป็นอัตลักษณ์ของบ้านโนนกอกซึ่งได้รับรางวัล Knowledge Based OTOP (KBO) การสร้างนวัตกรรมชุมชนระดับประเทศ โดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

        ครูต้น เล่าว่า ก่อนจะมาเป็นชุมชนต้นแบบการทอผ้า ชาวบ้านโนนกอกละทิ้งการทอผ้ามานานกว่า 20 ปี ทำให้ภูมิปัญญาและสตรีที่มีฝีมือด้านการทอผ้าเริ่มสูญหาย จึงอยากฟื้นภูการทอผ้าของชุมชน และได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจ.อุดรธานี เข้ามาให้คำแนะนำ หลังจากเริ่มศึกษา ค้นหาวิธีของตัวเอง จนค้นพบวิธีการย้อมผ้าด้วยบัวแดง เอกลักษณ์ที่สำคัญของชุมชน ปัจจุบันมีเครือข่ายทั้งจังหวัดประมาณ 180 กว่าครัวเรือน ชาวบ้านมีอาชีพ มีรายได้และความเป็นอยู่ดีขึ้น จากอาชีพเสริมไปสู่อาชีพหลัก แต่ที่เหนือไปกว่านั้นคือได้แสดงฝีมือและจิตวิญญาณในการทอผ้าออกมา

        “บรรดาแม่ๆ ที่ทอผ้าให้เราทุกคนล้วนฝีมือดี เราให้แนวคิดว่าคนทอต้องรู้สึกเป็นเจ้าของผ้า ใช้หัวใจในการทอ เพื่อให้ได้งานที่ประณีตและออกมาจากจิตวิญญาณ ทำให้ผู้ที่ได้รับผ้าจากเราไปมีความสุข ซึ่งลูกค้าที่ซื้อผ้าเราส่วนใหญ่มีตั้งแต่นักสะสมผ้าโบราณ กลุ่มคนทำงาน และวัยรุ่น ดังนั้น เราจึงมีผ้าทอหลายรูปแบบผสมผสานแนวความคิดภูมิปัญญาใหม่ สร้างมูลค่า ต้องดูสวย ทันสมัย เพื่อยกระดับผ้าทอพื้นบ้านของเรามีความสวยงามเช่น การให้สีที่ทันสมัยและการวางสัดส่วนของลายแบบใหม่ โดยยังให้ความสำคัญกับขั้นตอนการผลิตที่เป็นธรรมชาติ” ผู้ใหญ่บ้านโนนกอก อธิบาย

รัฐหนุนสวมผ้าไทย ต่อลมหายใจครอบครัวคนทอผ้า

        นายอภิชาติ กล่าวอีกว่า “นโยบายของภาครัฐที่ออกมาส่งผลดีอย่างมากสำหรับชุมชนทอผ้าของเรา เริ่มต้นตั้งแต่การมีชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถี ซึ่งก่อเกิดรายได้จากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท่าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ลงมาจับเรื่องผ้ายิ่งทำให้สตรีมีกำลังใจในการทอผ้า มาถึงท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ท่านตอบสนองนโยบาย ทำให้คนอุดรหันมาใส่ผ้ามากขึ้น ทำให้ชาวบ้านได้มีงานเพิ่มขึ้น รายได้มากขึ้น นโยบายสวมใส่ผ้าไทยของรัฐบาลเป็นประโยชน์ที่สุดกับกลุ่มทอผ้า กับชาวบ้านที่ทอผ้า แม้กระทั่งช่วงโควิด – 19 เราก็ไม่เศร้ากับโควิด ยังยิ้มได้ การส่งเสริมจากภาครัฐทำให้ตลาดของเรายังอยู่ และลูกค้าเรายังอยู่ ทำให้ชาวบ้านมีกำลังใจที่จะทำงานในช่วงโควิด 

        “เราฝึกคนในท้องถิ่นให้มีงานทำนอกจากโรงทอผ้าแล้ว ก็ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ให้เด็กและเยาวชนมาเรียนรู้การทอผ้าในท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ลูกหลานมีรายได้จากการฝึกทอผ้า เก็บสายบัว ย้อมผ้า มัดลาย หรือแม้แต่การไลฟ์สดขายผ้าหน้าเฟซบุ๊กที่มียอดสั่งซื้อหลักแสนต่อวัน เป็นแรงจูงใจให้เขามาทำงานมีรายได้ช่วงปิดเทอม ชาวบ้านมีอาชีพ ชุมชนมีเศรษฐกิจยั่งยืน”

        ด้าน แม่ประยงค์ มหาอาภา วัย 64 ปี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก กล่าวว่า ตนได้กลับมาอยู่บ้านอีกครั้งไม่ต้องออกไปทำงานรับจ้างในเมืองเหมือนเช่นเดิมแล้ว การก่อตั้งกลุ่มทอผ้า ทำให้ตนได้กลับมาทอผ้าอีกครั้ง หลังจากไม่ได้ทอมากว่า 20 ปี ซึ่งตนขอขอบคุณภาครัฐที่ส่งเสริมให้สตรีมีอาชีพ มีรายได้ และมีความสุขมากขึ้น สำหรับรายได้ในการทอผ้าของสมาชิกแต่ละคนขึ้นอยู่กับความยากง่ายของลายทอ สำหรับแม่ประยงค์ถนัดทอผ้าไหม และผ้ายกขิด รายได้ต่อผืนอยู่ที่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น ซึ่งผ้าไหมหนึ่งผืน 2 เมตร ใช้เวลาทอ 4-5 วัน ถ้าเป็นผ้ายกขิดใช้เวลานานเป็นเดือน รายได้ก็มีตั้งแต่หนึ่ง 2,000 – 20,000 บาทตามความยากง่ายของลาย 

        ฟากผู้ประกอบการผ้าไทยตลาดผ้านาข่า ศูนย์รวมผ้าทอจาก 20 อำเภอในอุดรธานี และทั่วทุกภาคของเมืองไทย นายเฉลิมชัย ไชยวงศ์ อดีตประธานเครือข่ายโอทอปอุดรธานี กล่าวปิดท้ายว่า การส่งเสริมให้คนอุดรฯ ใส่ผ้าไทยทุกวันของผู้ว่าราชการจังหวัดส่งผลดีต่อชาวบ้านที่ทอผ้า เพราะเขาจะมีงานทำเพิ่มขึ้น เท่ากับช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ต้องขอขอบคุณภาครัฐที่ส่งเสริมที่ทุกคนมาสวมใส่ผ้าพื้นเมือง อย่างน้อยๆ ก็ช่วยชาวบ้านให้มีเงินหมุนเวียน ในฐานะผู้ผลิตก็จะปรับดีไซน์ให้เข้ากับความต้องการของคนใส่รุ่นใหม่ ตามแนวทางใส่ผ้าไทยแล้วสวยงาม ไม่ล้าสมัย เป็นการส่งเสริมผ้าทอไทย อุดหนุนสินค้าไทยและชาวบ้านจะได้มีอาชีพยั่งยืนสืบต่อไป