คดีรักที่โทษถึงตาย กรณี “พระสุริยภักดี” กับ “เจ้าจอมอิ่ม” สมัยร.3 สู่นิยาย “เรือนแรม”

จิตรกรรม หนุ่ม สาว เกี้ยวพาราสี
ภาพประกอบเนื้อหา - ฉากเกี้ยวพาราสีในจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดวัง จังหวัดพัทลุง เขียนขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4

คดีรักที่โทษถึงตาย กรณี “พระสุริยภักดี” กับ “เจ้าจอมอิ่ม” สมัยรัชกาลที่ 3 สู่นิยาย “เรือนแรม”

ตามประวัติเล่าว่า พระสุริยภักดี (สนิท บุนนาค) เป็นบุตรของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต) กับ เจ้าคุณหญิงน้อยเอกภรรยา (ธิดาของพระยาสมบัติยาธิบาล กับ คุณหญิงม่วง ชูโต)

พระสุริยภักดีเกิดในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2355 และเข้ารับราชการในรัชกาลที่ 3 เป็นนายเล่ห์อาวุธ หุ้มแพรมหาดเล็ก แล้วเป็นจมื่นประทานมณเฑียร ปลัดกรมพระตำรวจ ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระสุริยภักดี เจ้ากรมพระตำรวจ ถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2381 อายุ 26 ปี

ในหนังสือมหามุขมาตยานุกูลวงศ์ เล่ม 1 รัตนโกสินทร์ศก 124 เล่าว่า คุณสนิท (พระสุริยภักดี) อ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้ เพราะบิดามารดาหวงแหนไม่ส่งให้ไปเรียนหนังสือที่วัดเกรงบุตรจะโดนอาจารย์ตีได้รับความลำบาก

คุณสนิทมีความสามารถทำบัญชีรายงานราชการอ่านถวายในท้องพระโรงได้เสมอ ใช้วิธีเขียนจุดๆ วงๆ กาๆ แต่พอสัญญาความหมายจำได้ ข้างขึ้นเขียนเป็นวงพระจันทร์แหว่งหงาย ข้างแรมก็เขียนวงพระจันทร์แหว่งคว่ำ จำนวนวันก็เขียนจุดๆ นับตามจุดมากและน้อย

ของสิ่งใดก็เขียนรูปร่างคล้ายกับของสิ่งนั้นทุกอย่าง สังเกตได้ไม่หลงลืม สติปัญญาทรงจำดีหาที่เปรียบมิได้ พระสุริยภักดีเป็นที่ยำเยงเกรงกลัวของข้าราชการ นั่งคานหามเปลญวนถักไหมคนหาม 2 คน กั้นร่มผ้าขี้ผึ้งแพรแดง ไปมาทางน้ำนั่งเรือสำปั้นเก๋งพั้ง ฝีพายเต็มลำ 15 คน

ส่วนในเชิงกวีนั้นก็ปรากฏว่าพระสุริยภักดีเป็นผู้มีฝีมือผู้หนึ่ง ดังปรากฏว่า ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระสุริยภักดี มักเล่นสักวากับเจ้านายฝ่ายหน้าและเพื่อนขุนนาง ประกอบด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระองค์เจ้านวม (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท) พระองค์เจ้าทินกร (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์)

และอีกท่านหนึ่งคือ หลวงนายสิทธิ (ช่วง) [8] (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) บุตรชายใหญ่ของเจ้าพระยาพระคลัง (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ในรัชกาลที่ 4) รวมถึง คุณพุ่ม กวีคนสำคัญอีกด้วย ซึ่งหลักฐานในเชิงกวีของพระสุริยภักดีก็ได้แก่เพลงยาวสามชาย [9] นั่นเอง

พระสุริยภักดี มีบุตรธิดากับคุณศรี 3 คน และมีบุตรธิดากับภรรยาอื่น 11 คน ท่านมีธิดาเป็นส่วนใหญ่ ธิดาท่านหนึ่งชื่อ สุด เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 4 ธิดาชื่อ เดิม เป็นคุณหญิงของพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง ต้นสกุล แสง-ชูโต) และเป็นมารดาของ จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ธิดาอีกท่านหนึ่งชื่อ เขียน เป็นภรรยาของนายสนิทยศสถาน (พร้อม จาตุรงคกุล)

คุณเขียนผู้นี้ได้เป็นผู้ดูแลคุณสุวรรณ ในวาระสุดท้ายของชีวิต (คุณสุวรรณเป็นธิดาของพระยาอุไทยธรรม (กลาง ณ บางช้าง) กับคุณหญิงน่วม (สกุลเดิม วสุธาร) เป็นผู้ประพันธ์บทละครเรื่องพระมะเหลเถไถ และบทละครเรื่องอุณรุทร้อยเรื่อง) ดังปรากฏใน “ข่าวตาย” ของคุณสุวรรณที่ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 3 นำเบอร์ 25 วันอาทิตย์ เดือน 5 แรม 8 ค่ำ ปีชวดอัฐศก 1238 แผ่นที่ 4 ความว่า

“…ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเดจพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ป่วยเปนพิกลจริตออกนอกราชการได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดอยู่ปีละห้าตำลึง คุณเขียนหลานสาว [10] รับออกไปไว้ที่บ้าน ครั้น ณ วันอาทิตย เดือนสี่ แรมสามค่ำ ปีกุนสัปตศก เวลายามเสศไปนอน ครั้นเวลาสามยามได้ยินเสียงคราง คุณเขียนจึงไปร้องเรียกก็ไม่มีสติ ถึงเวลา 10 ทุ่มเสศถึงอนิตยกรรม อายุได้ 67 ปี พระราชทานหีบทองทึบให้ใส่ศพเปนเกียรติยศ ฯ”

นอกจากนี้พระสุริยภักดียังมีบุตรชายทั้งสิ้น 5 คน เกิดจาก คุณศรี ณ บางช้าง เอกภรรยา 1 คน คือ คุณแดง (ถือเป็นสายตรง เพราะเกิดจากเอกภรรยา) เกิดจาก คุณเอี่ยม 1 คน คือ คุณฝรั่ง [11] แต่ทั้ง 2 ท่านนี้ เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก และก็มีบุตรชายที่เสียชีวิตตั้งแต่เกิดอีก 2 คน เหลือแต่ที่เกิดจาก คุณมอญ ชูโต คือ นายอ๋อย มหาดเล็ก ซึ่งแต่งงานกับ คุณจีน พี่สาวต่างมารดา และมีลูกสาวเพียงคนเดียวเท่านั้น

เจ้าจอมอิ่ม

พระสุริยภักดีผู้นี้ ภายหลังเมื่ออายุได้ราว 26-27 ปี (ขณะนั้นได้สมรสกับคุณศรีแล้ว) ได้ลอบส่งเพลงยาวให้กับ เจ้าจอมอิ่ม ในรัชกาลที่ 3 จนเกิดเป็นคดีความขึ้น

เจ้าจอมอิ่มนี้เป็นธิดาของพระยามหาเทพ (ทองปาน) มีพี่ชายคือ พระพิทักษ์ยุทธภัณฑ์ (เทศ) ต้นสกุล ปาณิกบุตร พระยามหาเทพผู้นี้ก็เป็นคนเดียวกับที่ถูกพาดพิงในบัตรสนเท่ห์ที่เรียกว่าเพลงยาวว่าพระมหาเทพ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผลงานของพระมหามนตรี (ทรัพย์) ผู้แต่งบทละครเรื่องระเด่นลันไดนั่นเอง

เหตุการณ์การลอบส่งเพลงยาวนี้เอง ที่กลายเป็น “คดีดัง” ใน พ.ศ. 2381 [12] สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นข่าวดังที่โจษกันไปทั่วทั้งพระนคร มีบันทึกอยู่ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ความว่า

“ครั้นมาถึงเดือน 8 อ้ายพลายอีทรัพย์ ทาสพระสุริยภักดี บุตรพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษาธิบดี ทำเรื่องราวมายื่นต่อเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ว่า พระสุริยภักดีรักใคร่กับเจ้าจอมอิ่ม บุตรพระมหาเทพ (ปาน) พระสุริยภักดีให้อีทรัพย์กับอีหนูทาสคน 1 เข้าไปพูดจาแพะโลมเจ้าจอมอิ่ม ๆ ก็ยอมว่าจะไม่ทำราชการแล้ว จะคิดเดินออกไปอยู่กับบิดาเสียก่อน แล้วจึ่งให้ไปสู่ขอต่อภายหลัง

เจ้าจอมอิ่มกับพระสุริยภักดีก็รักใคร่ให้ข้าวของกัน พระสำราญราชหฤทัยอาวนั้นรู้เห็นเป็นใจด้วยจะช่วยสู่ขอต่อพระมหาเทพให้

ครั้นความกราบทูลทราบแล้วโปรดให้กรมหลวงรักษรณเรศรเป็นตุลาการชำระ พิจารณาก็ได้ความจริง ว่าเป็นแต่ให้หนังสือเพลงยาวและข้าวของเท่านั้น หญิงกับชายไม่ได้พบพูดจากันที่ใดตำบลใด จึงโปรดให้ลูกขุนปรึกษาโทษ

ลูกขุนเชิญบทพระกฤษฎีกาปรึกษาโทษว่า

ชายใดบังอาจสมัครรักด้วยนางใน ก็ให้ประหารชีวิตเสียทั้งชายหญิง พระสำราญราชหฤทัยอาว [13] เป็นพนักงานกรมวัง การทั้งนี้ก็เป็นในพระราชฐานรู้แล้วก็นิ่งเสีย กลับเข้าด้วยคนผิด ต้องประหารชีวิตเสียด้วย

ยายน้อยของอิ่มคน 1 กับอีหนูทาสพระสุริยภักดีคน 1 เป็นคนชักสื่อ นายฟักนายอ่อนพี่เลี้ยงพระสุริยภักดีรู้ความแล้วก็นิ่งเสียมิได้ห้ามปราม เห็นชอบไปตามกัน หมอยังเป็นหมอดูและหมอเสน่ห์โกหกเที่ยวหากิน มาดูพระสุริยภักดีว่าคงได้การสำเร็จความปรารถนาก็มีความผิด ขอให้เอาคนทั้ง 8 ไปประหารชีวิตเสีย [14] แล้วริบราชบาทว์เป็นหลวงให้สิ้น อย่าให้ผู้ใดดูเยี่ยงอย่างต่อไป ก็โปรดให้เอาตามคำลูกขุนปรึกษา

ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน 9 ขึ้น 1 ค่ำ [15] ก็เอาคนโทษไปประหารชีวิตเสียที่สำเหร่ [16]”

การตัดสินของคณะลูกขุนข้างต้นสอดคล้องตามกฎมณเฑียรบาล ซึ่งกำหนดโทษไว้ว่า

“อนึ่ง ข้าเฝ้าทั้งปวงใช้หนังสือกาพย์ โคลงเข้าวัง สื่อชักคบค้ากำนัลสาวใช้ฝ่ายใน โทษถึงตาย อนึ่ง ข้าฝ่ายในคบผู้ชายหมู่นอกใช้หนังสือกาพย์โคลงไปมา โทษถึงตาย”

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าขยายความไปจากในพระราชพงศาวดารต่อไปอีก โดย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนเล่าไว้ในเรื่องโครงกระดูกในตู้ มีใจความว่า

“…เมื่อตุลาการนำความกราบบังคมทูลแล้ว ผู้ใหญ่เล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มีพระกระแสรับสั่งให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ซึ่งขณะนั้นเป็นพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดีขึ้นไปเฝ้าฯ แล้วมีพระราชดำรัสว่า คุณสุริยภักดีนั้นยังเป็นหนุ่มคะนอง ย่อมจะทำอะไรผิดพลาดไปโดยไม่รู้ผิดรู้ชอบ ตุลาการก็ได้กราบบังคมทูลขึ้นมาแล้วว่า คุณสุริยภักดีมิได้พบปะกับเจ้าจอมอิ่มเลย จึงมีพระกรุณาจะยกโทษให้

แต่เมื่อเรื่องราวอื้อฉาวมีโจทก์ฟ้องขึ้นมาเช่นนี้ จะทรงพระกรุณานิ่งเสียก็ไม่ได้ จึงทรงพระราชดำริเห็นว่า สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยควรจะขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นมา และทำทัณฑ์บนไว้ให้แก่คุณสุริยภักดี ก็จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษให้

แต่สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ท่านกราบบังคมทูลว่า ท่านเองเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย เมื่อบุตรของท่านเองทำผิดบทพระอัยการร้ายแรงถึงเพียงนั้น หากไม่ลงพระราชอาญาไปตามโทษานุโทษแล้ว ก็จะเสียหายแก่แผ่นดินยิ่งนัก เหมือนกับว่าถ้าเป็นบุตรของท่านแล้วย่อมจะทำอะไรทำได้ไม่เป็นผิด จึงขอพระราชทานให้ลงพระอาญาตามแต่ลูกขุนจะปรึกษาโทษเถิด

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดฯ ให้ลูกขุนปรึกษาโทษตามที่ท่านกราบบังคมทูล ลูกขุนเชิญบทพระกฤษฎีกาออกมาดูแล้ว ปรากฏในบทพระกฤษฎีกาว่า ชายใดบังอาจสมรักด้วยนางใน ก็ให้ประหารชีวิตเสียทั้งชายหญิง ส่วนผู้ที่รู้เห็นเป็นใจ ก็ให้ประหารชีวิตเสียด้วย

ลูกขุนที่กล่าวนี้คือ ลูกขุนศาลา เมื่อในขณะนั้นสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ท่านเป็นถึงตำแหน่งพระยาศรีพิพัฒน์ฯ ท่านก็ต้องอยู่ในคณะลูกขุนนั้นด้วย และเมื่อลูกขุนนำความกราบบังคมทูลแล้ว ก็โปรดฯ ให้เป็นไปตามคำลูกขุนปรึกษา คุณสุริยภักดี เจ้าจอมอิ่ม และคนที่เกี่ยวข้องอีก 7 คน ก็ถูกประหารชีวิตที่ตำบลสำเหร่

การที่สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยมิได้ยอมรับพระมหากรุณาธิคุณ ถึงแม้ว่าผู้ผิดจะเป็นบุตรคนใหญ่ของท่านเอง ซึ่งเกิดแต่ท่านผู้หญิง จึงเป็นการกระทำเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย เป็นเยี่ยงอย่างอันดีแก่คนในแผ่นดิน และเป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูลของท่านสืบมา คุณสุริยภักดีนั้นถึงจะตายด้วยโทษประหาร และตายแต่ยังเยาว์ก่อนอายุขัย ก็มิได้ตายเปล่า… [17]

คดีพระสุริยภักดีกับเจ้าจอมอิ่มนี้ ต่อมา ศรีฟ้า ลดาวัลย์ ได้นำมาตีความและเขียนเป็นนวนิยายชื่อดังคือเรื่อง “เรือนแรม”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


 

เชิงอรรถ :

[8] กล่าวกันว่า พระสุริยภักดี หรือคุณชายสนิท บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย อายุไล่เลี่ยกับคุณชายช่วง บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ทั้ง 2 ท่านเป็นผู้ฉลาดเฉลียวและหน้าตาคมสันด้วยกันทั้งคู่ ขณะที่คุณชายช่วงรับราชการได้เป็นถึงจมื่นไวยวรนารถ คุณชายสนิท ก็ได้เป็นจมื่นประทานมณเฑียร ปลัดกรมพระตำรวจ และได้เป็นพระสุริยภักดี เจ้ากรมตำรวจ ก่อนที่คุณชายช่วงจะได้เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ แต่บังเอิญมาเกิดเรื่องส่งเพลงยาวรักใคร่กันกับเจ้าจอมอิ่มจึงต้องพระราชอาญาถึงประหารชีวิตไปเสียก่อน

[9] ผู้สนใจโปรดอ่านเพิ่มเติมได้ใน “เพลงยาวสามชาย” พระบวรราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พระบวรราชนิพนธ์ เล่ม 2. (กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2545).

[10] ต่อมาคุณเขียนสมรสกับนายสนิทยศสถาน (พร้อม จาตุรงคกุล) มีบุตรธิดาคือ “เจ้าจอมมิ” ในรัชกาลที่ 5 พระศรีทิพโภชน์ (ใหญ่ จาตุรงคกุล) สังกัดกระทรวงเกษตราธิการ สมัยรัชกาลที่ 6

[11] คุณฝรั่งเป็นพี่น้องร่วมมารดากับคุณหญิงเดิม เอกภรรยาของพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง ต้นสกุล แสง-ชูโต) และเป็นมารดาของจอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)

[12] ขณะนั้นคุณสุวรรณมีอายุได้ 29 ปี

[13] หมายถึง พระสำราญราชหฤทัย (อ้าว)

[14] อย่างไรก็ตาม ใน จดหมายเหตุโหร ให้รายระเอียดว่าต้องโทษประหารชีวิตทั้งสิ้น 9 คน “ปีจอ จ.ศ. ๑๒๐๐ ณ วัน ๒ ๙ ค่ำ พระสุริยภักดี สำราญ กับ เจ้าจอมอิ่ม เปนโทษถึงประหารชีวิตร ๙ คน”

[15] ตรงกับวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2381

[16] พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค). (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2547), น. 76-77.

[17] คดีพระสุริยภักดีกับเจ้าจอมอิ่มนี้ ต่อมา ศรีฟ้า ลดาวัลย์ ได้นำมาตีความและเขียนเป็นนวนิยายชื่อดังคือเรื่อง “เรือนแรม”


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “รักที่ไม่คู่ควร : ร้อยรัดเรื่องรัก ใน ‘อุณรุทร้อยเรื่อง’ “ เขียนโดย อภิลักษณ์ เกษมผลกูล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2553 จัดย่อหน้าและเน้นคำใหม่โดยกองบก.ออนไลน์


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤษภาคม 2564