“จดหมายเหตุของพรเพชร” หนังสือที่พัฒนาจากวิทยานิพนธ์รางวัลระดับดีมาก

“My ‘W/ri[gh]t/E’ and My Land”: A Postcolonial Feminist Study on Grassroots’ Archives and Autobiography (1937-2004) จัดพิมพ์โดย มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ผศ.ดร. สินิทธ์ สิทธิรักษ์ ผู้เขียน จำนวน 288 หน้า ราคา 300 บาท

หนังสือที่พัฒนาจากวิทยานิพนธ์รางวัลระดับดีมากของสภาวิจัยแห่งชาติเล่มนี้ เกิดจากแรงบันดาลใจของผู้เขียนที่ได้มีโอกาสติดตาม สืบเสาะ ค้นหา เรื่องราวของ พรเพชร เหมือนศรี หญิงชาวนาจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งลุกขึ้นต่อสู้กับหน่วยงานรัฐเป็นเวลากว่า 40 ปี เพื่อความเป็นธรรมและสิทธิในที่ทำกิน เธอถูกลอบทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต เมื่อปี พ.ศ. 2547 หากได้ทิ้ง ‘จดหมายเหตุ’ ไว้หลายรูปแบบ ในที่นี้ได้เลือกเอกสารหลัก 5 ชุด เป็นแกนในการศึกษา คือ สมุดเรียนตัดเสื้อ สมุดบัญชีลูกค้า ไดอารี่ จดหมายร้องเรียน อัตชีวประวัติ (และเอกสารที่เกี่ยวข้อง) พร้อมทั้งดำเนินการสัมภาษณ์ครอบครัว ญาติมิตร ผู้ร่วมงาน และผู้มีชื่อปรากฏอยู่ในเอกสาร

จดหมายเหตุของพรเพชร–ที่เขียนบอกเล่าความทุกข์อันเกิดจากการกระทำของหน่วยราชการ (ซึ่งใช้อำนาจโดยมิชอบประกาศเขตทุ่งสาธารณะทับที่ทำกินของชาวบ้าน)– เปรียบประดุจอนุสาวรีย์ทางภูมิปัญญาของหญิงรากหญ้า ทว่าความรู้ชุดดังกล่าวนี้ แทบจะไม่เคยถูกศึกษาในแวดวงวิชาการสตรีนิยมไทยเลย (ทั้งยังถูกกดทับ) ด้วยวาทกรรม “ผู้หญิงกับการพัฒนา” ซึ่งเป็นวาระระดับโลกที่องค์การสหประชาชาติส่งผ่านมาสู่โลกที่สาม ทำให้รัฐไทยต้องผลิตความรู้ และสร้าง ‘ภาพตัวแทน’ ของผู้หญิงในสังคมไทยในรูปการเขียนแผนพัฒนา‘สตรี’ (ที่ถูก ‘ปิดฉลาก’ ว่า ‘โง่ จน เจ็บ’) โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของหญิงผู้เป็นเจ้าของเรื่อง

พลังของงานชิ้นนี้อยูที่ การใช้ ‘แว่น’ หรือกรอบแนวคิดสตรีนิยมสายหลังอาณานิคมมา ‘เลาะรื้อ’ อำนาจในการผลิตความรู้ และความสัมพันธ์กับ ‘เสียง’ที่(ถูกผลักให้หายไป)อยู่ชายขอบ ผสานกับวิธีวิทยาในแนวสตรีศึกษา ที่ ‘สนทนา’ กับจดหมายเหตุศึกษา (สองสาขาวิชาสำคัญที่หายาก และขาดแคลน ในวงวิชาการไทย) ในมิติที่ให้คุณค่ากับการค้นคว้า เรื่องเล่า(narratives) อัตชีวประวัติและเอกสารส่วนบุคคล ผ่านมรรควิธีที่เรียกว่า ‘revelatory reading’ หรือการอ่านเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งใส่ใจกับการพินิจพิจารณ์อันโยงใยไปสู่ความเข้าใจชุดใหม่ๆ ที่เป็นผลึกของกระบวนการ to think the unthought-of , to see the unseen and to hear the unheard voice ก่อนนำไปสู่กระบวนการ ‘อ่านใหม่’ ในมิติปรัชญาว่าด้วย การอ่านการเปลี่ยนผ่าน (reading becoming) การอ่าน‘ความเงียบ’ (reading ‘silence’) และการอ่านการฟัง (reading listening) เพื่อตอบโจทย์วิจัยที่ตั้งไว้ว่า “Can  the subaltern write? And how can we begin to read their writing?”

วางจำหน่ายที่ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (02 613-3890) และสั่งซื้อโดยตรงทางออนไลน์ในราคาพิเศษได้ที่ [email protected] หรือ โทร 095 516 2864