โรงเรียน “พณิชยการ” แห่งแรกของประเทศไทย

อาคารเรียนของ วิทยาลัยพณิชยการพระนคร มองจากมุมสูง

สถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนวิชาการค้าหรือแบบ “พณิชยการ” แห่งแรกของประเทศไทยคือ “วิทยาลัยพณิชยการพระนคร”

แต่เดิมนั้นวิทยาลัยพณิชยการพระนครเป็นโรงเรียนประถมศึกษาพิเศษภาษาอังกฤษ จัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองต่อแผนการศึกษาฉบับแรกที่ออกโดยกระทรวงธรรมการใน พ.ศ. ๒๔๔๑ คือให้มีการเรียนการสอนที่เรียกว่า “ศึกษาพิเศษ” หรือ “อาชีวะศึกษา” เป็นวิชาเฉพาะ เพื่อให้นักเรียนมีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จบออกมาแล้วสามารถประกอบอาชีพได้ วิชาที่เปิดสอน เช่น วิชาแพทย์ วิชารังวัด วิชาช่าง วิชาเพาะปลูก วิชาหัตถกรรม และวิชาการค้า เป็นต้น

สถานที่ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งโรงเรียนประถมศึกษาพิเศษภาษาอังกฤษวัดสัมพันธวงศ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓

ในส่วนของโรงเรียนพาณิชย์ หรือแต่เดิมก็คือโรงเรียนประถมศึกษาพิเศษวัดสัมพันธวงศ์เป็นโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ แล้วต่อมาจึงได้ปรับหลักสูตรเพิ่มวิชาเสมียญพนักงาน วิชาค้าขายและการบัญชี  อย่างไรก็ตามกว่าจะมาเป็นโรงเรียนพาณิชยการพระนครในทุกวันนี้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องระหกระเหเร่ร่อน โยกย้ายสถานที่และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่หลายครั้ง

พ.ศ. ๒๔๔๓ – กำเนิด “โรงเรียนประถมศึกษาพิเศษภาษาอังกฤษวัดสัมพันธวงศ์”
พ.ศ. ๒๔๔๕ – ชื่อโรงเรียนอังกฤษวัดมหาพฤฒาราม (มัธยม) ย้ายไปที่วัดมหาพฤฒาราม
พ.ศ. ๒๔๕๓ – เริ่มใช้ชื่อโรงเรียนพณิชยการเรียกว่า โรงเรียนพณิชยการวัดมหาพฤฒธาราม ในปีเดียวกันนี้ถือกำเนิดโรงเรียนในเครือคือ โรงเรียนพณิชยการวัดราชบูรณะ
พ.ศ. ๒๔๕๖ – โรงเรียนพณิชยการวัดราชบูรณะ ย้ายไปที่โรงเรียนเพาะช่าง
พ.ศ. ๒๔๕๙ – รวมโรงเรียนพณิชยการวัดราชบูรณะเข้ากับโรงเรียนพณิชยการวัดมหาพฤฒธาราม และย้ายไปที่วัดแก้วฟ้าล่าง เรียกว่า โรงเรียนพณิชยการวัดแก้วฟ้าล่าง”
พ.ศ. ๒๔๗๒ – เนื่องจากมีนักเรียนเข้าศึกษาเพิ่มมากขึ้น จึงไปอาศัยสถานที่วัดหัวลำโพง ในปีนี้ได้เปิดที่เรียนเพิ่มที่วัดสามพระยาและเรียกที่เปิดใหม่ว่า “โรงเรียนพณิชการวัดสามพระยา”
พ.ศ. ๒๔๗๖ – เปิดรับนักเรียนหญิง พร้อมกับเปิดสถานที่เรียนใหม่เรียกว่า “โรงเรียนพณิชยการเสาวภา”
พ.ศ. ๒๔๘๐ – ย้ายที่เรียนโรงเรียนพณิชยการวัดสามพระยาไปที่วัดเทวราชกุญชร

พ.ศ. ๒๔๘๓ – รวมโรงเรียนพณิชยการวัดแก้วฟ้าล่างกับโรงเรียนพณิชยการวัดสามพระยา เรียกว่า “โรงเรียนพณิชยการพระนคร”
พ.ศ. ๒๔๘๓ – ๒๔๙๑ ไปอาศัยที่เรียนที่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข ที่วังบูรพาภิรมณ์
พ.ศ. ๒๔๙๒ – มีสถานที่เป็นของตัวเองครั้งแรกที่วังกรมหลวงชุมพรฯ นางเลิ้ง
พ.ศ. ๒๕๑๑ – ๒๕๑๒ เปิดสอนแผนกวิชาบริหารธุรกิจระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ตั้งวิทยาลัยแยกออกจากโรงเรียนพณิชยการพระนคร แล้วรวมกันอีกครั้งระหว่าง “วิทยาลัยพณิชยการ” กับ “โรงเรียนพณิชยการพระนคร” เป็น “วิทยาลัยพณิชยการพระนคร”
๒๕๑๖ – โอนไปสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวะศึกษา และกลายเป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพณิชยการพระนครในปัจจุบัน

พระรูปปั้นกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หน้าวิทยาลัยพณิชยการพระนคร

จากความเป็นมาของโรงเรียนพณิชยการพระนครนี้ จะเห็นได้ว่าการเรียนการสอนแบบพาณิชย์ในเมืองไทยนั้นเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๕ หรือเมื่อกว่า 118 ปีที่แล้ว แต่ปฐมบทการกำเนิดของ “พณิชยการพระนคร” ต้องย้อนไปก่อนหน้านั้นอีก ๒ ปี

ในปัจจุบันพณิชยการพระนครมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย มีศิษย์หลายคนที่กลายมาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทางสังคม ไม่ว่าจะเป็น นายบุญชู โรจนเสถียร นายประชุม รัตนเพียร นายกำธร พันธุลาภ นายจินดา บุณยอาคม เป็นต้น

หมายเหตุ: ข้อมูลจากบทความ “พณิชยการพระนคร โรงเรียนพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทย” ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๓๓


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 24 กรกฎาคม 2561