ภาษาไทย (กลาง) ในภาษาอีสาน กับกรณีศึกษาคำ “อิ่ม” และ “ควาย”

ภาษาอีสาน เป็นภาษาที่มีความเป็นมาเป็นของตนเองโดยแนบแน่นมากับภาษาลาว มีตัวอักษร อักขรวิธี คำ และความหมายของคำเป็นของตัวเอง มีรูปแบบการเขียน การพูด การเล่า การร้อง การลำเป็นของตนเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รูปแบบการพูด การเล่า การร้อง การลำนั้น นับว่าแพร่หลายมากในห้วงเวลาที่คนอ่านออกเขียนได้มีจำนวนจำกัด การสื่อความหมาย การถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในหัวเมืองลาวเหล่านี้ก่อนที่ระบบการศึกษาแบบใหม่ของกรุงเทพฯ จะเข้ามานั้น ส่วนใหญ่จะสื่อความหมายกันทางปาก นั่นคือ การพูด การเล่า การร้อง การลำในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เล่านิทาน ตำนานประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ผญา นิทานก้อม เป็นต้น

ถายหลังการเข้าจัดการปกครองหัวเมืองลาวโดยกรุงเทพฯ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ระบบการศึกษาแบบใหม่ของกรุงเทพฯ เข้ามาเผยแพร่ในหัวเมืองเหล่านี้ การระบาดของภาษาตามแบบกรุงเทพฯ ดำเนินไปอย่างเข้มข้นพร้อมกับการขยายการศึกษาภาคบังคับ การขยายตัวของเส้นทางคมนาคมขนส่งและการขยายตัวของระบบสื่อสารมวลชน แม้ว่าจะมีความพยายามอย่างมากที่จะแทนที่ภาษาท้องถิ่นหัวเมืองลาวด้วยภาษาไทยกลาง แต่ความพยายามดังกล่าวก็ยังไม่บรรลุผลสมบูรณ์แบบ ความปนเประหว่างภาษาไทยกลางกับภาษาอีสานนั้นมีนัยะให้น่าศึกษาอยู่

ด้วยความจำกัดในด้านความรู้และด้านเวลาของผู้เขียน จึงขอนำเสนอลักษณะความปนเปหรือความเกี่ยวพันสัก 2 ลักษณะ

คนพูดภาษาอีสานทั่วไป ตำข้าวปุ้นด้วยครกมอง (ครกกระเดื่อง)

“บักลาอิ่มข้าวหลาม”

1. คำที่เขียนอย่างเดียวกัน อ่านออกเสียงอย่างเดียวกัน แต่มีความหมายทั้งที่เหมือนกันและต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น

คำว่า “อิ่ม” ในความหมายภาษาไทยกลาง หมายถึงการได้กระทำในสิ่งที่ต้องการทำอย่างเพียงพอ การได้ดูอย่างเพียงพอ การได้พูดอย่างเพียงพอ การได้ฟังอย่างเพียงพอ คือได้กระทำอย่างจุใจก็เรียกว่า “อิ่ม” เช่น กินจนอิ่ม ดูจนอิ่ม พูดจนอิ่ม ฟังจนอิ่ม เป็นความสมหวังตามสิ่งที่ต้องการอยากทำ มีความหมายในเชิงบวก

ส่วนคำว่า “อิ่ม” ในภาษาอีสานนั้น นอกจากจะมีความหมายอย่างเดียวกันกับภาษาไทยกลางแล้ว ยังมีความหมายที่ลึกลงไปกว่านั้นอีก คือมีความหมายยิ่งกว่าเบื่อหน่าย ยิ่งกสว่าเอือมระอา ยิ่งกว่าคำว่า “เซ็ง” เป็นความหมายในเชิงลบ

มีเรื่องเล่าของชาวอีสารอยู่เรื่องหนึ่ง คือเรื่อง “บักลาอิ่มข้าวหลาม” (บัก หมายถึง นาย เป็นคำนำหน้านามเพศชาย) หากจะพูดและหมายความตามภาษาไทยกลาง “นายลาอิ่มข้าวหลาม” จะต้องหมายความว่านายลารับประทานข้าวหลามมากจนอิ่ม และไม่อยากรับประทานข้าวหลามอีก แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

เรื่องมีอยู่ว่า

นายลาไปทำงานรับจ้างที่กรุงเทพฯ พอเก็บเงินได้บ้างเล็กน้อยก็เดินทางกลับบ้านโดยขบวนรถไฟ มาถึงสถานีรถไฟโคราช นายลารู้สึกหิวข้าวมาก จึงตัดสินใจซื้อข้าวหลามในขณะที่รถไฟกำลังเคลื่อนออกจากสถานีอย่างช้า ๆ นายลาไม่มีเงินย่อยจึงเอาธนบัตรใบละร้อยบาทซื้อ (เงินร้อยบาทในสมัยนั้นเป็นจำนวนที่สูงมาก) ปรากฏว่าคนขายข้าวหลามไม่ยอมเดินตามรถไฟเพื่อทอนเงินให้นายลา นายลาต้องซื้อข้าวหลามราคาท่อนละร้อยบาท ปรากฏว่านายลาไม่ยอมแตะต้องข้าวหลามนั้นเลย นายลากินข้าวหลามไม่ลง นายลาอิ่มข้าวหลามแม้เมื่อนายลากลับมาถึงบ้านนายลาก็ไม่ยอมกินข้าวหลามเลยตลอดชีวิตของนายลา เมื่อมีคนเรียกนายลากินข้าวหลามนายลาจะบอกปฏิเสธ พร้อมกับบอกว่า “อิ่ม”

คำว่าอิ่มตามความหมายของนายลานั้น มากกว่าเบื่อ มากกว่าแหนงหน่าย มากกว่าเอือมระอา มากกว่าเซ็ง ความรู้สึก “อิ่ม” ไม่เกิดเฉพาะกับอาหารหรือสิ่งของอื่น ๆ เท่านั้น แต่อาจจะเป็นความรู้สึกที่บุคคลมีต่อบุคคลก็ได้ เช่นสามีที่เจ้าชู้ ชอบมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่น นอกใจภรรยาอยู่เสมอก็อาจจะถูกภรรยา “อิ่ม” ได้เช่นเดียวกัน

“นายอำเภอหัวฆวยมาก” 

2. คำที่ออกเสียงเหมือนกัน แต่มีความหมายต่างกัน ซึ่งบางครั้งอาจจะทำให้การสื่อความหมายผิดชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ทำให้เรื่องของความกระด้างกระเดื่อง อวดดี จองหอง ไม่รู้ที่ต่ำที่สูง เช่น

คำว่า “ฆวย” คำที่ออกเสียงอย่างนี้ในภาษาอีสานมี 2 ความหมาย คือ

1) เป็นคำนาม หมายถึงกระบือที่เลี้ยงไว้ไถนา
2) เป็นคำกริยา หมายถึงสั่น, คลอน, สั่นคลอน เช่นหลักที่ตอกหรือฝังไม่แน่นสามารถโยกได้คลอนได้ ภาษาอีสานจะบอกว่าหลักนั้น “ฆวย” หรือฟันที่กำลังจะหลุดซึ่งเรียกว่าฟันโยก ภาษาอีสานก็เรียกว่าฟันฆวย

มีเรื่องเล่าว่า

ครั้งหนึ่งท่านนายอำเภอเดินทางไปตรวจราชการในหมู่บ้านชนบทอีสาน แต่เนื่องจากการคมนาคมไม่สะดวก หนทางเป็นหลุมบ่อมาก กำนันจึงให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเอาเกวียนเทียมโคเป็นพาหนะไปรับท่านนายอำเภอ ปรากฏว่าจากสภาพหนทางที่เป็นหลุมเป็นบ่อมาก ทำให้ท่านนายอำเภอนั่งหัวสั่นหัวคลอนมาตลอดทาง พอเดินทางมาถึงหมู่บ้าน กำนันก็รีบถามด้วยความเป็นห่วงท่านนายอำเภอว่า “การเดินทางแย่ เพราะนายอำเภอหัวฆวยมาก”

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ภาษาไทย (กลาง) ในภาษาอีสาน” เขียนโดย ชุมพล แนวจำปา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2533


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กรกฎาคม 2561