ตำนาน “ภาษีผักบุ้ง” และละครเสียดสีสังคมสมัยพระเจ้าเอกทัศ

ภาพประกอบข่าว - คณะละครชาวสยาม ภาพวาดลายเส้นจากรูปถ่าย โดย เอ. โบกูรต์

ข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวกับเรื่องภาษีผักบุ้งมีในหนังสือ ละครฟ้อนรำ พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อธิบายเหตุการณ์ละครกึ่งล้อเลียนสภาพสังคมที่มีปมเรื่อง “ภาษี” เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าเอกทัศ ในที่นี้จึงคัดมาลง พร้อมจัดย่อหน้าใหม่ ใจความดังนี้

“มีหนังสือพงศาวดารฉบับ 1 กล่าวว่า เมื่อในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์นั้น

นายสังข์ มหาดเล็กชาวบ้านคูจาม รับผูกภาษีผักบุ้ง แต่การเก็บภาษีผักบุ้งครั้งนั้น นายสังข์จะได้รับอนุญาตให้เก็บอย่างไรหาปรากฏในหนังสือไม่

ในหนังสือกล่าวแต่ว่านายสังข์กำเริบ ด้วยถือตัวว่าเป็นพี่เจ้าจอมฟัก พระสนมเอก และน้องสาวชื่อปานก็เป็นพระสนมอีกคน 1 จึงบังอาจตั้งข้อบังคับว่า ใครเก็บผักบุ้งขายต้องเอามาขายแก่เจ้าภาษีผู้เดียว ถ้าไปขายให้ผู้อื่นต้องปรับเป็นเงิน 20 บาท นายสังข์กดราคาซื้อผักบุ้งแต่ถูกๆ แล้วขายขึ้นราคาให้กลับไปจำหน่ายในท้องตลาด

ราษฎรที่เคยขายซื้อผักบุ้งมาแต่ก่อน ก็ได้ความเดือดร้อน มีราษฎรพากันไปร้องทุกข์ต่อข้าราชการผู้ใหญ่ก็ไม่มีใครนำความขึ้นกราบทูลฯ ด้วยนายสังข์อ้างว่า ทำภาษีเก็บเงินเข้าพระคลังหลวง

ครั้นอยู่มาสมเด็จพระเจ้าเอกทัศไม่ทรงสบาย บรรทมไม่หลับมาหลายวัน จึงมีรับสั่งให้หาละครเข้าไปเล่น จะทอดพระเนตรแก้รำคาญพระราชหฤทัย นายแทนกับนายมีเป็นตัวจำอวด ละครที่เข้าไปเล่นนั้น เล่นทำเป็นผู้ชายคน 1 เป็นผู้หญิงคน 1 ผูกมัดกันว่า จะเร่งเอาเงินค่าผูกคอ นายมีตัวจำอวดที่เป็นผู้หญิงจึงว่า ‘จะเอาเงินมาแต่ไหนจนจะตาย แต่เก็บผักบุ้งขายยังมีภาษี’ ว่าอย่างนี้ถึงสองหนสามหน สมเด็จพระเจ้าเอกทัศได้ทรงฟังก็หลากพระทัย จึงโปรดให้ไต่ถามจำอวดทั้ง 2 คนนั้น

ครั้นทรงทราบความตามที่เป็นมา ก็ทรงพระพิโรธ มีรับสั่งให้เสนาบดีชำระเงินคืนให้ราษฎร ส่วนตัวนายสังข์นั้น เดิมมีรับสั่งจะให้เอาไปประหารชีวิตเสีย ต่อมาค่อยคลายพิโรธจึงโปรดฯ ให้งดโทษประหารชีวิตไว้ ความที่ปรากฏในหนังสือพงศาวดารดังกล่าวมา”


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 เมษายน 2561