เผยแพร่ |
---|
หลังจากการปิดปรับปรุงมายาวนาน หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากรพร้อมแล้วที่จะเปิดต้อนรับทุกคนอีกครั้งกับนิทรรศการแรก “Extended Release” ศิลปิน : ปรัชญา พิณทอง, ภัณฑารักษ์ : กฤษฎา ดุษฎีวนิช
จากการปรับปรุงมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากรซึ่งตั้งอยู่ในกลุ่มอาคารอนุรักษ์ วังท่าพระ อันมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับการบูรณะให้กลับมาสมบูรณ์ด้วยความงดงามอีกครั้ง ซึ่งการบูรณะดังกล่าวนี้เป็นเสมือนการร่อนถอดเปลือกกาลเวลาของประวัติศาสตร์ออกทีละชั้น เพื่อเผยให้เห็นสิ่งที่ซ่อนแฝงอยู่อย่างมีนัยสำคัญ
ในนิทรรศการแรกนี้ หอศิลป์ได้เชื้อเชิญศิลปิน ปรัชญา พิณทอง เข้ามาร่วมปฏิสังสรรค์กับพื้นที่ในระหว่างกระบวนการปรับปรุงอาคารในระยะสุดท้าย เพื่อให้เกิดบทสนทนาร่วมกับพื้นที่โดยตรงผ่านความคิดอ่านทางศิลปะร่วมสมัย ซึ่งพาเรื่องราวไปสู่ประวัติศาสตร์ไทยที่พาดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โลกและเรื่องราวอื่นๆ ที่รอผู้ชมมาค้นหา และตีความอย่างเสรี
นิทรรศการ Extended Release คือการนำเสนอการขุดค้นเพื่อปลดปล่อยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่มีสถานการณ์และพื้นที่จำเพาะเพื่อหา “ร่อง” เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่อยู่ในซอกหลืบทางความคิด เป็นสถานการณ์ร่วมระหว่างศิลปิน พื้นที่ เวลา และรวมถึงช่างผู้เป็นแรงงานในการบูรณะอาคารดังกล่าว ที่เข้าไปค้นหาร่องรอยของประวัติศาสตร์ที่ได้ทิ้งรอยประทับไว้ในวิธีคิดของผู้คน
ขอเรียนเชิญเป็นเกียรติในพิธีเปิดนิทรรศการ “Extended Release” ในวันศุกร์ที่ 19 มีนาคม 2564 เวลา 18.30 น. ณ ท้องพระโรง หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ นิทรรศการเปิดให้ชมตั้งแต่ 19 มีนาคม – 15 พฤษภาคม 2564 วันจันทร์ถึงเสาร์ 9.00 – 18.00 น. (ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ)
เกี่ยวกับศิลปิน ปรัชญา พิณทอง จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนไปศึกษาต่อด้านศิลปะยังสถาบัน Städelschule เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ปรัชญาเป็นศิลปินพำนักในประเทศต่างๆ และมีผลงานแสดงในนิทรรศการศิลปะทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมหกรรมศิลปะนานาชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น documenta ครั้งที่ 13 ประเทศเยอรมนี (2012) และ Biennale Lyon ครั้งที่ 14 ประเทศฝรั่งเศส (2017) และอื่นๆอีกมากมาย
กระบวนการทำงานของปรัชญาให้ความสนใจต่อการหาหรือสร้างสถานการณ์ที่จำเพาะเจาะจงไปยังเรื่องราวนั้นๆที่ส่งต่อไปยังวิธีคิดทางศิลปะของเขา โดยมีการเข้าไปสืบค้นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ หรือเรื่องราวบอกเล่าชายขอบที่ยังคงอยู่ในซอกหลืบของประวัติศาสตร์อยู่เสมอ ผลงานที่ผ่านมาของปรัชญาเเม้จะบางเบาในมิติทางกายภาพของวัตถุ หากเเต่ทรงพลังในเรื่องราวเเละกระบวนการที่ซ่อนอยู่
ปรัชญามีสายตาที่คมคายที่พยายามหารอยต่อหรือรอยแตกของเรื่องราวต่างๆ ที่พาดผ่านมากระทบสังคมทั้งในระดับมหภาคและระดับจุลภาค โดยสามารถสร้างชุดผลงานศิลปะที่นำเสนอวัตถุพยานต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจเเละเปิดกว้างในเสรีภาพของการตีความเรื่องราวต่างๆ ที่มิได้บีบรัดทัศนคติของผู้ชม แต่กลับสร้างบทสนทนาระหว่างศิลปิน ผู้ชม และสังคม