ผู้เขียน | จันทรรัตน์ คงทัพ |
---|---|
เผยแพร่ |
โดยปกติทั่วไปแล้วตัวละครเอกของเรื่องในงานวรรณกรรมที่เป็นชนชั้นปกครองมักจะมีความสามารถด้านการรบคล่องแคล่วและการใช้ศาสตราวุธเป็นอย่างดี แต่วรรณคดีเรื่อง “พระอภัยมณี” กลับให้พระอภัยมณีตัวละครเอกมีความสามารถทางด้านดนตรี เชี่ยวชาญการเป่าปี่ โดยสามารถใช้เพลงปี่ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ต่างๆ เช่น การรบ, การทำศึกสงคราม, การเกี้ยวพาราสีให้สตรีหลงรัก เป็นต้น จะว่าไปแล้วการประพันธ์ให้ตัวละครมีความสามารถโดดเด่นด้านดนตรีก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าตัวละครที่มีความสามารถในด้านการรบเลย บางทีอาจจะพิเศษกว่าด้วยซ้ำ
ผู้แต่งนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีคือ สุนทรภู่ หรือพระสุนทรโวหาร มีความยาวถึง 94 เล่มสมุดไทย ภายหลังเมื่อการพิมพ์ได้เข้ามาในประเทศไทย สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2413 โดยหมอแซมมวล จอห์น สมิท(Samuel John Smith) การตีพิมพ์พระอภัยมณีนี้สร้างรายได้มหาศาลให้แก่หมอสมิททำให้สามารถสร้างตึกทั้งหลังได้ทีเดียว
เมื่อพิเคราะห์ดูความสามารถในวิชาปี่ที่ทำได้สารพัดนึกเช่นนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นเพียงเรื่องเล่าในจินตนาการเท่านั้น การเป่าปี่เสมือนมีเวทมนตร์สะกดให้เป็นได้ดังใจหมายเช่นพระอภัยในชีวิตจริงนั้นดูเป็นเรื่องทิ่เหลือวิสัย
แต่ถ้าจะหาผู้มีความสามารถในทางปี่มือฉมังไม่ด้อยไปกว่าพระอภัยมณี หากตัดเรื่องคุณวิเศษพิสดารออกไปเห็นจะเป็นเรื่องที่ไม่เกินจริงเท่าไหร่นัก เพราะคนมีฝีมือในวิชาปี่ขั้นปรมาจารย์ชนิดที่ว่าหาใครเปรียบได้ยากนั้นมีอยู่จริงชื่อเสียงของเขาเป็นที่โจษจันไปทั่ว ในแวดวงดนตรีไทยคงไม่มีใครไม่รู้จัก “ครูมีแขก” หรือ พระประดิษฐไพเราะ นั่นเอง
ครูมีแขกเกิดปลายสมัยรัชกาลที่ 1 เริ่มมาเป็นครูดนตรีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ครั้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เข้ารับราชการเป็นครูปี่พาทย์ในวงปี่พาทย์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อมาท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงประดิษฐไพเราะ” เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2396 ตำแหน่งจางวางมหาดเล็ก กรมปี่พาทย์ฝ่ายบรมมหาราชวัง ในปีเดียวกันนั้นเองได้แต่งเพลงเชิดจีนถวาย จึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระประดิษฐไพเราะ”
ท่านสันทัดทั้งมโหรีและปี่พาทย์ในส่วนของเครื่องดนตรีนั้น สามารถบรรเลงได้ทุกชิ้นแต่ที่ถนัดที่สุดคือ ปี่กับซอสามสาย สมเด็จกรมกรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยกล่าวถึงครูมีแขกในสาส์นสมเด็จไว้ด้วยว่ามีครั้งหนึ่งกรมหลวงประจักษ์ตรัสเรียกให้ท่านไปหาที่หน้าหอแล้วขอยืมซอสามสายท่านมาลองสี ท่านเห็นแล้วก็แสดงท่าทีไม่พอใจและออกปากไปว่าถ้าทรงสีอย่างนั้นก็ไฟลุก
ชื่อของครูมีแขกยังปรากฏในบทไหว้ครูปี่พาทย์เสภา ของครูแจ้ง คล้ายสีทอง ดังนี้
ทีนี้จะไหว้ครูปี่พาทย์ ระนาดฆ้องลือดีปี่ไฉน
ครูแก้วครูพักเป็นหลักชัย ครูทองอินนั่นแลใครไม่เทียมทัน
มือก็ตอดหนอดหนักขยักขย่อน ตาพูนมอญมิใช่ชั่วตัวขยัน
ครูมีแขกคนนี้เขาดีครัน เป่าทยอยลอยลั่นบรรเลงลือ [เน้นโดยผู้เขียน]
วรรคที่ว่า เป่าทยอยลอยลั่นบรรเลงลือ นั้นหมายถึงเพลง “ทยอยเดี่ยว” เพลงนี้ท่านได้แต่งขึ้นเพื่อแสดงฝีมือปี่โดยเฉพาะ เพลงทยอยเดี่ยวนี้เองได้สร้างชื่อเสียงโด่งดังให้ท่านอย่างมาก ถึงกลับมีการตั้ง “ค่าครู” ไว้สูงถึง 100 บาท ในขณะที่ทองคำสมัยนั้นมีราคา 12 บาท หากคำนวณดูแล้วก็จะพบว่าเพลงปี่ของท่านนั้นมีราคาสูงกว่าทองคำถึง 10 เท่าเลยทีเดียว
ถ้าจะลองพิจารณาเปรียบเทียบกันระหว่างคุณของวิชาดนตรีในวรรณคดี และชีวิตจริง วิชาปี่ของพระอภัยมณีที่สุนทรภู่แต่งขึ้นให้คุณในเรื่องของการช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ในขณะที่วิชาปี่ของครูมีแขกให้ผลตอบแทนเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ
เนื่องจากสุนทรภู่และครูมีแขกเป็นบุคคลที่ร่วมสมัยกัน นอกจากนี้สุนทรภู่เคยได้รับราชการในสำนักพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวร่วมกับครูมีแขก จึงข้อสันนิษฐานว่า นี้ว่าเพราะตัวละครอย่าง “พระอภัยมณี” เป็นแรงบันดาลใจให้ครูมีแขกแต่งเพลง ทยอยเดี่ยว
แต่ในทางกลับกันก็อาจคิดได้เช่นกันว่า สุนทรภู่นำเอาความสามารถของครูมีแขกมาใส่ในตัวพระอภัยมณี โดยเพิ่มคุณวิเศษอื่นเพิ่มเข้าไปตามจินตนาการ เสริมให้ตัวละครมีความพิเศษเหนือคนธรรมดาเพราะมีบทประพันธ์ตอนหนึ่งที่ทำให้อดคิดถึงค่าครูเพลงทยอยเดี่ยวที่มีค่าสูงมากไม่ได้ เมื่อพระอภัยมณีอธิบายถึงประโยชน์ของการเรียนวิชาดนตรีว่า
…………………………………. ……………………………………..
อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์ [เน้นโดยผู้เขียน]
ถึงมนุษย์ครุฑาเทวาราช จัตุบาทกลางป่าพนาสิน
แม้นปี่เราเป่าให้ได้ยิน ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา
ให้ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ อันลัทธิดนตรีหนักหนา
ซึ่งสงสัยไม่สิ้นในวิญญาณ์ จงนิทราเถิดจะเป่าให้เจ้าฟัง
จะว่าไปแล้วในสองประเด็นนี้มีความเชื่อมโยงกันอยู่ สำหรับตัวผู้เขียนเองมีความเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่พระสุนทรโวหารและพระประดิษฐไพเราะต่างก็เป็นแรงบันดาลใจให้กันและกัน ไม่ใช่การที่คนใดคนหนึ่งยึดอีกคนหนึ่งเป็นไอดอลแต่เพียงฝ่ายเดียว
ที่มา :
ถาวร สิกขโกศล. “ตำนานสำนักดนตรีไทยจากเจ้าพระยาพระคลัง(หน)-สุนทรภู่ถึงสำนักเสนาะดุริยางค์”, ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2550
สุกรี เจริญสุข. “ครูมีแขกเป็นใคร”, อนุสาวรีย์ครูมีแขกนักดนตรีที่โลกลืม, พิมพ์โดยวิิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 22 มกราคม 2562