ผู้เขียน | ปิยนันท์ จำปีพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
หลังการพ่ายแพ้ของจักรพรรดินโปเลียน (Napoleon) ต่อกองทัพพันธมิตร (นำโดย อังกฤษ, ออสเตรีย, ปรัสเซีย และรัสเซีย) ในสมรภูมิไลป์ซิก (Battle of Leipzig) หรือสมรภูมิแห่งชาติ (Battle of Nations) ช่วงปี ค.ศ. 1813 ยาวมาถึง ค.ศ. 1814 ฝ่ายพันธมิตรเข้าล้อมปารีสไว้ได้
ในการพิจารณาปัญหาสงครามนโปเลียน ฝ่ายพันธมิตรได้จัดการประชุมขึ้นที่เวียนนา (Congress of Vienna) ในประเทศออสเตรีย โดยมีจุดประสงค์ของการประชุมเพื่อจัดการปัญหารฝรั่งเศสที่นโปเลียนสร้างไว้ และที่สำคัญคือขจัดแนวคิดเสรีนิยมหรือสาธารณรัฐนิบมที่นโปเลียนได้นำไปเผยแพร่ไว้ ณ ประเทศที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของนโปเลียน ซึ่งขัดกับระเบียบโลกแบบมีกษัตริย์ปกครองในประเทศพันธมิตร เพื่อรักษาระเบียบโลกแบบอนุรักษ์นิยมที่พวกประเทศพันธมิตรยึดถือไว้ และเชื่อว่าเป็นรูปแบบที่นำไปสู่สันติภาพของโลกที่แท้จริง
นโปเลียนจำต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาฟองเตนโบล (Treaty of Fontainebleau) ที่มีต้นสายมาจากสนธิสัญญาโชมองต์ (Treaty of Chaumont) ที่ทำให้นโปเลียนต้องสละพื้นที่การยึดครอง ทั้งยังสละราชสมบัติและถูกเนรเทศไปอยู่เกาะเอลบา พร้อมกับองครักษ์หรือผู้ติดตามไม่เกิน 1,000 ราย และฝ่ายพันธมิตรก็จัดการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง (Bourbon Restoration) ที่ถูกโค่นล้มไปหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งบูร์บงเข้ามาปกครองฝรั่งเศส
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1815 นโปเลียนได้หนีออกจากเกาะเอลบากลับสู่ฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่ทางเรือ ด้วยความที่นโปเลียนเป็นที่รักของชาวฝรั่งเศสและทหารฝรั่งเศส ทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ที่ครองราชย์อยู่ ก็ได้หนีออกนอกฝรั่งเศส และนโปเลียนได้ที่รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายก็ได้กลับมาเป็นจักรพรรดิของฝรั่งเศส
การกลับมาเป็นจักรพรรดิของฝรั่งเศสเป็นที่น่ากังวลของฝ่ายพันธมิตรมากเพราะนโปเลียนเคยก่อสงครามที่สั่นสะเทือนไปทั้งยุโรป และได้สั่นคลอนระเบียบโลกเดิมที่ประเทศฝ่ายพันธมิตรถือไว้เป็นหลักหมายสำคัญ หากนโปเลียนกลับเข้ามามีอำนาจอีก ทำให้การประชุมที่เวียนนาต้องชะงักลง และหันหน้ากลับสู่ความขัดแย้งกับฝรั่งเศส และฝ่ายพันธมิตรจึงมีการร่วมมือกันทางทหารเพื่อต่อต้านอำนาจของฝรั่งเศสอีกครั้ง ฝ่ายอังกฤษนำโดย ดยุกแห่งเวลลิงตัน (Duke of Wellington) และปรัสเซียนำโดยฟอน บลึชเชอร์ (Von Blucher)
กองทัพฝรั่งเศสหรือกองทัพนโปเลียนได้เคลื่อนทัพเข้าสู่เบลเยียม เขามีแผนว่าการนำกองทัพเบลเยียมเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างกองทัพกับกองทัพปรัสเซีย แล้วนโปเลียนจะนำกองทัพของตนเองไปปราบทีละกองทัพ
ในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1815 กองทัพนโปเลียนได้เผชิญหน้ากับกองทัพอังกฤษภายใต้การนำของดยุกแห่งเวลลิงตัน ในวอเตอร์ลู (Waterloo) นโปเลียนได้มองเห็นกองทัพปรัสเซียอยู่ด้านไกล เขาคิดว่าจะเอาชนะกองทัพอังกฤษได้ก่อน แต่คืนก่อนหน้าได้เกิดฝนตกหนักจนเกิดน้ำขัง ทำให้กองทัพนโปเลียนเกิดความล่าช้าหลายอย่าง โดยเฉพาะในด้านปืนใหญ่ที่เป็นจุดเด่นของกองทัพนโปเลียนก็ต้องประสบกับความล่าช้ามากบนพื้นเปียกแฉะ นอกจากปัจจัยทางสภาพอากาศยังว่ากันว่านโปเลียนมีอาการป่วยในวันนั้น ความเจ็บป่วยนี้ของนโปเลียนอาจทำให้เกิดความล่าช้าในการตัดสินใจ
ความล่าช้าในการสู้รบกับอังกฤษทำให้กองทัพปรัสเซียที่นำโดยฟอน บรึชเชอร์ เดินทัพมาถึงในขณะที่กองทัพนโปเลียนกำลังสู้รบอยู่กับอังกฤษ ทำให้กองทัพฝรั่งเศสต้องเผชิญศึกสองด้านในคราวเดียว และเป็นเหตุให้กองทัพนโปเลียนต้องประสบกับความพ่ายแพ้ในที่สุด
หลังความพ่ายแพ้ในสมรภูมิวอเตอร์ลูของนโปเลียนถูกฝ่ายพันธมิตรเนรเทศไปที่เกาะเซนต์เฮเลนา (St. Helena Island) และนโปเลียนใช้เวลาทั้งชีวิตที่เหลืออยู่ที่นั่น ซึ่งเป็นเกาะทางภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกา ซึ่งอยู่ห่างไกลจากเกาะเอลบาที่เคยใช้เนรเทศนโปเลียนครั้งแรกมาก เพื่อให้ฝ่ายพันธมิตรมั่นใจว่านโปเลียนจะไม่เข้ามาสั่นคลอนระเบียบโลกของพวกเขาอีก และการประชุมที่เวียนนาก็ได้ดำเนินต่อไป โดยได้มีระเบียบโลกโดยมีระบบการประชุมเพื่อสันติภาพที่เรียกว่าความสมานฉันท์แห่งยุโรป (Concert of Europe) ซึ่งเป็นวิธีที่พวกอนุรักษ์นิยมให้ป้องกันสงครามและป้องกันลัทธิเสรีนิยมในยุโรป
แม้ว่านโปเลียนจะถูกส่งไปที่เกาะเซนต์เฮเลนาอันไกลโพ้น แต่สิ่งที่นโปเลียนได้ทิ้งไว้ในฝรั่งเศสและยุโรปคือลัทธิเสรีนิยม ทำให้แม้ว่านโปเลียนจะไม่อยู่ยุโรปแล้วแต่ก็เกิดการปฏิวัติในหลายประเทศในยุโรปตามมา จนระเบียบโลกแบบที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมยึดถือก็ค่อยๆ พังทลายลงไป
อ้างอิง :
“Battle of Waterloo.” History https://www.history.com/topics/british-history/battle-of-waterloo (accessed June 17, 2022).
Thierry, Lenz. “How did Napoleon manage to lose the Battle of Waterloo?” Napoleon.org https://www.napoleon.org/en/history-of-the-two-empires/articles/bullet-point-35-how-did-napoleon-manage-to-lose-the-battle-of-waterloo/ (accessed June 17, 2022).
อนันตชัย เลาหะพันธุ. ยุโรปสมัยใหม่ ค.ศ. 1492-1815. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์, 2554.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มิถุนายน 2565