8 มิถุนายน ค.ศ. 1949 วรรณกรรม “1984” ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก

วรรณกรรมเสียดสีการเมืองเรื่อง “1984” ถูกเขียนโดยนักเขียนชื่อดัง จอร์จ ออร์เวล (George Orwell) และถูกตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1949 โดยสำนักพิมพ์เซกเกอร์แอนวอร์บวร์ก (Secker & Warburg : ปัจจุบันคือ Harvill Secker) ในประเทศอังกฤษ เป็นสำนักพิมพ์ต่อต้านฟาสซิสต์และต่อต้านคอมมิวนิสต์

อุดมการณ์ของสำนักพิมพ์เซกเกอรแอนวอร์บวร์กตรงกับอุดมการณ์ของออร์เวลที่เคยผ่านประสบการณ์รบในสงครามกลางเมืองสเปน ในฝ่ายสาธารณรัฐที่โซเวียตสนับสนุน ในสงครามกลางเมืองสเปนนี้เขาได้เห็นถึงความเน่าเฟะของทั้งคอมมิวนิสต์และฟาสซิสต์ เขาจึงหันมามุ่งสนับสนุนสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสังคมนิยมสายกลาง ทั้งยังต่อต้านคอมมิวนิสต์และฟาสซิสต์

Advertisement
จอร์จ ออร์เวล ภาพถ่ายในปี 1943 (Public domain) (ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/George_Orwell)

ออร์เวลได้เข้ามาเขียนวรรณกรรมเสียดสีการเมืองหลายเรื่อง ทั้ง Burmese Day ที่เล่าประสบการณ์เมื่อครั้งที่ออร์เวลเป็นตำรวจประจำการอยู่ในพม่า, เรื่อง Animal Farm (เป็นวรรณกรรมเสียดสีการเมืองที่เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านดี ทั้งยังเป็นเรื่องที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แนะนำให้อ่าน)  และ 1984 ซึ่งเป็นนิยายการเมืองที่สามารถยกเป็นหนังสือเรียนได้

1984 เป็นวรรณกรรมนิยายประเภทดิสโทเปีย ซึ่งล้อกับสังคมในอุดมคติอย่างยูโทเปีย ของเซอร์ โธมัส มอร์ (Sir Thomas More) ก่อนจะมีชื่อ 1984 ออร์เวลได้ตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า “The Last Man in Europe” ซึ่งมีเป้าหมายในการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการปกครองของ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ที่ปกครองโซเวียตด้วยระบอบคอมมิวนิสต์และฟาสซิสต์ผสมกัน (แม้ว่ากุศโลบายของสตาลินจะเกลียดฟาสซิสต์มาก)

ในโลก 1984 แบ่งเป็น 3 รัฐ คือ 1. โอเชเนีย (Oceania) 2. ยูเรเชีย (Eurasia) 3. อีสเตเชีย (Eastasia) ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐทั้งบวกทั้งลบต่อกัน โอเชียเนียคือรัฐที่เป็นตัวแสดงหลักในเรื่องนี้ พี่เบิ้ม (Big Brother) เป็นผู้นำ และอิงซ็อก (Ingsoc) เป็นกลุ่มที่ปกครองประเทศ ซึ่งล้อเลียนกับพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต และ นาซีเยอรมัน และมีตัวละครหลักคือ วินสตัน สมิธ (Winston Smith) และจูเลีย (Julia) เป็นคนธรรมดาที่เริ่มท้าทายอำนาจของพี่เบิ้ม

แผนที่วิเคราะห์และสมมติพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์จาก 1984 (Public domain) (ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:1984_fictitious_world_map_v2_quad.svg)

จุดเด่นของวรรณกรรมเรื่องนี้คือการสอดแทรกวิธีการปกครองของรัฐโอเชเนียผ่านเครื่องมือต่างๆ ประกอบกับการใช้ความกลัวในการปกครอง มีเครื่องมือการปกครองหลายรูปแบบรวมไปถึงการล้างสมองโดยการใช้ภาษานิวสปีก ซึ่งเป็นเครื่องมือทางภาษาที่กำหนดกฎเกณฑ์และพฤติกรรมของคนในสังคมให้เป็นไปอย่างที่รัฐกำหนด ในระยะยาวภาษานี่น่าจะเข้ามาแทนที่ภาษาโอลด์สปีก (ภาษาอังกฤษเดิม) ซึ่งจะทำให้อาชญากรรมทางความคิด (Thoughtcrime) หรือการขบถต่อรัฐหายไป เพราะไม่มีคำไหนที่สื่อความหมายและนำพาจูงไปสู่งการต่อต้านอำนาจรัฐ เป็นการควบคุมประชาชนทางภาษาในรูปแบบหนึ่ง

ด้านการบริหารโอเชเนียนั้นมีการพูดถึงกระทรวงหลักๆ 4 กระทรวง คือ กระทรวงความจริง (ที่ทำงานของวินสตัน: ตัวเอกของเรื่องทำงานอยู่), กระทรวงความอุดมสมบูรณ์, กระทรวงสันติภาพ และกระทรวงความรัก ซึ่งทั้ง 4 กระทรวงนี้มีหน้าที่กระทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับชื่อกระทรวง คือกระทรวงความจริงมีหน้าที่สร้างเรื่องโกหกให้กลายเป็นความจริง, กระทรวงอุดมสมบูรณ์มีหน้าที่จัดสรรอาหารและทรัพยากรที่ขาดแคลนให้กับประชาชน, กระทรวงสันติภาพรับผิดชอบด้านสงคราม และกระทรวงความรักมีหน้าที่สร้างความเกลียดชังให้กับผู้ที่เห็นต่าง อิงซ็อกยังมีคำขวัญที่สะท้อนถึงการสร้างความจริงที่บิดเบี้ยวของพรรคคือ

“สงครามคือสันติภาพ (War is peace) อิสรภาพคือความเป็นทาส (Freedom is slavery) อวิชชาคือพลัง (Ignorance is strength)”

ในด้านเทคโนโลยีรัฐโอเชเนียเลือกใช้โทรภาพ (Telescreen) ติดตั้งไว้ในที่ต่างๆ  ซึ่งเป็นเทคโนโลยีคล้ายโทรทัศน์, กล้องวงจรปิด และเครื่องกระจายเสียง อยู่ในเครื่องเดียวกัน เป็นการจินตนาการของออร์เวลช่วงประมาณก่อน ค.ศ. 1949 ว่ารัฐเผด็จการจะมีเทคโนโลยีในการควบคุมประชาชนอย่างไร ทั้งยังมีใบติดที่มีดวงตาหรือหน้าพี่เบิ้มมองมาประกอบกับคำว่า “พี่เบิ้มกำลังจับตามองคุณ” (Big Brother is watching to you) อยู่บนผนังทั่วเมือง เป็นการควบคุมกดดันชาวโอเชเนียทั้งในทางเทคโนโลยีและสัญลักษณ์ ในส่วนนี้ออร์เวลพยายามเสียดสีลัทธิบูชาตัวบุคคลของสตาลิน โดยพี่เบิ้มก็คือสตาลินนั่นเอง เพราะชาวโอเชเนียเชื่อว่าพวกเขามีความสุขเพราะพี่เบิ้ม ทั้งๆ ที่การใช้ชีวิตก็อดอยากเหมือนเดิม

ภาพสมมติ ใบติดที่มีดวงตาเหมือนกำลังจ้องมองพร้อมคำว่า “พี่เบิ้มกำลังจับตามองคุณ” จาก 1984

ตามเนื้อเรื่องวินสตันและจูเลียคิดต่อต้านหรือพยายามใช้ชีวิตนอกแบบที่พี่เบิ้มกำหนด เท่ากับพวกเขาได้เป็นอาชญากรทางความคิด ตำรวจความคิดก็ได้ทำหน้าที่ทำให้วินสตันกลับเข้ามาในระบบไม่ว่าจะเป็นวิธีใด สุดท้ายวินสตันก็ต้องกลับเข้ามาตามระบบที่รัฐพี่เบิ้มอยากให้เป็น ในด้านตำรวจความคิดนี้ออร์เวลตั้งใจเสียดสีตำรวจลับของทั้งโซเวียตและเกสตาโปของเยอรมันที่ทำหน้าที่กวาดล้างผู้เห็นต่าง และนำตัวไปทำโทษด้วยวิธีต่างๆ ทั้งการประจานต่อหน้าสาธารณชน, ส่งเข้าค่ายแรงงานไปจนถึงการประหารชีวิตสาธารณชน เป็นต้น

วรรณกรรมเรื่องนี้ไม่เพียงแต่เป็นการเสียดสีการเมืองในระบอบฟาสซิสต์เท่านั้น แต่ยังสะท้อนอำนาจในการนิยามหรือการกำหนดความจริง หรือจะภาษากับการกำหนดความจริง วรรณกรรมเรื่องนี้พยายามเล่นกับความจริงที่ถูกสร้างขึ้นด้วยอำนาจหลายอย่าง แม้ว่าหากมองด้วยเหตุและผลจากภายนอกเราจะสามารถรู้ได้ทันทีเลยว่านี่คือ “เรื่องเท็จ” แต่หากเราเป็นชาวโอเชเนียที่ถูกอำนาจของพี่เบิ้มกดทับ หรือสภาพแวดล้อมที่มีการจับผิดล่าแม่มดอยู่ตลอดเวลา อาจทำให้เรามองว่าเรื่องเท็จเรื่องนั้นเป็น “เรื่องจริง” อย่างไม่ต้องตั้งคำถาม

แม้ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้จะมีอายุกว่า 73 ปีแล้ว แต่วรรณกรรมเรื่องที่ไม่เคยล้าสมัย เหตุการณ์หลายๆ เหตุการณ์สามารถอธิบายได้ด้วยนิยายเรื่องนี้ เช่น การใช้ความรุนแรงของเยาวชนแดงในจีน หรือเรดการ์ด ก็สามารถใช้วรรณกรรมเรื่องนี้อธิบายการบูชาผู้นำของพวกเขา และความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็เป็นเหมือนลูกของครอบครัวพาร์สันที่ถูกรัฐปลูกฝังให้ใช้ความรุนแรงกับ “อาชญากรทางความคิด” จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม 1984 ได้ขึ้นเป็นหนึ่งในวรรณกรรมที่ดีที่สุดในโลก

 


อ้างอิง :

จอร์จ ออร์เวล. 1984 (หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่). แปลโดย รัศมี เผ่าเหลืองทอง, และ ปฏิพทธ์เผ่าพงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ: สมมติ, 2563.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มิถุนายน 2565