๒๓๔ ปี ชาตกาลกวีเอก “ภู่” ผู้ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา (๒๖ มิถุนายน ๒๓๒๙ – ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๓)

หุ่นขี้ผึ้งสุนทรภู่ ที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐม

เนื่องจาก วันที่ ๒๖ มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันสำคัญวันหนึ่งซึ่งเราจะไม่พูดถึงบุคคลสำคัญคนนี้ไม่ได้เลย คือ สุนทรภู่ กวีสี่แผ่นดิน

สุนทรภู่เกิดหลังจากสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ได้ ๔ ปี ที่บริเวณวังหลัง ฝั่งธนบุรี ย่านบางกอกน้อย สมัยเด็กๆ เรียนหนังสืออยู่ที่วัดศรีสุดาราม (แต่เดิมเรียกว่า วัดชีปะขาว) เมื่อวัยเพียง ๒๐ ปี ได้แต่งนิทานคำกลอนเรื่องแรก คือ โคบุตร ต่อมาไม่นานก็แต่งนิราศเมืองแกลง จนมีชื่อเสียงเป็นที่เล่าลือกันไปทั่ว

ด้วยความสามารถของสุนทรภู่ทำให้ท่านได้โอกาสในทำงานและเจริญก้าวหน้าในการงาน คือในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็น ขุนสุนทรโวหาร และเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ได้เลื่อนขึ้นเป็น พระสุนทรโวหาร (ภู่)

สุนทรภู่ เป็นผู้มีฝีมือในการประพันธ์ที่มีความแพรวพราวลื่นไหลดุจสายน้ำ ซึ่งทำให้สุนทรภู่ได้ชื่อว่าเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของไทย และถือเป็นคนไทยที่เป็นสามัญชนคนแรกที่ได้รับเกียรติจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๙ ซึ่งเป็นวันครบรอบ ๒๐๐ ปีชาตกาลของสุนทรภู่

แม้หลายคนอาจเข้าใจว่าสุนทรภู่เป็นสามัญชนคนธรรมดาแต่ในความจริงท่านเกิดในตระกูลขุนนางและได้รับการศึกษาที่ดีผู้หนึ่ง อีกทั้งกลอนแบบสุนทรภู่เป็นกลอนที่มีเอกลักษณ์และส่งอิทธิพลมายังกวียุคหลังด้วย

และความสามารถของสุนทรภู่ยังทำให้ท่านรอดพ้นจากคุกด้วย เมื่อครั้งที่ท่านติดคุกในคดีที่ท่านเมาเหล้าแล้วก่อการทะเลาะวิวาท มีเรื่องเล่าว่า ตอนที่ท่านติดคุกนั้น เป็นขณะเดียวกันกับตอนที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ทรงพระราชนิพนธ์ เรื่อง “สังข์ทอง” อยู่ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไปถึงท่อนว่า

แสนเอยแสนแขนง                  น้อยหรือแกบ้งตัดพ้อเล่นต่อหน้า

ติเล็กติน้อยคอยนินทา              ค่อนว่าพิไรไค้แคะ

พี่ก็ไม่หลีกเลี่ยงเถียงสักสิ่ง          มันก็จริงกระนั้นนั่นแหละ

เจ้าเย้ยเยาะว่าเงาะไม่งามแงะ

พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เป็น “กลอนแอะ” หมายถึงเสียงสัมผัสสระแอะ ซึ่งเป็นเสียงที่แต่งกลอนยาก พระองค์จึงตรัสให้อำมาตย์ไปบอกให้สุนทรภู่แต่งต่อ หากแต่งได้จะพระราชทานอภัยโทษให้ สุนทรภู่จึงแต่งต่อว่า “…แฮะแฮะว่าเล่นหรือว่าจริง…” ซึ่งกลอนบาทนี้ทำให้สุนทรภู่ได้รับอิสรภาพ

ด้วยเหตุจึงกล่าวได้ว่า สุนทรภู่เป็นคนที่ไม่ธรรมดา ซึ่งความไม่ธรรมดาของท่านก็คือความสามารถอันโดดเด่นรวมทั้งผลงานอันทรงคุณค่าที่สร้างชื่อเสียงให้กับชาติ อีกทั้งผลงานของท่านยังสมควรแก่การยกย่องไว้เป็นสมบัติของชาติให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป

 


อ้างอิงข้อมูล

ครูทอม คำไทย. (๒๕๕๙). สุนทรภู่ไม่ได้เป่าปี่พระอภัยมณีไม่ใช่คนระยอง. กรุงเทพฯ : อะบุ๊ก.


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 26 มิถุนายน พ.ศ.2562