“พระสุพรรณบัฏ” แผ่นทองคำจะจารึกพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

พระสุพรรณบัฏ

“พระสุพรรณบัฏ” หมายถึง แผ่นทองคำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หนา ๐.๑ เซนติเมตร ความกว้างยาวขึ้นอยู่กับอักษรหรือข้อความที่จะจารึกพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์และพระนามาภิไธย พระนามพระบรมวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป เจ้าประเทศราช และสมเด็จพระสังฆราช  เช่น ในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระสุพรรณบัฏกว้าง ๗ นิ้ว ยาว ๑๔ นิ้ว

การจารึกพระสุพรรณบัฏ เป็นการจารึกพระปรมาภิไธยใหม่ (ชื่อใหม่) ของพระมหากษัตริย์ ลงบนแผ่นทองคำ จะกระทำในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คือ ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เฉพาะพระพักตร์พระแก้วมรกต โดยมีการจารึกดวงพระบรมราชสมภพ และแกะตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ซึ่งเป็นตราประทับ แต่ข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ในสมัยก่อนไม่มีการลงพระปรมาภิไธย ใช้เฉพาะตราประทับ แต่สมัยนี้มีทั้งลงพระปรมาภิไธยและใช้ตราประทับไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ พระราชลัญจกร คือตราสำหรับพระมหากษัตริย์ใช้ประทับในเอกสารสําคัญ อันแสดงถึงพระราชอํานาจในการปกครองบริหารราชการแผ่นดิน หรือเป็นสัญลักษณ์ที่ทรงเป็นพระประมุขของประเทศชาติ

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อถวายน้ำอภิเษกแล้ว พระราชครูพราหมณ์จะร่ายเวทสรรเสริญเปิดศิวาลัยไกรลาส และถวายพระสุพรรณบัฏพระปรมาภิไธย ก่อนที่จะถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ

ความหมายและความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นถือเป็นการพระราชพิธีสำคัญเพื่อแสดงให้เห็นถึงการเสด็จขึ้นครองราชย์โดยสมบูรณ์ของพระมหากษัตริย์ไทย ข้อมูลจากหนังสือประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ยกความในจดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า

“…ตามราชประเพณีในสยามประเทศนี้ ถือเปนตำรามาแต่โบราณว่าพระมหากระษัตริย์ซึ่งเสด็จผ่านพิภพ ต้องทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อนจึงจะเปนพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์ 

ถ้ายังมิได้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอยู่ตราบใด ถึงจะได้ทรงรับรัชทายาทเมื่อเสด็จเข้าไปประทับอยู่ในพระราชวังหลวงก็เสด็จอยู่เพียง ณ ที่พักแห่งหนึ่ง พระนามที่ขานก็คงใช้พระนามเดิม เปนแต่เพิ่มคำว่า ‘ซึ่งทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน’ เข้าข้างท้ายพระนาม แลคำรับสั่งก็ยังไม่ใช้พระราชโองการ 

จนกว่าจะได้สรงมุรธาภิเษก ทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระบรมราชนามาภิธัยกับทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์จากพระมหาราชครูพราหมณ์ผู้ทำพิธีราชาภิเษกแล้ว จึงเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียร ครอบครองสิริราชสมบัติสมบูรณ์ด้วยพระเกียรติยศแห่งพระราชามหากระษัตริย์แต่นั้นไป…”

การจารึกพระสุพรรณบัฏในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อ พ.ศ. 2493 ตามหมายกำหนดการมีระบุว่ากระทำขึ้นในวันที่ 21 เมษายน มีการจารึกพระนามใหม่ของพระเจ้าแผ่นดินลงในแผ่นทอง พร้อมกับดวงพระบรมราชสมภพ และแกะงาช้างเป็นพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ประกอบพิธี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

การนี้ มีโหรหลวงเป็นผู้กำหนดพระฤกษ์พิธีอาลักษณ์ จารึกพระสุพรรณบัฏพระปรมาภิไธย และโหรหลวงจารึกดวงพระบรมราชสมภพ นายช่างแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาลไปพร้อมกัน ระหว่างนั้นมีพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์เป่าสังข์ เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์และพิณพาทย์ ตลอดจนเสร็จการจารึก เจ้าพนักงานจะนำพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกรมาประดิษฐานบนธรรมาสน์ศิลาในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

สำหรับการจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกร ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 เมษายน 2562 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม


อ้างอิง:

ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. กระทรวงวัฒนธรรม. จัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562.

“ร. 10 โปรดเกล้าฯ จารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ เบื้องหน้าพระแก้วมรกต”. มติชนออนไลน์. เผยแพร่ 23 เมษายน 2562. https://www.matichon.co.th/court-news/news_1462383.