การอบรมเจ้านายเล็กๆ ในพระราชสำนักฝ่ายใน เฆี่ยนตีสั่งสอนโอรสธิดาถึงจับหักงอนิ้ว!

พระราชโอรสพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เจ้านายเล็กๆ และเด็กหญิงชายในพระราชสำนักฝ่ายในนั้น นอกจากพระราชโอรสพระราชธิดาแล้ว ยังมีพระโอรสธิดาของพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนบุตรธิดาของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือคหบดีคนสำคัญของบ้านเมือง ที่นำเข้ามาถวายตัวตามตำหนักต่างๆ หน้าที่สำคัญของสตรีในพระราชสำนักฝ่ายในอย่างหนึ่งก็คือ การอภิบาลอบรมเลี้ยงดูเด็กหญิงชายเหล่านั้น

การอบรมเลี้ยงดูสั่งสอนเจ้านายเล็กๆ และเด็กหญิงชายของชาววังแตกต่างจากการเลี้ยงดูของชาวบ้านทั่วไป อย่างแรกก็คือเรื่องกิริยามารยาท เพราะกิริยามารยาทเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นชาววังอย่างชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะเด็กหญิง หม่อมเจ้าหญิงมารยาตรกัญญา ดิศกุล ทรงเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

“—ขั้นต้นต้องหัดคลาน วิธีคลาน วิธีหมอบเข้าเฝ้าเจ้านาย ประเภทไหน กราบแค่ไหน ไหว้แค่ไหน หมอบกราบราบกับพื้นก็มี ไหว้ยังงี้ก็มี (พนมมือจรดอก ศีรษะน้อมต่ำ) ต้องรู้หมด คลานก็มี ท่าคลานหลายอย่าง คลานสี่ตีน—อย่างนี้ถือของไม่ได้ คลานโขยกถึงจะถือของได้ แต่ถ้ายกของมากสองมือก็ต้องคลานเข่า คลานโขยกไม่ไหว จะหกเอา—วิธีหมอบอย่างเรียบลงไปกับพื้น หมอบอย่างดี วางมือบนเข่า ต้องหัดกันเป็นอาทิตย์—สมัยนั้นชาววังออกไปนอกวัง เค้าบอกได้ทันทีว่าเป็นชาววัง กิริยาผิดกันไกล มันดูกันออก แม้เป็นชาววังตำหนักไหน เขาก็รู้ จะบอกได้ทุกตำหนักเลย—“

ลักษณะพิเศษของชาววังทั้งชายหญิง คือความสุภาพอ่อนโยนและงามเสงี่ยมหรืองามสง่า

นอกจากเรื่องกิริยามารยาทแล้ว สิ่งสำคัญที่เจ้านายเล็กๆ และเด็กหญิงชายในวังได้รับการฝึกฝนอบรมสั่งสอนก็คือ พื้นฐานของการเป็นคนดี มีคุณค่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม ส่วนการอบรมอื่นๆ จะแตกต่างและเน้นหนักด้านใดด้านหนึ่งตามฐานันดรศักดิ์ของเด็ก เช่น การอบรมพระราชโอรสธิดา พื้นฐานเบื้องต้นที่พระราชมารดาพระมารดาทรงอบรมและปลูกฝังก็คือ การประพฤติปฏิบัติตนให้สมแก่พระเกียรติยศ ทรงกวดขันเข้มงวดพระจริยวัตร ไม่ว่าจะเป็นพระอิริยาบถ พระดำรัส ตลอดจนพระกรณียกิจให้เหมาะสมกับวัย แม้จะมีพระพี่เลี้ยงนางนมคอยดูแล แต่พระราชมารดาพระมารดาจะทรงมีวิธีการตรวจสอบและอบรมสั่งสอนอย่างฉลาดและได้ผล ดังที่หมอสมิธ นายแพทย์ชาวอังกฤษประจำพระราชสำนักสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ เล่าถึงวิธีการอบรมสั่งสอนพระราชโอรสธิดาของพระองค์ ว่า

“—ทุกๆ วันเมื่อเจ้านายเล็กๆ เหล่านี้เข้ามากราบทูลลาก่อนที่จะเสด็จเข้าที่บรรทม พวกพระองค์จะต้องทูลเล่าเรื่องราวของตัวเองให้พระมารดาทรงทราบ การสอบถามก็มิใช่จะสอบถามแต่เฉพาะกับพระราชโอรสและพระราชธิดาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบรรดาพระพี่เลี้ยงของเจ้านายเล็กๆ เหล่านี้ด้วย หัวข้อที่ทรงซักถามก็เป็นต้นว่า ในแต่ละวันพวกพระองค์ได้เสด็จฯ ไปที่ใดบ้าง ทรงพบปะและตรัสกับผู้ใด และที่สำคัญที่สุดก็คือ ทรงปฏิบัติพระองค์เช่นไร—“

การที่ทรงซักถามเช่นนี้ ทำให้เจ้านายเล็กๆ ทุกพระองค์ต้องทรงมีพระนิสัยช่างสังเกตจดจำ และทำให้ทรงรู้ถึงพระจริยวัตรและพระดำริของแต่ละพระองค์เพื่อจะเป็นแนวทางในการอบรมสั่งสอนต่อไป

สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์และสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช

การอบรมสั่งสอนเด็กๆ ด้วยวิธีนี้มิใช่จะปฏิบัติเฉพาะเจ้านายเล็กๆ เท่านั้น เจ้านายในพระตำหนักต่างๆ ก็ทรงใช้วิธีการนี้กับเด็กๆ ในพระอุปการะเช่นกัน ดังที่ตำหนักของสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ หลังจากเด็กข้าหลวงกลับจากโรงเรียนแล้วจะต้องขึ้นเฝ้าพระองค์ทุกวันและจะต้องทูลให้ทรงทราบว่า วันนี้เรียนอะไรบ้าง มีเหตุการณ์อะไรบ้างที่โรงเรียน มีแขกพิเศษมาดูโรงเรียนไหม ได้รู้จักเพื่อนใหม่เป็นใคร ชื่ออะไร เป็นบุตรของใคร และถ้าโรงเรียนสอนรำไทย สอนขับร้อง หรือกายบริหารให้ก็จะต้องแสดงให้พระองค์ทอดพระเนตร ซึ่งเป็นการฝึกหัดให้เด็กเกิดความกล้าในการแสดงออกและฝึกให้เป็นคนช่างสังเกตจดจำสิ่งต่างๆ

ส่วนประกอบการอบรมสั่งสอนที่สำคัญคือการทำโทษ ซึ่งผู้ใหญ่สมัยโบราณมักถือสุภาษิตที่ว่า “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” แม้จะเป็นพระราชโอรสธิดาก็ไม่ทรงได้รับการยกเว้น หมอสมิธเล่าถึงการลงโทษพระราชโอรสธิดาของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ไว้ว่า

“—สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี มักจะทรงเฆี่ยนตีพระราชโอรสและพระราชธิดาด้วยพระองค์เองเสมอ เพราะทรงถือคติที่ว่า “หากละเลยไม่ทำโทษ ก็จะยิ่งทำให้เด็กนิสัยเสีย” และเวลาที่ทรงกริ้วก็จะยิ่งทำโทษรุนแรงมากขึ้นไปอีก เวลาที่ถูกทำโทษพวกเด็กๆ จะนั่งหมอบลงกับพื้น ปล่อยให้พระมารดาทรงใช้ไม้เรียวตีที่พระเพลาและพระที่นั่ง ไม้ที่ใช้ตีเป็นไม้ไผ่อันสั้นๆ ทรงเก็บไว้ในตู้ในห้องบรรทมและสามารถหยิบใช้งานได้ทันที วิธีลงโทษที่เบากว่า และเป็นวิธีหนึ่งที่ทรงอนุญาตให้สมาชิกคนอื่นๆ ในพระราชวงศ์ทรงทำโทษได้ก็คือหักมือ นิ้วมือทั้งห้าจะถูกจับหักไปทางด้านหลังให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แรกๆ เด็กๆ อาจจะรู้สึกเจ็บ แต่ไม่นานก็จะเคยชิน เพราะข้อต่อของนิ้วเด็กยังอ่อนอยู่มาก—“

วิธีการลงโทษด้วยการหักนิ้วนี้ นิยมใช้กันมากในพระราชสำนักฝ่ายใน ปรากฏเรื่องนี้ในจดหมายเหตุรายวันของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ความว่า

“—น้องหญิงใหญ่ผลักน้องชายโตหกล้ม เสด็จน้าหักมือน้องหญิง—“ และ “—น้องชายโตแย่งดอกไม้ เราร้องไห้ แล้วเรากลับออกไปอีก พี่อัจทำน้ำข้าวตังหกรดเราผ้าเปียก เราร้องไห้ กลับมาข้างใน สมเด็จแม่ทรงหักมือเรา ว่าเราร้องไห้บ่อยๆ—“

นอกจากวิธีตีและหักนิ้วแล้ว ยังมีวิธีทำโทษอย่างอื่นๆ อีก ดังที่สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ทรงทำโทษข้าหลวงที่พูดปด

“—ความผิดที่สำคัญคือเรื่องการพูดโกหก ถ้าใครพูดโกหกจะถูกเอาป้ายแขวนคอทั้งสองข้าง ในแผ่นป้ายจะเขียนว่า “ฉันเป็นคนไม่ดี ฉันพูดปด” และจะมีผู้ใหญ่พาตัวตระเวณไปตามที่ที่มีคนอยู่มากๆ เพื่อจะได้อายและเข็ดหลาบ จะได้ไม่ประพฤติตัวอย่างนี้อีก—“

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงมีวิธีการต่างๆ ในอันที่จะเรียนรู้อุปนิสัย ความถนัด ความสามารถ และปฏิภาณไหวพริบของเด็กในพระอุปการะด้วยวิธีการสังเกตพูดคุยและซักถาม เด็กในพระอุปการะทุกคนจะต้องขึ้นเฝ้าตามกำหนดเวลา ซึ่งโดยมากจะเป็นเวลาเสวย ทรงใช้เวลานี้พูดคุย ซักถาม สังเกตกิริยาท่าทาง และอบรมสั่งสอน บางครั้งทรงมีวิธีทดสอบอุปนิสัยของเด็กๆ ดังที่หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเขียนเล่าไว้ว่า

“—วันหนึ่งท่านตรัสถามว่าเด็กๆ อยากกินอะไรบ้าง ทุกคนทูลตอบว่า อยากกินข้าวคลุกกะปิ ท่านก็โปรดให้ทำขึ้นมาให้กินต่อพระพักตร์ คนหนึ่งกิน ๓ ชาม คนหนึ่งกิน ๑ ชาม ม.ร.ว.เฉลิมลาภกิน ๒ ชาม อิ่มกันแล้วท่านจึงทรงวิจารณ์ว่า คนที่ ๑ นั้นเป็นคนจะกละจะกลาม คนที่ ๒ กินด้วยแกล้งทำต่อพระพักตร์ แล้วจะลงไปกินอีกข้างล่าง เพราะไม่อิ่มจริง เป็นคนไม่จริง แต่เฉลิมลาภเป็นคนสุจริต อยากกินก็กินให้เต็มอิ่มจริงๆ จึงมีพระดำรัสว่า เด็กคนนี้ดี—“ ดังนี้เป็นต้น

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ในชุดนักเรียนนายร้อยประถม

นอกจากการอบรมสั่งสอนเพื่อวางพื้นฐานอุปนิสัยใจคอแล้ว สิ่งสำคัญที่ทรงยึดปฏิบัติกับเด็กหญิงชายในพระราชสำนักฝ่ายใน ก็คือการศึกษาวิชาการต่างๆ พระมเหสีเทวี โดยเฉพาะสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงเป็นพระมเหสีที่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ทรงทราบถึงพระบรมราโชบายในการบริหารประเทศ ซึ่งจะต้องอาศัยวิชาความรู้วิทยาการสมัยใหม่เป็นส่วนสำคัญ จึงทรงพยายามสนับสนุนพระราชโอรสพระราชธิดาและเด็กๆ ในพระอุปการะให้ได้รับการศึกษาวิชาหนังสือเบื้องต้นโดยทั่วหน้ากัน ในส่วนพระองค์นั้นทรงปฏิบัติพระองค์เป็นครูคนแรกของพระราชโอรสธิดาด้วยการสอดแทรกความรู้ต่างๆ ที่อยู่รอบตัวให้เด็กๆ ได้รู้จักและจดจำตามโอกาสและวัยของเด็ก และทรงใช้วิธีนี้มาจนถึงรุ่นพระราชนัดดา ดังที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงเล่าไว้ในหนังสือเกิดวังปารุสก์ ความตอนหนึ่งว่า

“—เวลาที่ท่านไม่ทรงซักถามข้าพเจ้าถึงเรื่องราวต่างๆ ย่าท่านก็ทรงสั่งสอนอย่างน่าฟังเป็นที่สุด ทรงสั่งสอนถึงพุทธศาสนา ถึงพงศาวดารไทย ถึงเรื่องราวของปู่ย่าตายายและตระกูลของเรา หรือถึงทูลหม่อมปู่ แต่ท่านสอนโดยทำนองเล่านิทาน เด็กๆ ฟังจึงไม่น่าเบื่อ ของที่ข้าพเจ้าถูกสอนให้ท่องอันแรก คือพระพุทธยอดฟ้าเป็นพ่อพระพุทธเลิศหล้า พระพุทธเลิศหล้าเป็นพ่อพระจอมเกล้า พระจอมเกล้าเป็นพ่อพระจุลจอมเกล้า พระจุลจอมเกล้าเป็นพ่อจักรพงษ์ จักรพงษ์เป็นพ่อจุลจักรพงษ์ ข้าพเจ้าท่องขึ้นใจตั้งแต่อายุ ๔ ขวบ หรือก่อนนั้น นับแต่นั้นมา ข้าพเจ้าจำการสืบสันตติวงศ์ต่อเนื่องกันมาได้โดยตลอด—“

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการอบรมสั่งสอนเจ้านายเล็กๆ ในพระราชสำนักฝ่ายในอีกพระองค์หนึ่ง คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้จะมีพระราชภารกิจมากมาย แต่เมื่อทรงมีเวลาหรือโอกาสก็จะโปรดพระราชทานความรู้แก่เจ้านายเล็กๆ เหล่านั้น เช่น เมื่อเสด็จพระราชวังดุสิตซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ทรงใช้เวลาขณะเสวยซักถามความรู้พระราชโอรสธิดา วิธีการซักถามนั้นทรงทำเหมือนการเล่นเกม คือจะประทับอยู่บนบันไดขั้นบนสุดซึ่งทอดขึ้นสู่ท้องพระโรง และโปรดให้พระราชโอรสธิดาประทับอยู่รวมกันที่บันไดขั้นต่ำลงมา จากนั้นก็จะทรงซักถามปัญหา ถ้าหากคำตอบไม่เป็นที่พอพระทัย พวกเด็กๆ ก็จะต้องเลื่อนลงไปประทับที่บันไดขั้นต่ำลงไป วิธีนี้เด็กๆ จะสนุกและพยายามอย่างยิ่งที่จะใช้ความรู้ความสามารถตอบให้ได้ดีที่สุด ในเวลาเช่นนี้พระองค์มักจะทรงถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของพระราชวงศ์ในอดีต ตลอดจนเรื่องทุกเรื่องที่เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีในราชสำนัก พระราชโอรสธิดาทุกพระองค์จะต้องทรงท่องจำชื่อพระที่นั่ง ชื่อประตู และชื่อถนนภายในพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนเรือพระที่นั่งและพระนามของสมเด็จพระปิตุลาและพระปิตุจฉาให้แม่นยำ โดยจะทรงผูกชื่อเหล่านี้เข้าด้วยกันเพื่อให้คล้องจองและง่ายแก่การจดจำ นอกจากความรู้ทั่วๆ ไปแล้ว ยังโปรดให้พระราชโอรสเสด็จเข้าร่วมในการประชุมเสนาบดี โดยจะโปรดให้ประทับกับพื้นข้างพระเก้าอี้ ปฏิบัติหน้าที่ฐานะพระอาลักษณ์ หรือคนอัญเชิญพระราชสาส์นจากห้องบรรทมมาถวาย หรือทรงเรียกใช้ให้คอยหยิบพระโอสถเส้นและพระศรี ซึ่งโดยวิธีนี้จะทำให้เจ้านายเล็กๆ ทรงมีโอกาสเรียนรู้งานราชการบ้านเมือง หรือเมื่อมีโอกาสตามเสด็จที่ต่างๆ ก็จะทรงเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆ เช่น เมื่อเสด็จไปกรุงศรีอยุธยา ก็จะรับสั่งเล่าเรื่องพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ดังนี้เป็นต้น

พระราชโอรสพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เจ้านายฝ่ายในที่ทรงมีความรู้ความสามารถทางหนังสือจะทรงมีส่วนสำคัญในการถวายความรู้แก่เจ้านายเล็กๆ ด้วยการอ่านหนังสือถวายเวลาบรรทม ดังเช่นกรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ ทรงเป็นพระอภิบาลในสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ จะทรงคัดเลือกหนังสือที่เป็นความรู้ด้านต่างๆ อ่านถวายทุกคืน ดังปรากฏเรื่องนี้ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ตามลำดับดังนี้

“—เย็นเราอาบน้ำแล้วเข้าไปนอนฟังหนังสือพงศาวดารเขมร แล้วเราให้ป้าโสมเล่าถึงราชทูตออกไปเมืองลอนดอนแต่ครั้งแผ่นดินทูลหม่อมปู่—“

“—แล้วนอนฟังหนังสือพงศาวดารตอนพระเจ้าอู่ทองเสวยราชสมบัติ นอนเกือบยาม—“

“—แล้วเราทูลลากลับตำหนัก ฟังป้าโสมเล่าถึงแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้า—“

“—ฟังหนังสือพระราชประวัติทูลหม่อมปู่ ซึ่งป้าโสมได้ยืมมาจากหอพระสมุดวันนี้—“

“—เรากลับมาตำหนักนอนสี่ทุ่ม ฟังป้าโสมอ่านหนังสือสามก๊ก—“

“—นอนฟังป้าโสมอ่านรามเกียรติ์ นอนสี่ทุ่มนาน—“

ด้วยการอบรมสั่งสอนเจ้านายเล็กๆ และเด็กชายหญิงในวังของเจ้านายในพระราชสำนักฝ่ายในดังกล่าวมานี้ จึงไม่น่าที่จะแปลกใจถึงพระคุณสมบัติ คุณสมบัติ และความสามารถของผู้ที่ได้ชื่อว่าชาววังทั้งหญิงและชาย ซึ่งล้วนเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญในการสร้างชาติได้เป็นชาติอยู่จนปัจจุบัน

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 12 ตุลาคม 2561