สี่สมเด็จเจ้าฟ้าอาจารย์ ของจุฬาฯ วิชาการ, งานสอน และพระจริยวัตร

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายวิชาอารยธรรมในแก่นิสิตจุฬาฯ ชั้นปีที่ ๑

สมเด็จเจ้าฟ้าอาจารย์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ของราษฎรสยามในอดีตเกิดขึ้นจากพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะทรงเห็นคุณค่าและประโยชน์ของการศึกษาที่ทั้งผู้ได้รับการศึกษาและประเทศชาติจะได้รับ จึงทรงเริ่มให้การศึกษากับผู้ใกล้ชิดพระองค์ ได้แก่ พระบรมวงศานุวงศ์และพระราชโอรส เมื่อปรากฏผลดีจึงทรงมุ่งมั่นที่จะขยายขอบข่ายการศึกษาให้กว้างขวางครอบคลุมทั่วประเทศ ดังปรากฏในพระราชดำรัสที่ว่า “—เจ้านายราชตระกูล ตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นไป ตลอดจนราษฎรที่ต่ำสุด จะให้ได้มีโอกาสเล่าเรียนเสมอกัน—” และพระองค์ก็ได้ทรงดำเนินการตามพระราชดำรัสด้วยการวางรากฐานการศึกษาของราษฎรทุกชั้นวรรณะ จนสิ้นรัชสมัย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์พระองค์ต่อมาได้ทรงสืบสานพระราชเจตนารมณ์ในสมเด็จพระบรมชนกนาถ ด้วยการเพิ่มขอบข่ายการศึกษาของราษฎรชาวสยามให้กว้างขวางทั่วถึงและมีมาตรฐานทัดเทียมอารยประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่พระองค์โปรดสถาปนาขึ้นเพื่อสนองพระราชเจตนารมณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังปรากฏในพระราชดำรัสครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความตอนหนึ่งว่า

Advertisement

“—ตัวเราเป็นรัชทายาท จึงรู้สึกเป็นหน้าที่อันหนึ่งที่จะต้องทำการนั้นให้สำเร็จตามพระราชประสงค์ โดยรู้ว่าเมื่อได้ทำสำเร็จแล้วจะเป็นเครื่องเพิ่มพูนพระเกียรติยศเป็นราชานุสาวรีย์ เป็นที่คำนึงถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชของชาติไทยเรา—”  

จึงกล่าวได้ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือกำเนิดจากพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ และเจริญเติบโตมาด้วยพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ รวมทั้งเจ้านายหลายพระองค์ที่ทรงมีส่วนเติมเต็มสนับสนุนให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมั่นคงทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ดังที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงให้สมญานามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสมัยนั้นว่าเป็น “หลักเฉลิมพระนคร” (Pillar of the nation)

ผู้บริหารปัจจุบันได้สานต่อพระราชประสงค์ในองค์ผู้ทรงให้กำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสืบสานพระราชเจตนารมณ์ที่จะให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็น “หลักเฉลิมพระนคร” ในอดีตและเป็น “มหาวิทยาลัยของแผ่นดิน” ในปัจจุบันดังนี้

“—เมื่อใดก็ตามที่สังคมมีปัญหา ประเทศชาติต้องการความช่วยเหลือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะสวมบทบาทเชิงรุก เพื่อร่วมแก้ปัญหาต่างๆ ทุกคนจะนึกถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอันดับแรกๆ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องเป็น “เรือธง” ของบ้านนี้เมืองนี้ มีบทบาทชี้นำ รวมทั้งเตือนสติสังคมให้เกิดความถูกตัองและเป็นธรรม—”

และกว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะมีคุณสมบัติเป็น “เรือธง” ของบ้านเมืองนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการค้ำชูดูแลเอาใจใส่จากผู้อยู่รอบข้าง ซึ่งต่างรักห่วงใยและปรารถนาดีต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันได้แก่เหล่าครูบาอาจารย์ ซึ่งล้วนเป็นผู้สูงด้วยคุณวุฒิ

ในจำนวนครูบาอาจารย์ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ชาวจุฬาฯ รู้สึกถึงความภาคภูมิใจเป็นเกียรติยศและมิ่งมงคลแก่สถาบันในพระอาจารย์ 4 พระองค์ ซึ่งนอกจากจะสูงด้วยคุณวุฒิแล้ว ยังทรงมีชาติวุฒิที่สูงส่ง พระอาจารย์ทั้ง 4 พระองค์ คือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งชาวจุฬาฯ เรียกกันเป็นสามัญว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าอาจารย์” ดังจะได้บรรยายถึงพระกรณียกิจอันเกี่ยวข้องกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของสมเด็จเจ้าฟ้าอาจารย์ทั้ง 4 พระองค์ ตามลำดับ คือ

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก ทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าอาจารย์พระองค์แรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ แม้จะเป็นพระราชโอรสชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ซึ่งตามพระราชประสงค์จะต้องทรงเข้าศึกษาวิชาทหาร แต่เพราะพระพลานามัยไม่สู้ทรงสมบูรณ์ ประกอบกับมีพระทัยฝักใฝ่ในวิชาการด้านอักษรศาสตร์ และทรงพระปรีชาสามารถด้านศิลปกรรม ประเภทประณีตศิลป์ จึงทรงเลือกที่จะเข้าศึกษาด้านอักษรศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และทรงมุ่งมั่นที่จะนำความรู้ด้านนี้มาถ่ายทอดให้เป็นประโยชน์แก่เยาวชนของชาติ จึงได้ทรงศึกษาแบบแผนวิธีการเรียนการสอนตามแบบอังกฤษด้วย

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักพระราชหฤทัยถึงพระประสงค์และพระปรีชาสามารถของพระอนุชาพระองค์นี้เป็นอย่างดี เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญา แบชเลอร์ ออฟ อาร์ต (Bachelor of Arts) จึงโปรดให้เข้ารับราชการในกระทรวงธรรมการ ตำแหน่งพระอาจารย์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้านายพระองค์นี้เสด็จไปทรงเริ่มงานสอนเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2461 นับเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าอาจารย์พระองค์แรกของชาวจุฬาฯ บรรดาคณาจารย์นิสิตนักศึกษาต่างชื่นชมโสมนัสในสมเด็จเจ้าฟ้าอาจารย์พระองค์นี้เป็นที่ยิ่ง มีการจัดเลี้ยงพระกระยาหารและการแสดงต่างๆ ถวาย ทรงสอนวิชาภาษาอังกฤษและภาษาไทย ในคณะรัฐประศาสนศาสตร์ เสด็จไปทรงงานสอนสัปดาห์ละ 2 วัน

เล่าสืบกันมาอย่างชื่นชมในพระจริยวัตรอันงดงามและอ่อนโยน ตลอดจนความเอาพระทัยใส่ในวิชาที่ทรงสอน มีพระเมตตาและความเป็นกันเองกับลูกศิษย์ จากความทรงจำในอดีตเล่ากันว่า ภาพที่นิสิตจุฬาฯ เห็นจนชินตาก็คือ เมื่อเวลาเสด็จมาทรงสอนจะฉลองพระองค์ราชปะแตนและพระภูษาโจง สวมถุงพระบาทและรองพระบาทงดงามเรียบร้อย พร้อมกันนี้จะทรงใส่ซับพระพักตร์ไว้ในกระเป๋าฉลองพระองค์ ทำให้ทรงดูอ่อนโยนและงามสง่า เสด็จทรงงานโดยประทับรถยนต์ยี่ห้อมอร์ริส เป็นที่ตื่นตาของนิสิตทุกครั้งที่เสด็จมาทรงสอน ด้วยพระทัยที่รักทั้งการเป็นครูและงานช่างในเวลาที่ว่าง จึงทรงทำหน้าที่ที่ปรึกษา การดำเนินการของโรงเรียนเพาะช่าง

และเมื่อโรงเรียนเพาะช่างสร้างเสร็จสมบูรณ์เปิดทำการสอน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่างใน พ.ศ. 2465 ด้วยพระภาระที่เพิ่มขึ้นจากการบริหารงานในโรงเรียนเพาะช่าง จึงโปรดให้ทรงงานเฉพาะที่โรงเรียนเพาะช่างเพียงที่เดียว จึงทรงพ้นจากตำแหน่งพระอาจารย์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมเวลาที่ทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าอาจารย์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5 ปี ซึ่งแม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนาน แต่สมเด็จเจ้าฟ้าอาจารย์พระองค์นี้ก็ยังคงเป็นความชื่นชมและภาคภูมิใจของชาวจุฬาฯ มิเสื่อมคลาย

สมเด็จเจ้าฟ้าอาจารย์พระองค์ที่ 2 คือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เจ้านายพระองค์นี้ แม้จะทรงจบการศึกษาวิชาทหารเรือจากประเทศเยอรมนี แต่ด้วยการที่ทรงเห็นความสำคัญของสุขภาพพลานามัยของราษฎร ซึ่งมีพระดำริว่า แม้บ้านเมืองจะประกอบด้วยผู้มีความรู้เฉลียวฉลาดมากมาย แต่หากมีสุขภาพพลานามัยไม่สมบูรณ์ก็จะไม่สามารถปฏิบัติงานใดๆ ให้ได้ผลอย่างเต็มที่ ซึ่งจะเป็นเหตุให้ไม่สามารถนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงถาวรได้

จึงตัดสินพระทัยหันเหวิถีในพระชนมชีพมาทรงศึกษาและปฏิบัติพระกรณียกิจเกี่ยวกับการแพทย์และการสาธารณสุข เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาวิชาแพทย์และสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแล้ว ทรงตั้งพระทัยที่จะทำงานด้านการแพทย์ ทั้งการรักษาคนไข้และวิเคราะห์วิจัยเกี่ยวกับเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ในสยาม เพื่อจะได้หาวิธีการรักษาอย่างถูกต้องตรงกับสาเหตุการป่วย แต่ต้องทรงประสบอุปสรรคอันเนื่องมาจากปัญหาฐานันดรศักดิ์ของพระองค์ซึ่งสูงส่ง ประเพณีนิยมเห็นว่าไม่บังควรที่จะเข้าไปมีส่วนใกล้ชิดกับสิ่งสกปรก

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้เข้ารับราชการในกระทรวงธรรมการ ตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับการศึกษาในมหาวิทยาลัย แต่พระองค์ไม่ประสงค์จะประทับทำงานอยู่กับโต๊ะ เพื่อเซ็นเอกสารแต่เพียงอย่างเดียว จึงทรงทูลขอสอนนิสิตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนั้นมีเพียง 4 คณะ คือ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

ครั้งนั้นนักศึกษาที่จะเข้าศึกษาคณะแพทยศาสตร์ยังไม่ใคร่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ อันถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนแพทย์ จึงทรงจัดทำหลักสูตรคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้นักศึกษาได้มีความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์สำหรับเข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ให้ได้ผลสมบูรณ์ ในส่วนพระองค์นั้นทรงรับเป็นพระอาจารย์ ในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพื่อสอนวิชาพื้นฐานการแพทย์

เช่น วิชาสาธารณสุข ทรงวางพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับเรื่องความสะอาดและการปฏิบัติตนให้สะอาดทั้งเรื่องการกินอยู่หลับนอน ซึ่งถือเป็นหน้าที่หลักของพระองค์ที่จะปลูกฝังหยั่งรากการผลิตแพทย์ให้ได้มาตรฐานตามแบบแพทย์สากล และยังโปรดสอนวิชาสามัญ คือ วิชาอารยธรรมและประวัติศาสตร์แก่นักศึกษาทุกคณะที่ลงทะเบียนเรียน ในส่วนคณะแพทยศาสตร์นั้นทรงสอนวิชาว่าด้วยกายวิภาคของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังและวิชากายวิภาคศาสตร์เปรียบเทียบ

กล่าวกันว่าเจ้านายพระองค์นี้มีพระคุณสมบัติของความเป็นครูสูงสุด คือมีทั้งความตั้งพระทัยและวิธีการถ่ายทอดความรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ทั้งในเวลาเรียนและนอกเวลาเรียน โดยเฉพาะเวลาที่ทรงนำนักศึกษาแพทย์เข้าค่ายซ้อมรบเสือป่า จะทรงถือเป็นโอกาสสำคัญในการสอนนักเรียนภาคปฏิบัติให้รู้จักรักษาความสะอาดในทุกๆ ที่ ทรงพยายามให้นักศึกษาเข้าใจว่าสาเหตุสำคัญของโรคส่วนใหญ่เกิดจากความสกปรกหมักหมม ด้วยความจริงพระทัยในการที่จะให้ความรู้แก่นักเรียน ผสานเข้ากับพระเมตตา และความเป็นกันเองไม่ถือพระองค์อันเป็นคุณสมบัติประจำพระองค์ ทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างราบรื่นได้ผลสมบูรณ์

นอกจากพระคุณสมบัติของความเป็นครูที่สมบูรณ์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ประทับอยู่ในความทรงจำของนิสิตตลอดจนอาจารย์ทุกคน คือพระบุคลิกที่งามสง่าผสมผสานกันอย่างลงตัวกับความอ่อนโยน ทรงเพิ่มความสง่างามด้วยฉลองพระองค์ชุดราชปะแตน คือ ผ้าม่วงแพรเซี่ยงไฮ้โจงกระเบน เสื้อราชปะแตนขาวกระดุม 5 เม็ด ทรงดำเนินค่อนข้างช้า พระวรกายตั้งตรง ทรงก้มพระเศียรรับการถวายคำนับของนิสิตตลอดทางพระดำเนิน ทรงวางพระองค์เงียบๆ แต่ไม่ถึงกับขรึม แต่พระเมตตาและความเป็นกันเองที่ลูกศิษย์จดจำเล่าขานกันอย่างไม่รู้ลืม คือการที่ทรงหยุดรถยนต์พระที่นั่งเพื่อรับลูกศิษย์ที่เดินอยู่ โปรดเรียกให้ขึ้นรถมากับพระองค์ จนบางครั้งมากันแน่นรถ

นอกจากพระคุณสมบัติอันเป็นที่ชื่นชมประทับใจลูกศิษย์แล้ว เจ้านายพระองค์นี้ยังทรงมีคุณูปการกับวงการแพทย์สยาม ตลอดจนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างล้นเหลือ เพราะแม้เมื่อคณะแพทยศาสตร์จะแยกไปตั้งเป็นโรงเรียนแพทย์แล้ว ก็ยังมีพระภาระสำคัญเกี่ยวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ ทรงเป็นผู้แทนเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ในการเจรจาขอความร่วมมือและสนับสนุนการศึกษาวิชาแพทย์ของสยามจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ในการนี้นอกจากจะทรงจัดวางระเบียบวิธีการร่วมมือระหว่างโรงเรียนแพทย์กับมูลนิธิแล้ว ยังโปรดจัดให้คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ในความร่วมมือครั้งนั้นด้วย

ทั้งนี้ด้วยมีพระประสงค์จะขยายการเรียนวิชาชั้นต้นสำหรับการแพทย์ให้สูงขึ้น จากระเบียบการร่วมมือในครั้งนั้น ทำให้คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ได้มีศาสตราจารย์จากต่างประเทศเข้ามาสอนในคณะถึง 4 ท่าน และยังได้รับทุนเพื่อส่งอาจารย์ของคณะไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เจ้านายพระองค์นี้มีพระทัยผูกพันกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งขณะยังมีพระชนมชีพก็ประทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 200,000 บาท เพื่อเป็นทุนส่งนักศึกษาจุฬาฯ ไปเรียนต่อต่างประเทศ แม้เมื่อสิ้นพระชนม์ก็ยังแสดงพระประสงค์ไว้ในพินัยกรรม ให้บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 500,000 บาท แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นทุนหาผลประโยชน์บำรุงการศึกษาในมหาวิทยาลัย จึงไม่น่าแปลกที่เจ้านายพระองค์นี้จะทรงเป็น “สมเด็จเจ้าฟ้าอาจารย์” ที่ประทับอยู่ในใจและในความทรงจำของชาวจุฬาฯ มิมีวันลืมเลือน

สมเด็จเจ้าฟ้าอาจารย์อีกพระองค์หนึ่งที่ทรงเป็นที่เคารพรักของชาวจุฬาฯ ไม่เสื่อมคลาย คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นพระธิดาพระองค์โตของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ประสูติแต่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสำเร็จการศึกษาสาขาวิชาเคมี ในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ทรงเป็นเจ้านายที่รักการเรียนรู้เป็นที่ยิ่ง เมื่อมีพระประสงค์จะรู้สิ่งใด จะทรงศึกษาสิ่งนั้นอย่างกว้างขวางแตกฉานทันที ด้วยเหตุนี้จึงทรงเข้าศึกษาหลักสูตรสังคมศาสตร์-คุรุศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยวิชาการศึกษาวรรณคดี ปรัชญา วิชาครู และจิตวิทยา

นอกจากนี้ยังทรงศึกษาด้านภาษาเพิ่มเติมจนทรงพระปรีชาสามารถตรัสได้ถึง 5 ภาษา สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้มีพระอุปนิสัยรักความเป็นครู มีพระประสงค์จะถ่ายทอดวิชาความรู้ให้เป็นประโยชน์แก่เยาวชนของชาติ ดังนั้นเมื่อเสด็จนิวัติพระนคร พ.ศ. 2493 จึงทรงรับเป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนพิเศษภาษาฝรั่งเศส ประกอบด้วยวิชาวรรณคดีฝรั่งเศส การสนทนาภาษาฝรั่งเศส และอารยธรรมฝรั่งเศส

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประทานโอวาทแก่นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เพระคุณสมบัติที่โดดเด่นเฉพาะพระองค์ สิ่งแรกที่นักศึกษาสามารถสัมผัสได้ด้วยตา คือ พระสิริโฉมที่งดงาม เล่ากันว่า ชั่วโมงแรกที่เรียนปรากฏว่าแทบไม่มีนิสิตคนไหนจดอะไรเลย เพราะมัวแต่จ้องพระพักตร์พระองค์ จนต้องมีรับสั่งว่า “—มัวแต่มองฉันไม่จด ไม่ถามเลยแล้วจะได้อะไร—”

ในส่วนของความเป็นครูนั้นนิสิตที่ได้เรียนกับเจ้านายพระองค์นี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันถึงความตั้งพระทัย ทุ่มเท และเอาพระทัยใส่ในการถ่ายทอดบทเรียนให้แก่ลูกศิษย์ ทรงเล่าถึงวิธีการสอนของพระองค์ว่า “—เวลาสอนนี่ต้องเตรียมมาก อ่านมากและเตรียมอุปกรณ์ด้วย—” และไม่ทรงเบื่อหน่ายที่จะอธิบายเรื่องเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำอีก ดังที่มีพระดำรัสว่า “—จะให้ฉันอธิบายสักสิบครั้งก็ได้ ขอให้นักศึกษาเข้าใจก็แล้วกัน—” ลูกศิษย์ที่ได้เรียนกับเจ้านายพระองค์นี้ต่างซาบซึ้งจดจำพระจริยวัตรความเป็นครูของพระองค์ไม่รู้ลืม แม้เวลาจะผ่านไปแสนนาน ดังปรากฏจากคำบอกเล่าของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วิจินตน์ ภาณุพงศ์ ซึ่งประทับใจในพระจริยวัตรความเป็นครูของพระองค์ว่า

“—สมเด็จพระพี่นางเธอฯ ทรงมีวิธีการสอนอย่างที่ทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อ การออกเสียงภาษาฝรั่งเศสของพระองค์ชัดเจนดีมาก ราวกับคนฝรั่งเศสเอง ปกติฟังภาษาฝรั่งเศสลำบาก แต่เมื่อได้ฟังพระองค์ท่านทรงออกเสียงแล้วก็ฟังง่าย ออกสียงตามท่าน ทำให้มีความสุขและสนุกในการเรียน มีสมาธิในการเรียนมากขึ้น—”

คุณสวัสดิ์ จงกล ลูกศิษย์อีกคนหนึ่ง เล่าถึงพระอัจฉริยภาพในความเป็นครูของพระองค์ไว้ว่า “—เมื่อเป็นพระอาจารย์นั้น ทรงทุ่มเทและเอาพระทัยใส่การเรียนการสอนมาก ทรงใช้ภาษาฝรั่งเศสในการเรียนการสอนทั้งหมด เพื่อให้นิสิตได้ฝึกภาษาฝรั่งเศส ทรงออกเสียงภาษาฝรั่งเศสได้อย่างชัดเจนไพเราะ พระสุรเสียงของพระองค์ก็ไพเราะ นิสิตจึงฟังเข้าใจง่าย ทำให้พัฒนาทักษะภาษาฝรั่งเศสได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น—”

นอกจากการสอนลูกศิษย์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว เจ้านายพระองค์นี้ยังทรงปฏิบัติพระกรณียกิจอันเป็นประโยชน์กับการศึกษาของเยาวชนไทยอีกมากมาย เช่น เมื่อทรงรับเป็นอาจารย์ประจำที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส และผู้อำนวยการภาษาฝรั่งเศส ก็ทรงจัดสร้างหลักสูตรปริญญาตรีภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส ซึ่งได้ใช้จนทุกวันนี้ ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์โครงการโอลิมปิกวิชาการเพื่อการแข่งขันและพัฒนาวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศให้ก้าวทันสากล ทรงให้ความสนพระทัยด้านการศึกษา แม้แต่เด็กชั้นอนุบาล โดยทรงสร้างสื่อการเรียนการสอนให้แก่เด็กเล็กในโรงเรียนชายแดน และเด็กด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดาร เป็นต้น

พระกรณียกิจเกี่ยวกับการศึกษาของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงปฏิบัติทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนของชาติทุกเพศทุกวัย พระองค์จึงทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าอาจารย์ที่ชาวจุฬาฯ ยกย่องเทิดทูนและถวายความเคารพรักอย่างสูงไม่มีวันเสื่อมคลาย

สมเด็จเจ้าฟ้าอาจารย์อีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดของชาวจุฬาฯ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพราะพระองค์ทรงเป็นชาวจุฬาฯ โดยเชื้อไข ทรงสอบเข้าได้เป็นนิสิตอักษรศาสตร์ รุ่นที่ 41 พ.ศ. 2516 เมื่อทรงเป็นนิสิตก็ทรงเป็น “ทูลกระหม่อม” ของทุกคนในคณะอักษรศาสตร์ พระอุปนิสัยสำคัญ คือ ทรงรักการศึกษาและรักหนังสือทั้งการทรงอ่านและทรงเขียนมากที่สุด พระคุณสมบัติที่โดดเด่นของพระองค์ที่ชาวจุฬาฯ จดจำประทับไว้กับใจ คือ น้ำพระทัยที่งดงาม มีความจริงพระทัย และความเมตตาต่อผู้คนรอบพระองค์ แม้แต่เด็กขายขนมในคณะ หากประสบความลำบากหรือเจ็บไข้ได้ป่วยจะทรงรับเป็นธุระประทานความช่วยเหลือทันทีและเสมอมา

สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ทรงสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง และรางวัลคะแนนยอดเยี่ยมตลอดหลักสูตรปีการศึกษา 2516 และทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาบาลีสันสกฤต ในคณะเดียวกันนี้ โดยได้รับพระราชทานปริญญาบัตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต พ.ศ. 2524 จึงอาจกล่าวได้ว่าทรงเป็นเชื้อไขชาวจุฬาฯ อย่างเต็มภาคภูมิ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ ๑ เหรียญทอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และชาวจุฬาฯ ทั้งปวงยิ่งทวีความชื่นชมภาคภูมิใจในพระกรุณาธิคุณที่โปรดพระราชทานให้แก่ชาวจุฬาฯ อย่างล้นเหลือสม่ำเสมอนับแต่ทรงสำเร็จการศึกษา กล่าวได้ว่า พระราชกรณียกิจของพระองค์ที่เกี่ยวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น มีทั้งการเสด็จพระราชดำเนินอย่างเป็นทางการ ในกรณีตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะผู้แทนพระองค์ เช่น การเสด็จฯ พิธีพระราชทานปริญญาบัตร หรือในงานจุฬาฯ วิชาการ

อีกส่วนหนึ่งคือการเสด็จฯ มาทรงงานในฐานะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอพระราชวินิจฉัย เช่น เสด็จฯ มาประชุมในฐานะองค์ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ในคณะกรรมการบริหารกองทุนบรมราชกุมารี คณะอักษรศาสตร์ หรือฐานะประธานคณะกรรมการมูลนิธิมหาจักรีสิรินธรเพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ ในการเสด็จฯ มายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ชาวจุฬาฯ ชื่นชมโสมนัสมากที่สุด คือ การเสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ในฐานะนิสิตเก่า ซึ่งในแต่ละปีก็จะเสด็จฯ ปีละหลายๆ ครั้ง เช่น งานครบรอบวันเกิดของคณะอักษรศาสตร์ ตรงกับวันที่ 3 มกราคม งานครบรอบสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรงกับวันที่ 26 มีนาคม และงานพิธีอื่นๆ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้น

ในการเสด็จฯ ส่วนพระองค์แต่ละครั้ง ทรงให้ความเป็นกันเอง ปฏิบัติพระองค์เยี่ยงศิษย์เก่าที่ดีทั้งหลาย จะทรงบาตรร่วมกับชาวจุฬาฯ ทั้งนิสิตเก่าใหม่ คณาจารย์ และบุคลากรจากทุกหน่วยงานในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงพระราชปฏิสันถารกับผู้มาร่วมพิธีอย่างเป็นกันเอง และอย่างสนุกสนานกับบรรดานิสิตเก่าที่เป็นพระสหาย ในส่วนพระราชูปถัมภ์ที่โปรดพระราชทานให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กงานใหญ่ หากจะทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับคุณประโยชน์หรือผลประโยชน์แล้วจะทรงปฏิบัติอย่างเต็มพระราชหฤทัยทันที เช่น ทรงร่วมกับสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ หารายได้สร้างศูนย์กีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเสด็จฯ มาเป็นประธานในงานเดินเพื่อสุขภาพ โครงการ “รินน้ำใจสู่จุฬาฯ” แม้จะเป็นเวลาเช้าตรู่มากก็ตาม

และในงานแสดงปาฐกถา ชุด “สิรินธร” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ และสนองวัตถุประสงค์เงินทุนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำนุบำรุงส่งเสริมการศึกษาและวิจัยในความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอารยธรรมของชนชาติไทย และศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งพระองค์ทรงรับเป็นองค์ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ในคณะกรรมการบริหารเงินทุน จะเสด็จฯ มาร่วมงานแทบทุกครั้ง ในแต่ละครั้งจะมีผู้บริจาคเงินเป็นจำนวนมาก

“กองทุนบรมราชกุมารี” เป็นอีกกองทุนหนึ่งที่คณะอักษรศาสตร์จัดตั้งขึ้น เพื่อจัดสร้างศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ ให้เป็นที่รวบรวมทรัพยากรสารนิเทศทางมนุษยศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบ และเพื่อสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาวิชาการและการวิจัยทางอักษรศาสตร์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ทรงร่วมจัดหาทุนสนับสนุนและทรงใส่พระราชหฤทัยในเรื่องการบริหารกองทุนนี้เป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังทรงรับ “กองทุนจุฬาลงกรณ์บรมราชสมภพ” ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในวโรกาสวันพระบรมราชสมภพครบ 150 ปี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเป็นอนุสรณ์แห่งความจงรักภักดีและเพื่อสืบสานพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ไว้ในพระราชูปถัมภ์

กองทุนนี้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนสร้างคนรุ่นใหม่ที่จะมีคุณค่าต่อแผ่นดินไทยอย่างยั่งยืน โดยโปรดให้รับการสนับสนุนจากผู้คนและหน่วยงานทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกอล์ฟชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือการเดินรับอรุณเพื่อกองทุนจุฬาลงกรณ์ เป็นต้น ล้วนทำให้มีพระราชกิจเกี่ยวกับการระดมทุนทรัพย์เพื่อกองทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็ทรงเต็มพระราชหฤทัยที่จะทรงปฏิบัติพระราชกิจนี้ เพื่อความเจริญมั่นคงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังที่ทรงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในบทความเรื่อง “รำลึกเทวาลัยถิ่นอักษร” ความตอนหนึ่งว่า

ในด้านให้ข้อมูลก็เป็นประโยชน์มากอยากจะรู้อะไรก็ไม่ต้องอ่านหนังสือ หรือเทียวหาหนังสือเอง ใช้ถามเพื่อนที่มีความชำนาญ แต่ละอย่างช่วยเป็นเลขากิตติมศักดิ์บ้างก็มี ช่วยกันทำมาค้าขาย (การกุศลทั้งนั้นไม่ได้เข้ากระเป๋า) ช่วยในการงานต่างๆ—

ข้อความที่ทรงพระราชนิพนธ์นี้แสดงอย่างแจ่มชัดถึงพระราชหฤทัยที่ทรงผูกพันกับทั้งสถาบันและพระสหายร่วมสถาบัน สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ทรงเป็นเสมือนศิษย์ที่ออกไปทำประโยชน์แก่บ้านเมืองในด้านต่างๆ ตามที่มักตรัสว่า “—ฉันเป็นผู้ได้ดีมาจากจุฬาฯ—” โดยเฉพาะด้านการศึกษา ทรงเข้ารับราชการเป็นพระอาจารย์ประจำกองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์ ส่วนการศึกษาโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทรงสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยและสังคมวิทยา ทรงเป็น “ทูลกระหม่อมอาจารย์” ของนักเรียนนายร้อย

นอกจากพระราชกรณียกิจทั้งส่วนพระองค์และส่วนราชการที่ทรงปฏิบัติให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว เจ้านายพระองค์นี้ยังทรงสละเวลาและพระราชกรณียกิจอื่นๆ มาทรงสอนวิชาอารยธรรมแก่นิสิตที่ลงทะเบียนเรียนตามโครงการศึกษาทั่วไป และเสด็จฯ มาทรงบรรยายเกี่ยวกับความสำคัญของประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ดนตรี และการแสดงให้นิสิตคณาจารย์จุฬาฯ และผู้สนใจฟังทุกปี จากพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทั้งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและการศึกษาของบ้านเมือง จนกล่าวได้ว่าการศึกษาของบ้านเมืองและของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ก้าวหน้าอย่างแข็งแกร่งมั่นคงในปัจจุบันนี้ ส่วนสำคัญเกิดจากพระปรีชาสามารถ ความเอาพระราชหฤทัยใส่ และพระกรุณาธิคุณของสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ จึงทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าอาจารย์ที่ชาวจุฬาฯ ภาคภูมิใจยิ่งพระองค์หนึ่ง

แม้สถานการณ์บ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลง แต่สำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว กล่าวได้ว่า สมเด็จเจ้าฟ้าอาจารย์ทั้ง ๔ พระองค์ ทรงเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาให้สถาบันแห่งนี้เจริญเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคง เพื่อสืบสานพระราชเจตนารมณ์ขององค์ผู้ให้กำเนิดสถาบัน ที่ว่า “—เจ้านายราชตระกูล ตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นไป ตลอดจนราษฎรที่ต่ำสุด จะให้ได้มีโอกาสเล่าเรียนเสมอกัน—”


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 2 เมษายน พ.ศ.2560