“อย่าถือว่าเกิดมามีบุญ ต้องถือว่าตัวเกิดมามีกรรม” พระบรมราโชวาท รัชกาลที่ 5

(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5, (ขวา) เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

“อย่าถือว่าเกิดมามีบุญ ต้องถือว่าตัวเกิดมามีกรรมสําหรับจะเทียมแอกไถทําการที่หนัก การซึ่งจะมีวาสนาขึ้นต่อไปนั้น เป็นความทุกข์มิใช่ความสุข”

เป็นข้อความตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาทฉบับที่ 2 ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรส ในฐานะที่ทรงเป็นมกุฎราชกุมารองค์รัชทายาท ลงวันที่ 8 กรกฎาคม ร.ศ. 112

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงต้องทรงเอาพระทัยใส่ในการอบรมสั่งสอนดูแลมกุฎราชกุมารเป็นพิเศษแตกต่างจากพระราชโอรสพระองค์อื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารประเทศ ต้องทรงเป็นผู้วางรากฐานความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของชาติบ้านเมืองตั้งแต่อดีตเพื่อปลูกฝังความรู้สึกรักผูกพัน และรับผิดชอบในบ้านเมือง โดยโปร ให้อยู่รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ในกิจการบริหารบ้านเมือง เพื่อให้ทรง ทราบถึงพระบรมราโชบาย พระราชวิเทโศบาย แนวพระราชดําริ ตลอดจนปัญหา และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองขณะนั้น

ซึ่งเป็นปัญหาที่แตกต่างจากอดีต โดยเฉพาะปัญหาการคุกคามของลัทธิล่าอาณานิคมอันถือเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงและเอกราชของชาติ ทําให้ต้องทรงปรับเปลี่ยนพระบรมราโชบายในการบริหารประเทศให้เหมาะสมทันสมัย เช่น การส่งพระราชโอรสทุกพระองค์ไปทรงศึกษาวิทยาการสมั ใหม่แต่ละด้านในแต่ละประเทศในทวีปยุโรป เพื่อที่จะได้กลับมาพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศในทุก ๆ ด้าน อันเป็นส่วนหนึ่งของการต้านภัยคุกคามของลัทธิล่าอาณานิคม

ส่วนองค์รัชทายาทนั้น ต้องทรงเรียนรู้ภาพรวมของสถานการณ์และปัญหาของบ้านเมือง ตลอดจนพระบรมราโชบายในการแก้ปัญหาและการบริหารบ้านเมือง ซึ่งจะต้องทรงเรียนรู้โดยตรงจากสมเด็จพระบรมราชชนก ด้วยการทรงปฏิบัติและทรงฟังจากพระราชดําริ พระราชดํารัส ถึงการแก้ปัญหาทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว ด้วยเหตุดังกล่าวจึงโปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ทรงอยู่รับใช้สนองพระเดชพระคุณใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในบ้านเมืองและโปรดจ้างครูชาวต่างประเทศมาสอนภาษาและวิทยาการสมัยใหม่ที่จําเป็นต้องทรงทราบเพื่อประโยชน์ในการบริหารประเทศต่อไป

นอกจากความรู้ดังกล่าวแล้ว สมเด็จพระบรมราชชนกยังต้องทรงสังเกตถึงพระจริยวัตรน้ำพระทัย และ ความถนัด ตลอดจนพระราชดําริอันเป็นคุณสมบัติของความเป็นพระมหากษัตริย์สยาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักพระทัยดีว่า พระราชโอรสทุกพระองค์ทรงเกิดมาท่ามกลางอํานาจ วาสนา ความสุข สนุกสบาย การพะเน้าพะนอตามใจของผู้คนรอบข้าง จึงมีพระอุปนิสัยเอาแต่พระทัยพระองค์เอง ไม่ทรงเกรงกลัวผู้ใดนอกจากสมเด็จพระบรมราชชนกชนนี

เมื่อพระราชโอรสต้องเสด็จไปทรงศึกษายังประเทศในยุโรป ห่างพระเนตรพระกรรณ จําเป็นต้องอยู่ในความดูแลของพระอภิบาล และเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงต้องพระราชทานพระบรมราโชวาท แนะนําห้ามปรามบังคับตลอดจนบทกําหนดโทษ เพื่อให้พระราชโอรสทรงปฏิบัติตามแนวทางที่ทรงวางไว้ ในส่วนพระราชโอรสที่เป็นองค์รัชทายาท แม้จะทรงอบรมสั่งสอนใกล้ชิดติดพระองค์ แต่ก็ยังโปรดพระราชทานพระราชหัตถเลขาพระบรมราโชวาทที่เหมาะกับเวลาและสถานการณ์ ปรากฎหลักฐานพระราชหัตถเลขาถึงพระราชโอรสพระ องค์นี้ 2 ฉบับ

ข้อความในพระบรมราโชวาททรงกล่าวถึงหน้าที่ความรับผิดชอบและจิตสํานึกในฐานะและตําแหน่งองค์รัชทายาท ทรงเล่าถึงความยากลําบากในการต่อสู้ของบูรพกษัตริย์ต้นราชวงศ์จักรีในการปราบจลาจล สร้างบ้านแปลงเมืองใหม่ ทําสงครามกับอริราชศัตรูเพื่อรักษาบ้านเมืองให้ดํารงความเป็นเอกราช ตลอด จนทํานุบํารุงให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองและมั่นคง โดยเฉพาะในต้นรัชสมัยของพระองค์นั้นมีเหตุการณ์และปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย นับแต่การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะที่พระองค์มีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา และทรงพระประชวรพระอาการหนัก อีกทั้งอํานาจการบริหารบ้านเมืองส่วนใหญ่ตกอยู่ในอํานาจของเสนาบดีตระกูลบุนนาค และยังมีปัญหาการคุกคามของจักรวรรดิ นิยมตะวันตกซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ดังที่ทรงบรรยายเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ว่า

“ทั้งมีศัตรูซึ่งมุ่งหมายอยู่โดยเปิดเผยรอบข้างทั้งภายในและภายนอก หมายเอาทั้งในกรุงเองและต่างประเทศ ทั้งโรคภัยในกายเบียดเบียนแสนสาหัส” ทรงต้องเผชิญกับความทุกข์อย่างแสน สาหัสดังที่ทรงเปรียบความทุกข์ของพระ องค์ในครั้งนั้นว่า “ในขณะนั้นเปรียบเหมือนคนที่ศีรษะขาดแล้ว จับเอาแต่ร่างกายขึ้นตั้งไว้ในที่สมมติกษัตริย์ เหลือที่จะพรรณนาถึงความทุกข์” แต่ก็ทรงสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างละมุนละม่อมเป็นผลสําเร็จอย่างสมบูรณ์

ทรงบรรยายถึงวิธีการที่ทรงใช้ปฏิบัติ เริ่มแต่ความพยายามในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้หายขาด บํารุง ร่างกายให้แข็งแรงด้วยการอดกลั้นต่อความสุขทั้งปวง มีการกินการบันเทิง เป็นต้น มีความเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้คนรอบข้างไม่เว้นแม้แต่ผู้มุ่งร้ายหมายขวัญ แสดงความเคารพอ่อนน้อมต่อพระบรมวงศานุวงศ์เสนาบดีผู้ใหญ่ จนได้รับความเอ็นดูให้ความร่วมมือในกิจการต่าง ๆ ทรงแสดงจุดยืนและพระปรีชาสามารถในอันที่จะปกป้องทํานุบํารุงบ้านเมือง บําบัดทุกข์บํารุงสุขราษฎรอย่างแน่วแน่จนเป็นที่เชื่อถือและนับถือของผู้น้อย ทําให้เต็มใจที่จะร่วมมือในพระบรมราโชบายที่ทรงกําหนด ในส่วนพระองค์ก็ทรงดํารงพระองค์ตั้งอยู่ในความยุติธรรมตอบแทนผู้ทําดีทําประโยชน์ ลงโทษผู้ทําผิดทําชั่วโดยไม่เว้นแม้พระ บรมวงศานุวงศ์ใกล้ชิด พระจริยวัตรและการปฏิบัติพระองค์ดังกล่าวทําให้เกิดความมั่นใจและมีกําลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ จึงทรงสามารถบริหารบ้านเมืองได้อย่างราบรื่นเป็นผลสําเร็จตามพระบรมราโชบาย

ทรงบรรยายถึงพระราชภารกิจที่ทรงปฏิบัติแต่ละครั้งนั้นเต็มไปด้วยความยากลําบาก เช่น การดึงอํานาจซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในมือของเสนาบดี ซึ่งบริหารงานเป็นสิทธิ์ขาดในแต่ละหน่วยงาน ทรงต้องต่อสู้และอดทนกับความรู้สึกของพระองค์เองที่มีต่อความต้องการอันหลากหลายของผู้ต่อต้านรอบพระองค์ที่ล้วนมีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือต้องการที่จะรักษาผลประโยชน์และอํานาจของตัวเองไว้ให้ได้นานที่สุดมาก ที่สุด จึงต้องทรงใช้ทั้งพระสติปัญญา ความสามารถปฏิภาณไหวพริบ และความอดทนอย่างมากในการที่จะทําให้ผู้เสียอํานาจและผลประโยชน์ยินยอมเห็นด้วยกับพระบรมราโชบายดึงอํานาจที่กระจัดกระจายให้มารวมอยู่ส่วนกลาง เพื่อสะดวกในการบริหาร ทรงบรรยายความยากลําบากในพระราชภารกิจ เหล่านี้ไว้ว่า

“เป็นพระเจ้าแผ่นดินสําหรับจะเป็นคนจน จนที่อดกลั้นต่อสุขต่อทุกข์ อดกลั้นต่อความรักและความชัง อันจะเกิดฉิวขึ้นมาในใจ หรือมีผู้ยุยง เป็นผู้ปราศจากความเกียจคร้าน ผลที่จะได้นั้นมีแต่ชื่อเสียงปรากฏเมื่อเวลาตายแล้วว่าเป็นผู้รักษาวงษ์ตระกูลไว้ได้ และเป็นผู้ป้องกันความทุกข์ของราษฎร ซึ่งอยู่ในอํานาจความปกครอง ต้องหมายใจในความสองข้อนี้เป็นหลักมากกว่าคิดถึงการเรื่องอื่น ๆ

จากความยากลําบากในพระราชภารกิจที่ทรงปฏิบัติทําให้ทรงตระหนักพระทัยว่า “การเป็นเจ้าแผ่นดินไม่ใช่สําหรับมั่งมีไม่ใช่สําหรับคุมเหงคนเล่นตามใจชอบ มิใช่เกลียดไว้แล้วจะได้แก้เผ็ดมิใช่เป็นผู้สําหรับจะกินสบายนอนสบาย

ด้วยเหตุที่พระราชดําริและความรู้สึกส่วนพระองค์เป็นเช่นดังกล่าวเมื่อโปรดพระราชทานพระบรมราโชวาทแด่พระราชโอรส ซึ่งจะต้องทรงดํารงพระสถานะเป็นเจ้าแผ่นดินต่อไป จึงสะท้อนแนวพระราชดําริและความรู้สึกว่า “อย่าถือว่าเกิดมามีบุญ ต้องถือว่าตัวเกิดมามีกรรมสําหรับจะเทียมแอกไถทําการที่หนัก การซึ่งจะมีวาสนาขึ้นต่อไปนั้น เป็นความทุกข์มิใช่ความสุข”

 


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 5 เมษายน พ.ศ.2563