ทูตสหรัฐฯ สมัย ร.4 ชม “ชนบทสยาม” เรียบร้อยสะอาดตากว่าชาติอื่น-ช่วยพ้นโรคภัย

บ้านเรือนและวัดวาอารามของไทยที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภาพเขียนสีน้ำโดย ดร. จอร์จ ฟินเลย์สัน (George Finlayson) นักธรรมชาติวิทยาที่เข้ามาสำรวจไทยและเวียดนามใน ค.ศ. ๑๘๒๑ และ ๑๘๒๒ ปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ British Library, Oriental and India Office Collection (ภาพจาก "THAI ART & CULTURE : Historic Manuscripts from Western Collections". Henry Ginsburg. Silk-worm Books, 2000)

เทาเซนด์ แฮรีส เป็นผู้แทนทางการทูตผู้มีอำนาจเต็มของสหรัฐอเมริกาในการเจรจาขอปรับแก้สนธิสัญญาระหว่างไทย (หรือที่มักถูกเรียกว่าสยามในขณะนั้น) กับสหรัฐฯ ที่ทำกันไว้ตั้งแต่ต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

เทาเซนด์ แฮรีส เดินทางมาเมืองไทยโดยเรือรบอเมริกัน ซึ่งเป็นเรือฟริเกตชื่อ ซาน จาชินโต โดยมี พลเรือจัตวา เจมส์ อาร์มสตรอง เป็นผู้บังคับการเรือ, และมาถึงสันดอนของแม่น้ำเจ้าพระยาในวันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน 2399. เทาเซนด์ แฮรีส พำนักอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นเวลา 48 วัน จึงเสร็จสิ้นภารกิจ และเดินทางออกไปจากเมืองไทยในวันที่ 1 มิถุนายน ศกเดียวกัน.

เนื้อหาที่ทูตสหรัฐฯ ท่านนี้เอ่ยถึงสภาพในบ้านเมืองสยามยุคนั้น ใจความส่วนหนึ่งมีว่า

“2-3 ไมล์เหนือปากน้ำขึ้นมาจะเริ่มเห็นบ้านชนบทของไทย โดยทั่วไปแล้ว บ้านเหล่านี้ดูเรียบร้อยและสะอาดตามาก และดีกว่าบ้านของชาวชนบทในอินเดีย จีน และโดยเฉพาะบ้านของชาวมลายูมาก.

บ้านมีเสาหลายต้น สูงเหนือพื้นดิน 6 ฟุต ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยทำให้อุณหภูมิของอากาศแห้งมากขึ้นเท่านั้น. ยังช่วยทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านปลอดภัยจากแกสกรดคาร์โบนิก หรือไข้มาเลเรีย”

เทาเซนด์ แฮรีส (by James Bogle, 1855)

หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงขึ้นใหม่โดยใช้เนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เมืองไทยในความรู้สึกของ เทาเซนด์ แฮรีส” เขียนโดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ตุลาคม 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2561