“ยิ้มของพระเจ้าแผ่นดิน คือ น้ำทิพย์” รับสั่งรัชกาลที่ 6 หลังการประทับ “พระราชยาน”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับพระราชยานงาเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนราบจากท่าฉนวนไปประทับเกยหน้าพระอารามวัดอรุณราชวราราม ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2454

บันทึกของจมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) กล่าวถึงการประทับพระราชยานเสด็จพระราชดําเนินไปยังที่ต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ว่า

“ทรงเล่าอย่างขันๆ ว่า ไม่มียานพาหนะใดที่จะนั่งด้วยอาการเป็นคิงแท้ๆ เท่าราชยาน เพราะหาความสุขสบายมิได้เลย ทรงตรัสว่า ที่นั่งกว้างพอดีกับพระที่นั่ง [คือ ก้นของท่าน] ที่วางพระบาทมีเฉพาะเพียงพระบาททั้งคู่วางชิดๆ กันได้ไม่ตกแต่หมิ่นเต็มที่ บางทีต้องไขว้และก็ต้องไขว้ซ้ายบนบ้าง ขวาบนบ้าง เรียงคู่บ้าง สลับกันไป เช่นนี้ตลอดทาง ไม่มีทางทําอย่างอื่นได้ เพราะบางคราวทรงนึกจะไขว่ห้างก็ไม่กล้าทํา เพราะเกรงจะไม่เหมาะสม

สองข้างบัลลังก์ยังเป็นกระจังทําด้วยทอง บางที่แกะด้วยไม้มีกนกแหลมๆ เต็มไปหมด วางพระกรเข้าก็เจ็บ ไม่วางก็ไม่รู้จะวางที่ไหน ต้องทนขยับเขยื้อนได้ยากเต็มที่ เพราะที่จํากัด และลอยอยู่ด้วยพลังของคน ถ้าขยับเขยื้อนรุนแรงข้างล่างก็เดือดร้อน ดีไม่ดีพลิกคว่ำลงเป็นเสร็จ ต้องเข้าโรงพยาบาลแน่แล้ว

รับสั่งว่า บางที่เป็นเหน็บทั้งๆ ขา ต้องขยับให้หายชา แล้วทรงกระดิกพระดัชนีให้พระโลหิตเคลื่อน พอค่อยทุเลา นั่งพิงอย่างสบายก็ไม่ได้ เสียทรง ทําให้ไม่งาม ท่านว่าทูลกระหม่อม คือ หมายถึงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 เคยสอนไว้ว่า นั่งราชยานต้องดัดทรงเป็นละคร คือ ดันกระเบนเหน็บให้ตัวตรง แล้วคิดดูซิ ประทับอยู่บนนั้นตั้งๆ ชั่วโมง

ท่านรับสั่งแล้วทรงยิ้มว่า เวลาประชาชนเขาแสดงความเคารพ ทั้งๆ ปวดเมื่อยและเป็นเหน็บก็ต้องแข็งพระราชหฤทัย ทรงยิ้ม ทรงยกพระคธาขึ้นรับเคารพ เพราะยิ้มของพระเจ้าแผ่นดิน คือ น้ำทิพย์ชโลมใจของประชาชน ท่านว่าถ้าจ้างกันละก็ละ 50 บาท [สมัยโน้น] ท่านก็ไม่เอา ต่อให้ร้อยก็ไม่รับประทาน แต่เป็นพระราชกรณียกิจแม้ให้ยากแสนยากเหนื่อยแสนเหนื่อยกว่านี้ก็ต้องรับทํา เพื่อประโยชน์สุขของทวยราษฎร์ แต่พอเสร็จพิธีตอนเข้าที่พระบรรทมน่ะซี ตกเป็นภาระอันหนักของมหาดเล็กผู้ถวายอยู่งาน เพราะจะได้ยินแต่พระสุรเสียงว่า เอาตรงนี้หน่อย คือที่บั้นพระองค์ ที่พระชาณุ [ขา] เป็นต้น”


ข้อมูลจาก: วรชาติ มีชูบท. “กระบวนพยุหยาตรา และ กระบวนราบ”, ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2560