รัชกาลที่ 1 กับพระราชวิจารณ์ผู้บูชา-นับถือลึงค์ เป็นพวกไร้ปัญญา

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เชิง สะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพ
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพมหานคร

พระราชกำหนดใหม่บทที่ 35 (ให้นับถือเทพารักษ์แต่พอควร ห้ามอย่าให้นับถือลึงค์) ในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งถูกประกาศใช้ในสมัยรัชกาลที่ 1 มีใจความตอนหนึ่งว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“…แต่ซึ่งสารเทพารักษาอันเอาไม้ทำเปนเพศบุรุษลึงใหญ่น้อยต่างๆ หญิงชายชวนกันนับถือนั้น ทรงพระกรรุณาให้นักปราชญราชบัณฑิตยค้นดูในพระไตรปิฎกก็มิได้มีหย่าง…จึ่งทรงพระวิจารณเหนว่าแรกเหดุนี้จะมีมาเพราะคนพาลกักขะละหยาบช้า แซ่งกระทำเพศอันนี้เยาะเย้ยหญิงแม่มดอันมีมารยาหาความลอายมิได้เปนเดิม สืบมาหญิงชายผู้หาปัญญามิได้ก็เอาเยื่องหย่างนับถือสืบมา เปนที่เทวะดาอันศักสิทธจะชิงชังอีก สมควรแต่กับผีสางอันต่ำศักดิสำหาวเผ่าพาลหยาบช้านั้น

อันหนึ่งเปนที่แขกเมืองนานาปรเทษไปมาค้าขายได้เหนจะดูหมิ่นถิ่นแคลนกรุงเทพพระมหานครอันกอปด้วยเกิยดิยศ จะติเตียนว่ามิควรที่จะนับถือก็มานับถือทำณุบำรุงฉนี้ จะเอาความลามกอัปรมงคลนี้ไปเล่าต่อๆ ไปในนานาประเทษต่างๆ ก็จะเสื่อมเสียสาตราคมเกรียดิยศศักดาณุภาพกรุงเทพพระมหานครไป ห้ามอย่าให้มีเพศบุรุษลึงอันลามกอัประมงคลไว้ในสารเทพารักษ์เปนอันขาดทีเดียว…”

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “ศิวลึงค์” เป็นวัตถุเคารพที่ยิ่งใหญ่สุดของมนุษย์ได้อย่างไร เผยรากตำนานตั้งแต่โบราณ

สำหรับเรื่องความเชื่ออำนาจเหนือธรรมชาติสมัยต้นรัตนโกสินทร์ “สายชล สัตยานุรักษ์” ผู้เขียนหนังสือ “พุทธศาสนากับแนวคิดทางการเมืองใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พ.ศ. 2325-2352)” อธิบายไว้ในงานเขียนตอนหนึ่งว่า

“ในรัชกาลที่ 1 แม้ชนชั้นนำจะมีความคิดที่มีลักษณะมนุษยนิยม สัจจนิยม และเหตุผลนิยมมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถสลัดความคิดที่เชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติออกไปได้อย่างสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้จึงยังคงมีการพูดถึงเหตุนิมิตต่าง ๆ

เช่นมีจดหมายเหตุว่าด้วยมดดำมดแดงและนกกระจาบกระทำให้บังเกิดเป็นมงคลนิมิตรใน พ.ศ. 2335 มีจดหมายเหตุเรื่องขุนสุระคำแหงถึงแก่กรรมและฟื้นขึ้นมาเล่าเหตุนิมิตรต่าง ๆ ใน พ.ศ. 2337 มีหนังสือผู้วิเศษมาแต่ถ้ำวัวแดงถวายคำแนะนำแก่พระมหากษัตริย์ใน พ.ศ. 2344 มีพระราชพิธีปลุกเศกเครื่องคงกระพันที่วัดไชยชนะสงครามขันธ์ มีการเสี่ยงทายพระธรรมบทเพื่อทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น สำเภาหูส่งจะเข้ามาหรือไม่ พม่าจะแพ้หรือไม่ และเจ้าอังวะจะตายหรือไม่

มีการคัดลอก “จุททสคาถา” อันประกอบด้วยพุทธมนตร์คาถา 14 บท ซึ่งเชื่อว่าถ้าจารึกลงไว้ในแผ่นเงินแผ่นทองแล้วติดไว้ตามที่ที่กำหนดจะช่วยให้บังเกิดผลตามปรารถนา และถ้าใช้ผ้าขาวทำธงสามหางลงยันต์แลคาถายกขึ้นบูชาพระพุทธเจ้า ก็จพให้จําเริญพระศิริยศเดชานุภาพปรากฏไป ทุกประเทศก็จะมาอ่อนน้อมถวายลาภต่าง ๆ และใน พ.ศ. 2351 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดฯ ให้สมเด็จพระพนรัตน์ พระพุทธโฆษา พระเทพเมาลี ประกอบพระราชพิธีมหาสวัสดิรักษาแด่กรมหลวงศรีสุนทรเทพซึ่งกำลังประชวรหนัก

นอกจากนี้ยังมีการทำพิธีสาบานต่าง ๆ นอกเหนือจากพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเพื่อผลในการควบคุมสังคม เช่นใน พ.ศ. 2335 มีพิธีสาบานของพวกเมืองทะวายว่าจะไม่คิดกบฎและจะทำราชการโดยสัจสุจริต มีการทำพิธีสาบานของทหารในกองทัพพระยายมราชซึ่งยกไปตีทะวายว่าถ้าได้ทรัพย์สมบัติมาจะถวายจนสิ้นเชิง มีพิธีสาบานของเจ้าพญาอภัยภูเบศร พญากลาโหมเขมร และพญาพระเขมรทั้งปวงว่ามิได้มีจิตรฉันทาโทษาเวรพยาบาทแก่กันแล้ว จะตั้งใจคิดอ่านปรึกษาราชการตัดสินกิจสุขทุกข์ของอนาประชาราษฎรประนีประนอมให้พร้อมมูลกัน ฉลองพระเดชพระคุณโดยสุจริต

แม้เมื่อสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลก็โปรดฯ ให้พระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยกระทำสัจสาบานต่อกัน เพื่อ ‘จะดำรงราชสุจริตรักษาพระวงษมิให้จุลาจลวิปริตผิดลำดับไป’…”

คลิกอ่านเพิ่มเติม : รัชกาลที่ 1 กับแนวคิดสัจนิยมในพุทธศาสนา ทรงไม่ถือโชคลางหรือเคร่งจารีตเก่า


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 เมษายน 2561 แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2565