พระมหากษัตริย์กับการพิพิธภัณฑ์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๑๐

“—พิพิธภัณฑสถาน มีส่วนช่วยรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติมาก และเป็นอุปกรณ์ส่งเสริมการศึกษาศิลปวิทยาการต่างๆ อย่างสำคัญ—”

เป็นพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในส่วนที่ปรับปรุงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๑๐

Advertisement

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของไทย แม้จะมีประวัติเริ่มต้นจากสิ่งของสะสมในพระมหากษัตริย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของแปลก ของสวยงาม และของที่น่าสนใจ ด้วยพระเมตตาที่จะให้ผู้อื่นได้มีโอกาสเห็นบ้าง จึงโปรดจัดรวมไว้ในอาคารสถานที่เฉพาะและเปิดให้ประชาชนเข้าชม จึงกลายเป็นต้นแบบของพิพิธภัณฑ์ในสมัยต่อมา

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ที่มีการคบค้าสมาคมกับชาวตะวันตกอย่างสนิทสนมในฐานะพระสหาย ในช่วงเวลาที่ทรงผนวชอยู่ ทรงมีโอกาสแลกเปลี่ยนวิชาความรู้ในด้านต่างๆ ทำให้ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นชาติที่มีอารยธรรมสูง ซึ่งเวลานั้นเป็นที่ยอมรับกันว่าชาติที่มีศิลปวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์สั่งสมกันมายาวนาน ถือว่าเป็นชาติที่มีอารยธรรมสูงส่ง ทำให้ผู้นำประเทศทั้งหลายเห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของโบราณสถานโบราณวัตถุภายในบ้านเมืองของตน เป็นเหตุให้มีการตื่นตัวบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถาน เก็บงำโบราณวัตถุไว้ในสถานที่ที่เรียกว่าพิพิธภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมสถานภาพของความเป็นผู้มีอารยธรรมสูง และเพื่อการศึกษาถึงรากเหง้าบ้านเมืองของตน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะอยู่ในเพศบรรพชิต ทรงมีโอกาสเสด็จธุดงค์ไปตามหัวเมือง ทรงพบโบราณสถานโบราณวัตถุอันเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงความเป็นชาติที่มีศิลปวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์สั่งสมกันมายาวนาน ได้แก่ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง และพระแท่นมนังคศิลาบาตร ทรงนำโบราณวัตถุดังกล่าวมาเก็บรักษาไว้ ณ พระที่นั่งราชฤดี ในพระบรมมหาราชวัง และเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ มีผู้ถวายสิ่งของแปลกๆ หายากและมีคุณค่า รวมทั้งเครื่องบรรณาการจากต่างประเทศ ก็ทรงรวบรวมไว้ ณ พระที่นั่งแห่งนี้ ดังที่ เซอร์จอห์น เบาริ่ง ได้บรรยายถึงสิ่งของเหล่านั้นไว้ว่า

“—มีเครื่องประดับทุกชนิด หลายชนิดเกี่ยวกับธรรมชาติ เป็นต้นว่านอแรดรูปร่างแปลกประหลาด งาช้าง ประติมากรรมหลายชิ้นจากทวีปยุโรป แจกันกระเบื้องถ้วยจากประเทศจีน งาช้างและไม้จำหลักอย่างงดงาม—”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทอดพระเนตรศิลปโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๑๐

ในช่วงเวลานี้เองที่คนไทยได้มีโอกาสรู้เรื่องราวของการจัดระบบระเบียบของสะสมต่างๆ ที่เรียกว่าพิพิธภัณฑ์ จากนิราศลอนดอน ของหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร) ซึ่งบรรยายถึงสิ่งที่ได้พบเห็นในพิพิธภัณฑ์ของประเทศอังกฤษ และยังเป็นช่วงเวลาที่ประเทศทางตะวันตกกำลังนิยมจัดแสดงพิพิธภัณฑ์นานาชาติ โดยขอความร่วมมือจากชาติต่างๆ ให้ส่งวัตถุสิ่งของหรือศิลปกรรมอันเป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นชาตินั้นๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดให้ส่งวัตถุซึ่งแสดงถึงศิลปวัฒนธรรมของสยามไปแสดงที่พิพิธภัณฑ์นานาชาติหลายครั้งด้วยพระราชประสงค์ให้สยามเป็นที่รู้จักของชาวโลกในฐานะประเทศที่มีอารยธรรมสูง

ครั้งนั้นจึงเกิดการตื่นตัวเรื่องการจัดพิพิธภัณฑ์ตามแบบสากล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ย้ายสิ่งของสะสมต่างๆ จากพระที่นั่งราชฤดีมาไว้ ณ พระที่นั่งใหญ่ในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ ซึ่งสร้างขึ้นใหม่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบยุโรป โปรดให้เรียกพระที่นั่งองค์นี้ว่า “ประพาสพิพิธภัณฑ์” และยังโปรดให้ประชาชนมีโอกาสได้เข้าชมเป็นครั้งคราว จึงน่าจะนับได้ว่าพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์เป็นพิพิธภัณฑ์ตามความหมายที่แท้จริงเป็นแห่งแรกของสยาม แต่ในสมัยนั้นเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่ามิวเซียม

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของกิจการพิพิธภัณฑ์ จึงโปรดให้มีการพัฒนาให้เป็นไปตามแบบสากล คือเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชนได้มีโอกาสเข้าชมและศึกษาศิลปวัฒนธรรมของไทยผ่านศิลปวัตถุและโบราณวัตถุ ซึ่งโปรดให้เก็บรวบรวมมาจัดไว้ ครั้งนั้นโปรดให้กรมทหารมหาดเล็กจัดแสดงสิ่งต่างๆ มีทั้งเครื่องราชูปโภค อาวุธ ของแปลกประหลาด ของมีค่าสวยงามหายากซึ่งล้วนเป็นศิลปวัฒนธรรมของไทย รวมทั้งเครื่องบรรณาการจากประเทศต่างๆ มาตั้งไว้ให้ประชาชนเข้าชม ณ หอคองคอเดีย

ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก จึงโปรดให้มีการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์เป็นพิเศษ เพื่อประชาชนในโอกาสสำคัญต่างๆ โดยมี นายเฮนรี่ อาลาบาสเตอร์ (Henry Alabaster) ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการจัดแสดงทุกครั้ง และในช่วงเวลานี้ทุกๆ ประเทศทั้งในยุโรปและอเมริกาก็ยังกำลังตื่นตัวเกี่ยวกับกิจการพิพิธภัณฑ์ นิยมจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์นานาชาติ

โดยขอความร่วมมือประเทศต่างๆ ให้คัดเลือกสิ่งของพิเศษในประเทศของตนไปแสดง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เป็นโอกาสที่จะให้ประเทศต่างๆ รู้จักสยามในฐานะเป็นประเทศเอกราชที่มีอารยธรรมเป็นของตนเองมายาวนาน ดังปรากฏพระราชดำริและพระราชประสงค์นี้ในครั้งที่โปรดให้คัดเลือกสิ่งของไปร่วมแสดงยังประเทศสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. ๒๔๔๘ ความว่า “—การที่เราจัดของไปตั้งพิพิธภัณฑ์คราวนี้ก็เพื่อประสงค์จะให้คนอเมริกันรู้จักประเทศสยาม—”

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ความสนพระราชหฤทัยและเอาพระราชหฤทัยใส่ในกิจการพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างมาก ทรงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องปฏิบัติอย่างเร่งด่วน คือการสำรวจศึกษาและควบคุมดูแลโบราณสถาน เก็บรักษาโบราณวัตถุที่ถูกทิ้งร้าง เพราะสิ่งเหล่านี้ถือเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ และเพื่อให้การปกปักรักษาโบราณสถานโบราณวัตถุเป็นไปอย่างมีหลักเกณฑ์ ใน พ.ศ. ๒๔๖๖ จึงโปรดให้ออกประกาศการจัดตรวจรักษาของโบราณ

ประกาศฉบับนี้ถือเป็นแม่แบบในการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณวัตถุสถานในสมัยต่อมา ทำให้แนวการจัดพิพิธภัณฑ์เปลี่ยนไป เป็นการให้ความสำคัญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีมากขึ้น และได้กลายมาเป็นแนวทางการจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานส่วนใหญ่ในเวลาต่อมา

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี บรมราชินี ทรงฉายร่วมกับคณะกรรมการราชบัณฑิตยสภา หน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้สภาพเศรษฐกิจจะไม่อำนวยในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ แต่สำหรับด้านกิจการพิพิธภัณฑ์นั้นทรงให้ความสนพระราชหฤทัย และโปรดปรับปรุงพัฒนาให้เจริญก้าวหน้า ด้วยทรงเห็นถึงความสำคัญของกิจการด้านนี้ เพราะจะเป็นเครื่องเชิดชูความเป็นชนชาติที่มีอารยธรรมสูง ดังปรากฏพระราชดำรินี้ในพระราชดำรัสตอนหนึ่งในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครว่า

“—ด้วยเวลานี้ประเทศสยามยังขัดแคลนในการเงินอยู่และยังมีกิจการที่จะต้องกระทำอีกมากหลาย แต่ครั้นจะไม่พยายามบำรุงศิลปและวิชาเหล่านี้เสียเลย ก็มีแต่จะเสื่อมลงไปทุกที เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก—”

ในรัชสมัยนี้โปรดให้มีการปรับเปลี่ยนการบริหารงานกิจการพิพิธภัณฑ์ใหม่เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการโปรดให้โอนพิพิธภัณฑสถานไปอยู่ในความดูแลของหอสมุดสำหรับพระนคร และโปรดให้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครขึ้นเป็นหลักในการบริหารงาน และเพื่อความเหมาะสมยิ่งขึ้น ในปีต่อมาโปรดให้โอนพิพิธภัณฑสถานไปรวมอยู่กับราชบัณฑิตยสภา ซึ่งขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภา เจ้านายพระองค์นี้สนพระทัยและรักในวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทรงพยายามขวนขวายหาวิธีพัฒนากิจการพิพิธภัณฑ์ โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อย แต่ได้ผลมาก

ครั้งนั้นทรงขอพระราชทานสถานที่สำหรับจัดพิพิธภัณฑ์อย่างถาวรและเหมาะสมกับการจัดพิพิธภัณฑ์ตามแบบสากล จึงโปรดพระราชทานพระราชมณเฑียรสถานตลอดทั้งบริเวณพระบวรราชวังด้านเหนือ ประกอบด้วย พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ให้เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถาน และโปรดพระราชทานสิ่งของมีค่าเพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งนี้อีกเป็นจำนวนมาก ด้วยตระหนักพระราชหฤทัยดีว่า โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และการฝีมือช่างต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนั้นเป็นสมบัติของชาติ และเป็นส่วนสำคัญของความเป็นชาติ สมควรที่คนไทยทุกคนจะต้องช่วยกันรักษาและทำนุบำรุงให้เจริญขึ้น

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดให้ปฏิสังขรณ์และปรับปรุงพระที่นั่งเดิมเพื่อจักแสดงศิลปวัตถุและโบราณวัตถุ โดยแบ่งตามยุคสมัย ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๖๙ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ รัฐบาลตั้งกรมศิลปากรขึ้นใหม่ และให้งานพิพิธภัณฑ์โอนมาสังกัดอยู่ในกรมนี้ เปลี่ยนชื่อจากพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร มาเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

ขณะนั้นพระบวรราชวังอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ต้องการการบูรณปฏิสังขรณ์ ในขณะเดียวกันจำนวนโบราณวัตถุที่พิพิธภัณฑ์รับเข้ามามีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกที รัฐบาลมีงบประมาณไม่มากนัก จึงค่อยๆ บูรณะซ่อมแซมอาคารพระที่นั่งเก่า และสร้างอาคารใหม่เพื่อจัดแสดงศิลปวัตถุและโบราณวัตถุตามหลักวิชาการพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญคืออำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าชมหรือศึกษาหาความรู้และความเข้าใจทันทีที่ได้ดูหรือได้อ่าน อันเป็นการสนองความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนไป

พิพิธภัณฑ์จึงมิได้มีหน้าที่เก็บของเก่าหรือของสะสมอีกต่อไป แต่ “—มีส่วนช่วยรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติ—” และ “—เป็นอุปกรณ์ส่งเสริมการศึกษาศิลปวิทยาการต่างๆ อย่างสำคัญ—” อันปรากฏในพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นพระราชดำรัสที่แสดงถึงความเข้าพระราชหฤทัยในฐานะและหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์อย่างลึกซึ้ง