สยามรุกคืบล้านนา ใช้กลวิธีเฉกเช่นนักล่าอาณานิคมชาวตะวันตกในการผนวกล้านนา

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินประพาสมณฑลพายัพ ขบวนรถไฟพระที่นั่งถึงยังสถานีเชียงใหม่

เมื่อแนวคิดจักรวรรดินิยมจากนักล่าอาณานิคมเข้าสู่ดินแดนแถบนี้ ผลักดันให้ชนชั้นนำสยามเริ่มเปลี่ยนแนวคิดในการปกครองประเทศราชโดยเฉพาะในดินแดนล้านนา โดยได้ศึกษาวิธีการของเจ้าอาณานิคมตะวันตกมาปรับใช้เป็นแนว เพื่อใช้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์จากดินแดนประเทศราชให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในพระราชาอาณาเขต

เมื่อ พ.. 2347 ชาวเชียงแสนไม่ได้รู้สึกยินดีแต่กลับเสียใจกับการที่เมืองเชียงแสน ที่มั่นสุดท้ายของพม่าในล้านนาถูกสยามร่วมกับเชื้อเจ้าเจ็ดตนตีแตก สะท้อนความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของล้านนากับสยามในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในสมัยปฏิรูปการปกครองของรัชกาลที่ 5 มีการค้นพบว่าไม้สักของเมืองเชียงใหม่ ถูกส่งไปค้าขายในเมืองท่าของพม่าที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษอย่าง เมืองท่ามะละแหม่ง ทำให้สยามฉุกคิดที่จะจัดการกับการปกครองล้านนาอย่างจริงจัง ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับการปกครองล้านนาที่ว่า “…เมื่อมีอยู่ก็ต้องปกครองรักษาให้สิทธิขาดจริง ๆ ถ้าปกครองไม่ได้สิทธิขาดแล้วไม่มีเสียดีกว่า…”

สยามเริ่มรุกคืบเข้าไปในล้านนาอันเนื่องมาจากการแผ่อิทธิพลของอังกฤษที่เริ่มมีมากขึ้นในดินแดนแถบนี้ โดยเฉพาะในดินแดนพม่าที่เริ่มพ่ายแพ่สงครามต่ออังกฤษเรื่อย ๆ อังกฤษเข้ามามีบทบาทในล้านนาจากการเข้ามาสัมปทานป่าไม้ โดยเฉพาะการทำไม้สักที่สร้างมูลค่ามหาศาลมาก จากปัจจัยเรื่องลัทธิจักรวรรดินิยมสร้างแรงผลักดันต่อสยามให้เริ่มแผ่อำนาจสู่ดินแดนล้านนาเพื่อแสดงตนเหนือดินแดนแถบนี้ให้ชาติตะวันตกตระหนัก

แต่เดิมนั้นดินแดนล้านนามีอิสระในการปกครองตนเองสูงมากระดับหนึ่ง สามารถจัดรูปแบบการปกครองที่เรียกว่าเค้าสนามหลวงไว้ปกครองบ้านเมืองด้วยตนเอง สามารถจัดเก็บภาษีด้วยตนเอง แต่จะมีหน้าที่ส่งบรรณาการให้สยามทุก ๆ สามปี รศ. ดร. เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว กล่าวว่า ไม้ในเมืองมะละแม่งกว่า 95% ล้วนเป็นไม้ที่ส่งมาจากเชียงใหม่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ในล้านนา และอุตสาหกรรมส่งออกที่สร้างรายได้ให้เจ้านายล้านนาได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้หากมีใบบอกจากสยามมาให้ปฏิบัติก็ต้องทำตาม เช่น ใบบอกให้เกณณ์ไพร่พลไปรบ ใบบอกให้ส่งไม้ส่งซุงมาสร้างพระเมรุที่กรุงเทพ ซึ่งเจ้านายล้านนาก็ต้องเสด็จมาถวายพระเพลิงพระบรมศพตามธรรมเนียม

สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “แผนสยามยึดล้านนา” วันที่ 25 กรกฎาคม 2562

ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงเริ่มนำอำนาจจากกรุงเทพฯ สู่ดินแดนล้านนาอย่างจริงจัง เริ่มจากการส่งข้าหลวงขึ้นไปกำกับราชการ ทำการจัดเก็บภาษีเข้าส่วนกลาง ไม่ให้เจ้านายล้านนาเป็นผู้เก็บภาษีเองอีกต่อไป จากนั้นจึงเริ่มดำเนินนโยบาลด้านต่าง ๆ ควบคู่กันไป ทั้งการทำแผนที่เพื่อกำหนดเขตแดนที่ชัดเจน สำรวจสำมะโนครัวเพื่อกำหนดคนให้ชัดเจนว่าใครอยู่ในบังคับของสยาม ใครอยู่ในบังคับของอังกฤษ วางรากฐานการศึกษาและคณะสงฆ์ให้มีลักษณะแบบเดียวกับที่กรุงเทพฯ พัฒนาการสื่อสารทางโทรเลขและคมนาคมขนส่ง รวมถึงการส่งเสริมการเข้าไปเผยแพร่ศาสนาของคณะมิชชันนารี เหล่านี้เป็นวิธีแบบที่เจ้าอาณานิคมชาวตะวันตกกระทำ ตัวอย่างเห็นได้จากอังกฤษก็ส่งข้าหลวงมาปกครองอินเดีย สร้างทางรถไฟในอินเดีย จัดเก็บภาษีสู่ส่วนกลางด้วยตนเอง นอกจากนี้สยามยังใช้วิธีตามจารีตเดิมคือการแต่งงานระหว่างสองราชวงศ์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติ

ประเด็นสำคัญอยู่ที่การจัดเก็บภาษี เพราะเป็นแหล่งรายได้ของเจ้านายล้านนาโดยตรง เมื่อรัชกาลที่ 5 ดำเนินพระบรมราโชบายปฏิรูปการจัดเก็บภาษีก็กระทบต่อเจ้านายล้านนา รศ. ดร. เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว อธิบายว่าต้องใช้เวลานานนับสิบปีในการค่อย ๆ ประนีประนอมกับเจ้านายล้านนาในเรื่องนี้ โดยเทียบการเก็บภาษีเมื่อ พ.ศ. 2439 เก็บภาษีได้ราว 330,000 บาท อีก 4 ปีต่อมาพอสยามเข้าไปทำสัมปทานป่าไม้อย่างเป็นทางการ จึงเก็บภาษีได้ราว 1,300,000 บาท ทั้งนี้การจัดเก็บภาษีได้มาก รัชกาลที่ 5 ก็ปันเงินให้เจ้านายล้านนามากเพิ่มขึ้นไปด้วย

แม้สยามรุกคืบล้านนาจากส่วนบนคือเจ้านายและชนชั้นปกครอง แต่นั่นไม่ได้ทำให้ล้านนากลายเป็นส่วนหนึ่งของสยามได้ ในรัชสมัยต่อ ๆ มาจึงมีการรุกคืบจากส่วนล่างหรือชนชั้นผู้ถูกปกครองคือประชาชนชาวล้านนาทั่วไป โดยการใช้การศึกษาและการควบคุมสงฆ์มาเป็นเครื่องมือ เพื่อสร้างการยึดโยงระหว่างชาวล้านนากับสยามให้เป็นชนกลุ่มเดียวกันมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการพัฒนาความเจริญด้านต่าง ๆ และการดำเนินนโยบายหลายด้าน เช่น พัฒนาการคมนาคมทางรถไฟและเครื่องบิน พัฒนาการสื่อสารทางไปรษณีย์และโทรเลข ล้วนแต่เป็นส่วนเสริมให้ระบบการเก็บภาษี ระบบเศรษฐกิจ ระบบการปกครอง โดยสยามนั้นประสบผลสำเร็จ ทำให้ล้านนากลืนเข้าสู่สยามได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

เจ้านายฝ่ายเหนือฟ้อนในพิธีทูลพระขวัญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 คราวเสด็จประพาส

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.. 2475 คณะราษฎรยังมีความระแวงว่านครเชียงใหม่ที่รวมเป็นสยามแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 นั้นจะยังอยู่ในสถานะเดิม และระแวงว่า เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้านครเชียงใหม่ จะคิดอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และมีข่าวคราวว่าจะเอาใจออกห่างจากกรุงเทพฯ ทางคณะราษฎรจึงเชิญเจ้าแก้วนวรัฐลงมาที่กรุงเทพฯ เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าท่านคิดอย่างไร ซึ่งสุดท้ายก็มิได้เป็นเช่นข่าวดังกล่าว

กระทั่งการยกเลิกตำแหน่งเจ้าหลวงหรือเจ้าผู้ครองนครในดินแดนล้านนา จึงนับได้ว่าล้านนาผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสยามอย่างสมบูรณ์

เมื่อมองถึงกระบวนวิธีการที่สยามใช้ผนวกหรือกลืนล้านนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งนั้น ในทางปฏิบัติแทบไม่ต่างจากการล่าอาณานิคม” ของชาวตะวันตก แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งแล้ว น่าคิดว่าหากล้านนาไม่ถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ชะตากรรมของล้านนาจะเป็นเช่นไร?

ชมเสวนาช่วงที่ 1 :

Live สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “แผนสยามยึดล้านนา” โดย รศ. ดร. เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ดำเนินการเสวนาโดยเอกภัทร์ เชิดธรรมธร

โพสต์โดย Matichon Online – มติชนออนไลน์ เมื่อ วันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2019

เสวนาช่วงที่ 2 :

Live (2) สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “แผนสยามยึดล้านนา” โดย รศ. ดร. เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ดำเนินการเสวนาโดยเอกภัทร์ เชิดธรรมธร

โพสต์โดย Matichon Online – มติชนออนไลน์ เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2019

 


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กรกฎาคม 2562