เผยแพร่ |
---|
สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “พระปิ่นเกล้าฯ – ‘เจ้าฟ้าน้อย’ ‘วังหน้า’ ผู้ทรงมาเปิดสยาม” วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 วิทยากรโดย ปรามินทร์ เครือทอง ดำเนินการเสวนาโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ร่วมพูดคุยเรื่องราวของ “พระปิ่นเกล้าฯ” พระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ 2
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด) พระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2351 เป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
เมื่อเข้าสู่แผ่นดินรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมอบหมายให้ “เจ้าฟ้าน้อย” รับราชการ และโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็น “กรมขุนอิศเรศรังสรรค์” รับราชการในกรมปืนใหญ่ และเป็นเจ้ากรมอาสาจาม-ญวน และทรงฝึกทหารในสังกัดตามแบบอย่างตะวันตก
ถึง พ.ศ. 2379 เกิดเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งคือการประหาร พระละคร และขุนประเสริฐ เนื่องจากทั้งสองไปกวาดต้อนคนจากภาคอีสานแทบหนองคาย-มุกดาหารมาถวายพระปิ่นเกล้าฯ เป็นคนในสังกัด แต่การสะสมคนเช่นนี้ก่อปัญหามากกว่าการสะสมทรัพย์สมบัติ เนื่องจากการสะสมกำลังคนเข้าข่ายกบฏต่อแผ่นดิน ปรามินทร์ เครือทอง ระบุว่า พระปิ่นเกล้าฯ “เกือบจะซวย” ไปด้วย
“ทหารคนสนิททำผิดฐานกระทำกบฏแล้วถูกประหาร ผมคิดว่าจุดนี้เป็นจุดที่ทำให้ท่าน (พระปิ่นเกล้าฯ) สะดุ้ง เพราะว่าจริง ๆ แล้วควรจะไว้หน้ากัน หรือว่าอย่างน้อยจำคุก แต่นี่ประหารเลย แล้วเว้นโทษท่าน (พระปิ่นเกล้าฯ) รัชกาลที่ 5 พูดถึงตอนนี้ว่าท่าน (พระปิ่นเกล้าฯ) ก็เฉย ๆ เนียน ๆ ไป”
ปรามินทร์ เครือทอง อธิบายว่า เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้พระปิ่นเกล้าฯ เคลื่อนไหวทางการเมืองน้อยมากตลอดพระชนมชีพหลังจากเหตุการณ์นี้
ครั้นรัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์ ก็ทรงตั้งพระปิ่นเกล้าฯ ให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า แต่เป็นวังหน้าที่เหนือกว่าวังหน้าทั่วไป มีการบวรราชาภิเษก ออกพระนาม “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดยชื่อนั้นสำคัญเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดิน แต่จะทรงมีพระราชอำนาจเป็นดังชื่อหรือไม่?
ปรามินทร์ เครือทอง อธิบายเปรียบเทียบระหว่างการราชาภิเษกของพระเจ้าแผ่นดินหรือวังหลวง กับการบวรราชาภิเษกของวังหน้า โดยจะเห็นได้ว่า การบวรราชาภิเษกมีการลดทอนการราชาภิเษกลงมาค่อนข้างมาก
และเมื่อเปรียบเทียบพระปรมาภิไธย “ปรเมนทรมหามกุฎฯ” ของรัชกาลที่ 4 กับ “บวเรนทราเมศวรฯ” ของพระปิ่นเกล้าฯ ก็จะเห็นว่า ตำแหน่งราเมศวรเป็นตำแหน่งของอุปราชตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตำแหน่งโดยชื่อก็จึงเป็นรองพระเจ้าแผ่นดิน
ปรามินทร์ เครือทอง กล่าวว่า “การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยกท่านขึ้นเหนือกว่าวังหน้า โดยมีบวรราชาภิเษกที่เหนือกว่าวังหน้าที่เคยทำกันมา แต่ไม่เท่ากับราชาภิเษกของวังหลวง เพราะฉะนั้นถ้าจะเทียบแล้ว วังหลวงเป็น 1 วังหน้าเป็น 2 ของท่าน 1.5 อยู่ตรงกลาง ไม่ 2 ไม่ 1 เป็น 1.5 เป็นลักษณะพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ จริง ๆ ในประวัติศาสตร์ไทยเสียด้วยซ้ำ”
การแต่งตั้งพระปิ่นเกล้าฯ ขึ้นเป็นวังหน้าที่มีพระสถานะเกือบจะเทียบเท่าพระเจ้าแผ่นดินนี้ มีบันทึกว่าสาเหตุมาจากพระชะตาของพระปิ่นเกล้าฯ นั้นแรง ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงทราบเรื่องนี้มาจากเจ้าพระยาภาณุวงศ์ (ท้วม) ซึ่งอ้างว่าได้ยินกับหูของท่านเอง ดังที่ทรงบันทึกไว้ว่า
“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าตรัสว่า ถ้าจะถวายราชสมบัติแก่พระองค์ ขอให้ถวายแก่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งตรัสเรียกว่า ‘ท่านฟากข้างโน้น’ ด้วยเพราะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ พระชาตาแรงนัก ตามตำราโหราศาสตร์ว่า ผู้มีชาตาเช่นนี้จะต้องได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าทรงรับราชสมบัติแต่พระองค์เดียว จะเกิดอัปมงคล ด้วยไปกีดบารมีของสมเด็จพระอนุชา แม้ถวายราชสมบัติด้วยกันทั้ง 2 พระองค์ จะได้ทรงสถาปนา สมเด็จพระอนุชาให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยอีกพระองค์ เหมือนอย่าง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถ”
ปรามินทร์ เครือทอง อธิบายว่า มีผู้ศึกษาดวงพระชะตาของทั้งสองพระองค์ พบว่าดวงพระชะตาของรัชกาลที่ 4 เหนือกว่า เอกภัทร์ เชิดธรรมธร กล่าวเสริมว่า อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ เคยเขียนเรื่องนี้และอธิบายว่า ดวงพระชะตารัชกาลที่ 4 เหนือกว่า
ต่อหัวข้อเสวนาที่ว่า “ผู้ทรงมาเปิดสยาม” พระปิ่นเกล้าฯ ทรงเปิดสยามอย่างไร?
พระปิ่นเกล้าฯ ทรงมีปฏิสัมพันธ์ติดต่อกับชาวต่างชาติมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ทำให้ทรงเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษมากจนสนทนากับชาวตะวันตกได้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากการแต่งตำราปืนใหญ่ที่ทรงแปลขึ้นนั้น ทรงทำเมื่อมีพระชนมายุเพียง 24 พรรษา เชื่อว่าน่าจะทรงเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษมาก่อนหน้านั้นแล้ว เมื่อทรงมีปฏิสัมพันธ์ติดต่อกับชาวต่างชาติทำให้ ผนวกกับการที่ทรงเป็นนักอ่าน ทำให้พระปิ่นเกล้าฯ ทรงมีโลกทัศน์เปิดกว้างและรู้เท่าทันวิทยาการตะวันตก โดยเฉพาะเรือกลไฟ
พระปิ่นเกล้าฯ กับการสร้างเรือกลไฟเป็นอย่างไรนั้น ศึกษารับชมได้ที่นี่