พุทธศาสนากับเส้นทางการค้าในสุวรรณภูมิ ดินแดนเชื่อมอารยธรรมโลก

แผนที่อินเดีย จีน และสุวรรณภูมิ โดยข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของทอเลมี (ศตวรรษที่ 2) วาดใหม่โดยเจอราร์ด เมอร์เคเตอร์ (Gerard Mercator) (1584 CE)

สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “พุทธศาสนากับเส้นทางการค้าในสุวรรณภูมิ” ณ ห้องโถงมติชนอคาเดมี ร่วมเสวนาโดย ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม, นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช, ดร. วรรณพร เรียนแจ้ง, และดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

อาจารย์ศรีศักดิ์เกริ่นถึงดินแดนสุวรรณภูมิว่ามีอยู่จริง แม้นักวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายคนเสนอว่าสุวรรณภูมิไม่มีจริงก็ตาม อธิบายว่าดินแดนเอเชียอาคเนย์มีความเจริญรุ่งเรื่องตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว มีการติดต่อกับวัฒนธรรมภายนอก รวมทั้งรับเอาวัฒนธรรมภายนอกเข้ามา แต่ไม่ได้รับเอาทั้งหมดหากแต่เลือกเอาเฉพาะที่เหมาะสม และในดินแดนเอเชียอาคเนย์ในยุคโบราณนั้นไม่ใช่พวกป่าเถื่อน แต่มีการสร้างบ้านแปลงเมืองกันแล้ว

นอกจากนี้ดินแดนเอเชียอาคเนย์หรือสุวรรณภูมิได้รับเอาวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ามาคือ “พระพุทธศาสนา” ซึ่งถูกนำเข้ามาผ่านเส้นทางการค้า เหล่าพ่อค้าส่วนใหญ่ก็นับถือพุทธศาสนา และสินค้าที่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่นำมาค้าขายกันนอกจากจะเป็นพวกอัญมณี เครื่องประดับแล้วยังมีการค้า “พระธาตุ” ซึ่งเป็นสินค้าทางความเชื่อเหมือนกับการเช่าบูชาพระเครื่อง

ด้านนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้เก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่พบในประเทศไทย ใช้โบราณวัตถุศึกษาและพิสูจน์ว่าเรื่องสุวรรณภูมิมีอยู่จริง โดยทำการศึกษามาเป็นเวลาหลายปี ในการศึกษาเรื่องสุวรรณภูมิมีงานออกมา 2 ชิ้น ชิ้นแรกเป็นการรวบรวมงานศึกษาของนักประวัติศาสตร์โบราณคดีทั้งไทยและต่างประเทศ 12 คน ที่ทำการศึกษาความรู้เกี่ยวกับสุวรรณภูมิ ชิ้นที่สองทบทวนศึกษางานในอดีตทั้งของไทยและของต่างประเทศที่ทำการศึกษาสุวรรณภูมิในรอบ 100 ปี

บทสรุปจากการศึกษาคือ ดินแดนสุวรรณภูมิอยู่ในการรับรู้กันโดยทั่วไปในโลกยุคโบราณ เริ่มจากยุคกรีก ปโตเลมี ชาวกรีก ผู้อาศัยอยู่ที่เมืองท่าอเล็กซานเดียของอิยิปต์ นั่งฟังนักเดินเรือเล่าเรื่องการค้าขาย มีการเดินทางไปที่ไหนบ้าง มีจุดสำคัญที่ไหนบ้าง เขาทำการจดชื่อเมืองพร้อมตำแหน่งที่ตั้ง มีพิกัดบอก

ต่อมามีการนำไปเขียนตำราภูมิศาสตร์ เมื่อประมาณพุทธศตรวรรษที่ 7 หลังจากนั้นตำราเล่มนี้ถูกนำไปใช้อ้างอิงทั่วทั้งโลก ประมาณพันปีต่อมามีชาวฟลอเรนซ์จากอิตาลี เอาข้อมูลในตำรานี้มาทำเป็นแผนที่ชื่อแผนที่ปโตเลมี ในแผนที่บอกถึงดินแดนที่อยู่ถัดจากอินเดียไปเรียกว่าสุวรรณภูมิ นอกจากชาวตะวันตกจะรับรู้การมีอยู่ของดินแดนสุวรรณภูมิแล้ว ชาวจีนก็รู้จักดินแดนนี้และเรียกว่า จินหลิน 

โบราณวัตถุที่พบในสุวรรณภูมิ แยกตามแหล่งผลิต (ภาพจากนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช)

การศึกษาจากต่างประเทศให้ข้อมูลว่าสุวรรณภูมิมีอยู่เมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว เชื่อว่าค่อย ๆ ก่อตัวเป็นรัฐมีการค้าที่มาพร้อมกับศาสนาพุทธเป็นหลัก นักวิชาการอินเดียอธิบายว่าพ่อค้าของอินเดียคือชาวพุทธเพราะฮินดูกับเชนจะไม่เดินทางออกนอกประเทศเพราะข้อห้ามทางศาสนา

โดยสรุปแล้ว สุวรรณภูมิมีอยู่จริง ตั้งอยู่ระหว่างจีนและอินเดีย โดยใช้หลักฐานทางโบราณวัตถุอายุ ประมาณ พ.ศ. 200-300 พบหลักฐานจำนวนมากที่คอคอดกระ พบโบราณวัตถุที่มาจากอินเดีย เมดิเตอร์เรเนียน กรีก โรมัน และจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น

ตัวอย่างโบราณวัตถุที่พบ เช่น หินวงแหวน ที่มีลวดลายเทพีเปลือยให้เห็นถึงถัน ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการให้ชีวิตและการกำเนิดแสดงความมั่งคั่งของอินเดีย ภายหลังจึงรู้ว่าเป็นวงแหวนศิลาแห่งราชวงศ์โมริยะ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญไม่แพ้กับเสาอโศก 

โบราณวัตถุ หินวงแหวน (ภาพจากนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช)

สรุปความสำคัญของสุวรรณภูมิ ดังนี้

  1. แสดงให้เห็นว่าสุวรรณภูมิเป็นสะพานเชื่อมโลก เต็มไปด้วยของดีมีค่า เช่น ปุโรหิตของกษัตริย์จันทร์คุปต่อมาเป็นคนดูแลพระเจ้าอโศกมหาราช บอกว่า ไม้หอมที่ดีต้องไปจากสุวรรณภูมิ หรืออาจารย์ไพนีอาจารย์ของจักรพรรดิโรมัน บอกว่า ของดีต้องไปหาที่สุวรรณภูมิ
  2. เป็นย่านผ่านไปมา ตั้งถิ่นฐาน ทำการค้า พัฒนาเป็นเมือง รัฐ อาณาจักร
  3. เป็นดินแดนแลกเปลี่ยนวิทยาการ เทคโนโลยีรวมทั้งเป็นแหล่งผลิต
  4. เป็นชุมทาการค้าสำคัญของโลก
  5. เป็นอีกอารยธรรมของโลกนอกจารจีน อินเดีย ฯลฯ

อาจารย์วรรณพร เรียนแจ้ง กล่าวถึงการพบผอบที่ใช้บรรจุพระธาตุอยู่มากมายโดยเฉพาะในอินเดียทางเหนือ ผอบที่พบในแต่ละที่จะมีลักษณะคล้ายกันเพราะมีการลอกเลียนแบบกันมาจนแพร่กระจายมาถึงทางใต้ของอินเดีย อาจารย์วรรณพรกล่าวต่อว่า การสร้างผอบเพื่อบรรจุพระธาตุขึ้นมาอาจเป็นการนำไปสู่การค้าพระธาตุในดินแดนแถบนี้

นอกจากนี้ การพบสถูปสาญจีในอินเดียที่สร้างขึ้นเมื่อ 200 ปีก่อนคริสตกาลทำให้เข้าใจได้ว่าวัฒนธรรมการบูชาพระธาตุมีมาอย่างจริงจังแล้วในสมัยนี้ โดยการบรรจุพระธาตุลงในผอบพร้อมกับลูกปัดซึ่งถือเป็นของมีค่าและบางพื้นที่อย่างเช่นญี่ปุ่น ถือว่าลูกปัดคือพระธาตุแล้วนำไปผังไว้ในสถูป ตำแหน่งการฝังจะแตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย

พัฒนาการของศาสนา การค้า และความเจริญรุ่งเรืองของอินเดีย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนาเผยแพร่เข้าสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ แต่ดินแดนนี้ก็มิใช่ดินแดนล้าหลังและเป็นเพียงตำนานเท่านั้น กลับเป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองบนเส้นทางการค้าสำคัญของโลกที่เชื่อมอารยธรรมจากตะวันออกและตะวันตกมาตลอดหลายร้อยหลายพันปี


รับชมเสวนาช่วงที่ 1 :

รับชมเสวนาช่วงที่ 2 :