ผู้เขียน | พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก |
---|---|
เผยแพร่ |
แพทย์ที่จบแพทย์ศาสตร์บัณฑิต ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ของสยามว่าเข้ามาทำงานเป็นแพทย์คนแรก ๆ และโดดเด่นที่สุด คือ นายแพทย์ แดน บีช บรัดเลย์ ( Dan Beach Bradley M.D. ) เป็นชาวอเมริกันครับ โดยเข้ามาในปลายรัชสมัยในหลวง ร. 3
บรัดเลย์ เกิดเมื่อ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2345 ที่เมือง มาเซลลัส ( Marcellus ) รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาเมื่อตอนอายุ 20 ปี แดน บรัดเลย์ ป่วยหนักและเกิดอาการหูหนวกไม่ได้ยินเสียง ซึ่งเป็นความทุกข์ทรมานแสนสาหัส แดน บรัดเลย์ใช้เวลาสวดมนต์ภาวนาในโบสถ์ขอให้หายจากอาการป่วย เขาทำกิจกรรมทุกอย่างเพื่ออุทิศตนให้พระคริสต์ ต่อมาราว 2 ปี แดน บรัดเลย์กลับหายเป็นปกติราวกับปาฏิหาริย์ เขามุมานะสุดชีวิตอ่านหนังสือแล้วไปสอบเข้าเรียนแพทย์ เพื่อจะอุทิศชีวิตให้พระคริสต์ แดน บรัดเลย์ จบการศึกษาได้รับปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัย นิวยอร์ก เมื่อ เมษายน พ.ศ. 2376
หมอบรัดเลย์ แต่งงานและเดินทางพร้อมภรรยาชื่อ Emilie Royce ลงเรือข้ามมหาสมุทรมาขึ้นที่เกาะสิงคโปร์ และต้องพักบนเกาะสิงคโปร์นาน 6 เดือนเนื่องจากมีพายุคลื่นลมแรงเป็นอันตราย และเมื่อมีเรือโดยสาร หมอและภรรยาจึงออกเดินทางจากสิงคโปร์มุ่งหน้ามาสยาม
เคราะห์ร้ายตามมารังควาญ เรือลำนั้นโดนโจรสลัดปล้นในทะเลระหว่างทางจนหมอหมดตัว ลูกเรือที่เดินทางมาโดนฆ่าทิ้งทะเล 4 คน หมอบรัดเลย์ เข้ามาถึงบางกอก เมื่อ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2378 ขอพักอาศัยอยู่กับมิชันนารีอเมริกันชื่อ จอห์นสัน แถวๆ วัดเกาะ สัมพันธวงศ์
หมอหนุ่มอเมริกันจัดตั้ง “โอสถศาลา” เพื่อเป็นสถานที่รักษาโรค แจกหยูกยาสารพัดโดยไม่คิดมูลค่า ขอเพียงคนไข้นำเอกสารเผยแพร่คริสต์ศาสนาติดมือกลับไปด้วยก็ชื่นใจแล้ว
หมอบรัดเลย์ ขยันขันแข็ง มีคนไข้ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนในย่านวัดเกาะ และชุมชนใกล้เคียงเป็นคนไข้หลัก
ชาวสยามออกเสียงเรียกหมอคนนี้ถนัดปากเรียกว่า “หมอปลัดเล”
หมอปลัดเล เป็นแพทย์แผนใหม่ที่ต้องบุกเบิก หมอต้องเร่งสร้างศรัทธาให้ได้ เนื่องจากชาวสยามยังไม่เชื่อใจ เขาขยันตัวเป็นเกลียว ทำงานร่วมกับมิชชันนารีท่ามกลางอุปสรรคมากหลาย
โอสถศาลา ของปลัดเล หมอที่หนวดเครายาว คึกคักได้รับการยอมรับว่า กินยาของหมอแล้วหายดีทุกราย อยู่ไปอยู่มาทางราชการสยามเกิดความไม่สบายใจที่ชาวจีนต่างศรัทธาในตัวหมอฝรั่ง ทางการเกรงว่าอาจจะทำให้ชาวจีนเหล่านี้เกิดกระด้างกระเดื่องเรื่องศาสนาและการปกครอง จึงกดดันให้เจ้าของที่ดินขับไล่หมอปลัดเลให้ย้ายโอสถศาลาออกจากพื้นที่ข้างวัดเกาะ ( วัดสัมพันธวงศ์ )
ปลัดเล จึงต้องย้ายไปเช่าที่ใกล้โบสถ์วัดซางตาครูซ สร้างห้องแถวเล็ก ๆ เปิดทำการโอสถศาลาอีกครั้งเมื่อ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2378
13 มกราคม พ.ศ. 2380 ปลัดเล ได้มีโอกาสแสดงความเป็นแพทย์ ครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อพระสงฆ์รูปหนึ่งในวัดไปจุดพลุในงานฉลอง พลุระเบิดคามือ ทำพระแขนขาด มีคนตาย 8 คน หมอปลัดเล จึงใช้เครื่องมือแพทย์ ตัดแขน เย็บแผล ซึ่งยังไม่มียาสลบ ทำให้ผู้คนทั้งหลายได้ประจักษ์ ผลคือพระภิกษุที่ถูกตัดแล้วยังมีชีวิตได้ต่อไป
ถือเป็นการผ่าตัดด้วยวิชาแพทย์แผนใหม่ครั้งแรกในสยาม
หมอปลัดเล แสดงฝีมืออีกครั้ง โดยผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกขนาดเท่ากำปั้นออกจากหน้าผากของชายชราผู้หนึ่งที่ทนทรมานมานับ 10 ปี การผ่าตัดเป็นไปด้วยดี คนไข้หายเป็นปกติ มีแผลเป็นเล็กน้อย ชาวสยามชื่นชมโสมนัสยิ่งนัก
เมื่อชาวสยามไว้เนื้อเชื่อใจ หมอฝรั่งขยายผลโดยผ่าต้อกระจก ฉีดวัคซีน
ปลัดเล ทุ่มเทเรื่องการรักษาคนไข้จนมีชื่อเสียงได้รับการยอมรับจากชาวสยาม นางเอมิลี ภรรยาที่เรียกกันว่า แหม่ม เข้าไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในวัง ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเรื่อย ๆ เงินทองร่อยหรอ ไม่มีใครสนับสนุน หมอจึงต้องมองหางานเสริมเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว มาซื้อยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์
ข่าวร้ายที่มาจากอเมริกาตามมาหลอกหลอนโดยแจ้งว่า หน่วยงานด้านกิจการศาสนาในอเมริกา ขอยุติการสนับสนุนภารกิจของมิชชันนารีในสยาม และขอให้ยกทีมเดินทางกลับอเมริกา
คณะมิชชันนารีที่เดินกลับอเมริกาได้ทิ้งเครื่องพิมพ์ ( แท่นพิมพ์ ) ภาษาอังกฤษไว้ให้หมอดูต่างหน้าในขณะที่หมอปลัดเล กำลังจะหมดตัว
หมอปลัดเล ทุ่มเทประดิษฐ์ตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้นเป็นครั้งแรกเป็นผลสำเร็จ หมอต้องการจะใช้แท่นพิมพ์เอกสารนี้เป็นทุนรับจ้างพิมพ์งานทางราชการสยาม
ประวัติศาสตร์บันทึกว่า หมอปลัดเลคือบิดาแห่งการพิมพ์ของสยาม
เคราะห์กรรมของหมอจากอเมริกายังคงโหมกระหน่ำไม่หยุด
นางเอมิลี บรัดเลย์ ภรรยาคุณหมอที่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้ราชสำนักสยามมานาน 10 ปีล้มป่วยและเสียชีวิตด้วยวัณโรค
หมอบรัดเลย์เคว้งคว้าง ชีวิตแสนระทมที่พายุโหมกระหน่ำถึงขั้นสูญเสียภรรยาสุดที่รัก จึงพาลูก 4 คนที่เกิดในสยามกลับไปอเมริกาเพื่อตั้งหลักชีวิตให้ลูก ๆ
3 ปีเศษในอเมริกา หมอบรัดเลย์หาโรงเรียนให้ลูก ดิ้นรนหาเงินทุนสนับสนุนจากสมาคมมิชชันนารีอเมริกันเป็นผลสำเร็จ คุณ หมอบรัดเลย์พบรักใหม่กับ ซาราห์ บลัคลีย์ ( Sarah Blachly ) บัณฑิตสาวที่จบจากวิทยาลัย โอเบอร์ลิน รัฐโอไฮโอ ( Oberlin, Ohio ) แต่งงานอีกครั้งแล้วหอบหิ้วกันลงเรือกลับมาสยามประเทศ เพื่อทำงานที่ค้างไว้ในสยามเมื่อ 3 ปีก่อน
กลับมาสยามคราวนี้ หมอปลัดเล ผลิตหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรก ชื่อ แบงคอก รีคอร์ดเดอร์ ( Bangkok Recorder ) รายปักษ์ เป็นบรรณาธิการเอง เขียนบทความเอง ในหลวง ร.4 ทรงเขียนบทความเชิงสนทนากับหมอผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์นี้
เอกสารต่างๆ ที่หมอปลัดเล รับจ้างพิมพ์ เป็นผลให้ชาวไทยได้ทราบเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะการพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา ฉบับแรกของสยามเมื่อ 15 มีนาคม พ.ศ. 2401
ซาราห์ บรัดเลย์ ทุ่มเทชีวิตจิตใจกับการสอนภาษอังกฤษให้กับบุคคลสำคัญในราชสำนัก ส่วนหมอปลัดเลอันเป็นที่รักของคนบางกอก ริเริ่มการปลูกฝีที่ต้องนำเข้าเชื้อหนองจากอเมริกา เพื่อนำมาปลูกฝีรักษาชีวิตชาวสยามในขณะที่ฝีดาษกำลังระบาดฆ่าคนทั้งโลก
ชาวสยามในยุคนั้นไม่มีใครเชื่อเรื่องการปลูกฝีด้วยเชื้อหนอง จนต้องปลูกฝีให้กับชาวต่างชาติในบางกอก และเผยแพร่ในราชสำนักและเมื่อเห็นว่าป้องกันฝีดาษได้จริง ชาวสยามจึงยอมปลูกฝี
ในหลวง ร. 3 พอพระทัยยิ่งนัก ทรงพระราชทานเงินรางวัลให้หมอปลัดเล จำนวน 3 ชั่ง ( ประมาณ 250 บาท )
หมอปลัดเล ได้มีโอกาสเข้าไปทำคลอดในราชสำนักหลายครั้งจนเป็นที่ไว้วางใจในวิชาการแพทย์แบบตะวันตก หมอพยายามให้ความรู้หมอตำแยที่ทำคลอดแบบดั้งเดิม และร้องขอให้งดการอยู่ไฟหลังคลอดของหญิงชาวสยาม เนื่องจากเป็นความทรมานที่ไม่เกิดประโยชน์
หมอฝรั่งท่านนี้ลงทุนเขียนภาพสอนชาวสยามให้ความรู้เรื่อง มดลูก การปฏิสนธิ การตั้งครรภ์ เรื่องการมีระดู ให้ความรู้กับทุกคนว่าการมีประจำเดือนไม่เกี่ยวกับข้างขึ้น-ข้างแรมหรือเป็นไปตามดวงจันทร์โคจรตามที่ชาวสยามเชื่อมาตลอด ให้ความรู้เรื่องน้ำคาวปลา ฯลฯ และพิมพ์หนังสือชื่อ คัมภีร์ครรภ์ทรักษา ( สะกดแบบดั้งเดิม ที่หมอปลัดเลใช้ ) เพื่อแก้ปัญหาการเสียชีวิตของทารก และในที่สุดจึงมีการตั้งโรงเรียนผดุงครรภ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในสยาม
หมอปลัดเล ไม่เคยหยุดนิ่ง หมอยังไปซื้อต้นฉบับ นิราศลอนดอน จาก หม่อมราโชทัย ( ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร ) ซึ่งเป็นลูกศิษย์เรียนภาษาอังกฤษกับหมอเป็นเงินถึง 400 บาท แล้วนำมาพิมพ์จำหน่ายให้คนไทยได้อ่าน
นับเป็นการซื้อ-ขายลิขสิทธิ์ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย
หนังสือสามก๊ก แบบเรียนจินดามณี หนังสือเรียนที่ไม่เคยมีมาก่อนล้วนเป็นผลงานความริเริ่มของหมอปลัดเล ทั้งสิ้น
6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2395 ในหลวง ร.4 พระราชทานที่ดินให้หมอปลัดเล และพวกมิชชันนารี เช่าปลูกบ้านพักและสร้างโรงพิมพ์บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ข้างป้อมวิชัยประสิทธิ์ ( ปัจจุบันอยู่ในเขตบางกอกใหญ่ ) เพื่อตอบแทนคุณความดีทั้งปวง
ในหลวง ร. 4 เสด็จไปสนทนาภาษาอังกฤษและเรื่องราวความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์กับคุณหมอและแหม่มซาราห์ที่บ้านหลังนี้บ่อยครั้ง
หมอบรัดเลย์ เสียชีวิตลงเมื่อ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2416 เมื่ออายุ 69 ปี มีลูกกับนางซาราห์ 5 คน ทุกคนเกิดในสยามประเทศ
นางซาราห์ คงพักอาศัยในบ้านดังกล่าวโดยไม่ได้กลับไปอเมริกาเลยตลอดชีวิต เธอเสียชีวิตลงเมื่อ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2436 ตอนอายุ 75 ปี เธอใช้ชีวิตในสยามยาวนาน 43 ปี ลูกของเธอ 4 คนเดินทางกลับไปใช้ชีวิตในอเมริกา ส่วนไอรีน ( ชาวสยามเรียกว่า แหม่มหลิน ) ลูกสาวคนหนึ่งของหมอพักอาศัยในบ้านหลังนี้ต่อไปจนเสียชีวิตด้วยโรคชรา และมอบที่ดินดังกล่าวให้กองทัพเรือ
หมอบรัดเลย์ อุทิศชีวิตให้กับการทำงานในสยามประเทศ ช่วยปกปักรักษาชีวิตชาวสยามไว้จำนวนมาก สร้างสิ่งที่ดีงามทั้งปวงตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกิด ไม่ได้เรียนในประเทศนี้ ไม่ได้เป็นหนี้บุญคุณใครในประเทศนี้ เป็นผู้ให้เพื่อต้องการสร้างความดีงามโดยไม่หวังผลตอบแทน
เมื่อสิ้นชีวิตแทบไม่มีอะไรสะสม จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันของในหลวง ร.5 ทรงบันทึกว่า “ ได้ส่งเงินให้ท่านกาพย์ซื้อของและให้ช่วยในการก่อขุดศพหมอปลัดเลที่เงินยังขาดอยู่ 120 บาท ให้ทำรั้วเหล็กล้อมที่ฝังศพ 200 เหรียญ ” ( ข้อมูลจาก ส. พลายน้อย )
ที่ฝังศพของหมอฝรั่งใจบุญท่านนี้อยู่ที่ป่าช้าวัดดอน เป็นที่รวมฝังศพของพวกโปรแตสแตนท์ ในเขตยานนาวาครับ
หมอบรัดเลย์ สัตบุรุษที่คนไทยควรรู้จักและยกย่องสรรเสริญ
เรียบเรียงโดย พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก