กรมสุขภาพจิต ผนึก พม. เร่งช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางทางจิตเวชกลับใช้ชีวิตปกติในสังคม

กรมสุขภาพจิต และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผนึกกำลังดูแลฟื้นฟูผู้ใช้บริการกลุ่มเปราะบางทางจิตเวชในสถานรองรับ ให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคม ตามนโยบายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหากลุ่มเปราะบาง โดยมีความห่วงใยในสถานการณ์ผู้ใช้บริการที่มีอาการทางจิตเวช ในสถานรองรับของ พม. เป็นอย่างมาก 

ปัจจุบันได้มอบหมายให้หน่วยงานภายใต้พม. ประกอบด้วย กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมกิจกรรมการสตรีและสถาบบันครอบครัว กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้ร่วมหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหากลุ่มที่มีอาการทางจิตเวชในสถานรองรับของ พม. ทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม

การดูแลฟื้นฟูผู้ใช้บริการที่มีอาการทางจิตเวชในสถานรองรับของ พม. ต้องมีการบูรณาการการทำงานจากหลายภาคส่วน การดำเนินงานครั้งนี้ พม. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกรมสุขภาพจิต ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการช่วยให้ผู้ใช้บริการได้รับการดูแลฟื้นฟูอย่างถูกต้องเหมาะสมจากบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมต่อไปได้ ถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ และยังเป็นการขานรับนโยบายของรัฐบาล ที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอีกด้วยรมว.พม. กล่าว

ด้านพญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึงสถานการณ์การให้บริการในสถานรองรับของ พม. ว่า ในปี 2565 ผู้ใช้บริการที่เป็นกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช มีจำนวนสูงถึง 6,015 ราย คิดเป็น 61.22% ถือเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางอย่างหลากหลาย และมีความซ้ำซ้อนของสภาพปัญหา

จากปัญหาความเปราะบางของกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชเหล่านี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยจะต้องเข้าถึงระบบบริการดูแลสุขภาพจิตอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมตลอดจนได้รับการดูแลอาการจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดโดยเป้าหมายสำคัญคือต้องการให้ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเวชทุเลาหรือหายจากโรคและไม่กลับเป็นซ้ำเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคม

การร่วมมือดูแลฟื้นฟูผู้ใช้บริการกลุ่มเปราะบางทางจิตเวชในสถานรองรับครั้งนี้ กรมสุขภาพจิตจะดำเนินการส่งต่อผู้ป่วยจิตเวชที่สิ้นสุดการรักษา และขาดการสนับสนุนทางสังคม ประกอบไปด้วย คนไร้ญาติ หรือญาติขาดความพร้อมในการดูแล เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่สถานรองรับของกระทรวง พม. ตามศักยภาพของผู้ป่วยและภารกิจของสถานรองรับ

พญ.อัมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานดูแลฟื้นฟูตามหลักนโยบายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ยังมีการประสานไปยังเครือข่ายสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อดูแลรักษาสุขภาพจิต และรับส่งต่อตามระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวช เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทางจิตเวช ตามมาตรฐานบริการสุขภาพจิตและจิตเวช โดยในปี 2565 มีการนำร่องโครงการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ผู้ป่วยจิตเวชในสถานรองรับ จำนวน 11 แห่ง

นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการให้บริการผ่านระบบการแพทย์ทางไกลไปแล้ว 3 ครั้ง ให้บริการผู้ป่วยทั้งสิ้น 84 ราย และในอนาคตจะขยายผลการบำบัดรักษา โดยนำเทคโนโลยีด้านระบบบริการการแพทย์ทางไกล จิตแพทย์ และทีมสหวิชาชีพในสถาบัน รวมถึงโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิตทั้ง 20 แห่ง ที่เป็นคู่เครือข่าย มาร่วมกันดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวต่อไป รวมถึงขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการบริการผู้ป่วยจิตเวชอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

กรมสุขภาพจิต และหน่วยงานภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะสามารถฟื้นฟูผู้ใช้บริการกลุ่มเปราะบางทางจิตเวชในสถานรองรับ ให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ และสามารถบรรลุเจตนารมณ์ต่อความต้องการให้ผู้มีอาการทางจิตเวชสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพต่อไป อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวทิ้งท้าย