ชิ้นไม้จากมหาพีระมิด อายุร่วม 5 พันปี เคยหาไม่เจอ ก่อนบังเอิญพบ(อีกหน)ในกล่องซิการ์

พีระมิด จากขวาไปซ้าย มหาพีระมิดคูฟู , พีระมิดแห่ง Khafre และ พีระมิดแห่ง Menkaure ภาพถ่ายเมื่อ 1 ก.ค. 2020 โดย KHALED DESOUKI / AFP

ข่าวคราวในแวดวงโบราณคดีอียิปต์ช่วงปลายปีมีเรื่องให้ได้ตื่นเต้นกันอีกครั้ง เมื่อมีรายงานการค้นพบชิ้นส่วนไม้จากมหาพีระมิด ยุคอียิปต์โบราณ คาดว่าอายุร่วม 5,000 ปี ในกล่องซิการ์ โดยพบขณะเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบวัตถุโบราณที่มหาวิทยาลัยอเบอร์ดีน (Aberdeen) เก็บไว้ โดยที่ก่อนหน้านี้ ชิ้นส่วนซึ่งเพิ่งพบ(อีกรอบ)มีสถานะ “หาไม่เจอ” มาก่อน

รายงานข่าวจากสำนักข่าว BBC  เปิดเผยข้อมูลการค้นพบครั้งล่าสุดซึ่งถือเป็นการพบโดยบังเอิญก็ว่าได้ เนื้อหาเปิดเผยว่า ผู้ค้นพบคือ Abeer Eladany ผู้ช่วยผู้ดูแลวัตถุต่างๆ ที่เก็บรักษาในคอลเล็กชั่นจากเอเชีย (Asia collection) อันอยู่ในการครอบครองของมหาวิทยาลัยอเบอร์ดีน (คลิกชมภาพชิ้นไม้ที่นี่)

ชิ้นส่วนที่พบมีลักษณะเป็นไม้ชิ้นเล็กๆ (ปัจจุบันอยู่ในสภาพแยกออกมาหลายชิ้น) เดิมทีแล้ว ไม้ชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัตถุโบราณที่ถูกค้นพบจากพื้นที่ห้องฝังพระศพที่เรียกกันว่า “Queens Chamber” ในมหาพีระมิด (Great Pyramid) โดยวิศวกรนาม Waynman Dixon เมื่อปี 1872 เชื่อว่าเศษไม้ชิ้นนี้ถูกใช้ในระหว่างขั้นตอนการก่อสร้างมหาพีระมิด และถูกส่งต่อให้มหาวิทยาลัยเมื่อปี 1946 แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีสถานะ “หาไม่พบ” ขณะที่วัตถุซึ่งถูกค้นพบโดยวิศวกรรายนี้มักถูกเรียกว่า “Dixon Relic”

รายงานข่าวเผยว่า การกลับมาพบชิ้นไม้นี้อีกครั้งมีความสำคัญต่อการศึกษาเกี่ยวกับพีระมิดแห่งอียิปต์ โดย Abeer ซึ่งมีภูมิลำเนาเดิมจากอียิปต์ และเคยทำงานกับพิพิธภัณฑ์ในไคโร ร่วม 10 ปี เล่าถึงการค้นพบว่า เมื่อเธอพบชิ้นส่วนนี้และนำไปตรวจสอบหาที่มาโดยเปรียบเทียบกับบันทึกการเก็บรักษาอื่นๆ จึงทำให้รู้ทันทีว่าชิ้นไม้นี้มาจากไหน ซึ่งที่ผ่านมา ชิ้นส่วนนี้วางอยู่ในจุดที่พบเห็นได้ง่าย แต่แค่มันถูกจัดเก็บผิดที่ผิดทาง

แม้ว่าชิ้นส่วนไม้จากอียิปต์นี้จะมีขนาดเล็ก แต่ถือว่ามีความสำคัญกับการศึกษาพีระมิด ยิ่งเมื่อพิจารณาว่า ไม้ชิ้นนี้ (ที่แตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ หลายชิ้น) เป็นหนึ่งในสามวัตถุที่เคยถูกนำออกมาจากในมหาพีระมิด ส่วนอีกสองชิ้นที่เหลือคือ “บอล” และ “ตะขอ” (hook) ซึ่งตอนนี้จัดเก็บที่พิพิธภัณฑ์แห่งบริติช

รายงานข่าวเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผลการตรวจสอบอายุล่าช้าออกไป แต่เมื่อพิจารณาผลการตรวจสอบที่เพิ่งได้รับหลังสุดนี้พบว่า ชิ้นส่วนไม้มีอายุย้อนไปได้ถึงช่วง 3341-3094 ก่อนคริสต์ศักราช ไม่ว่าชิ้นส่วนนี้จะถูกใช้ทำอะไรในสมัยโบราณ แต่ข้อมูลที่ปรากฏก่อนหน้านี้ทำให้ช่วยยืนยันน้ำหนักของข้อสันนิษฐานว่า ไม้ชิ้นนี้ปรากฏในช่วงการก่อสร้างพีระมิด ไม่ใช่วัตถุโบราณซึ่งตกหล่นมาจากพวกนักสำรวจที่เข้ามาสำรวจห้องพระศพมีน้ำหนักมากขึ้น

Neil Curtis หัวหน้าผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ และการจัดเก็บวัตถุกลุ่มพิเศษแห่งมหาวิทยาลัยอเบอร์ดีน ให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นว่า เมื่อดูผลการตรวจอายุของวัตถุที่ออกมา คิดว่าไม้ชิ้นนี้เก่าเกินกว่าที่คิด คาดว่าอาจเป็นเพราะไม้ชิ้นนี้มาจากส่วนที่ใกล้แกนจากต้นไม้ต้นที่มีอายุยืนยาว หรืออาจเป็นเพราะเป็นไม้กลุ่มหายากในอียิปต์โบราณ ซึ่งหมายความว่า ไม้ชิ้นนี้เป็นของหายาก มีค่า และถูกนำกลับมาใช้ซ้ำหลายครั้งเป็นระยะเวลาหลายปี


อ้างอิง:

https://www.bbc.com/news/uk-scotland-north-east-orkney-shetland-55315623


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 ธันวาคม 2563