เผยแพร่ |
---|
ปริศนาเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างโบราณอย่างพีระมิดยังคงวนเวียนอยู่ในโลกสมัยใหม่ และอาจเข้มข้นกว่าเดิมเมื่อมนุษย์มีสื่อสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่สื่อสาร เห็นได้จากกรณีอีลอน มัสก์ (Elon Musk) มหาเศรษฐีซึ่งเพิ่งทวีตข้อความที่ส่อว่าเขาเองอยู่ฝ่ายที่เชื่อทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับผู้สร้างพีระมิดมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตนอกโลก ทวิตเตอร์ของคนดังรายนี้มีผู้ติดตามมากกว่า 30 ล้านราย ทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทางการอียิปต์ต้องโต้ตอบ
วันที่ 31 กรกฎาคม 2020 ทวิตเตอร์ของอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของโปรเจคท์ SpaceX ทวีตข้อความว่า “เอเลียนสร้างพีระมิดชัดๆ” จนถึงวันนี้ (3 สิงหาคม) ข้อความนี้ถูกรีทวีตกว่า 8 หมื่นครั้งแล้ว
Aliens built the pyramids obv
— Elon Musk (@elonmusk) July 31, 2020
เมื่อข้อความแพร่กระจายไปในวงกว้าง Rania al-Mashat รัฐมนตรีกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศของอียิปต์ ต้องทวีตข้อความโต้ตอบกับแนวคิดของมัสก์ ซึ่งดูแล้วเป็นการสื่อสารเชิงส่งมอบเครดิตการสร้างให้กับสิ่งมีชีวิตนอกโลกด้วย
สิ่งที่รัฐมนตรีหญิงนำมาใช้โต้ตอบกับมัสก์ คือเธอเชื่อว่าหลักฐานอย่างหนึ่งคือการค้นพบหลุมศพผู้สร้างพีระมิด โดยหลุมศพถูกค้นพบตั้งแต่ยุค 90s ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายรายใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์ว่าสิ่งก่อสร้างอันน่ามหัศจรรย์นี้เป็นฝีมือของบรรบุรุษชาวอียิปต์
นอกจากนี้ เธอยังทวีตข้อความเชิญชวนอีลอน มัสก์ ให้อ่านงานศึกษาเกี่ยวกับการก่อสร้างพีระมิด และทิ้งท้ายด้วยข้อความเชิงเชิญชวนมหาเศรษฐีให้เข้ามาเยี่ยมชมด้วยตัวเอง
ไม่เพียงแค่ฝ่ายทางการอียิปต์เท่านั้นที่ไม่พอใจกับความคิดเห็นของมัสก์ นักโบราณคดีชาวอียิปต์อย่าง Zahi Hawass ก็โต้ตอบกับความคิดเห็นของมัสก์ ด้วยวิดีโอที่เขาโพสต์ลงในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเขาโต้ตอบว่า สิ่งที่มัสก์ กล่าวนั้นเป็นเรื่องเพ้อเจ้ออย่างสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากเกิดข้อถกเถียงลุกลาม มัสก์ ทวีตลิงก์บทความของบีบีซีที่มีเนื้อหาอธิบายเกี่ยวกับความน่าจะเป็นในการก่อสร้างพีระมิด (คลิกอ่านบทความที่นี่)
เนื้อหาส่วนหนึ่งในบทความของบีบีซีบอกเล่าไทม์ไลน์เกี่ยวกับข้อสันนิษฐานเรื่องผู้สร้างพีระมิดซึ่งแต่ละยุคสมัยก็ปรากฏทฤษฎีที่แตกต่างกันตามการศึกษา
บทความนี้เขียนโดย ดร. Joyce Tyldesley อัปเดตในเว็บไซต์บีบีซีครั้งหลังสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2011 ผู้เขียนบทความเล่าพัฒนาการการศึกษาเกี่ยวกับพีระมิดว่า ผู้ศึกษาเกี่ยวกับโบราณวัตถุของอียิปต์เคยตั้งข้อสงสัยว่า บริเวณแหล่งที่พบการก่อสร้างในอียิปต์นั้นได้รับการสนับสนุนโดยหมู่บ้านที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะทาง แต่ยังไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีซึ่งสนับสนุนสมมติฐานนี้จนกระทั่งยุควิกตอเรียน
ในปีค.ศ. 1888 นักโบราณคดีบริติชนามว่า Flinders Petrie เริ่มสืบค้นพีระมิดสมัยอาณาจักรยุคกลางของฟาโรห์ Senwosert ที่ 2 ในการสืบค้น พวกเขาพบซากที่พักอาศัย เครื่องมือ เสื้อผ้า และของเล่นเด็ก ซึ่งล้วนแต่เป็นของใช้ในชีวิตประจำวันที่ไม่เคยขุดค้นเจอมาก่อนในบริเวณของอียิปต์
ขณะที่การศึกษาเปรียบเทียบดีเอ็นเอจากซากกระดูกของคนงานที่ขุดค้นพบกับกลุ่มตัวอย่างที่เก็บจากชาวอียิปต์ในยุคสมัยใหม่ พบว่า พีระมิดคูฟู (มหาพีระมิดแห่งกีซา) เป็นงานสเกลยักษ์ระดับประเทศ คนงานที่เข้ามาในกีซา มาจากทั่วอียิปต์ ผลการศึกษาไม่พบร่องรอยของสิ่งมีชีวิตนอกโลกตามทฤษฎีที่อ้างอิงเชิงจินตนาการแต่อย่างใด