แฉ ชิ้นส่วนม้วนหนังสือเดดซี ราคาหลายล้านดอลลาร์ในพิพิธภัณฑ์คือของปลอมทั้งชุด

ผู้เข้าชมการจัดแสดงม้วนหนังสือเดดซีในพิพิธภัณฑ์แห่งไบเบิล ที่วอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ในรอบสื่อมวลชน เมื่อ พ.ย. 2017 (ภาพจาก SAUL LOEB / AFP)

โบราณวัตถุซึ่งเคยเชื่อว่ามีคุณค่าและมูลค่ามากอย่างชิ้นส่วน “ม้วนหนังสือเดดซี” (Dead Sea Scrolls) ซึ่งถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งไบเบิลในกรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ถูกนักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า มีแนวโน้มเป็นของปลอมทั้งหมด สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ซึ่งถูกพิสูจน์ว่าเป็นของปลอมจำนวนหนึ่ง

พิพิธภัณฑ์แห่งไบเบิลเปิดเมื่อปี 2017 หลังจากเปิดไม่นานก็เริ่มปรากฏข้อสงสัยว่า “ม้วนหนังสือเดดซี” ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงนั้นเป็นของจริงหรือไม่ ก่อนหน้าการศึกษาครั้งล่าสุด เคยมีการพิสูจน์ที่เผยว่า ชิ้นส่วนม้วนจารึกในพิพิธภัณฑ์ 5 ชิ้นเป็นของปลอมก่อนแล้ว ล่าสุด รายงานผลการวิจัยที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์เนชั่นแนล จีโอกราฟิก (National Geographic) เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2020 เปิดเผยว่า “ไม่มีชิ้นส่วนใดของม้วนหนังสือเดดซีซึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งไบเบิลเป็นของจริงเลย”

ม้วนหนังสือเด้ดซี เป็นที่รู้จักกันว่าคือจารึกโบราณ ถูกค้นพบในถ้ำแห่งหนึ่งบนผาในเมืองคุมราน ใกล้กับทะเลเดดซี (ทะเลสาบน้ำเค็มซึ่งลึกสุดในโลก) เมื่อปี ค.ศ. 1947 มีรายงานว่า ผู้ที่ค้นพบคือเด็กหนุ่มเลี้ยงแพะซึ่งกำลังค้นหาแพะที่หายไป พื้นที่แถบนี้ถือกันว่าเป็นแหล่งโบราณคดี การค้นพบม้วนจารึกเคยถูกมองว่าเป็นการค้นพบครั้งสำคัญที่สุดอีกหนของวงการโบราณคดี ชิ้นส่วนส่วนมากถูกจัดเก็บโดยรัฐบาลอิสราเอล ขณะที่คอลเล็กชั่นที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เพิ่งปรากฏในผลการศึกษาว่า ไม่มีชิ้นใดที่เป็นของจริงเลย

เดิมทีนั้นมีข้อสันนิษฐานกันว่า เขียนขึ้นราว 400 ปีก่อนคริสตกาล ส่วนใหญ่เขียนในภาษาฮิบรู บางส่วนเขียนด้วยภาษากรีก นักวิชาการคาดกันว่า ผู้เขียนคือนักบวชศาสนายูดาห์ที่ออกมาปลีกวิเวก ข้อความในม้วนจารึกก็เกี่ยวกับศาสนา และเชื่อกันว่าเป็นคัมภีร์ไบเบิลฉบับเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมี

ปัจจุบัน ม้วนจารึกส่วนใหญ่ที่หลงเหลือออกมานอกเหนือจากของอิสราเอลอยู่ในสภาพเศษชิ้นส่วนขนาดเล็กนับพันชิ้น

รายงานข่าวเผยว่า ชิ้นส่วนม้วนหนังสือเดดซีในพิพิธภัณฑ์เป็นหนึ่งในโบราณวัตถุที่มีมูลค่าสูงอันดับต้นๆ ของพิพิธภัณฑ์ รายงานข่าวจากสำนักข่าวบีบีซีระบุว่า มูลค่ารวมประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าสตีฟ กรีน หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ไม่เคยเปิดเผยว่า ชิ้นส่วน 16 ชิ้นที่เขาได้มามีมูลค่าเท่าใด แต่เมื่อลองเปรียบเทียบกับชิ้นส่วนโบราณวัตถุของจริงในกลุ่มประเภทใกล้เคียงกันแล้วก็น่าจะมีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลของทีมนักวิจัยอธิบายว่า ในยุค 50s นักค้าของโบราณชื่อ Khalil Iskander Shahin หรือเรียกกันว่า Kando เริ่มต้นซื้อชิ้นส่วนม้วนจารึกจากชาวเบดูอินท้องถิ่น (Bedouin) แล้วขายต่อให้กับนักสะสม กระทั่งปี 2002 เป็นต้นมา ชิ้นส่วนจารึกที่ไม่สามารถระบุต้นตอที่มาได้และเชื่อกันว่าเป็นโบราณวัตถุที่มาจากม้วนหนังสือเดดซีเริ่มปรากฏในตลาดค้าของโบราณและกลายเป็นกระแสฮือฮาในวงการ ขณะที่พิพิธภัณฑ์แห่งไบเบิลได้ชิ้นส่วน 16 ชิ้นมาจากกลุ่มนักสะสม 4 ราย

แถลงการณ์จากทีมผู้ศึกษาที่ใช้เวลาวิเคราะห์อย่างละเอียดเป็นเวลา 6 เดือนยังเปิดเผยข้อสันนิษฐานเรื่องกระบวนการปลอมแปลงโบราณวัตถุให้น่าเชื่อถือโดยแถลงการณ์อธิบายว่า แม้ว่าชิ้นส่วนในพิพิธภัณฑ์มีลักษณะมันวาวคล้ายเคลือบขี้ผึ้งเหมือนกับจารึกจริง ซึ่งลักษณะนี้มาจากการแตกคลายของคอลลาเจนในกระดาษหนังโบราณ แต่จากการตรวจสอบแล้ว ลักษณะมันวาวของจารึกที่วิเคราะห์ไม่ได้มาจากการเสื่อมตามธรรมชาติ พวกเขาสันนิษฐานว่าผู้ปลอมแปลงใช้กระบวนการสมัยใหม่ เคลือบเศษชิ้นส่วนกระดาษด้วยสารบางอย่างที่มีลักษณะสีเหลืองเงา ที่น่าเป็นไปได้ที่สุดคือ กาวหนังสัตว์

ชิ้นส่วนม้วนหนังสือของจริงเป็นกระดาษหนังสีน้ำตาลแทน หรือสีน้ำตาลอ่อน ขณะที่ชิ้นส่วนของพิพิธภัณฑ์เขียนลงบนหนัง ซึ่งอาจนำวัสดุมาจากรองเท้าหรือรองเท้าแตะโบราณ เมื่อเวลาผ่านมาราว 2,000 พันปี หนังและกระดาษหนังเมื่อมองแล้วมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่เมื่อวิเคราะห์เจาะลึกทางเคมีและวิเคราะห์องค์ประกอบอย่างละเอียดถึงจะแยกความแตกต่างได้

ทีมงานที่ศึกษาอธิบายกระบวนการวิเคราะห์ว่าใช้เทคโนโลยีทันสมัยหลายชนิด อาทิ กล้องไมโครสโคป 3 มิติ ทดสอบทางเคมีของสารขนาดย่อม แสกนอิเล็กตรอนทางกล้องจุลทรรศน์

อย่างไรก็ตาม รายงานไม่ได้ระบุถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับชิ้นส่วนที่อยู่ในการครอบครองของอิสราเอลในพิพิธภัณฑ์ที่เยรูซาเล็ม


อ้างอิง:

https://www.smithsonianmag.com/smart-news/all-museum-bibles-dead-sea-scrolls-are-fake-report-finds-180974425/

https://www.bbc.com/news/world-us-canada-51916849