นักโบราณฯ เชื่อพบ “มัมมีส่วนขา” ของ “ราชินีเนเฟอร์ตารี” พระชายา รามเสสที่ 2

(ล่างซ้าย) มัมมีส่วนขาที่นักวิจัยเชื่อว่าเป็นของราชินีเนเฟอร์ตารี (Michael E. Habicht), (ฉากหลัง) จิตรกรรมตกแต่งสุสานเป็นภาพของราชินีเนเฟอร์ตารี พระชายาในฟาโรห์รามเสสที่ 2 (The Yorck Project)

จากรายงานของ Seeker ระบุว่า งานวิจัยโดยนักอียิปต์วิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งซูริค ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ พบหลักฐานเป็นร่องรอยสำคัญที่จะสามารถช่วยยืนยันได้ว่า ซากมัมมีส่วนขาที่หลงเหลือจากการถูกทำลายโดยโจรปล้นสุสานอาจเป็นของ “ราชินีเนเฟอร์ตารี” (Nefertari)

เนเฟอร์ตารี เป็นราชินีและชายาคนโปรดของ ฟาโรห์รามเสสที่ 2 ผู้ยิ่งใหญ่ แห่งราชวงศ์ที่ 19 (คนละคนกับราชินี “เนเฟอร์ติติ” [Nefertiti] แห่งราชวงศ์ที่ 18) และถือเป็นราชินีที่มีบทบาทสำคัญยิ่งพระองค์หนึ่ง

“เนเฟอร์ตารีเป็นหนึ่งในราชินีที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญอย่างยิ่งของอียิปต์ และมีบทบาทเทียบเคียงได้กับ ฮัตเชปซุต (Hatshepsut), เนเฟอร์ติติ และคลีโอพัตรา” ไมเคิล ฮาบิชต์ (Michael Habicht) นักอียิปต์วิทยาจากสถาบันการแพทย์วิวัฒนาการ มหาวิทยาลัยซูริค ในสวิสเซอร์แลนด์กล่าว

รายงานของ Seeker กล่าวว่า ราชินีพระองค์นี้เป็นที่รู้จักดีจากภาพจิตรกรรมฝาผนังของพระองค์ที่งดงามข้ามกาลเวลา และวาดขึ้นด้วยขนาดเทียบเท่าพระองค์จริงซึ่งผิดปกติวิสัยของงานจิตรกรรมยุคเดียวกัน

นอกจากนี้ พระองค์ยังเป็นที่รู้จักว่าทรงมีการศึกษาสูง  และมีบทบาทสำคัญในด้านการต่างประเทศ แต่เรื่องราวช่วงปลายชีวิตของพระองค์กลับปรากฏหลักฐานให้เห็นน้อยมาก

“เรารู้ว่าพระองค์ให้ประสูติพระโอรส 4 พระองค์ พระธิดาอีก 4 พระองค์ และพระองค์ได้เสด็จไปร่วมพิธีเปิดวิหารหินตัดแห่งอาบูซิมเบลในปีที่ 24 แห่งรัชสมัยของฟาโรห์รามเสสที่ 2 แต่หลังจากนั้นพระองค์ก็หายไปจากประวัติศาสตร์” ฮาบิชต์ กล่าว

ทั้งนี้ บรรดานักอียิปต์วิทยาเชื่อว่าพระองค์น่าจะสิ้นพระชนม์ราวปีที่ 25 แห่งรัชสมัยของฟาโรห์รามเสสที่ 2 เมื่อมีพระชนมายุได้ราว 40-50 พรรษา

ส่วนสุสานของพระองค์ที่เรียกกันว่า QV66 ถูกปล้นมาตั้งแต่ยุคโบราณ และร่างมัมมีของพระองค์ก็ถูกทำลายเป็นชิ้นๆ โดยกลุ่มโจรปล้นสุสาน จนกระทั่ง เอร์เนสโต สเกียปาเรลลี (Ernesto Schiaparelli) นักการทูตและนักโบราณคดีชาวอิตาลีไปเปิดสุสานสำรวจและพบซากโบราณวัตถุหลายชิ้น รวมถึงโลงศพที่ทำจากหินแกรนิตสีชมพูซึ่งป็นโลงที่เคยบรรจุมัมมีของ เนเฟอร์ตารี รองเท้าแตะหนึ่งคู่ และซากมัมมีส่วนขาอีกหนึ่งคู่

จากงานวิจัยชิ้นล่าสุด นักวิจัยสามารถสรุปได้ว่า มัมมีส่วนขาคู่นี้เป็นของผู้หญิงความสูงราว 165-168 ซม. ซึ่งนักวิจัยอิสระที่ทำการตรวจสอบซ้ำก็ยืนยันว่า มันเป็นขาของมนุษย์ที่มีความสูงราว 165 ซม. เช่นกัน

แฟรงก์ รูห์ลี (Frank Rühli) หัวหน้าทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยซูริค อ้างว่า “[เมื่อเทียบกับ] ข้อมูลของผู้หญิงในยุคอาณาจักรใหม่และยุคกลางระยะที่ 3 (Third Intermediate Period, 1069-664 ก่อนสามัญศักราช) แสดงให้เห็นว่าพระองค์น่าจะสูงกว่าผู้หญิงจำนวนราว 84% ที่มีชีวิตร่วมสมัยกับพระองค์”

ผลการวิเคราะห์วัสดุ ก็มีผลสอดคล้องกับลักษณะวัสดุที่ใช้ในการทำมัมมียุคเดียวกัน อีกทั้งผล X-ray ที่เข่าด้านซ้ายก็ชี้ว่า เจ้าของชิ้นส่วนมัมมีคนนี้มีภาวะที่เรียกว่า “arteriosclerosis” หรือหลอดเลือดหนา ซึ่งมักพบในคนสูงอายุ

โดยสรุป ขามัมมีคู่นี้ น่าจะเป็นของสตรีอายุราว 40-60 ปี ส่วนสูงราว 165-168 ซม. ซึ่งเป็นลักษณะทางกายภาพที่ใกล้เคียงกับราชินีเนเฟอร์ตารีเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี ปริศนาของขามัมมีคู่นี้ยังไม่จบ และคณะนักวิจัยก็ยอมรับว่าพวกเขาไม่สามารถสรุปได้เป็นที่แน่ชัดว่า ขาคู่นี้เป็นของราชินีเนเฟอร์ตารีจริงๆ เพราะการวิเคราะห์ที่สำคัญบางประการไม่อาจทำได้สำเร็จ

หนึ่งในนั้นคือ การตรวจ DNA ที่ไม่สามารถสรุปผลการวิเคราะห์ได้ เนื่องจากตัวอย่างมีการปนเปื้อน ขณะที่การหาอายุด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสี กลับได้ผลออกมาน่าประหลาดใจ เพราะผลออกมาว่า มันมีอายุเก่าแก่กว่าช่วงเวลาที่ ราชินีเนเฟอร์ตารี มีชีวิตอยู่ ถึง 200 ปี

แต่ ฮาบิตช์ บอกว่า ความคลาดเคลื่อนของผลการตรวจวัดอายุด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสี กับลำดับพงศาวดารของอียิปต์โบราณก็มีการถกเถียงมานาน

ดังนั้น ผลที่ได้ก็ใช่จะสรุปได้ว่ามันไม่ใช่ขาของราชินีเนเฟอร์ตารี แต่มันอาจนำไปสู่การตั้งคำถามต่อความถูกต้องของการจัดลำดับพงศาวดารในยุคอาณาจักรใหม่ขึ้นมาแทน