นักโบราณคดีชี้ “กองทัพตุ๊กตาดินเผา” ของจิ๋นซีฮ่องเต้ ได้อิทธิพลจากศิลปะกรีก

กองทัพตุ๊กตาดินเผา จิ๋นซีฮ่องเต้ จีน
รูปปั้นดินเผาทหารม้า และม้าศึกจากสุสานจิ๋นซี ซึ่งถูกนำไปจัดแสดงที่นิวยอร์ก สหรัฐฯ เมื่อปี 2012, AFP PHOTO / DON EMMERT

กองทัพตุ๊กตาดินเผา เป็นสิ่งเลื่องชื่ออย่างหนึ่งที่ใครไปเยือนสุสานจักรพรรดิจิ๋นซีต้องไม่พลาดเข้าชม แต่นอกจากความน่าทึ่งของจำนวนที่มีมากมายแล้ว กองทัพตุ๊กตาดินเผายังอาจเป็นหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับโลกตะวันตกในยุคนั้นได้ด้วย

นักโบราณคดีชี้ จีนกับตะวันตกมีการติดต่อกันมานานตั้งแต่สมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ ก่อนหน้า มาร์โค โปโล เดินทางไปติดต่อราชสำนักหยวนนับพันปี โดยอ้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะ รวมถึงการพบศพของชาวตะวันตกในดินแดนจีนตั้งแต่ยุคก่อนและร่วมสมัยกับจิ๋นซีฮ่องเต้

“ตอนนี้เรามีหลักฐานว่า ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างจักรพรรดิองค์แรกกับตะวันตกมีอยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่ยังไม่มีการเปิดเส้นทางสายไหมอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือว่าเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้นานมาก” ดร.ลี เซียวเฉิน (Li Xiuzhen) นักโบราณคดีประจำพิพิธภัณฑ์สุสานจักรพรรดิจิ๋นซีกล่าว ทั้งนี้จากรายงานของเทเลกราฟ

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า กองทัพตุ๊กตาดินเผาคือหลักฐานการติดต่อระหว่างจีนในยุคจิ๋นซีกับตะวันตก เนื่องจากก่อนหน้านั้น จีนไม่เคยมีประเพณีการสร้างรูปปั้นขนาดเท่าคนจริงมาก่อน

ศาสตราจารย์ ลูคัส นิกเกล (Lukas Nickel) ประธานสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะเอเชียแห่งมหาวิทยาลัยเวียนนา เชื่อว่า จิ๋นซีฮ่องเต้น่าจะได้รับอิทธิพลทางศิลปะจากประติมากรรมกรีกที่ปรากฏในเอเชียกลางหลังยุคอเล็กซานเดอร์มหาราช

“ผมจินตนาการว่า ช่างปั้นชาวกรีกอาจจะเดินทางมาที่นี่เพื่อฝึกฝนฝีมือให้ช่างชาวพื้นเมือง” ศาสตราจารย์ นิกเกล กล่าว

ด้าน ดร.ลี กล่าวเสริมว่า “ตอนนี้เราคิดว่า กองทัพตุ๊กตาดินเผา, นักกายกรรม แล้วก็รูปปั้นสัมฤทธิ์อื่นๆ ที่พบในสุสานแห่งนี้ ต่างก็น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากประติมากรรมและศิลปะกรีก”

ในงานศึกษาชิ้นอื่นๆ นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบหลักฐานเป็นสารพันธุกรรมที่ช่วยยืนยันว่ามีชาวตะวันตกมาเสียชีวิตอยู่ในเขตซินเจียงซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกสุดของจีน ทั้งตั้งแต่ก่อนยุคของจิ๋นซีฮ่องเต้และช่วงเวลาร่วมรัชสมัยของพระองค์

แฟ้มภาพกองทัพตุ๊กตาดินเผาในสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ AFP PHOTO / GEORGES BENDRIHEM

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ตุลาคม 2561