เผยแพร่ |
---|
19 มิถุนายน 2562 ณ พิพิธภัณฑ์มหาราชานุสรณ์ รัชกาลที่ 4 วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ได้มีการจัดพิธีส่งมอบโครงการอนุรักษ์โบราณวัตถุ โดยมีคุณปีเตอร์ เฮย์มอนด์ (Peter Haymond) อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธี
การอนุรักษ์โบราณวัตถุในวัดราชาธิวาสราชวรวิหารได้รับการผลักดันโดย ผศ. ดร. รัชฎา บุญเต็ม ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในโครงการ “การอนุรักษ์วัตถุในศตวรรษที่ 19 ที่เป็นของสะสมของราชวงศ์ในพิพิธภัณฑ์มหาราชานุสรณ์ รัชกาลที่ 4 วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร” ภายใต้ทุน The U.S. Ambassadors Fund for Cultural Preservation (AFCP) หรือกองทุนเอกอัครราชทูตเพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อการอนุรักษ์ผ้าและกระดาษโบราณ ในพิพิธภัณฑ์ของวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร
ในพิธีครั้งนี้มีพระครูสิริสวีวัฒน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส, ผศ. ดร. ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร, ผศ. ดร. นรงค์ ฉิมพาลี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, การุณ โรหิตรัตนะ นายช่างพิมพ์อาวุโส หอสมุดแห่งชาติ เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธี
พระครูสิริสวีวัฒน์ให้ข้อมูลว่า พิพิธภัณฑ์มหาราชานุสรณ์ รัชกาลที่ 4 ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้ชมเมื่อ พ.ศ. 2550 ได้รวบรวมโบราณวัตถุประเภทต่าง ๆ มาจัดแสดงแต่มิได้เปิดให้ชมสาธารณะ เนื่องจากขาดบุคคลากร หากผู้ใดสนใจเยี่ยมชมจำเป็นต้องติดต่อหรือทำเรื่องส่งถึงวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้แบ่งออกเป็น 5 ห้องจัดแสดง ได้แก่
- ห้องภูษาแพรพรรณ จัดแสดง โบราณวัตถุเกี่ยวกับผ้า เช่น ย่ามที่ระลึกจากงานพระราชพิธีในอดีต อย่างย่ามผ้าไหมฉลองพระเสวตวชิรพาหะ ร.ศ. 130 นอกจากนี้ยังมีผ้าของราชสำนักฝ่ายใน เช่น ผ้าทรงสะพัก ผ้ากรองทอง สายสะพายแพร เป็นต้น
- ห้องป้านชาและเครื่องกระเบื้องเคลือบ จัดแสดงป้านชาที่มีคนนำมาถวายพระสงฆ์ตั้งแต่ครั้งอดีต ป้านชาคือชุดเครื่องชงชา ประกอบด้วยกาน้ำชา ถ้วยน้ำชา และถาดรองน้ำชา ซึ่งของส่วนใหญ่ตกแต่งด้วยศิลปกรรมแบบจีน รวมทั้งยังจัดแสดงกระเบื้องเคลือบอื่น ๆ ที่สวยงามทั้งแบบศิลปะจีนและไทย
- ห้องเครื่องมุก เครื่องถมปัด และเครื่องเบญจรงค์ จัดแสดง เครืองถ้วยภาชนะและเครื่องราชูปโภคที่วิจิตรงดงาม อันเป็นเครื่องแสดงฐานันดรของผู้เป็นเจ้าของ ที่โดดเด่นในห้องนี้คือเครื่องมุกหรือเครื่องประดับมุก ซึ่งเป็นที่นิยมทำมาในสมัยรัชกาลที่ 4 สำหรับการประดับตกแต่งข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่นำไปถวายพระสงฆ์
- ห้องเครื่องทองเหลืองและเครื่องเขิน จัดแสดงภาชนะเครื่องทองเหลืองและเครื่องเขิน
- ห้องคัมภีร์ใบลานและตู้พระธรรม จัดแสดงโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับ “กระดาษ” เนื่องในพระพุทธศาสนา เช่น สมุดไทย คัมภีร์โบราณ รวมถึงตู้พระธรรมสำหรับใส่หนังสือที่จั้งอยู่กลางห้อง มีพระบรมฉายาลักษณ์และตราพระราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 6
ซึ่งโครงการอนุรักษ์นี้จะดำเนินการอนุรักษ์โบราณวัตถุในห้องที่หนึ่งและห้องสุดท้าย เนื่องจากโบราณวัตถุทั้งสองห้องเป็น “ผ้า” และ “กระดาษ” อันเป็นวัสดุไม่คงทนถาวรเหมือนโบราณวัตถุชิ้นอื่น
แรกเริ่มนั้น ผศ. ดร. รัชฎา เข้ามาติดต่อขอนำสมุดไทยโบราณในพิพิธภัณฑ์ไปใช้สำหรับงานวิจัย แต่เมื่อได้พบว่าโบราณวัตถุลายชิ้นอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม โดยเฉพาะปัญหาปลวกและหนอนกัดแทะ ประกอบกับทางวัดไม่มีงบประมาณและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการอนุรักษ์ ผศ. ดร. รัชฎา พร้อมด้วยทีมงานที่มีความรู้ด้านนี้จึงก่อตั้งโครงการขึ้นมาพร้อมกับขอทุนสนับสนุนดังกล่าว จนท้ายที่สุดแล้วงานอนุรักษ์ก็ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน และประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
นับเป็นการบูรณาการร่วมกันของหลายภาคส่วนทั้ง มหาวิทยาลัยศิลปากร รัฐบาลสหรัฐอเมริกา วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร และหอสมุดแห่งชาติ ที่ได้ร่วมมือกันเพื่ออนุรักษ์มรดกและวัฒนธรรมของประเทศไทย อันจะเป็นแนวทางสำหรับการอนุรักษ์โบราณวัตถุอื่นต่อไปในอนาคต