เผยแพร่ |
---|
ใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับงานใหญ่ปลายปี สำหรับคอหนังสือนั่นคืองานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 21 ระหว่างวันที่ 13-24 ตุลาคม 2559 จัดที่เดิม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ถึงแม้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจจะดูซบเซาไปบ้าง รวมทั้งกระแสการเปลี่ยนแปลงการอ่านหนังสือที่เป็นตัวหนังสือมาอ่านทางโลกออนไลน์
แต่ก็มีสำนักพิมพ์หลายแห่งต่างเตรียมหนังสือดีและราคาถูก มาจำหน่ายที่งานนี้ แน่นอนว่า แต่ละสำนักพิมพ์ต่างต้องคัดสรรต้นฉบับที่ดี และทางถนัดที่ตนเองเชี่ยวชาญ มานำเสนอแก่หนอนหนังสือ
เช่นเดียวกับหนังสือศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ ในเครือสำนักพิมพ์มติชน ที่ยังมุ่งมั่นทำหนังสือคุณภาพดีมานำเสนอแก่นักอ่าน จึงได้เตรียมหนังสือเป็นจำนวนมากมานำเสนอแก่ท่านผู้อ่านเช่น โดยอยู่ภายใต้ concept ของธีมการขายของสำนักพิมพ์มติชนครั้งนี้ว่า READ TO LEAD และหนังสือที่น่าสนใจในงานครั้งนี้
ยุวกษัตริย์ รัชกาลที่ 5 เสด็จอินเดีย (INDIA IN 1872) เขียนโดยนักวิชาการชาวอินเดีย สัจฉิทานันท สหาย เและแปลโดย กัณฐิกา ศรีอุดม
เป็นผลงานเล่มแรกที่ทางมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับสำนักพิมพ์มติชนผลิตออกมา โดยนำเสนอเรื่องราวมุมมองใหม่ “ประวัติศาสตร์ปฏิรูปประเทศสมัยรัชกาลที่ 5”
ในขณะที่พระองค์เสด็จเยือนอินเดียในคราวนั้น อินเดียตกเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษไปแล้ว ทำให้พระองค์ทรงเห็นอะไรหลายอย่างในอินเดีย ที่อังกฤษเข้ามาวางรากฐาน ทั้งเรื่องการศึกษา การคมนาคม การสร้างทางรถไฟ เป็นต้น
และใครจะคิดบ้างว่า รัชกาลที่ 5 เสด็จเยือนอินเดีย จะส่งผลต่อการปฏิรูปสยามประเทศอย่างมาก เท่าๆ กับการเสด็จประพาสยุโรปหรือมากกว่าด้วยซ้ำไป
มันยากที่จะเป็นมลายู เขียนโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ และ อ.นิติ ภวัครพันธุ์ เขียนคำนำเสนอ
หนังสือที่เสมือนกระบอกเสียงของชาวมลายูในชายแดนใต้ (โดยที่ผู้เขียนลงไปศึกษาในพื้นที่ชุมชนประมงที่ จังหวัดปัตตานี) ที่สะท้อนออกมาเป็นตัวหนังสือ จากการบุกเบิกลงพื้นที่ของอาจารย์หนุ่ม ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ นานหลายต่อหลายปี เพื่อนำข้อความ ข้อคิดเห็น สำนึกคิดของชาวมลายูมาถ่ายทอดเรียงร้อยเป็นตัวอักษรให้สังคมรับรู้
เนื้อหาว่าด้วย ชาวมลายูที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกกีดกันจากรัฐส่วนกลางมานานหลายทศวรรษ เป็นปัญหาที่รัฐไม่สามารถเข้ามาแก้ไขได้นับหลายต่อหลายปี ซึ่งแท้จริงแล้วรัฐเองเป็นส่วนที่เข้าไม่ถึงกลุ่มคนนี้หรือไม่
ประวัติศาสตร์บอกเล่าคือข้อมูลที่เพิกเฉยไม่ได้ เพราะข้อมูลเหล่านี้คืออานุภาพของประชาชนผู้มีสิทธิเท่าเทียมกันทุกพื้นที่
กบฏบวรเดช เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475 เขียนโดย ณัฐพล ใจจริง
เป้าหมายของหนังสือเล่มนี้ นอกจากจะต้องการศึกษาเหตุการณ์ ดังกล่าวโดยใช้หลักฐานที่เผยแพร่ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักฐานจากงานเขียนและความทรงจำของเจ้านายที่เกี่ยวข้องหรือทรงอยู่ร่วมกับเหตุการณ์นั้น รวมทั้ง งานเขียนรำลึกหรือความทรงจำในหนังสืองานศพของของผู้เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายได้พูดเพื่อให้เสียงต่างๆ ของตัวแสดงในประวัติศาสตร์ถูกรับรู้ในวงกว้างแล้ว
หนังสือเล่มนี้ยังมีความต้องการท้าทายการเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์การเมืองไทยที่ผ่านมา เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์และตีความเหตุการณ์ดังกล่าวใหม่ให้มีใกล้เคียงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีความสมดุลของเสียงจากตัวแสดงในประวัติศาสตร์ เพื่อให้สังคมไทยได้องค์ความรู้ใหม่และเรียนรู้ประสบการณ์จากอดีตเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยและการอยู่ร่วมกันในสังคมไทยให้เกิดสันติภาพอันยั่งยืนต่อไป
เปิดแผนยึดล้านนา เขียนโดย ผศ.ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว
ในสมัยรัชกาลที่ 5 รัฐส่วนกลางไล่ผนวกรวมท้องถิ่นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐที่เรียกว่า “สยาม” และน่าจะเป็นผลมาจากการที่พระองค์สนใจปัญหาเกี่ยวกับเรื่องอาณานิคม ที่อังกฤษได้ยึดพม่าเป็นที่เรียบร้อย
เมื่อถึงคราวที่สยามพยายามจะ “ผนวก” อาณาจักรล้านนา ได้เกิดผลกระทบในวงกว้างทั้งสยามและล้านนาเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากการแข็งขืนของท้องถิ่นล้านนา ทำให้สยามใช้เวลาในการผนวกล้านนาจนสำเร็จ ซึ่งจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ทางการเมืองในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งแยกเพื่อปกครอง ยึดอำนาจเจ้านายท้องถิ่น รวมไปถึงความพยายามกลืนวัฒนธรรมล้านนาด้วยเช่นเดียวกัน
การต่อสู้ทางการเมืองการปกครองระหว่าง 2 รัฐใหญ่ จะมีกลยุทธ์ใดบ้าง ฟาดฟันทางการเมืองกันหนักหน่วงเพียงไร คำตอบอยู่ภายในเล่มแล้ว
นี่เป็นแค่ตัวอย่างหนังสือที่จำหน่ายในราคาพิเศษ ที่บูธมติชนโซนพลาซ่า