เผยแพร่ |
---|
เนื่องในโอกาสอันเป็นมหามงคลของปวงพสกนิกรทุกหมู่เหล่า รายการสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา จัดเสวนาหัวข้อ “เสวยราชสมบัติกษัตรา” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน 2562 เวลา 12.00 – 16.00 น. ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
โดยมีวิทยากรคือ ผศ. ดร. ชัชพล ไชยพร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ. ดร. พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ดร. นนทพร อยู่มั่งมี ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, อ. ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎ์ธานี ผู้เชี่ยวชาญด้านอยุธยาอาภรณ์ และดำเนินการเสวนาโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ตลอดระยะเวลาในยุคสมัยรัตนโกสินทร์มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นทั้งหมด 11 ครั้ง (ยังไม่นับรวมในรัชกาลปัจจุบัน) โดยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นรัชกาลละ 2 ครั้ง แต่ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ไม่ได้จัดพระราชพิธีนี้
ผศ. ดร. ชัชพล อธิบายว่า ในสามรัชกาลที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้งนั้นเกิดขึ้นเพราะมีเหตุจำเป็นบางประการ กล่าวคือ ในครั้งรัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระราชวงศ์ ใน พ.ศ. 2325 แต่เวลานั้นบ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงจัดขึ้นอย่างสังเขป เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองสงบดีแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ จากบรรดาเจ้านายและขุนนางครั้นสมัยกรุงเก่า แล้วจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีที่กระทำกันมาโดยครบถ้วนสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2328
ครั้นในรัชกาลที่ 5 ได้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 ขณะพระชนมพรรษา 15 พรรษา และอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 เมื่อมีพระชนมพรรษครบ 20 พรรษา โดย ผศ. ดร. ชัชพล แสดงความคิดเห็นว่า เหตุที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ไม่ใช่การทำขึ้นเนื่องด้วยการ “บรรลุนิติภาวะ” เพราะเป็นการนำแนวความคิดจากปัจจุบันไปอธิบายเรื่องในอดีต ซึ่งบริบทสังคมแตกต่างกัน
ผศ. ดร. ชัชพล กล่าวว่า การที่รัชกาลที่ 5 ลาผนวช (ผนวชเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2416 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหารเป็นเวลา 15 วัน) นั้นเปรียบเหมือนการละราชย์สมบัติ ดังนั้นเมื่อทรงลาสิขามาแล้วจึงต้องประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง เป็นการ “บรรลุราชนิติภาวะตามราชประเพณี”
ครั้นในรัชกาลที่ 6 ซึ่งพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ได้เสด็จฯ ทรงศึกษาที่ต่างประเทศ ทรงได้รับแนวคิดสมัยใหม่หลายประการ ทั้งยังเสด็จฯ แทนพระองค์ ร่วมงานพระราชพิธีในต่างประเทศ เช่น พระราชพิธีราชาภิเษกพระเจ้ากรุงสเปน และพระราชพิธีพัชราภิเษกสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ดังนั้นจึงมีพระราชดำริว่า “Coronation” คือการเผยแผ่เกียรติยศของชาติ
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 6 จัดขึ้นวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 แต่เป็นไปอย่างสังเขป ไม่ได้เชิญแขกจากต่างประเทศมาร่วมในพระราชพิธี แต่สยามขณะนั้นได้มีการสร้างความเป็นรัฐชาติที่สืบเนื่องมาจากรัชกาลก่อนหน้า จึงทำให้บริบทหลายประการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย ดังนั้น รัชกาลที่ 6 ทรงเล็งเห็นว่ามีความจำเป็นต้องประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เป็นพระราชกุศโลบายอันเป็นนัยยะของการประกาศความเป็นรัฐสมัยใหม่ของสยาม
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกนั้น ทรงออกพระนามเรียกว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร และครั้งที่สองทรงเรียกว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช โดยพระองค์ทรงเล็งเห็นว่า การพระราชพิธีครั้งหลังนี้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบหลายประการมิให้ซ้ำกับพระราชพิธีครั้งแรก และทรงเชิญผู้แทนประมุข ผู้แทนพระองค์ หรือราชทูตจากต่างประเทศกว่า 14 ประเทศมาร่วมพระราชพิธีด้วย ซึ่งได้รับการยกย่องสรรเสริญจากนานาประเทศ
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในประเทศไทย
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกประกอบด้วยคำสองคำคือ “บรมราชา” และ “อภิเษก” คำว่าบรมราชาเป็นสมัญญานามอันแปลว่าราชาที่ยิ่งใหญ่เหนือราชาทั้งปวง ส่วนคำว่า “อภิเษก” แปลว่า “รดน้ำ” ดังนั้น พระราชพิธีนี้จึงหมายถึงการแต่งตั้งราชาให้ยิ่งใหญ่ด้วยการรดน้ำ โดยมีรากมาจากประเทศอินเดียในแถบอินเดียใต้ที่เรียกพิธีกรรมการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ว่า “ราชาสูยะ” หรือ “ราชสูยะ” เป็นคติในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และได้มีการถ่ายทอดคติและรูปแบบมาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ ก่อนที่จะนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมในท้องถิ่น
พิธีที่สำคัญที่สุดในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกคือพิธีสรงพระมุรธาภิเษก โดยมีน้ำเป็นนัยยะสำคัญของการเปลี่ยนสถานภาพของพระมหากษัตริย์ และเป็นการชำระล้างให้บริสุทธิ์ ในประเพณีวัฒนธรรมไทย การรดน้ำมีความสำคัญมาก เช่น พิธีบวชและพิธีโกนจุก การรดน้ำจะหมายถึงการเปลี่ยนสถานภาพ คือ ฆราวาส-บรรพชิต, เด็ก-ผู้ใหญ่ ส่วนการรดน้ำสังข์ในพิธีแต่งงานจะหมายถึงการอำนวยอวยพร
ดร. นนทพร อธิบายว่า เมื่อคติจากอินเดียนี้เข้าสู่สุวรรณภูมิก็ปรากฏร่องรอยหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดคือ ศิลาจารึก เช่น ศิราจารึกจิตรเสน (ราวพุทธศตวรรษที่ 12) ที่มีการกล่าวถึงการอภิเษกของเจ้าชายพระองค์หนึ่งพระนามว่า จิตรเสน และเปลี่ยนพระนามใหม่ว่า พระเจ้ามเหนทรวรมัน, ศิลาจารึกเมืองเสมา (ราวพุทธศตวรรษที่ 16) กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 (พ.ศ. 1511-1544) ที่ได้รับการอภิเษกโดยพราหมณ์
กระทั่งสมัยสุโขทัยปรากฏในศิลาจารึกวัดศรีชุม (ราวพุทธศตวรรษที่ 18) กล่าวถึงกาอภิเษกสถาปนาพ่อขุนบางกลางหาวเป็น “กมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์” และศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง (ราวพุทธศตวรรษที่ 19) ที่กล่าวถึงการสถาปนาพระยาเลอไทย มีการรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ คือ มงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี และเศวตฉัตร กระทั่งเมื่อเข้าสู่สมัยอยุธยาก็ปรากฏหลักฐานและขั้นตอนที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าว่าในพระราชพิธีนี้ “น้ำ” คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งจะใช้ประกอบพิธีสรงพระมุรธาภิเษก ในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะใช้แหล่งน้ำจากเมืองสุพรรณบุรี ประกอบไปด้วย สระแก้ว สระเกษ สระคา และสระยมนา หากพิจารณาจากชื่อของสระก็จะพ้องกับชื่อของแม่น้ำในอินเดีย 5 สาย หรือที่เรียกว่า “ปัญจมหานที” อันประกอบไปด้วย แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำมหิ แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู ซึ่งตามคติแล้วเชื่อว่าน้ำไหลมาจากเขาไกรลาสอันเป็นที่ประทับของพระอิศวร
ครั้นมาถึงในรัชกาลที่ 5 ได้นำน้ำจากแม่น้ำ 5 สาย คือ แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำราชบุรี แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำบางประกงรวมเรียกว่า “เบญจสุทธิคงคา” มาใช้เพิ่มเติม รวมถึงน้ำจากปัญจมหานทีในอินเดียด้วย ภายหลังในรัชกาลที่ 6 ทรงใช้ใช้น้ำจากมหาเจติยสถานที่สำคัญในเมืองต่างๆ 7 แห่ง ได้แก่ สระบุรี นครปฐม สุโขทัย นครศรีธรรมราช พิษณุโลก ลำพูน และนครพนม รวมทั้งน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 10 มณฑล และรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีการเพิ่มแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์อีก 1 แห่ง รวมเป็น 18 แห่ง และในรัชกาลปัจจุบันเป็นครั้งแรกที่นำน้ำศักดิ์สิทธิ์จากทุกจังหวัดในประเทศไทยมาทำน้ำอภิเษก
ก่อนที่จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นจะต้องเตรียมการพิธีขั้นตอนอื่น ๆ หลายขั้นตอน เช่น พิธีการจารึกพระสุพรรณบัฏและแกะตราพระราชลัญจกร พิธีปัดปัดใบสมิต (ประกอบด้วยใบทอง ใบมะม่วง ใบตะขบ) เป็นพิธีปัดสิ่งไม่ดีออกไปเสร็จแล้วจึงนำไปเผาไฟ และเตรียมสถานที่ทั้งพระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร และมลฑปพระกระยาสนานสำหรับพิธีสรงพระมุรธาภิเษก รวมถึงเครื่องราชูปโภค เครื่องประกอบพิธีต่าง ๆ
เมื่อถึงวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (วันพระฤกษ์) ก็จะเริ่มพิธีโดยสังเขปตามลำดับ ดังนี้
- พิธีสรงพระมุรธาภิเษก
- พิธีถวายน้ำอภิเษก
- พิธีถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์กับพระแสงศาสตราวุธและเครื่องราชูปโภคต่าง ๆ
- พิธีออกมหาสมาคมที่ท้องพระโรงรับการถวายพระพรชัยมงคล
- เสด็จไปวัดพระศรีรัตนศาสนาดาราม ประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภก
- พิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร
สถาปัตยกรรมและเครื่องราชูปโภค
พระมหามณเฑียร คือกลุ่มอาคารที่เชื่อมระหว่างพระราชฐานชั้นกลางกับชั้นใน เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี ทอดตัวจากทิศเหนือไปทิศใต้ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน เครื่องหลังคาซ้อนชั้น มุงกระเบื้องเคลือบสี สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 1 ประกอบไปด้วยพระที่นั่งสามองค์คือ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน พระราชทานนามโดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3
พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน จะใช้ประกอบในพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ซึ่งอยู่ในช่วงท้าย ๆ ของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในพระที่นั่งองค์นี้จะมีพระราชบรรจถรณ์หรือเตียงนอนที่อยู่ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร โดยพระมหากษัตริย์จะทรงประทับค้างแรมอย่างน้อยหนึ่งราตรีในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
ผศ. ดร. พัสวีสิริ ให้เหตุผลว่าที่พระมหากษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรีจะต้องเสด็จฯ มาประทับที่พระที่นั่งองค์นี้ในพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร เนื่องจากพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นที่ประทับของบูรพมหากษัตริย์มาโดยตลอด ครั้นรัชกาลที่ 4 เสด็จฯ ประทับ ณ พระอภิเนาว์นิเวศน์ และรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ประทับ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ก็ยังคงต้องเสด็จฯ มาประกอบพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน จึงกลายเป็นพระราชธรรมเนียมพระมงคลฤกษ์ที่สืบทอดต่อมา
พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นพระที่นั่งที่อยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน เหตุที่ต้องเป็นทิศใต้ (ทักษิณ) เพราะตามคติเป็นทิศที่ตั้งของชมพูทวีปตามคติไตรภูมิ อันเป็นทวีปที่ประสูติของพระพุทธเจ้าและพระเจ้าจักรพรรดิ พระที่นั่งองค์นี้จะใช้ประกอบในพิธีรับน้ำอภิเษกบนพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ โดยพระมหากษัตริย์จะทรงรับน้ำอภิเษกที่จะมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายจากทั้ง 8 ทิศ อันสะท้อนถึงคติจักรพรรดิราชที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ทั่วทั้งแว่นแคว้นทั้ง 8 ทิศ
อีกมุมหนึ่งของพระที่นั่งจะมีพระที่นั่งภัทรบิฐภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ภายหลังจากรับน้ำอภิเษกแล้วก็จะเสด็จฯ มาประทับที่พระที่นั่งภัทรบิฐ และทรงรับเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ ส่วนภาพจิตกรรมในพระที่นั่งองค์นี้จะเกี่ยวข้องกับพระอินทร์ พระแม่โพสพ พระพลเทพ และเทพเจ้าต่าง ๆ ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นอกจากนี้ยังมีพระแท่นมณฑลพิธีสำหรับประดิษฐานเครื่อประกอบพิธี เช่น พระราชลัญจกร ดวงพระราชสมภพ พระพุทธรูปองค์สำคัญ ๆ และเครื่องราชูปโภคต่าง ๆ
อีกด้านหนึ่งจะมีพระวิมานประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช ซึ่งด้านหลังพระวิมานนี้คือพระทวารเทวราชมเหศวร์ ซึ่งจะเชื่อมไปยังพระที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ผศ. ดร. พัสวีสิริ เสริมเกร็ดความรู้ว่า พนักพระที่นั่งภัทรบิฐจะเป็นวงโค้งเกือกม้าเรียกว่า “กง” ทรงพระที่นั่งแบบนี้คล้ายเก้าอี้แบบจีนซึ่งเป็นเก้าอี้สงวนสำหรับชนชั้นสูงจากราชวงศ์ซ้งของจีน รวมถึงพระราชบรรจถรณ์ก็จะเป็นเตียงแบบจีนเช่นเดียวกัน
พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน จะใช้ประกอบในพิธีออกมหาสมาคมและถวายพระพรชัยมงคล โดยในเวลาปกติจะมีพระที่นั่งสององค์คือ พระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน และพระแท่นราชบัลลังก์ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร หรือเรียกว่าพระแท่นมหาเศวตฉัตร หากมีงานพระราชพิธีก็จะนำพระที่นั่งพุดตานทองมาซ้อนกับพระแท่นมหาเศวตรฉัตร จะเรียกรวมกันว่า “พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์” ซึ่งทำให้ที่ประทับสูงขึ้นกว่าเดิม เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ และทรงเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ครบแล้วนั้นก็จะสะท้อนภาพความเป็นสมมุติเทพ เสมือนองค์อมรินทร์ประทับบนเขาพระสุเมรุ
เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ นับเป็นเครื่องราชูปโภคที่มีความสำคัญเพราะเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความเป็นพระราชา เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ล้วนมีความหมายและความงดงามที่แสดงถึงความประณีตศิลป์ในงานศิลปะไทย อันประกอบไปด้วย
- พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นมหามงกุฎยอดแหลมทำด้วยทองคำลงยาประดับอัญมณี มีน้ำหนักถึง 7.3 กิโลกรัม ซึ่งสะท้อนว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชภาระอันหนักที่ต้องเป็นประมุขของแผ่นดิน
- พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นดาบคมสองด้าน มีฝักทำด้วยทองคำลงยา สะท้อนความหมายว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นนักรบ ปกป้องบ้านเมืองและประชาราษฎร และแสดงถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
- ธารพระกรชัยพฤกษ์ หรือไม้เท้า ด้ามยาว ปลายแหลมสามแฉกสำหรับจรดพื้น ทำจากไม้ชัยพฤกษ์ปิดทอง โดยปกติไม้เท้าเป็นเครื่องใช้ของผู้มีอายุมาก ดังนั้นจึงสะท้อนความหมายการอำนวยอวยพรให้พระมหากษัตริย์มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน นอกจากนี้แล้ว ไม้เท้ายังเป็นสัญลักษณ์ของนักปราชญ์อีกด้วย
- วาลวิชนี ประกอบด้วยสองสิ่ง คือ พัดวาลวิชนีหรือพัดใบตาลปิดทอง ด้ามเป็นทองคำลงยา และพระแส้ ที่ทำจากขนของหางช้างเผือก หรือทำจากขนของจามารี วาลวิชนีเป็นเครื่องปัด อันสะท้อนความหมายว่า พระมหากษัตริย์จะทรงปัดความไม่ดีออกจากประชาราษฎร์และพระราชอาณาจักร นอกจากจะเป็นการปัดสิ่งไม่ดีออกไปแล้ว ยังถือเป็นการปัดเอาความสงบร่มเย็นเข้ามาสู่พระราชอาณาจักรอีกด้วย
- ฉลองพระบาทเชิงงอน เป็นรองเท้าปลายแหลม เปิดส้น พื้นบุด้วยผ้าไหม ทองคำลงยาประดับอัญมณี เป็นรองเท้าแบบแขก ซึ่งสะท้อนคติมาจากอินเดีย
นอกจากนี้ยังมีเครื่องแต่งพระองค์ เช่น พระธำมรงค์รัตนวราวุธ ทรงที่พระดัชนีข้างขวา ยอดทำจากเพชร มีอัญมณีนพรัตน์ประดับโดยรอบ ด้างข้างมีจักรกับสังข์ อีกด้านเป็นตรีกับคฑา ซึ่งเป็นอาวุธของพระนารายณ์ พระธำมรงค์อีกองค์หนึ่งที่ดัชนีซ้าย คือพระธำมรงค์วิเชียรจินดา
เครื่องราชูปโภคที่สำคัญอีกหมวดหนึ่งคือพระแสงอัษฎาวุธ ที่ประกอบด้วยพระแสง 8 องค์ ยกตัวอย่างพระแสงหมวดนี้ที่สำคัญคือ พระแสงตรีและพระแสงจักร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ราชวงช์จักรี เป็นงานศิลปกรรมคร่ำทอง อาวุธเป็นเหล็กแล้วเซาะร่องฝังเส้นทองเป็นลวดลาย บริเวณด้ามพระแสงตรีจะมีรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ นอกจากนี้ยังมีพระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง พระแสงหอกเพชรรัตน์ และพระแสงของ้าวแสนพลพ่าย เป็นต้น
ฉลองพระองค์พระบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์
พระภูษาที่สำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกคือ “ผ้าเขียนทอง” ซึ่งเป็นผ้าฝ้ายและเขียนลวดลายขึ้นเสมือนงานจิตรกรรม มีแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ที่ประเทศอินเดีย บริเวณโคโรแมนเดลโคสต์คือชายฝั่งทะเลทางตะวันออกเฉียงใต้ โดยพระราชสำนักของไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจะส่งต้นแบบลายหรือ “อย่าง” ไปให้ช่างทางอินเดียเป็นผู้ผลิตจึงเรียกว่า “ผ้าลายอย่าง” โดยสั่งล่วงหน้าหลายปี มีบันทึกว่าสั่งคราวละ 50 กุลี หรือกว่า 1,000 ผืน
เมื่อได้รับผ้าจากอินเดียมาแล้วช่างฝีมือไทยจะลงมือเขียนตัดขอบลวดลายเหล่านั้นด้วยสีทอง จึงเรียกว่าผ้าเขียนทอง อ. ธีรพันธุ์ กล่าวว่าช่างอินเดียมีฝีมือที่แตกต่างกันบางคนอาจเขียนลายไม่ปราณีตหรือผิดเพี้ยน เมื่อช่างไทยนำมาเขียนทองจึงเหมือนเป็นการ “เก็บงาน” เป็นการแก้ไขตัดขอบลวดลายให้คมชัด ขับให้สีสันเด่นขึ้น สวยงาม และปราณีตมากยิ่งขึ้น
อ. ธีรพันธุ์ อธิบายว่าพระภูษาทรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีอยู่สองประเภทสำคัญคือ ผ้าเขียนทอง ซึ่งเป็นผ้าฝ้ายเขียนสีแต่งลวดลาย กับผ้าเยียรบับคือผ้ายกทอใช้เส้นนั้นทองคำหรือโลหะอื่นทอให้นูนเป็นลวดลาย ซึ่งพระมหากษัตริย์จะทรงเลือกพระภูษาใดขึ้นอยู่กับพระราชประสงค์ แต่สีของผ้าจะต้องทรงแต่งพระภูษาตามสีด้วยพระฤกษ์ตามกำลังวันของพราหมณ์ อ. ธีรพันธุ์ ยกตัวอย่างไว้ ดังนี้
- รัชกาลที่ 4 พระฤกษ์ต้องวันพฤหัสบดีทรงพระภูษาเหลือง
- รัชกาลที่ 5 พระฤกษ์ต้องวันพุธทรงพระภูษาเขียว
- รัชกาลที่ 6 (พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร) พระฤกษ์ต้องวันศุกร์ทรงพระภูษาเหลือง
- รัชกาลที่ 7 พระฤกษ์ต้องวันพฤหัสบดีทรงพระภูษาน้ำเงิน
- รัชกาลที่ 9 พระฤกษ์ต้องวันศุกร์ทรงพระภูษาน้ำเงิน
จากการตรวจสอบข้อมูลของ อ. ธีรพันธุ์ พบว่าพระบรมฉายาลักษณ์ (ภาพถ่าย) ของรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ที่ทรงพระเครื่องต้นนั้นมิใช่พระบรมฉายาลักษณ์ในคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่อาจเป็นในคราวฉายพระบรมฉายาลักษณ์วาระอื่นมากกว่า
พระบรมฉายาลักษณ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกปรากฏอย่างชัดเจนในรัชกาลที่ 6 แต่เป็นในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ดังนั้น พระบรมฉายาลักษณ์ในคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 7 จึงเป็นครั้งแรกที่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์มีการฉายพระบรมฉายาลักษณ์
สำหรับพระภูษาในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 7 นั้น เมื่อเสด็จฯ ประทับ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ ทรงพระภูษาลายเขียนทองพื้นน้ำเงิน ทรงพระสนับเพลาเชิงงอน ทรงสวมพระยาทโบว์เข็มซ้อนทับกับฉลองพระบาทเชิงงอน จากนั้นจึงเสด็จฯ ออกมหาสมาคมฝ่ายหน้า ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน เสร็จแล้วจึงเสด็จฯ ออกมหาสมาคมฝ่ายใน สถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี ทรงถอดพระมหาพิชัยมงกุฎเปลี่ยนเป็นทรงพระมหาชฎา
ครั้นเฉลิมพระราชมณเฑียรจะทรงพระภูษาหิ่งห้อยชมสวน (ผ้าทอทองสลับไหม เวลาต้องแสงจะวูบวาบเหมือนหิ่งห้อย) ทรงพระมหามาลาเพชรน้อย (ภาพล่าง)
อ. ธีรพันธุ์ กล่าวว่าการเลือกทรงพระภูษาในแต่ละพิธีจะขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัย เช่น การเสด็จฯ ออกมหาสมาคมฝ่ายในจะทรงพระภูษาเขียนทองบ้าง พระภูษาเยียรบับบ้าง หรือในพิธีสวดเจริญพระพุทธมนต์ รัชกาลที่ 6, รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 จะทรง “ยูนิฟอร์ม” แบบตะวันตก มิได้ทรงพระภูษาโจงตามโบราณราชประเพณี ดังนั้น การปรับเปลี่ยนการทรงพระภูษาในพิธีต่าง ๆ จึงขึ้นอยู่กับกาลสมัยและพระบรมราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์
ชมวีดิทัศน์เสวนา :