“แม่ชีเทเรซา” ถูกยกเป็นนักบุญ หลังสร้างอัศจรรย์ผ่าน “รูป” และ “อัฐิธาตุ” รักษาเนื้องอก-สมองบวม

แม่ชีเทเรซาขณะร่วมการแถลงข่าวในวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 1986 (พ.ศ. 2529) AFP PHOTO / DON PREISLER

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (4 กันยายน) ที่นครวาติกัน สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิกได้ประกอบพิธีสถาปนาแม่ชีเทเรซาแห่งโกลกาตา ซึ่งเสียชีวิตในวันที่ 5 กันยายน 1997 (พ.ศ. 2540) ขึ้นเป็น “นักบุญ” หลังมีการยืนยัน “อัศจรรย์” ของแม่ชีสองครั้งซึ่งเกิดขึ้นหลังแม่ชีได้เสียชีวิตไปแล้ว

รายงานของ The Indian Express กล่าวว่า อัศจรรย์ครั้งแรกของแม่ชีเทเรซาที่เกิดขึ้นกับ โมนิกา เบอร์ซา (Monica Bersa) ชาวบ้านจากเบงกอลตะวันตกซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยเนื้องอกช่องท้องในปี 1997 เธอไปรักษากับแพทย์และโรงพยาบาลหลายแห่งแต่ยังไม่หาย ก่อนเข้ามารักษาในกับทางมิชชันนารีเพื่อการกุศล (Missionaries of Charity) ที่ก่อตั้งโดยแม่ชีเทเรซาในเดือนพฤษภาคม 1998

ในวันที่ 5 กันยายน 1998 ครบรอบ 1 ปีแห่งการจากไปของแม่ชีเทเรซา เบอร์ซารู้สึกได้ถึงลำแสงจากภาพของแม่ชี เย็นวันนั้นแม่ชีสองคนได้สวมจี้ซึ่งมีรูปแม่ชีเทเรซาที่รอบเอวของเบอร์ซาและสวดให้กับเธอ เธอหลับลงไปโดยไม่เจ็บปวด ก่อนตื่นขึ้นมาในตอนเช้าโดยที่เนื้องอกได้หายไป

อย่างไรก็ดี The Indian Express กล่าวว่า แพทย์หลายคนเชื่อว่าที่เบอร์ซาหายจากอาการป่วยได้เป็นผลจากยาแผนปัจจุบัน เช่นเดียวกับสามีของเธอ ขณะที่คณะกรรมการทางการแพทย์ซึ่งพิจารณาเงื่อนไขของการเป็นนักบุญมองว่า เหตุการณ์ดังกล่าวถือว่าเข้าลักษณะเป็น “อัศจรรย์” อย่างสมบูรณ์ ทั้งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด เป็นเหตุการณ์ที่จบครบกระบวนในครั้งเดียว และส่งผลอย่างยั่งยืน

เหตุอัศจรรย์อีกครั้งเกิดขึ้นกับชาวบราซิล มาร์ซิลลิโอ ฮัดดัด อันดริโน ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการสมองบวมหลายจุด ซึ่งรายงานของสื่ออินเดียกล่าวว่า อันดริโนและภรรยาเคยได้เอาอัฐิธาตุของแม่ชีเทเรซามาวางไว้บนหัวและมักสวดภาวนาต่อแม่ชีเทเรซาเป็นประจำ

วันหนึ่งในเดือนธันวาคม 2008 (พ.ศ. 2551) อันดริโนมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงเขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน ก่อนเขาจะอ้างว่าได้สัมผัสกับความอัศจรรย์ทำให้เขาหายจากอาการป่วย ซึ่งเมื่อแพทย์ตรวจอาการของเขาในวันถัดมาพบว่า อาการบวมของสมองของเขาได้ยุบลง และวินิจฉัยว่าเขาหายจากอาการป่วยแล้ว

รายงานของรอยเตอร์สกล่าวว่า นักวิจารณ์บางรายมองว่า กระบวนการพิสูจน์อัศจรรย์ของคริสตจักรมีข้อบกพร่อง และบางกรณีอาจมีการทุจริต เช่นในปี 2002 โอปุสเดอี หนึ่งในนิกายสายอนุรักษ์นิยมถูกกล่าวหาว่าใช้เงินเพื่อผลักดันให้นักบวชจากนิกายของตนได้ขึ้นเป็นนักบุญ และในปี 2015 คณะกรรมการตรวจสอบพบว่า สำนักงานที่ดูแลเรื่ิองการแต่งตั้งนักบุญของวาติกันไม่มีการทำบัญชีเบิกจ่ายงบประมาณอย่างโปร่งใส และในปี 2014 ธนาคารของวาติกันเคยสั่งอายัดบัญชีมูลค่านับล้านยูโรของเจ้าหน้าที่สำนักงานแห่งนี้มาแล้ว

นักบุญเทเรซาเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1979 ได้รับการยกย่องอย่างมากกับการอุทิศตนเพื่อคนยากจน แต่ขณะเดียวกัน นักบุญเทเรซาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยว่าเธอเน้นคำสอนที่ให้ผู้ประสบเคราะห์กรรมยอมรับชะตากรรม มากกว่าที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมให้ดีขึ้น รวมถึงท่าทีที่ต่อต้านการทำแท้ง และการคุมกำเนิดอย่างสุดขั้ว ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นต้นเหตุหนึ่งของปัญหาประชากรไม่สมดุลกับทรัพยากร

พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงโบกมือให้กับฝูงชนหลังพิธีสถาปนานักบุญเทเรซาแห่งโกลกาตา เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2016 (AFP PHOTO / ANDREAS SOLARO)
พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงโบกมือให้กับฝูงชนหลังพิธีสถาปนานักบุญเทเรซาแห่งโกลกาตา เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2016 (AFP PHOTO / ANDREAS SOLARO)

ทั้งนี้ กระบวนการสถาปนาแม่ชีเทราซาขึ้นเป็นนักบุญเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเดอะการ์เดียนกล่าวว่า นับแต่พระสันตะปาปาฟรานซิสขึ้นดำรงตำแหน่งในเดือนมีนาคม 2013 (พ.ศ. 2556) พระองค์ได้สถาปนานักบุญไปแล้ว 29 คน เฉลี่ยหนึ่งคนต่อ 6 สัปดาห์ ขณะที่ตลอด 7 ปี ที่สันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ผู้ดำรงตำแหน่งก่อนหน้าพระองค์ สถาปนานักบุญไปทั้งสิ้น 45 คน

แต่เมื่อเทียบกับพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 พระสันตะปาปาองค์ปัจจุบันยังเทียบไม่ติด เมื่อพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 สถาปนานักบุญไปทั้งสิ้น 482 คน ตลอด 26 ปี ที่ดำรงตำแหน่ง ซึ่งเฉลี่ยแล้วหนึ่งเดือนสถาปนานักบุญเกินกว่า 1 คน และพระองค์เองก็เพิ่งได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญในปี 2014 (พ.ศ. 2557) หลังเสียชีวิตในปี 2005 (พ.ศ. 2548)