อัตลักษณ์คนไทยวน เรื่องเล่าจากย่ามและผ้าซิ่น ฯลฯ

งานบุญ 100 วัน อาจารย์ทรงชัย-ผู้นำไทยวน สระบุรี พร้อมจัดงาน “อัตลักษณ์ความงาม ย่ามไทยวน” แสดงย่ามและผ้าซิ่นของสะสม ทั้งตั้งวงเสวนาเล่าเรื่องคนไทยวนจากย่าม และผ้าซิ่น ฯลฯ

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2561 ที่หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี เนื่องในวันบำเพ็ญกุศลครบ 100 วันการจากไปของ อาจารย์ทรงชัย วรรณกุล ผู้นำชุมชนไทยวนสระบุรี และจัดงาน “อัตลักษณ์ความงาม ย่ามไทยวน”  โดยมีการจัดแสดงผ้าซิ่นและย่าม ฯลฯ ของสะสมของอาจารย์ทรงชัย ร่วมกับนักสะสมท่านอื่นๆ และการเสวนาเรื่อง ผ้าทอของไทยวน

Advertisement
บางส่วนของสะสมที่นำมาจัดแสดง

งานเริ่มจาก การทำบุญเลี้ยงพระเช้าและงานบำเพ็ญกุศลในช่วงเช้า หลังจากนั้นก็จะเปิดให้ชมผ้าซิ่น, ย่าม, หมอนหน้าจก ฯลฯ ซึ่งเป็นของสะสมของอาจารย์ทรงชัย และนักสะสมอื่นๆ ที่นำมาร่วมกันจัดแสดง ของบางชิ้นมีอายุมากกว่าร้อยปีเป็นของเก่าที่เก็บสะสมตกทอดจากบรรพบุรุษ และผ้าที่ทอด้วยลวดลายและเทคนิคตามแบบโบราณ เช่น ย่ามทอมือที่สอดแล่งเงิน ฯลฯ

เรื่องของผู้คน บนผืนผ้า

ส่วนการเสวนานั้น มีอาจารย์บุญชัย ทองเจริญบัวงาม ผู้ทรงคุณวุฒิ ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม สาขางานฝีมือดั้งเดิม และคุณศรัณย์ สืบวิชัย ครูภูมิปัญญาเครื่องสักการะและผ้าท้องถิ่น เชื้อสายไทยวน ลำปาง เป็นผู้ดำเนินรายการร่วมกัน ส่วนวิทยากรได้แก่ อาจารย์ดำรงค์ เขียวสมอ เลขานุการชมรมไทยวนสระบุรี, คุณประณีต วรวงศ์สานนท์ ช่างทออาวุโสจากไทยวนจากสี่คิ้ว นครราชสีมา และคุณสุพัตรา ชูชม ไทยวนสระบุรี อดีตมัณฑนากรที่เปลี่ยนมาเป็นช่างทอ

(จากซ้ายไปขวา) คุณศรัณย์ สืบวิชัย, คุณสุพัตรา ชูชม, อาจารย์ดำรงค์ เขียวสมอ, คุณประณีต วรวงศ์สานนท์ และอาจารย์บุญชัย ทองเจริญบัวงาม (ภาพจาก

อาจารย์บุญชัย ทองเจริญบัวงาม เกริ่นนำว่า  เมื่อตนเองทำเรื่องเสนอผ้าไทยวน 8 เมือง (เชียงใหม่, ลำปาง, แพร่, น่าน, อุตรดิตถ์, ราชบุรี, นครราชสีมา และสระบุรี) เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกแห่งชาติ ได้รู้จักกับอาจารย์ทรงชัย ท่านำผ้าที่เก็บสะสมไว้ถึง 3-4 กล่องใหญ่ๆ มาให้บันทึกภาพ และท่านดำริห์ว่า ต้องการหาช่างทอ ท่านว่าท่านไม่มีความรู้ในเรื่องผ้าแต่ท่านชอบ เพราะมันเป็นรากเหง้าของคนยวนสระบุรี

(ซ้าย) 1 ใน 9 ผ้าเก่า อายุมากกว่าร้อยปีของบรรพบุรุษ (ขวา) ผ้าใหม่ที่ทอตามแบบผ้าเก่าทั้ง 9 ผืน

“ ผ้าซิ่น 9 ผืน ของอาจารย์ทรงชัยที่เก็บไว้ที่หอวัฒนธรรมฯ เป็นของสำคัญ เราอนุมานเพราะสืบว่าใครเป็นคนทอไม่ได้ว่า น่าจะเป็นผ้าซิ่นที่คนทออพยพโยกย้ายจากเมืองเชียงแสนมาตั้งรกรากที่สระบุรีตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๔๖ ตามข้อมูลจากพงศาวดาร

เราเอาลวดลายผ้า 9 ผืนนั้น ไปให้ช่างทอราชบุรีดู เขาก็ทำไม่ได้  ต้องเรียนว่าผ้าทอสระบุรี เส้นยืนใช้เส้นไหม เส้นพุ่งด้วยเส้นไหม จกด้วยเส้นไหมสลับแล่งเงิน (เอาเส้นเงินแท้มาควั่นด้วยไหม) ช่างที่เชียงใหม่ก็ทำไม่ได้ ไปอุตรดิตถ์เจอช่างทอผ้า แกะลายออกมาได้”

ย่ามยวนไปไหนไปกันจนวันตาย

ย่ามคู่กายสาวไทยวน

หลังจากนั้น อาจารย์ดำรงค์ เขียวสมอ ได้กล่าวถึง “ถง” หรือ “ย่าม” ในชีวิตของคนไทยวน มี 3 ประเภท คือ ถงเป๋อ-ย่ามใช้งานขนาดใหญ่ที่ผู้ชายใช้ใส่ของไปในไร่นา ใส่อุปกรณ์ช่าง, ถงหมาก-ย่ามหมาก สำหรับผู้หญิงใช้ใหมากพูล, เงิน ฯลฯ และถงข้าวด่วน-ย่ามใส่ของสำหรับผู้ตายติดตัวไปในอีกภพภูมิ แต่เดิมนิยมเผาไปกับผู้ตาย ทำให้ย่ามสวยๆ จำนวนหนึ่งสูญหายไป อาจมีบ้างที่เอาไปถวายพระสงฆ์แทนการเผาไปพร้อมกับศพ

คุณประณีต วรวงศ์สานนท์ กล่าวเสริมเรื่องย่ามว่า ถงที่เป๋อนั้นมาจากคำว่า “เป๋อเลอ” ที่แปลว่า เยอะแยก, มากมาย เป็นย่ามที่ใช่ใส่ของได้หลากหลาย บางที่ก็ใช้ใส่แป้งขนมจีนที่กรองน้ำออกแล้ว เพื่อพักให้สะเด็ดน้ำ โดยย่ามเป็นงานทอผ้าอย่างหนึ่งของไทยวน ซึ่งนี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้หญิงไทยวน ใครจะออกเรือนต้องทอผ้าเป็น

“เรียกว่าพออายุ 7 ขวยเหยียบกี่ถึงก็ต้องหัดทอผ้า  อย่างป้าเองอายุ 8-9 ขวบแม่ก็สอนงานให้แล้ว พออายุ 16 ก็ทอผ้าผืนแรกแล้ว ในชีวิตสาวไทยวนจะต้องทอผ้าสำคัญ 3 ผืน คือ ผ้าซิ่นสำหรับใส่วันแต่งงานตัวเอง, ผ้าปกหัวนาคสำหรับลูกชายเวลาบวช และผ้าสำหรับตัวเองเวลาตายไป”

กระเป๋าคาดเอว ที่สาวยวนทำให้คนรัก

นอกจากย่าม และผ้าซิ่นแล้ว งานทอผ้าที่สำคัญและกำลังจะสูญหายของไทยวนคือ “กระเป๋าคาดเอว” ซึ่งอาจารย์บุญชัย และคุณอศรัณย์ สืบวิชัย ได้นำมาแสดงและให้รายละเอียดว่า เป็นงานทอสาวยวนจะทำให้สามี หรือคนรัก ใส่ยาสูบ, ยาเส้น ฯลฯ มีลักษณะครึ่งวงกลม สีขาว หรือสีขาวสลับแดง ถักสายยาวสำหรับใช้  คาดเอวไป บางครั้งมีการปักลวดลวยต่างเพิ่มเพื่อความสวยงาม

ลูกหลานยวน ผู้ร่วมงานฟื้นฟู

คุณสุพัตรา ชูชม ลูกหลานไทยวนสระบุรี รุ่นที่ 6 เธอไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพตั้งแต่ชั้นมธยมศึกษาที่ 6 จนถึงมหาวิทยาลัย จบแล้วก็เป็นมัณฑนากรอยู่ที่กรุงเทพฯ อีก 10 ปี  นั่นทำให้เธอแทบไม่เคยได้ยินเสียงกี่ทอผ้าเลย เห็นแต่เขารื้อกี่ทอผ้าไปทำรั้ว ทำฟืน  เหตุที่กลับบ้านที่สระบุรีเพราะแม่ป่วยต้องการคนดูแล และได้พบอาจารย์ทรงชัยที่เป็นครูสอนพี่ๆ ของเธอ ท่านก็บอกว่าเรื่องของยวนที่เรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือ “ผ้า”

“อาจารย์ทรงชัยท่านบอกว่า สิ่งที่ขาดหายได้รื้อฟื้นมาเกือบหมด สำหรับการทอผ้านั้นยังเหลือแต่ผ้าเก็บ (หรือผ้าซิ่นตีนจก) ไม่มีใครทำ ช่างที่ทอเป็นก็ไม่มีแล้ว เหลือเพียงผ้าเก่าผืนเป็นแบบ แต่จะเอาองค์ความรู้อะไรมาทำกัน อาจารย์ท่านก็แนะนำอาจารย์บุญชัย อาจารย์โจ (จงจรูญ มะโนคำ) ให้มาสอนที่เสาไห้ ได้กลับมาทำผ้าแบบเก่าของตัวเอง

ตัวเองก็รวมกลุ่มคนทอผ้าได้ 10 คน ก็เป็นแม่ๆ ที่ทอผ้าเก่งกันทั้งผ้ายกสี่เขา, ผ้ามุก ฯลฯ ตั้งกี่มาเรียนกัน 10 คน เรียนได้ 4 วัน พออาจารย์กลับไปทุกอย่างก็หยุดหมด มันยาก มันไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ มันทุกข์แท้ๆ ทอซิ่น วันหนึ่งตั้งแต่เช้าจนค่ำทำได้อย่างมาก ๑๐ เซ็น [ ตีนซิ่น ความยาว 180 เซ็นติเมตรผืนแรกใช้เวลา 7 เดือนถึงจะทอเสร็จ  แล้วทอผืนแรกสีอะไรก็ไม่รู้ใส่ไปทุกสี จะแก้ไขก็ไม่ได้ ต้องทอไปจนจบ ก็เหมือนชีวิตคนที่ไม่มีวันย้อนกลับไปได้”

ลวดลาย และ เรื่องราว

ลวดลายที่ตีนซิ่น 1. ลายหลักแทนเขาพระสุเมรุ 2.สะเปา (หรือสำเภา) 3. หางสะเปา 4. เล็บซิ่น 5.ป้าว คือการทอแบบเว้นช่วงไม่ทอเก็บลายเพื่อกันทางของคุณไสยให้กับผู้นุ่งซิ่น ส่วนลายประกอบอื่นเป็นแทนมหานทีสีสันทีนดร (ภาพ วิภา จิรภาไพศาล)

ระหว่างนั้นมีผู้ฟังเสวนาท่านหนึ่งได้ขอให้คุณสุพัตราเล่าถึงรายละเอีดยและความาหมายของลวยลายที่ตีน(ผ้า)ซิ่น ซึ่งเธออธิบายว่า “ตีนซิ่นไทยวนสระบุรีจะใช้สีแดงเสมอ หมายถึงสวรรคภูมิ ผู้คนเมื่อสิ้นใจก็อยากไปสวรรค์ แต่ผู้หญิงไม่สามารถบวชเพื่อศึกษาธรรมะบรรลุถึงสวรค์ได้ การบวชเรียนของผู้หญิงก็คือการทอผ้าเป็นบทเรียนพิสูจน์ว่าจะออกเรือน สี่เหลี่ยมตรงกลางซึ่งเป็นลายหลักแทนเขาพระสุเมรุที่ประดิษฐานพระเกตุแก้วจุฬามณีสิ่งเคารพสูงสุดของคนยวน เช่นเดียวกับที่การเกล้าผมมวย เอาดอกไม้บูชากระหม่อมเพราะคนยวนมีความเชื่อว่า พระเกตุแก้วอยู่บนกระหม่อมเช่นกัน

เพราะฉะนั้นตีนซิ่นจึงไม่ใช่ของต่ำ แต่เป็นของที่ปฏิบัติบูชา เจริญสติ เพราะเป็นความทุกข์ยาก ต้องตั้งมั่นถึงจะทอให้ลวดลายมันงดงาม สมบูรณ์ สิ่งที่ลายล้อมแทนมหานทีสีทันดร คืออุปสรรคต่างๆ นานาในชีวิต ตะลุ่มที่เห็น เป็นสะเปา หรือเรือสำเภาที่บรรทุกผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ให้พาฝ่าฝันไปเฝ้าพระเกตุแก้วในที่สุดหลังความตาย สิ่งนี้คือสิ่งที่คนยวนสระบุรียึดมั่นเสมอ และที่จะขาดไม่ได้เลยคือเล็บซิ่น นี้คืออัตลักษณ์และความหมายที่แฝงอยู่ในตีนซิ่น”

https://youtu.be/5bLGLUKpV4M

สุดท้ายคุณสุพัตรากล่าวถึงการทำงานของอาจารย์ทรงชัยว่า

“อาจารย์เก็บผ้าไว้เยอะมาก บางผืนขอมาจากแม่ๆ ยายๆ ที่กำลังจะแห่ไปวัด ท่านขอเอามาเก็บไว้ บางคน หรือบางมุมมองก็จะมองว่าท่านประหลาด เก็บผ้าขี้ริ้วไว้ แต่อยากบอกว่ามันเป็นสมบัติล้ำค่า ถ้าไม่มีผ้าขี้ริ้วเมื่อวานก็ไม่รู้จักตัวตนของเราในวันนี้ ไม่ได้เห็นความงามของบรรพบุรุษ ไม่รู้ว่าท่านเอาอะไรคิดลวดลายเหล่านี้ อยากบอกตา (อาจารย์ทรงชัย) ว่าขอบคุณที่ทำสิ่งเหล่านี้ไว้ให้พวกเรา”

สำหรับการดำเนินงานของหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี หลังจากนี้ ครอบครัวญาติมิตร, ลูกศิษย์ ฯลฯ จะยังช่วยกันดำเนินการต่อไป เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวนในสระบุรี ที่จะต้อนรับทุกคนที่เยือน ตามความตั้งใจของอาจารย์ทรงชัยว่า “ใครมาก็เหมือนลูกหลาน”

หมายเหตุ

  • ย่ามไทยวนมีอัตลักษณ์ที่สำคัญคือ เช่น 1. ลวดลายเป็นเอกลักษณ์ เช่น ลายขอประแจ – มีนัยยะของการอวยพรว่าให้ไปที่ใดก็แก้ไขปัญหาได้ราบรื่น 2. การเย็บด้วยลายที่สืบทอดกันมา เช่น เย็บแบบสนกระดูงูที่ปากย่าม, เย็บจ่องแอวเขียดต่อระหว่างตัวย่ามกับสายสะพาย 3. มีพู่ยาม ที่ถักลวดลาย 4. สามารถใช้ได้ทั้งสองด้าน
  • คติโบราณซิ่นก็เปรียบเสมือนร่างกายคน จึงมีหัวซิ่น ตัวซิ่น ตีนซิ่น และเล็บซิ่น (เล็บซิ่นสีเหลืองที่ชายสุดของผ้าซิ่นต้องเรียบเสมอกัน ใช้วัดความประณีตของช่างทอ)
  • ขอขอบคุณ 1. ข้อมูลเพิ่มเติมจาก อาจารย์บุญชัย ทองเจริญบัวงาม และคุณสุพัตรา ชูชม  2.ภาพประกอบจาก คุณอรอุมา โพธิ์ประเสริฐ, คุณยุทธวงษ์ วงษ์ทอง และหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน