โบราณสถานในนิวเดลีไร้คนเหลียวแล ถูกชาวบ้านบุกยึดเป็นที่พัก

ภาพการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ถูกสร้างขึ้นโดยผิดกฎหมายภายในสุสานอัตกาห์ ข่าน ถ่ายเมื่อเดือน 24 กุมภาพันธ์ AFP / SAJJAD HUSSAIN

ประเทศอินเดียมีประวัติศาสตร์อารยธรรมมายาวนานหลายพันปี และนิวเดลีก็เป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญที่ถูกใช้เป็นฐานอำนาจของหลายจักรวรรดิในอดีต ทำให้เมืองหลวงแห่งนี้เต็มไปด้วยโบราณสถาน ทั้งศาลเจ้าและสุสานมากมาย

ขณะเดียวกันอินเดียก็เป็นประเทศที่มีคนยากจนนับล้านๆคนที่ได้ส่วนแบ่งเพียงน้อยนิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อที่พักในเมืองหลวงมีค่าใช้จ่ายสูงจนไม่อาจจะจ่ายได้ คนยากจนจำนวนมากจึงเข้าจับจองพื้นที่ในโบราณสถานต่างๆที่ถูกทิ้งร้าง

ชายชาวอินเดียนั่งอยู่ภายในสุสานของอัตกาห์ ข่าน (Atgah Khan) ในเขตนิซามุดดิน (Nizamuddin)ของนิวเดลี ถ่ายเมื่อเดือน 24 กุมภาพันธ์ AFP / SAJJAD HUSSAIN
ชายชาวอินเดียนั่งอยู่ภายในสุสานของอัตกาห์ ข่าน (Atgah Khan) ในเขตนิซามุดดิน (Nizamuddin)ของนิวเดลี ถ่ายเมื่อเดือน 24 กุมภาพันธ์ AFP / SAJJAD HUSSAIN

เมื่อโบราณสถานกลายเป็นที่พักของคนยากคนจน ปัญหาที่ตามมาก็คือ มรดกทางวัฒนธรรมที่ควรจะเป็นสมบัติของส่วนรวม แต่ส่วนรวมกลับไม่อาจเข้าถึงได้ และยิ่งคนเหล่านี้อยู่ในพื้นที่นานเท่าไหร่การเคลื่อนย้ายพวกเขาออกไปยิ่งยากขึ้นไปอีก

“ที่นี่มีอนุสรณ์สถานมากเกินไป แล้วเราก็ไม่มีทรัพยากรมากเพียงพอ ทำให้สถานที่เหล่านี้ถูกปล่อยปละละเลย ถูกยึดและนำไปใช้ประโยชน์อย่างไม่เหมาะสม” เอจีเค เมนอน (A.G.K Menon) นักอนุรักษณ์ในเดลีกล่าว

“ไม่มีใครเข้าไปยึดทัชมาฮาลได้เพราะที่นั่นมีคนดูแล แต่อนุสรณ์สถานสำคัญอื่นๆมีชะตากรรมที่ต่างออกไป” เมนอนกล่าวเสริม

หญิงรายหนึ่งที่เข้าไปพักอาศัยในเขตโบราณสถานที่ถูกทิ้งร้างกล่าวว่า “เราผูกพันกับที่นี่ เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องใช้ชีวิตที่นี่” ก่อนเสริมว่า พวกเขาไม่เคยถูกบอกให้ย้ายออกจากพื้นที่แต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี สามเดือนก่อนหน้านี้กลุ่มชายฉกรรจ์พร้อมด้วยอุปกรณ์ครบมือได้เริ่มรื้อถอนที่พักของผู้บุกรุกรายหนึ่งที่เพิกเฉยต่อคำประกาศเตือนห้ามการต่อเติมสิ่งปลูกสร้างในสุสานโบราณดังกล่าว

ทั้งนี้จากข้อมูลของเพื่อนบ้านที่ไม่เปิดเผยชื่อ แต่ครอบครัวหนึ่งซึ่งมีสมาชิกถึง 18 คน ยืนยันที่จะไม่ย้ายไปไหน

“หากใครคิดว่าพวกเราจะยอมออกไปจากที่นี่ บอกได้เลยว่าพวกเขาคิดผิด” ชามามา ข่าน หญิงวัย 75 ปี กล่าว โดยอ้างว่าครอบครัวของเธอได้ใช้เงินซื้อสิทธิในการครอบครองพื้นที่แห่งนี้มานานหลายสิบปีแล้ว

รายงานของเอเอฟพีระบุว่า ในเดลีมีโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วนับพันแห่ง แต่มีเพียง 176 แห่งเท่านั้นที่ได้รับการดูแลจากองค์กรสำรวจด้านโบราณคดีแห่งอินเดีย (Archaeological Survey of India, ASI) ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลแต่เงินทุนก็มีอย่างจำกัด

องค์กรปกครอง และหน่วยงานรัฐอื่นๆได้เข้าไปดูแลในบางพื้นที่ แต่หลายแห่งถูกละทิ้งโดยสิ้นเชิง ทำให้โบราณสถานเหล่านี้ค่อยๆเสื่อมสลายภายใต้การขยายตัวของเมือง บางแห่งได้หายสาบสูญไปพร้อมกับรถไถของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ศาลสูงได้ขอให้องค์การพัฒนาแห่งเดลีสร้างกำแพงขึ้นรอบอุทยานประวัติศาสตร์เมห์เราลี (Mehrauli Archaeological Park) ครอบคลุมพื้นที่ราว 80 เฮกตาร์ (ราว 500 ไร่) เพื่อป้องกันการบุกรุกเข้าใช้ประโยชน์โดยมิชอบของบุคคลต่างๆ แต่อนุสรณ์สถานอื่นๆยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า อยู่ในความครอบครองของใครและใครมีหน้าที่ที่จะต้องดูแล

“เราไม่เข้าใจถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจในมรดกของชาติเรา เราสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้หากเปลี่ยนมุมมองและตัดสินใจที่จะฟื้นฟูและปกป้องอดีตของเราอย่างเหมาะสม ตอนนี้เรากำลังนั่งอยู่บนเหมืองทองก็ว่าได้ แต่เรากลับทำกับมรดกของชาติราวกับว่ามันคือภาระ” ราติช นันทะ (Ratish Nanda) นักอนุรักษ์ชื่อดังของอินเดืยกล่าว

ข้อมูลจากบทความ Squatters barrier to protecting Delhi’s ancient monuments (AFP)