ผู้เขียน | อดิเทพ พันธ์ทอง |
---|---|
เผยแพร่ |
วิวาทะระหว่างไทย-เขมรก่อตัวขึ้นอีกครั้งเมื่อทางกระทรวงวัฒนธรรมของไทย ประกาศจะขอขึ้นบัญชี “โขน” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับโลกขององค์การยูเนสโกภายในเดือนมีนาคมปี 2560 ทำให้ชาวกัมพูชาจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยออกมาประกาศว่า “โขน” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวกัมพูชาเท่านั้น
หนึ่งในความเห็นที่ถูกแชร์บนเฟซบุ๊กโดยชาวกัมพูชาเป็นภาษาอังกฤษระบุว่า
“ละโคนโขล (Lakhon Khol) หรือระบำหน้ากากเป็นของราชอาณาจักรกัมพูชา 100 % มันคือมรดกจากบรรพชนชาวขแมร์จากยุคที่สยาม (ประเทศไทย) ยังไม่เกิดด้วยซ้ำ มันเก่าแก่ยิ่งกว่าประเทศที่เรียกตัวเองว่าไทย แม้ว่าเราจะสูญเสียบันทึกเอกสารเกี่ยวกับการละเล่นนี้ไปในช่วง สงครามกลางเมือง และสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่มันยังคงได้รับการบันทึกและรับรู้กันว่าเป็นระบำตามจารีตของกัมพูชา เราไม่เห็นด้วยและจะไม่ยอมให้ไทยมาอุทธรณ์ต่อยูเนสโกว่าระบำตามจารีตขแมร์ เป็นระบำดั้งเดิมของตน โปรดแสดงความรับผิดชอบและทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง เราจะไม่ยอมยุติข้อเรียกร้องนี้จนกว่าจะได้รับความยุติธรรมด้วยการยอมรับว่า ละครโขนหรือระบำหน้ากากเป็นของขแมร์/กัมพูชา”
พนมเปญโพสต์ สื่อภาษาอังกฤษในกัมพูชาได้รายงานข่าวนี้โดยมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า “ละโคนโขลของกัมพูชาเป็นละครรำที่นำเรื่องราวมาจาก Reamker บทประพันธ์ของกัมพูชาซึ่งนำโครงเรื่องมาจากมหากาพย์รามายณะในภาษาสันสกฤตอีก ที-และโขนหลวงของไทยก็เชื่อกันว่ามีรากกำเนิดมาจากรูปแบบของกัมพูชา”
สื่อกัมพูชายังอ้างข้อมูลจากหนังสือ “Acting: An International Encyclopedia of Traditional Culture” (การแสดง: สารานุกรมนานาชาติว่าด้วยวัฒนธรรมตามจารีต” โดย เบธ ออสเนส (Beth Osnes) ซึ่งกล่าวว่า ละโคนโขลของกัมพูชา “ถูกขโมยไประหว่างที่ไทยเข้ารุกราน และถูกนำกลับไปยังประเทศไทยเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับราชสำนัก”
ก่อนอ้างอีกถ้อยคำของออสเนส นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยโคโลราโดโบลเดอร์ (UCB) ซึ่งระบุต่อไปว่า “โขนของไทยย่อมน่าจะพัฒนามาจากการละเล่นนี้”
ด้านสุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เคยมีความเห็นเกี่ยวกับที่มาของโขนไว้ว่า “โขนเป็นการละเล่นเรื่องรามายณะ ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาพรามหมณ์ แรกมีเก่าสุด (เท่าที่พบหลักฐานขณะนี้) ในราชสำนักขอมกัมพูชา ที่โตนเลสาบ (ทะเลสาบ) เมืองเสียมเรียบ”
“ต่อจากนั้น ราชสำนักขอมกัมพูชาส่งแบบแผนการละเล่นรามายณะ ให้ราชสำนักขอมอโยธยา-ละโว้ (ยุคก่อนกรุงศรีอยุธยา) ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
ราชสำนักไทยกรุงศรีอยุธยาสืบจากราชสำนักขอมอโยธยา-ละโว้ ก็สืบทอดการละเล่นรามายณะแบบขอมไว้ด้วย แต่ปรับเปลี่ยนเรียกรามยณะด้วยคำใหม่ว่ารามเกียรติ์”
แต่กว่าโขนจะมาเป็นโขนในทุกวันนี้ สุจิตต์ อธิบายว่า การละเล่นชนิดนี้ค่อยๆพัฒนาขึ้นมาจากวัฒนธรรมภายนอกและภายในของบรรดาราช สำนักจารีตโบราณในภูมิภาคอุษาคเนย์ กล่าวคือ ตัวเนื้อเรื่องได้มาจากวัฒนธรรมภายนอกคืออินเดียโดยเฉพาะอินเดียใต้ และเครื่องแต่งกายก็ได้มาจากอินเดียและเปอร์เซีย เช่น มงกุฎ ชฎา และผ้าต่างๆ
ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ ที่มาจากวัฒนธรรมภายในอุษาคเนย์เองประกอบด้วย ชื่อ “โขน” มาจากคำพื้นเมืองตระกูลชวา-มลายูว่า “Lakon” หรือ “Lakun” หรือคำบาหลีว่า “Legong”
สุจิตต์กล่าวว่า ท่าโขนน่าจะมาจากการเต้นฟ้อนของคนพื้นเมืองอุษาคเนย์ตั้งแต่ราว 3 พันปีมาแล้วเห็นได้จากภาพเขียนสีที่พบตั้งแต่มณฑลกวางสีในจีนตอนใต้ ลงมาถึงภาคอีสานและภาคกลางของไทย
“หัวโขน” ก็พัฒนามาจากหน้ากากเครื่องสวมเพื่อพรางหน้าจริงในพิธีเข้าทรงเพื่อเชื่อม โยงมนุษย์กับอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ซึ่งล้วนมีในกลุ่มชนดั้งเดิมทุกชนเผ่า
ส่วนปี่พาทย์รับโขน สุจิตต์กล่าวว่า เครื่องดนตรีหลักๆคือ ปี่ ระนาด กลองทัด เป็นของพื้นเมืองดั้งเดิมของชาวสุวรรณภูมิอุษาคเนย์ราว 3 พันปีมาแล้ว การพากษ์โขนซึ่งแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกาพย์ได้รับแบบแผนมาจากกัมพูชา ส่วนการเจรจาโขนแต่งด้วยร่ายยาวนับเป็นร้อยกรองพื้นเมืองดั้งเดิมตระกูล ลาว-ไทย
สุจิตต์ให้ความเห็นลงท้ายว่า “โขนเป็นวัฒนธรรมร่วมของสุวรรณภูมิในภูมิภาคอุษาคเนย์ มีรากเหง้าความเป็นมาร่วมกัน จะแยกโดดๆมิได้ ว่าเป็นสมบัติของใครของมัน หรือของที่นี่ ที่โน่น ที่นั่น” ก่อนเสริมเรื่องของโขนยังมีรายละเอียดที่ต้องศึกษาอีกมากเกินกำลังที่ใคร คนหนึ่งจะศึกษาได้ครบถ้วน ต้องอาศัยผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาร่วมกันศึกษาค้นคว้าต่อไป
อ้างอิง:
1. “Thai claim to dance draws ire”. The Phnom Penh Post.
<http://www.phnompenhpost.com/nat…/thai-claim-dance-draws-ire>
2. สุจิตต์ วงษ์เทศ. “โขน มาจากไหน”. เอกสารประกอบการเสวนา เนื่องในงานสัปดาห์อนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช 2556 ณ สังคีตศาลา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วันเสาร์ที่ 6 เมษายน 2556
<http://www.sujitwongthes.com/…/u…/2013/04/khon3april1530.pdf>
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบออนไลน์เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2560