ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“วัน แบงค็อก” เมืองอัจฉริยะบนถนนพระราม 4 ที่จะเปิดตัวในปลายเดือนตุลาคม 2567 เตรียมติดตั้งผลงานศิลปะสาธารณะติดตั้งถาวรจาก 2 ศิลปินชื่อดังระดับโลก “อนิช คาพัวร์” และ “โทนี แคร็กก์” ให้คนไทยได้ชมแบบเต็มๆ ตา กันในช่วงเวลาไม่นานเกินรอ ตั้งเป้าให้ไทยเป็นเมืองศิลปะและวัฒนธรรมโลก
วัน แบงค็อก ดันกรุงเทพฯ สู่เมืองศิลปะและวัฒนธรรมโลก
จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย หัวหน้าภัณฑารักษ์และผู้บริหารฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม และรองผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการสื่อสารและประชาสัมพันธ์แบรนด์เชิงกลยุทธ์ โครงการ วัน แบงค็อก บอกว่า
นอกจาก วัน แบงค็อก จะนำเทคโนโลยีสุดล้ำมาช่วยให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการนำศิลปะและวัฒนธรรมมาอยู่ในชีวิตประจำวัน เชื่อมต่อทุกชิ้นงานศิลปะและทุกโปรแกรมผ่าน “Art Loop” เส้นทางแห่งศิลปะที่ครอบคลุมทั่วทั้งโครงการ เป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร
“วัน แบงค็อก จุดประกายชีวิตให้ใกล้ชิดศิลปะ และผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองศิลปะและวัฒนธรรมโลก เตรียมนำเสนอผลงานประติมากรรมชิ้นพิเศษจาก 2 ศิลปิน ซึ่งเป็นหนึ่งใน ‘One Bangkok Public Art Collection’ คอลเล็กชั่นศิลปะสาธารณะที่กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งโครงการ ที่ผ่านการออกแบบและคัดสรรอย่างพิถีพิถัน ให้ทุกคนได้เสพงานศิลปะอย่างใกล้ชิด”
“อนิช คาพัวร์-โทนี แคร็กก์” 2 ศิลปินดัง เตรียมยกงานมาไว้ในไทย
อนิช คาพัวร์ (Anish Kapoor) เป็นหนึ่งในประติมากรฝีมือเยี่ยมแห่งยุค มีความโดดเด่นในแง่ชั้นเชิงการสร้างสรรค์งานศิลปะ และความท้าทายทางวิศวกรรม
ผลงานศิลปะสาธารณะที่โด่งดังของคาพัวร์กระจายตัวอยู่หลายแห่งในโลก เช่น “คลาวด์ เกต” (Cloud Gate) ประติมากรรมขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ที่มิลเลนเนียม พาร์ค ใจกลางกรุงชิคาโก สหรัฐอเมริกา ชิ้นงานมีพื้นผิวเรียบไร้รอยต่อเสมือนกระจกที่ดึงดูดทิวทัศน์เมืองและผู้คนเข้าหาชิ้นงาน
อีกชิ้นที่เป็นมาสเตอร์พีซของคาพัวร์ คือ “ดิสเมมเบอร์เมนต์ ไซต์ วัน” (Dismembermeant Site I) ที่อ่าวเกาปารา นิวซีแลนด์ เป็นเมมเบรนพีวีซีสีแดงขนาดใหญ่ ยืดตัวกว้างขวางผ่านกลางเนินเขาสีเขียว
ส่วน โทนี แคร็กก์ (Tony Cragg) เป็นประติมากรแถวหน้าของโลก ผู้ผลักดันการค้นหาปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและวัสดุ เผยให้เห็นจินตนาการอันไร้ขอบเขตของวัสดุและรูปทรงในงานศิลปะ เจ้าของผลงาน “พอยต์ ออฟ วิว” (Points of View) ซีรีส์ประติมากรรมชิ้นสำคัญ ที่กระจายตัวอยู่ตามพื้นที่สาธารณะทั่วโลก
สร้างเอกลักษณ์ในฐานะประติมากรรมไร้รูปแบบ เล่นกับความรู้สึกนึกคิด ที่ล้วนมีบริบทแตกต่างออกไปตามสถานที่และอารมณ์ของผู้ชม หรือ เออร์ลี ฟอร์ม (Early Forms) ที่ลดทอนรูปทรงเลขาคณิต ซึ่งเคยเป็นจุดเด่นในผลงานยุคแรก เหลือไว้เพียงนามธรรมและรูปทรงที่ลื่นไหลดูเป็นธรรมชาติ
ประติมากรรมชิ้นพิเศษจาก 2 ศิลปิน ได้รับคำปรึกษาและคัดสรรโดย ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ กรรมการศิลปะและวัฒนธรรม โครงการ วัน แบงค็อก และประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่
นอกจากนี้ ผลงานดังกล่าวยังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ภายใต้หัวข้อ รักษา กายา (Nurture Gaia) อีกด้วย
อดใจอีกนิด เตรียมพบประติมากรรมชิ้นเด็ด ที่ วัน แบงค็อก ได้ในไตรมาส 4 ปีนี้!
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 สิงหาคม 2567